วรศักดิ์ มหัทธโนบล : สามรัฐ ที่มิใช่ สามก๊ก (16)

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ยุทธการในยุทธภูมิ (ต่อ)

ที่มีชื่อว่าผาแดงหรือชื่อปี้ก็เพราะว่า การศึกครั้งนี้ทัพของทั้งสองฝ่ายได้มาตั้งเผชิญกันที่เมืองชื่อปี้ (เซ็กเพ็ก) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองผูฉีที่อยู่ทางฝั่งใต้ของแม่น้ำหยางจื่อ เขตเจียอี๋ว์ของมณฑลหูเป่ย

เมื่อศึกเริ่มขึ้นก็ให้ปรากฏว่า ข้อวิเคราะห์ที่กล่าวไปข้างต้นก็เป็นความจริง กล่าวคือ ทัพของเฉาเชาซึ่งไม่คุ้นชินกับดินฟ้าอากาศทางภาคใต้ต้องประสบกับโรคระบาดขึ้น ทำให้ต้องถอยร่นไปตั้งอยู่ที่เมืองอูหลินที่อยู่ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำหยางจื่อ ซึ่งในปัจจุบันอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอหงหูในมณฑลหูเป่ย เมื่อตั้งเผชิญกันคนละฝั่งแม่น้ำเช่นนี้ ศึกทางเรือก็เกิดขึ้น

เฉาเชาซึ่งรู้จุดอ่อนของตนดีว่าไม่สันทัดการทำศึกทางเรือ ได้สั่งทหารของตนนำโซ่เหล็กมาผูกโยงเรือรบไว้ด้วยกันเพื่อไม่ให้เรือโคลง

ฝ่ายทัพพันธมิตรซึ่งรู้ดีว่าการทำเช่นนั้นจะทำให้เรือเคลื่อนตัวได้ช้า ฝ่ายพันธมิตรจึงวางแผนให้ขุนศึกคนหนึ่งของตนแสร้งทำเป็นสวามิภักดิ์ต่อเฉาเชา โดยแจ้งแก่เฉาเชาว่าตนจะนำเรือจำนวนหนึ่งแล่นเข้ามาสวามิภักดิ์

แต่เรือเหล่านี้ได้บรรทุกกกแห้งและฟืนที่ราดน้ำมันแล้วคลุมด้วยผ้าใบ

อีกทั้งยังมีเรือเล็กที่มีน้ำหนักเบาและว่องไวในการแล่นผูกติดไว้ที่หลังเรือใหญ่เอาไว้ด้วย

เมื่อเรือลวงขบวนนี้แล่นไปใกล้กองเรือรบของเฉาเชา ในขณะที่ฝ่ายเฉาเชาหลงคิดไปว่าขุนศึกฝ่ายซุนฉวนกำลังมาสวามิภักดิ์ต่อตนก็ให้ตายใจ จึงมิได้ทำการใดเพื่อตอบโต้

เหตุดังนั้น เมื่อเรือลวงขบวนนี้แล่นเข้าใกล้ในระยะที่เหมาะแล้ว ทหารที่อยู่ในเรือเล็กจึงได้จุดไฟเผาขบวนเรือใหญ่ที่นำหน้า ไฟก็ลุกโชนท่วมลำเรือ

และเมื่อต้องเข้ากับลมแรงที่พัดมาเรือไฟเหล่านั้นก็แล่นตรงไปยังเรือของเฉาเชาอย่างรวดเร็ว

เรือไฟจึงเข้าพุ่งชนเรือรบของเฉาเชาอย่างสุดที่จะหนีไปได้ เพราะเรือทั้งหมดถูกผูกโยงเข้าด้วยกันกับโซ่

กองเรือรบของเฉาเชาจึงถูกเผาวอดวายเสียหายอย่างมหาศาล ไม่เพียงเท่านั้น ลมที่พัดมาแรงยังพัดเอาเพลิงที่ลุกไหม้ท่วมเรือไปติดค่ายทหารริมฝั่งของทัพเฉาเชาอีกด้วย

ทะเลเพลิงจึงเกิดขึ้นทั่วกองทัพของเฉาเชา ถึงตอนนี้ทัพพันธมิตรที่ตั้งรออยู่บนฝั่งจึงไม่รอช้า เร่งใช้ความได้เปรียบในขณะที่ทัพเฉาเชากำลังเสียทีรุกเข้าโจมตีทันที

