นงนุช สิงหเดชะ/ปล่อย “โดรน” บินมั่วในสนามบิน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าจงใจ “วินาศกรรม”

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ปล่อย “โดรน” บินมั่วในสนามบิน

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าจงใจ “วินาศกรรม”

ระยะไม่นานมานี้ ข่าวเรื่องเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิทำงานช้า ทำให้ผู้โดยสารต้องรอนานหลายชั่วโมงกลายเป็นข่าวดราม่าที่เรียกร้องความสนใจได้มาก ส่วนผู้เกี่ยวข้องก็ออกมารับลูกเป็นการใหญ่

แต่คงลืมกันไปว่า ข่าวหนึ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องไล่เลี่ยกันก็คือกรณีมีผู้ลักลอบปล่อยโดรน (Drone) เข้าไปบินในสนามบินดอนเมืองโดยฝ่าฝืนระเบียบการบินโดรน นั้นมีอันตรายต่อชีวิตผู้โดยสารอย่างมากและคอขาดบาดตายกว่าปัญหา ตม. ทำงานช้า

ข่าวเรื่องปล่อยโดรนในบริเวณที่อาจเป็นอันตรายต่อเครื่องบินนี้ปรากฏเป็นข่าวทางโซเชียลมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อเจ้าของโดรนรายหนึ่งโพสต์ภาพขณะกำลังปล่อยโดรนเข้าไปในสนามบินกองทัพอากาศเพื่ออวดว่าตัวเองแน่

ถัดมาเป็นกรณีที่น่ากลัวยิ่งกว่า ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนสิงหาคม เมื่อมีผู้โพสต์เฟซบุ๊ก (ซึ่งคาดว่าเป็นนักบิน) ระบุว่า ขณะนำเครื่องบินบินขึ้นจากสนามบินดอนเมืองช่วงเช้า ปรากฏว่ามีโดรนสีขาวบินด้วยความสูงประมาณ 3,000-3,500 ฟุต หรือประมาณ 900-1100 เมตร ห่างจากปีกขวาของเครื่องบินแค่ 20 เมตร ซึ่งเครื่องบินที่ออกจากดอนเมืองจะต้องบินผ่านทิศทางนี้ทุกลำ

เกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อเครื่องบิน

ตามกฎระเบียบของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กำหนดให้โดรนบินสูงได้ไม่เกิน 500 ฟุต และต้องขออนุญาตกระทรวงคมนาคมก่อนขึ้นบินพร้อมทั้งกำหนดเขตห้ามบินไว้ด้วยเพื่อไม่ให้กระทบการจราจรทางอากาศและเป็นอันตรายต่อเครื่องบิน ซึ่งสนามบินเป็นหนึ่งในสถานที่ห้ามโดรนเข้าใกล้

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) บอกว่ากำลังตามล่าตัวผู้ปล่อยโดรนเพราะการบินด้วยความสูงเกิน 300 ฟุตภายในระยะ 9 กิโลเมตรจากสนามบินดอนเมือง เป็นการฝ่าฝืนประกาศของกระทรวงคมนาคม โดยพบว่าจุดปล่อยโดรนน่าจะอยู่ในศูนย์เยาวชนเฉลิมพระเกียรติ เทศบาลนครนนทบุรี

หากดูจากมาตรการว่าด้วยการควบคุมโดรนแล้ว ไม่มีหลักประกันอะไรจะรับรองว่าจะไม่มีผู้ฝ่าฝืนหรือป้องกันไม่ให้มีการบินที่เป็นอันตรายต่อเครื่องบิน

เพราะถึงแม้จะมีการบังคับให้ลงทะเบียน แต่ทำได้ไม่ทั่วถึง เนื่องจากโดรนหาซื้อง่ายและราคาถูก

และถึงแม้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักเล่นโดรนมืออาชีพบอกว่าโดรนที่จะบินได้จะต้องผ่านการลงทะเบียนกับทางการและจะถูกล็อกไม่ให้บินเข้าเขตห้ามบิน ถ้าบินเข้าไปจะถูกดีดออกมาโดยอัตโนมัติก็ตาม

แต่ก็ยอมรับว่าถึงแม้จะถูกล็อกแต่ก็สามารถแฮ็กเพื่อปลดล็อกได้

สําหรับกลุ่มผู้เล่นโดรนมืออาชีพและมีจิตสำนึก เคารพกติกา คงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือมีพวกสมัครเล่นและไม่สนใจกติกา ต้องการเล่นเพื่อเอามันหรือคึกคะนองจนลืมอันตรายต่อชีวิตของคนอื่นก็มาก พวกนี้เองที่อาจทำให้เครื่องบินทั้งลำตกได้ขณะบินขึ้นหรือบินลง

