ในประเทศ/จากการเมืองหลังชินวัตร ถึงโซ่ตรวนล่ามชาติ คสช. นอนตาไม่หลับ (ชัวร์)

ในประเทศ

จากการเมืองหลังชินวัตร

ถึงโซ่ตรวนล่ามชาติ คสช. นอนตาไม่หลับ (ชัวร์)

“บรรยากาศของการเมืองที่เปลี่ยนไป หลังการเลือกตั้ง แม้จะเป็นการเลือกตั้งปาหี่ ก็ทำให้ คสช. นอนตาไม่หลับอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีชินวัตร ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีเพื่อไทย” เป็นบทสรุปของบทความ การเมืองหลังชินวัตร ที่เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ขณะเดียวกัน การเมืองหลังชินวัตร วันนี้ เพื่อไทยก็ไม่ใช่แค่ไม้จิ้มฟันอย่างแน่นอนเช่นกัน

ชะตากรรมพรรคนี้ นับจากนี้มีความท้าทายมากขึ้น หลังมีกระแสข่าวตั้ง “แม่ทัพเพื่อไทยคนใหม่” มาตลอดเวลา มีแคนดิเดตหลายคน ทั้งเต็งหนึ่งมานานอย่าง “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่พยายามปูทางให้ตัวเองและกระแสให้ตัวเองเรื่อยๆ หรือมีชื่อ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา มือกฎหมายและยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย รวมถึงอดีตรัฐมนตรีแข็งแกร่งที่สุดในปฐมพี อย่าง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มีแบรนด์ไลฟ์สไตล์ติดดินได้ใจ “คนความคิดกลางๆ” ในสังคมไปไม่น้อย

แต่ทั้งหมดนี้ยังตัดสินไม่ได้ว่าพรรคเพื่อไทยจะมีแม่ทัพคนใหม่เป็นใคร

เพราะเป็นสไตล์ของ “ทักษิณ” จะเปิดตัวผู้นำพรรคก่อนเลือกตั้งไม่นาน เพื่อไม่ให้มีบาดแผลมากนัก

เช่น การเปิดตัว “ยิ่งลักษณ์” สมัยเลือกตั้งปี 2554 ที่เปิดตัวไม่นานนัก ก่อนสู้ศึกเลือกตั้ง 49 วัน จนได้ขึ้นเป็นนายกฯ หญิงคนแรกของประเทศ

แต่สุดท้ายชะตากรรมของ “ยิ่งลักษณ์” ก็ไม่ต่างจากพี่ชาย ถูกรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2557 และต่อสู้คดีโครงการรับจำนำข้าวมานาน จนถึงวันพิพากษาที่ “ยิ่งลักษณ์” ไม่มาฟังคำพิพากษา โดยอ้างว่ามีอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน เวียนศีรษะ ศาลจึงออกหมายจับ

การหายตัวลึกลับตั้งแต่ค่ำ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ยังคงเป็น “ปริศนาลับ” คาใจมาถึงวันนี้ว่า “ยิ่งลักษณ์” หายไปไหน หนีไปไหน ใครพาไป

จุดนี้เองจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ตัวเลือกอย่าง “เจ๊แป๋ว” นางมณฑาทิพย์ โกวิทเจริญกุล หรือชื่อเดิม นางเยาวมาลย์ ชินวัตร น้องสาว “ทักษิณ” พี่สาว “ยิ่งลักษณ์” อาจหลุดไปทันที หากไม่อยากให้ชะตากรรมคนตระกูลชินวัตร ซ้ำรอย 2 นายกฯ ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แต่ตัวเลือกในพรรคเพื่อไทยยังมีให้เลือกอยู่ ไม่ใช่ไม่มีเลย แต่อยู่ที่ “ทักษิณ” จะใช้โจทย์ไหนในการ “ต่อสู้ทางการเมือง” ระหว่าง “ท้าทาย” กองทัพ-ชนชั้นนำ

หรือ “ประนีประนอม-สมยอม-ดีล” ก็จะรู้ว่าจะเลือกใครมาใช้งาน ขึ้นเป็นนายกฯ ในนาม “พรรคเพื่อไทย”

จุดสำคัญอยู่ที่ “ทักษิณ” ไม่อาจปล่อยให้พรรคล่มสลายได้อีกเช่นครั้งพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน การตั้งพรรคเพื่อไทยจึงแยกระหว่าง “หัวหน้าพรรค” และ “แคนดิเดตนายกฯ” ออกจากกัน

