มุกดา สุวรรณชาติ : 25 ส.ค 2560 เป็นวันหนึ่งของการต่อสู้ นาน 11 ปี ที่จะยืดเยื้อ…ไปอีกนาน

มุกดา สุวรรณชาติ

เหตุการณ์การเมืองและความยุติธรรม ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 เป็นผลจากความขัดแย้งที่ยาวนานและต่อเนื่องหลายปี จากการชิงอำนาจปกครอง ขยายเป็นความยุติธรรม ลงลึกไปเป็นผลประโยชน์ทางชนชั้น

ความขัดแย้งยิ่งยาวนาน ยิ่งขยาย จากคนไม่กี่คน กลายเป็นสิบล้านคน

และยังเปิดเผยเบื้องหลังคนทุกกลุ่ม ว่าใคร คิดอะไร ทำอะไร

ทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

รัฐประหาร 2549
ตุลาการภิวัฒน์ 2550-2554

19 กันยายน 2549 มีกลุ่มอำนาจเก่า หนุนให้ทำรัฐประหาร ล้มรัฐบาล ขณะนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ประชุมอยู่ที่สหประชาชาติ ทำให้นายกฯ ทักษิณ ต้องลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ

1 ตุลาคม 2549 พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ลาออกจากองคมนตรีมาเป็นนายกรัฐมนตรี

30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย รวมทั้งให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้ง 4 พรรค มีกำหนด 5 ปี

24 สิงหาคม 2550 ใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ฉบับ 2550

23 ธันวาคม 2550 แม้กรรมการพรรคส่วนใหญ่ไม่ลงสมัคร แต่พรรคพลังประชาชนชนะเลือกตั้ง ได้นายกฯ สมัคร สุนทรเวช

25 พฤษภาคม 2551 ม็อบพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ชุมนุมใหญ่ 25 สิงหาคม ยึดทำเนียบและสถานีโทรทัศน์

9 กันยายน 2551 ศาลปลดนายกฯ สมัคร จากคดีสอนทำอาหารออกทีวี

17 กันยายน 2551 สภาเลือก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ

7 ตุลาคม ม็อบพันธมิตรฯ ปิดล้อมสภา ไม่ให้แถลงนโยบาย มีการปะทะกับตำรวจ

16 ตุลาคม 2551 ศาลรับฟ้องคดียึดทรัพย์ 76,000 ล้าน ของอดีตนายกฯ ทักษิณ (ถูกตัดสินยึดทรัพย์ 46,000 ล้าน เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2553 หลังเปลี่ยนรัฐบาลจากพลังประชาชนไปเป็น ปชป.)

21 ตุลาคม 2551 ศาลตัดสินว่านายกฯ ทักษิณผิดต้องจำคุก 2 ปี บีบบังคับให้นายกฯ ทักษิณก็ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอีกครั้ง ทั้งสมัครและทักษิณรู้ชะตากรรมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 แล้ว แต่การประนีประนอมทำไม่ได้

24-25 พฤศจิกายน 2551 ม็อบพันธมิตรฯ เสื้อเหลือง ยึดสนามบิน

2 ธันวาคม 2551 ศาลตัดสินยุบพรรคพรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน และนายกฯ สมชายถูกปลดจากตำแหน่ง กรรมการ 3 พรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 109 คน

รัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกล้ม 3 รัฐบาล มีนายกฯ จากการรัฐประหาร 1

17-20 ธันวาคม 2551 มีการฟอร์มรัฐบาลใหม่ในค่ายทหาร ปชป. สามารถดึงพรรคร่วมรัฐบาลเก่า และ ส.ส. บางส่วนของพลังประชาชนมาร่วม ตั้งรัฐบาลใหม่ ได้อภิสิทธ์ เป็นนายกฯ

13 มีนาคม-19 พฤษภาคม 2553 มีการชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ โดยคนเสื้อแดงไม่ยอมรับรัฐบาลเปลี่ยนขั้ว ต้องการให้เลือกตั้งใหม่ แต่ถูกสลายการชุมนุมด้วยอาวุธสงคราม มีประชาชนเสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บร่วม 2,000 คน เป็นคดีต่อเนื่องมาอีกยาวนาน