กรณีโดรนสีขาวที่บินเฉียดปีกเครื่องบินที่สนามบินดอนเมืองแค่ 20 เมตร (ซึ่งเป็นระยะที่อันตรายมาก) ขณะบินขึ้นนั้น ถือได้ว่าเจ้าของโดรนน่าจะมีเจตนาก่อวินาศกรรมเพื่อให้เครื่องบินตกก็เป็นได้

ขณะเดียวกันก็มีคำถามว่าทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน ไม่สามารถตรวจพบโดรนลำนี้ล่วงหน้า ก่อนปล่อยให้เครื่องบินบินขึ้น เพราะปกติแล้วหอควบคุมการบินน่าจะเป็นผู้ดูต้นทางและเคลียร์ทาง

จะป้องกันได้อย่างไรหากมีผู้ประสงค์ร้ายต้องการใช้โดรนก่อวินาศกรรมเพื่อเล่นงานรัฐบาลหรือผู้บริสุทธิ์ทั่วไป โดยเฉพาะในยามที่การเมืองเขม็งเกลียวเช่นนี้

เราเข้มงวดตกอกตกใจกันนักหนากับการปล่อยโคมไฟยี่เป็งทางภาคเหนือ ถึงขนาดหยุดเที่ยวบินไปเลยในวันที่มีการปล่อยโคม

แต่กับกรณีของโดรนนั้น ดูเหมือนความเอาใจใส่จะน้อย และสาธารณชนก็คงนึกไม่ถึงว่าแท้จริงแล้วโดรนมีโอกาสจะสร้างอันตรายต่อเครื่องบินมากกว่าโคมไฟยี่เป็ง เพราะโดรนนั้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่โคมไฟยี่เป็งอย่างน้อยก็มีความแน่นอนในเรื่องช่วงเวลาที่เราจะหลีกเลี่ยงได้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอง ก็ไม่ควรคิดแค่ว่าพวกที่ปล่อยโดรนเข้ามาเป็นแค่พวกรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือพวกคึกคะนอง แต่ควรคิดเผื่อไว้ด้วยว่าอาจมีพวกหัวรุนแรงทางการเมืองหรือพวกก่อการร้าย ใช้โดรนเป็นเครื่องมือก่อวินาศกรรมด้วย ไม่ใช่รอให้เครื่องบินตกทั้งลำเสียก่อน ค่อยตื่น

กสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยยอมรับว่า กำกับดูแลโดรนได้แค่เรื่องกำหนดให้มาลงทะเบียนและบทลงโทษ แต่ไม่สามารถควบคุมการจำหน่ายได้

การไม่สามารถควบคุมการจำหน่ายได้ก็นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะปัจจุบันมีขายเกลื่อนกลาด หาซื้อง่าย ซื้อทางออนไลน์ก็ได้ มีเงินแค่หลักหมื่นก็ซื้อได้ นอกจากนี้ก็คงรวมถึงไม่สามารถทำให้ผู้ครอบครองโดนมาขึ้นทะเบียนได้ครบ ซึ่งเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ไม่มาลงทะเบียน ดังนั้น ปัญหาเฉพาะหน้าที่ กพท. ควรแก้ให้ได้ก่อนคือทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้โดรนเข้ามาบินใกล้สนามบิน

มีเครื่องมืออะไรหรือไม่ ที่จะสกัดโดรนทุกลำไม่ให้ฝ่าฝืนเข้ามาในเขตห้ามบิน นอกเหนือจากการไปไล่ตามจับทีหลัง หลังจากปล่อยให้หลุดเข้ามาแล้ว

กรณีโดรนชนเครื่องบินโดยสารเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อสายการบินบริติช แอร์เวย์ ชนกับโดรนกลางอากาศ ขณะร่อนลงจอดที่สนามบินฮีตโธรว์ กรุงลอนดอน

แต่โชคดีสามารถนำเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย และเครื่องบินไม่ได้รับความเสียหายมากนัก

ซึ่งจากเหตุการณ์นี้สมาคมนักบินได้เรียกร้องให้ออกกฎหมายควบคุมโดรนอย่างเข้มงวดมากขึ้น