โดยให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ นั่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และส่งน้องสาว “ยิ่งลักษณ์” เป็น “แคนดิเดตนายกฯ หญิง” แทนมาแล้ว

อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังระบุว่า ให้แต่ละพรรคเสนอชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ได้ 3 คนต่อพรรค เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่า ถ้าเลือกพรรคใดใครจะขึ้นมาเป็นนายกฯ บ้าง

แต่จุดสำคัญคือรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องว่า “แคนดิเดตนายกฯ” ที่แต่ละพรรคเสนอ 3 คน ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ และอย่าลืมว่ายังมีกลไกได้มาซึ่ง “นายกฯ คนนอก” อีกทางหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้ “ส.ส.” เลือกตั้ง และ “ส.ว.” แต่งตั้ง ผ่านการกรองรายชื่อจาก “คสช.” สามารถเปิดประชุมเพื่อมีมติร่วมให้มีการเสนอชื่อนายกฯ คนอกได้เช่นกัน

แต่สิ่งที่จะวัดอะไรได้มากขึ้น ต้องรอดูการเคลื่อนไหวของ “ทักษิณ” อีกครั้งว่าจะส่งสัญญาณอะไรออกมาบ้าง

แค่เพียงการอ้างคำพูดนักปรัชญาตะวันตกถึงกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย ไม่สามารถวัดผลอะไรได้มากนัก

และการปรากฏกายของ “ยิ่งลักษณ์” อีกครั้ง ว่าอยู่ที่ใด พูดอะไร และเมื่อไหร่

หลายฝ่ายคาดว่าอาจหลัง 27 กันยายนนี้ ที่ศาลจะอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย หรือ “ยิ่งลักษณ์” ได้รับสถานะลี้ภัยประเทศใดประเทศหนึ่งแล้ว หรืออย่างช้า คือก่อนเลือกตั้งเพื่อปลุกทัพ

“ผมไม่เบาใจ เราเดินตามกรอบเดิมทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นผู้พิจารณา ผมไม่ทราบว่าทางการเมืองพรรคเพื่อไทยจะปฏิรูปจัดรูปแบบอย่างไร อาจจะเข้มแข็งกว่าเดิมก็ได้ ถ้าจัดระบบที่ประชาชนยอมรับ ดังนั้น อย่าปรามาสพรรคเพื่อไทยว่าจะอ่อนแอ” พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. กล่าว

กระนั้นฝ่ายความมั่นคงก็ไม่ประมาทในการตัดสินใจครั้งนี้ของทีม “ยิ่งลักษณ์” หรือ “ทักษิณ” ที่ถูกตั้งธงว่า “ต้นคิดให้น้องสาวหนี” อยู่เบื้องหลังการวางแผนทั้งหมด แต่อีกด้านสังคมก็มองว่า “คสช.” เปิดทางให้ “ยิ่งลักษณ์” หนี แม้ทั้ง “3 ป. แห่งบูรพาพยัคฆ์” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา จะออกมาปฏิเสธทั้งหมด ไม่มีดีล เกี้ยเซียะ หลิ่วตา และไม่มี “ใบสั่ง คสช.” ก็ตาม

แม้พรรคเพื่อไทยจะได้เป็นรัฐบาลในอนาคตหรือไม่ ก็ยังเจอปราการใหญ่คือ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 หรือ “พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 31 กรกฎาคม 2560 ซึ่งมีคณะกรรมการที่เป็นโดยตำแหน่ง 17 คน มีวาระ 5 ปี หมุนเวียนคนได้ตามการเกษียณอายุราชการ ส่วนผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่ตั้งแล้ว 12 คน จาก 17 คน มีวาระอยู่ยาว 5 ปี

โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นรองประธานคณะกรรมการคนที่ 1 คือ นายพรเพชร วิชิตชลชัย, ประธานวุฒิสภา เป็นรองประธานคณะกรรมการคนที่ 2 ขณะนี้ไม่มีตำแหน่งประธานวุฒิสภา, รองนายกฯ หรือรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย เป็นรองประธานคณะกรรมการคนที่ 3 คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการทหารบก, ผู้บัญชาการทหารเรือ, ผู้บัญชาการทหารอากาศ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ, ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และประธานสมาคมธนาคารไทย

