ปูหนี บ

การตัดสินใจ “หนี” ออกจากประเทศ ก่อนการตัดสินคดีจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั้น

หลายคนมองอย่างที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มอง

นั่นคือ จะทำให้อิทธิพลของตระกูลชินวัตรลดลง

ตอนนี้ตระกูลชินวัตรเหลือแต่เงิน กับเสียงของประชาชนที่ยังเป็นฐานให้อยู่ ซึ่งจะน้อยลงไปเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ตาม หากมองอย่าง “ขาใหญ่” ทั้งทางด้านความมั่นคงและทางการเมืองมอง

มี “มุมต่าง” ที่น่าพิจารณา

เริ่มจาก “ขาใหญ่” ด้านความมั่นคงก่อน

นั่นคือ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่พยายามระมัดระวัง และไม่มองว่า คสช. จะได้เปรียบในเชิง “บวก” ด้านเดียว

โดยชี้ว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์หลบหนีออกนอกประเทศได้ แสดงว่ายังมี “ศักยภาพ” มีผู้สนับสนุน และมีเครือข่ายพอสมควร

สะท้อนว่า คนรอบข้างก็เป็นคนที่มีความรู้ โดยเฉพาะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลติดตามความปลอดภัยให้ ดังนั้น จึงรู้วิธีการและเทคนิคหลบหนีเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัยเชื่อว่าการหลบหนีออกนอกประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย เป็นผู้เตรียมการให้ เช่น เครื่องบินส่วนตัว หากเป็นคนธรรมดาคงไม่มี

ดังนั้น ในภาพรวม น.ส.ยิ่งลักษณ์มีศักยภาพพอที่จะหลบหนีด้วยตนเอง และตัดสินใจไว้ล่วงหน้า เพียงแต่รอเวลาและโอกาสที่เหมาะสมเท่านั้น

นี่จึงเป็นการยืนยันว่า ไม่มีผู้ใหญ่ หรือผู้มีอำนาจใน คสช. ช่วยเหลือ อย่างที่วิพากษ์วิจารณ์กัน

ตรงกันข้าม “น.ส.ยิ่งลักษณ์มีศักยภาพหลบหนีด้วยตนเอง บางคนบอกว่า คสช. เกี้ยเซียะให้หลบหนี ถามว่าจะเกิดประโยชน์อะไร” ผบ.ทบ. ระบุ

และบอกว่า ในทางตรงกันข้าม เป็นการเสียประโยชน์เสียอีก เพราะเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศไปแล้ว อาจจะโจมตี พูดให้ร้าย คสช. ก็ได้

ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จะเอากฎหมายอะไรไปบังคับใช้ เขาจึงมีสิทธิ เสรีในการพูด จึงขึ้นอยู่ว่าประชาชนจะยอมรับสิ่งที่เขาพูดหรือไม่

ทั้งนี้ นอกจากจะไม่ได้เกี้ยเซียะแล้ว พล.อ.เฉลิมชัยยืดอกรับว่าเป็นความบกพร่องของ คสช. หรือ ทบ. ที่ไปวางใจคำพูดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทุกคนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพูดเสมอว่า พร้อมที่จะเผชิญหน้าในวันตัดสินคดี แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็หลบหนี

โดยวางแผนเป็นขั้นตอน ไม่ปรึกษาใคร เปรียบเป็นงานลับ และจะไม่มาดีลกับ คสช. เพราะถ้า คสช. ไม่ให้ก็ถูกล็อกตัวทันที

ด้วยศักยภาพที่สามารถวางแผนหนีออกนอกประเทศได้อย่างแนบเนียนนี้เอง

ทำให้ พล.อ.เฉลิมชัยย้ำว่า ไม่อาจเบาใจต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยได้

“ไม่เบาใจ จะเดินตามกรอบเดิมทุกอย่าง สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นผู้พิจารณา ไม่ทราบว่าทางการเมืองเพื่อไทยจะปฏิรูปจัดรูปแบบอย่างไร อาจจะเข้มแข็งกว่าเดิมก็ได้ ถ้าจัดระบบที่ประชาชนยอมรับ ดังนั้น อย่าปรามาสเพื่อไทยว่าจะอ่อนแอ”

ขณะที่พี่ใหญ่อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โอดขอความเห็นใจกับกระแสข่าวว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศได้เพราะได้รับความช่วยเหลือจาก พล.อ.ประวิตร

โดยย้ำว่า “ผมไม่รู้จักท่านเลย ไม่เคยพูดจา ไม่เคยได้คุย ผมโดนตลอด ขอให้เราได้ตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ถามแบบนี้ทุกวันมันก็ลำบาก คดีนี้ไม่ต้องถามผมแล้ว”

อันสะท้อนให้เห็นว่า การหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้สร้างแต่ “ผลบวก” ให้กับ คสช.