รัฐบาลจากการเลือกตั้งที่คนรักมาก
อันตรายเกินไป…

3กรกฎาคม 2554 มีการเลือกตั้งใหม่ ได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา 265 คนจาก 500 คน

นโยบายนำที่เสนอต่อประชาชนคือ โครงการรับจำนำข้าว ตันละ 15,000 บาท ยกระดับค่าแรงขั้นต่ำ เป็นวันละ 300 บาท

ผ่านน้ำท่วมใหญ่ 2554 ผ่านการประท้วงมาได้อีกหลายครั้ง

ยิ่งลักษณ์ก้าวเข้าสู่เวทีการเมืองครั้งแรก ใครๆ ก็คิดว่าเป็นเด็กอ่อนหัดไม่รู้เรื่อง ไม่มีทางชนะ แต่ผลการต่อสู้ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ จริงๆ

คำปรามาสในช่วงต้นนั้นก็คิดว่าอยู่ได้ 3 เดือน 6 เดือนก็เก่งแล้ว

แต่เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ กลับค่อยๆ สร้างผลงานและดูเข้มแข็งมากขึ้น

ปัญหาที่ฝ่ายตรงข้ามมองเห็นคือนายกฯ ยิ่งลักษณ์ใช้สมองของที่ปรึกษาอีก 10 คน ฉลาดกว่านายกฯ ที่เก่งเพียงคนเดียว

คุณสมบัติที่น่ากลัวอีกอย่างคือความอดทนและขยัน อดทนต่อการบีบคั้นทั้งทางคำพูดและการปฏิบัติ ซึ่งมีมากกว่านายกฯ ทักษิณ

เสียงตอบรับทั้งในประเทศต่างประเทศดีขึ้นได้เรื่อยๆ ถ้าขืนปล่อยให้อยู่ในสนามเลือกตั้ง ไม่มีทางที่พรรคอื่นจะได้เป็นรัฐบาล

นายกฯ ยิ่งลักษณ์เหมือนหน่ออ่อนที่กำลังจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง การทำลายก็เริ่มต้นขึ้น จุดอ่อนต่างๆ ที่ฝ่ายตรงข้ามคิดได้ ถูกสร้างเป็นวาทกรรมที่เหยียดหยาม

ในช่วงเวลาที่มีคำเยาะเย้ยถากถางเหมือนไม่เห็นอยู่ในสายตา แต่ในลึกๆ แล้วความกลัวต่อนายกฯ ยิ่งลักษณ์ยิ่งมีมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ที่จะต้องมีการกำจัดศัตรูทางการเมือง

1. ใช้ม็อบบีบ

ตั้งแต่ พ.ศ.2555 ก็มีม็อบเล็กม็อบน้อยมาต่อต้าน แต่แผนแช่แข็งทำยังไม่สำเร็จ สุดท้ายเพื่อไทยพลาดเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ม็อบใหญ่ก็ออกมาและถือโอกาสเคลื่อนไหวขับไล่นายกฯ ยิ่งลักษณ์

29 พฤศจิกายน 2556 มีการตั้งกลุ่ม กปปส. เพื่อบีบให้นายกฯ ลาออก และจะดำเนินการปฏิรูปประเทศผ่านสภาประชาชนที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง

2. ทำให้ยุบสภาและลาออก

8 ธันวาคม 2556 มีแรงบีบจากสภา โดย ส.ส.ประชาธิปัตย์ทั้ง 153 คนลาออก

9 ธันวาคม 2556 นายกรัฐมนตรียุบสภาผู้แทนราษฎร แล้วให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่สุเทพและผู้ชุมนุมปฏิเสธการเลือกตั้ง และเรียกร้องให้จัดตั้งสภาประชาชนเสียก่อน นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ รักษาการ ช่วงที่มีม็อบ กปปส. มีการยึดกระทรวง บุกทำเนียบ ปิดกรุงเทพฯ มีคนหวังว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ จะพลาด สั่งปราบ แล้วมีคนตายซัก 20-30 คน แต่ไม่มีการปราบ งานนี้เลยไม่มีคนผิดไปเปรียบเทียบกับปี 2553

2 กุมภาพันธ์ 2557 การขัดขวางการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ไม่มีรัฐบาลใหม่

3. ปลดจากการนำ

7 พฤษภาคม 2557 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จากกรณีการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอันดับ 2 ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีต่อไป