ที่ต้องจับตาคือกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คน ล้วนเป็นกลุ่มทุน สายวิชาการ ที่มีสายสัมพันธ์ดีกับ “คสช.” มีตำแหน่งในคณะกรรมการต่างๆ ของรัฐบาล แกนนำ คสช. มือกฎหมาย คสช. หรือคนที่นายกฯ ไว้วางใจ เรียกได้ว่าอ่านชื่อแล้วไม่แปลกใจ

เช่น นายกานต์ ตระกูลฮุน, นายชาติศิริ โสภณพนิช, นายเทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), นายบัณฑูร ล่ำซำ, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช., นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตสมาชิก สปท., นายวิษณุ เครืองาม มือกฎหมายรัฐบาล-คสช., นายศุภชัย พานิชภักดิ์ ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ป.ย.ป., นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือประสานเศรษฐกิจ คสช., นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา สมาชิก คสช., นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม

ฝ่ายการเมืองต่างออกมาโต้ พ.ร.บ. ฉบับนี้จำนวนมาก เพราะจะเป็นสิ่งควบคุมรัฐบาลในอนาคต และเป็นตัว “ตรึง” ประเทศไทยไป 20 ปี โดยเฉพาะ นายบรรยง พงษ์พานิช อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและอดีตซูเปอร์บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ในรัฐบาล คสช. ที่ออกมาส่องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่าเป็น “โซ่ตรวนล่ามชาติ” เลยทีเดียว

“ถ้าท่านทำได้ดี ประเทศอาจจะเจริญรุดหน้าได้ดีดั่งหวัง แต่ถ้าทำได้ไม่ดี ชาติอาจจะถูกฉุดให้หยุดการพัฒนาได้เลย ประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะเยาวชนอาจจะต้องเจอกับ Lost Generation คือการพัฒนาต่างๆ หยุดชะงักไปหลายสิบปีได้เลย (ถึงตอนนี้ผมไพล่นึกไปถึงแผนยุทธศาสตร์ “Burmese Way to Socialist” ของจอมพลเนวิน ที่ปฏิวัติพม่าในปี 2505 แล้ววางแผนยุทธศาสตร์ที่ (อ้างว่า) ใช้สังคมนิยม ชาตินิยม และพุทธศาสนาเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วเป็นการจรรโลงระบบ “ทหารนิยม” ครองอำนาจยาวนาน จนสี่สิบปีให้หลัง จากประเทศมั่งคั่ง พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนอันดับสองของเอเชีย จากเคยรวยกว่าเรา มาเหลือรายได้ต่อคนแค่หนึ่งในหกของไทย และก็เลยไพล่ไปนึกถึงแผนยุทธศาสตร์ “Bolivarian Mission” ของประธานาธิบดีชาเวซแห่งเวเนซุเอลา ที่ตอนแรกได้รับความชื่นชมจากประชาชนอย่างท่วมท้น แต่อีกไม่ถึงยี่สิบปีให้หลัง ประเทศที่มั่งคั่งทรัพยากรที่สุดก็เละเสียยิ่งกว่าเละอย่างไม่น่าเชื่อ)”

นี่คือทัศนะของ บรรยง พงษ์พานิช

แต่ทั้งหมดนี้ชี้ชัดว่า ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ยาวหรือกลับมาเป็น “นายกฯ คนนอก” ก็ไม่สำคัญเท่ากลไกที่ถูกวางไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ถูกตราเป็นกฎหมายให้ชอบธรรม การตั้งองคาพยพเข้าไปในระบบ เพื่อเป็นเสาค้ำการลงจากอำนาจของ “คสช.” และไม่ให้การรัฐประหาร 2557 ต้อง “เสียของ” อีก เช่นบทเรียนในอดีต ที่ผู้นำรัฐประหารมัก “มีแผล” หลัง “ลงหลังเสือ”

วันนี้ หากพรรคการเมืองไทยไม่อยากอ่อนแอเช่นการเมืองในอดีต จนถูกปรามาสว่าพรรคการเมืองกลายเป็นนอมินีของ คสช. อาจต้องตั้งสติมากขึ้น

ไม่เล่นเกม “ซูเปอร์ดีล” กับ “คสช.-กองทัพ” หรือ “เล่นละครรายวัน”

เพียงแค่นี้ คสช. ก็นอนตาไม่หลับแล้ว