หากแต่มีมุมลบ โดยเฉพาะกล่าวหาเรื่องเกี้ยเซียะ ทำให้ พล.อ.ประวิตรอยู่เฉยไม่ได้ ต้องออกมาชี้แจงด้วยตนเอง

ส่วน “ขาใหญ่” ทางการเมือง อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

ก็มีท่าทีไม่แตกต่างจาก พล.อ.เฉลิมชัย

นั่นคือ เชื่อว่าเครือข่ายของระบบทักษิณ ยังมีนอมินีสามารถขับเคลื่อนทางการเมืองได้

โดยยกตัวอย่างในอดีต ที่แม้นายทักษิณจะหลบหนีคดีไปแล้ว แต่ยังมีตัวแทนเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 คน

“จึงขอให้สังคมไทยจับตามองอย่างใกล้ชิด ว่าองคาพยพยังมีการขับเคลื่อนอีกหรือไม่” นายสุเทพระบุ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า นายสุเทพเริ่มผ่อนคลาย “เงื่อนไขทางการเมือง” ของกลุ่ม กปปส. ลง

แน่นอนด้านหนึ่ง ก็คงเป็นผลมาจากภูมิทัศน์การเมือง ที่เปลี่ยนแปลงไป หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจ “หนี”

ทำให้การเมืองเปิดกว้างขึ้น ซึ่งนายสุเทพก็ได้ขยับขยายให้ กปปส. เปิดกว้างขึ้นด้วยเช่นกัน

คือนอกเหนือจากยังสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปแล้ว

ยังมีแนวโน้ม “ใหม่” เกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองของตนเอง

ซึ่งจากเดิมปฏิเสธว่าจะไม่ตั้ง จะอาศัยพรรคประชาธิปัตย์ตามเดิม

แต่มาถึงตอนนี้ นายสุเทพได้ผ่อนปรนมากขึ้น โดยระบุว่าการตั้งพรรคนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้คิด แต่ก็ไม่ปฏิเสธ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต

“อะไรที่จำเป็นต่อชาติบ้านเมืองจะทำทั้งนั้น แต่ยืนยันว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่อาจจะให้การสนับสนุนตัวบุคคล หรือพรรคการเมืองที่ทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้”

ท่ามกลางกระแสที่แกนนำ คสช. และแนวร่วม ยังไม่วางใจนักว่าจะได้เปรียบพรรคเพื่อไทยและตระกูลชินวัตรจากการ “หนี” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์

ด้านแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คนเสื้อแดง และพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยิ่งนิ่งเฉยไม่ได้เช่นกัน

เพราะว่ากันตามความเป็นจริง การตัดสินใจ “หนี” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีผลสะเทือนต่อสมาชิกพรรคและแนวร่วมมวลชนไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษา นปช. จึงพยายามอธิบายว่าการหนีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความชอบธรรม

เพราะเป็นการหนีจากปัญหาความไม่ยุติธรรม ความไม่เท่าเทียม

“เพราะเราไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรมจึงมีปัญหา ดิฉันมองว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เสียสละความสุขส่วนตัวมาทำงานทางการเมือง แล้วต้องมาประสบกับสภาพแบบนี้ ต้องมีความอดทนและเสียสละพอสมควร เราจะเรียกร้องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงขนาดว่าต้องเสียสละชีวิตทั้งชีวิตนั้นมันคงเป็นคำเรียกร้องที่มากเกินไป” นางธิดากล่าว

และว่า ถ้าประเทศนี้มีหลักนิติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ควรหนี

แต่การสืบสวนคดีจำนำข้าวตั้งแต่ชั้น ป.ป.ช. นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทำหน้าที่พิสูจน์จนถึงที่สุด แต่ถ้าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าไปติดคุก แล้วจะพิสูจน์อะไรได้อีกต่อบ้าง

