E-DUANG : ชะตากรรมน่าเศร้ากรณี “ปรองดอง”

ไม่มีอะไรเป็นตัวอย่างอันสะท้อนให้เห็นสภาวะพลิกผันแปรเปลี่ยนได้เท่ากับกรณี “ปรองดอง”

ทั้งๆที่ใช้ “นักการตลาด” ระดับ “ศิษย์คอตเลอร์”

จัดโปรแกรม LAUNCE ออกมาอย่างเป็นระบบ เป็นกระบวนการ

ถือเอา “วาเลนไทน์” เป็น “มหาฤกษ์”

ชูภาพ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นสูงเด่นท่ามกลางเสียง ขานรับอบอุ่นจากทุกสารทิศ

ฝากความหวังไว้กับ “พี่ใหญ่” แห่ง “บูรพาพยัคฆ์”

มาดหมายจะให้ “สงกรานต์” เป็นวันประกาศชัยพร้อมกับ “สัญญาประชาคม” สวยหรู

แล้วทุกวันนี้สภาพ “ปรองดอง” เป็นอย่างไร

 

อย่าถามถึง “นักการตลาด” ระดับ “ศิษย์คอตเลอร์” หรือผู้บริหารจากสถาบันศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพราะได้ “หายตัว” ไปเรียบร้อยแล้ว

แม้ “ดอกเตอร์” อีกคนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียจะโบกสบัดกวัดแกว่ง “เงื่อนไขพิเศษ” เข้ามา

แต่ดูเหมือน “มนต์ขลัง” ได้จืดจางไปเสียแล้ว

อย่าถามว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รู้สึกอย่างไรและยังสามารถเล่นบท “พี่ใหญ่” แห่ง”บูรพาพยัคฆ์” ได้อย่างองอาจและสง่างามอยู่หรือไม่

กรณี “ปรองดอง” จะสรุปอย่างมีสีสันในทาง “วิชาการ” ออกมาได้อย่างไร

 

ความล้มเหลวอย่างสำคัญก็คือ การ LAUNCE เรื่องปรองดองเข้ามาเป็นแผน “การตลาด” ล้วน-ล้วน

คือมีแต่ “แผน” แต่ไม่มี “การปฏิบัติ”

การปฏิบัติในที่นี้มิได้อยู่ที่การเชิญใครต่อใครเข้าไปในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

หากเป็น “การปฏิบัติ” อย่างเดียวกันกับหลักการ “ปรองดอง”

ทั้งหมดนี้จึงมิได้เป็นเรื่องของการพูดอย่างเดียว หรือดำเนินไปในแบบ “ดีแต่พูด” หากแต่ต้องลงมือ “ปฏิบัติ” อย่างเป็นจริง หากแต่ต้องลงมือ “กระทำ” ให้เห็น

เมื่อท่าน “พูด” ประชาชนเขาจะ “ฟัง” เมื่อท่านลงมือ “ทำ” อย่างที่ “พูด” ประชาชนเขาจะเชื่อมั่นและศรัทธา

การทำต่างหากที่ตรวจสอบประสิทธิผลของทุกสิ่ง