4. ยึดอำนาจ

เมื่อทำทุกแผนแล้วยังไม่ยอมลงจากอำนาจ ก็ต้องใช้แบบโบราณ

22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16.30 น. คสช. ประกาศยึดอำนาจโค่นรัฐบาลรักษาการ

5. ดำเนินคดี ทำลายชื่อเสียง

ตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมตินการชี้มูลความผิดคดีจำนำข้าวในส่วนของนางสาวยิ่งลักษณ์ กรณีละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้เกิดการทุจริต

วันที่ 23 มกราคม 2558 อัยการสูงสุด…ฟ้อง และ สนช. ถอดถอน

เวลา 09.00 น. สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงข่าวว่า…มีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ตามที่ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีการตั้งข้อสังเกตถึงการแถลงข่าวของอัยการว่าเป็นการทิ้งน้ำหนักให้กับ สนช. ที่จะลงมติวันนี้

เวลา 10.20 น. สนช. ซึ่ง คสช. เป็นผู้แต่งตั้ง เปิดประชุมลงมติถอดถอนนายกฯ ยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว 11.00 น. ถอดถอนเรียบร้อย

ถอดจากอะไร ตำแหน่งนายกฯ ก็ลาออกแล้ว? รักษาการนายกฯ ก็ถูกปลดแล้ว

…เหลืออย่างเดียว ห้ามเข้าวงการเมือง 5 ปี

6. ยึดทรัพย์

4 กันยายน 2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว จากนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่าเกี่ยวข้อง เพราะเป็นผู้ให้นโยบาย ถูกกล่าวหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งจะไม่ใช้วิธีฟ้องแพ่งต่อศาล แต่จะใช้อำนาจตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก ต้องการอุทธรณ์คำสั่ง ก็ให้ร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากศาลเห็นว่า คำสั่งของกระทรวงการคลังชอบแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก ต้องชดใช้ค่าเสียหายในทันที หากไม่นำเงินมาชำระภายในเวลาที่กำหนดให้ เจ้าพนักงานสามารถดำเนินการยึดทรัพย์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องข้าวทำต่อกันมาหลายรัฐบาล จะต้องเอาผิดด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องแยกกันเป็นคดีๆ เวลานี้ถ้าตั้งต้นด้วยเรื่องจำนำข้าวต้องเอาเฉพาะช่วงเวลานั้น เรื่องอื่นค่อยว่ากัน หากจะทำต้องตั้งเป็นคดีใหม่ เพราะช่วงเวลาผิดกัน กฎหมายผิดกัน อำนาจผิดกัน และคนผิดกัน

7. อยากให้หนี แต่ไม่หนี จะกดดันทุกฝ่าย

ความหวังของฝ่ายตรงข้ามและจุดมุ่งหมายที่คิดว่าจะสัมฤทธิผลคือการที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์หนีไปอยู่ต่างประเทศและดำรงชีวิตอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งพวกนั้นจะกล่าวประณามซ้ำว่าผิดจริง โกงจริง ให้เป็นตราบาปไปชั่วชีวิต โดยอ้างว่าถ้าไม่ผิดทำไมต้องหนี

จะเห็นว่า เมื่อทักษิณหนีไป เกมก็ไม่จบง่ายๆ กระบวนการยึดอำนาจและเนรเทศยุคใหม่ ไม่ได้ทำง่ายๆ และการต่อสู้นี้ได้ขยายออกไปไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล ไม่ใช่ว่าใครจากไปแล้วจะจบ เพราะ 10 ปีที่ผ่านมาความแตกร้าวได้ลามลึกลงในใจ ขยายกว้างไปทั้งแผ่นดิน

จากขัดแย้งกับทักษิณ กลายเป็นขัดแย้งกับคนที่รักประชาธิปไตยทั้งประเทศ

ในทางการเมือง 10 ปีที่ผ่านมากำจัดนายกฯ ทักษิณ ไม่ได้ วันนี้ก็กำจัดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ 25 สิงหาคม 2560 จะเป็นเพียงการต่อสู้ที่ต้องจดจำอีกวันหนึ่ง ไม่ได้เกิดมาลอยๆ แต่ยืดเยื้อจากอดีตมาจนถึงปีที่ 11 และจะยืดเยื้อต่อไปอีกนาน