จึงต้องเปลี่ยนสนามการต่อสู้

“การหนีจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่ง” นางธิดายืนยัน

ขณะที่เพื่อไทย ซึ่งถูกจับตามองว่า เมื่อขาด “คนชินวัตร” พรรคอาจจะไปไม่รอดนั้น

ก็ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง “การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในอนาคต”

โดยอธิบายว่า พรรคเพื่อไทยได้ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านมรสุมอย่างหนักมาหลายครั้ง

ตั้งแต่การรัฐประหาร พ.ศ.2549 และ พ.ศ.2557

ทั้งการยุบพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน จนมาถึงพรรคเพื่อไทย

แต่สมาชิกพรรคทุกคนยังคงยึดมั่นในการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และยังคงรักษาอุดมการณ์และพันธกิจในการสร้างประโยชน์สุขของประชาชนมาโดยตลอด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีอดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าของพรรคนั้นพรรคเห็นว่าอดีตนายกรัฐมนตรีคงจะมีคำชี้แจงต่อสาธารณชนเมื่อถึงเวลาอันควรต่อไป

สำหรับพรรคเพื่อไทยนั้น

ขอยืนยันว่าพรรคมีภารกิจหน้าที่ที่สำคัญที่สุด ซึ่งจะต้องดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง นั่นคือ

ประการแรก การต่อสู้ให้สังคมเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยอมรับในสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกและตรวจสอบนั้น ต้องได้รับการคุ้มครอง และประชาชนต้องได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยความใส่ใจ เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ

ประการที่สอง การทำให้พี่น้องประชาชนมีความอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ประเทศได้รับการยอมรับนับถือและเชื่อมั่นจากนานาอารยประเทศ ยังคงถือเป็นภารกิจสำคัญที่พรรคจะยึดมั่นในการดำเนินการต่อไป

ประการที่สาม การยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี และการสร้างความสมานฉันท์ด้วยหลักเมตตาปรารถนาดีต่อกัน

พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่าจากนี้พรรคเพื่อไทยจะยังคงดำรงความเป็นพรรคการเมืองเพื่อประชาชน ที่จะสร้างความเข้มแข็งและโอกาสในชีวิตให้แก่ประชาชนต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

ปัญหาอุปสรรคอันหนักหนาที่พรรคกำลังเผชิญอยู่นั้น ยิ่งทำให้พรรค สมาชิก และผู้สนับสนุนมีความรัก ความสามัคคี และมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ที่จะมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้สังคมไทยมีสันติสุข ประชาชนมีเศรษฐกิจที่ดี และได้รับประโยชน์สุขต่อไป

พรรคเพื่อไทยจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจต่างๆ อย่างแน่วแน่ ไม่เปลี่ยนแปลง

ถือเป็นการปลุกขวัญสมาชิกและมวลชนที่สนับสนุนให้มั่นใจว่า พรรคเพื่อไทยยังเดินหน้าต่อไป

ขณะที่ น.ส. ยิ่งลักษณ์ แม้ตอนนี้จะเก็บตัวเงียบ

แต่ก็มีกระแสความเคลื่อนไหว เช่น การขอลี้ภัยในประเทศอังกฤษ

รวมถึงอาจใช้วิธีการเดียวกับพี่ชาย

นั่นคือ การถือพาสปอร์ตอย่างน้อย 2 ประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหากรณีถูกรัฐบาลไทยเพิกถอนพาสปอร์ต

เพื่อที่จะให้การเคลื่อนไหวในต่างประเทศดำเนินไปโดยไม่สะดุด

โดยเฉพาะการขับเคลื่อนแบบคู่ขนาน ระหว่างในและนอกประเทศ ให้พรรคเพื่อไทยสามารถต่อสู้ในสนามการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ไม่ได้รอวันที่พรรคเพื่อไทย นปช. และคนเสื้อแดงจะ “แพแตก” หลังขาดการนำจากคน “ชินวัตร” อย่างที่คาดหมาย

ตรงกันข้าม อดีตนายกฯ ก็ไม่ได้เป็น “ปูหนี” แบบหนียะย่าย พ่ายจะแจ

หากแต่ยังสามารถเป็น “ปูหนีบ” ที่ยังมีฤทธิ์?!?