ทัพเฉาเชาตั้งรับไม่ทันจึงถูกตีแตกพ่ายไม่เป็นขบวน กำลังพลของเฉาเชาถูกไฟคลอกและฆ่าจนตายเกลื่อนกลาดนับจำนวนไม่ถ้วน เมื่อเป็นเช่นนี้เฉาเชาจึงถอยทัพไปตั้งรับอยู่ที่เมืองเจียงหลิง

ส่วนทัพของฝ่ายพันธมิตรที่กำลังได้เปรียบก็รุกไล่ตามไปล้อมเมืองเอาไว้ จนเฉาเชาจำต้องยอมสละเมืองนี้ไปในที่สุด

 

ศึกผาแดงจึงเป็นศึกหนึ่งที่เรืองนามเป็นที่กล่าวขาน โดยเฉพาะในประเด็นที่ฝ่ายที่มีกำลังน้อยสามารถเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังมาก การที่ทำเช่นนี้ได้ย่อมต้องมาจากแผนศึกที่แยบยล ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ของการศึกที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะของจีนหรือของชาติใดก็ตาม

แต่กระนั้น ศึกผาแดงก็หาได้รอดพ้นจากข้อวิเคราะห์ในประเด็นเรื่องจริงหรือเท็จ ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่าใน จดหมายเหตุสามรัฐ (ซานกว๋อจื้อ) ได้กล่าวถึงศึกนี้ต่างกันไปอย่างน่าสนใจอย่างยิ่ง

กล่าวคือ ดังที่ได้เคยอธิบายไปแล้วตั้งแต่ตอนต้นงานศึกษานี้ว่า จดหมายเหตุสามรัฐ ได้ใช้วิธีบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงนี้โดยแบ่งอธิบายทีละรัฐแยกกันไป และผู้บันทึกก็มีอยู่เพียงคนเดียวคือ เฉินโซ่ว และยังได้อธิบายอีกว่า แต่เดิมเฉินโซ่วเป็นขุนนางอยู่ในรัฐสู่ของหลิวเป้ย พอรัฐสู่ล่มสลายก็ย้ายไปอยู่กับรัฐเว่ยของเฉาเชา

เมื่อเป็นเช่นนี้ในขณะที่เฉินโซ่วบันทึกจดหมายเหตุฉบับนี้อยู่นั้น เขาย่อมอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐที่เขาสังกัด และย่อมส่งผลต่อรายละเอียดในบางช่วงบางตอนที่เขาบันทึกไปด้วย

และในกรณีศึกผาแดงก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าในส่วนที่เป็นเรื่องราวของรัฐเว่ยนั้น บันทึกของรัฐนี้ได้กล่าวถึงศึกผาแดงว่า เฉาเชาไม่ได้พ่ายแพ้ในศึกนี้ แผนการเผาเรือของซุนฉวนกับหลิวเป้ยไม่มีอยู่จริง ที่มีอยู่จริงคือโรคระบาดและการเผาเรือ

และการเผาที่เกิดขึ้นนั้นก็เป็นไปโดยความตั้งใจของเฉาเชาเพื่อต้องการทำลายโรคระบาด ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะไม่เพียงโรคระบาดได้คร่าชีวิตไพร่พลของเฉาเชาไปมากมายเท่านั้น หากในอีกด้านหนึ่งยังเท่ากับรักษาชีวิตไพร่พลที่เหลืออยู่ของตนไม่ให้ล้มตายไปมากกว่านี้

การลงทุนเผาเรือจึงเป็นไปเพื่อรักษาชีวิตคนเอาไว้

 

การที่บันทึกใน จดหมายเหตุสามรัฐ ในส่วนของรัฐเว่ยระบุเช่นนั้นจึงน่าวิเคราะห์อย่างยิ่งว่า ข้อมูลใดมีความน่าเชื่อถือกว่ากัน แน่นอนว่า หากจะวิเคราะห์แล้วก็ย่อมต้องนำข้อมูลของรัฐเว่ยเป็นตัวตั้ง เพราะเป็นข้อมูลที่กล่าวแย้งข้อมูลที่เชื่อๆ กันมา เมื่อใช้ข้อมูลของรัฐเว่ยเป็นตัวตั้งเช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่า ความจริงร่วมเรื่องหนึ่งก็คือ การเกิดโรคระบาด

และวิธีทำลายโรคระบาดที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งก็คือ การเผา

ดังนั้น เพื่อป้องกันความสูญเสียมิให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เฉาเชาจึงได้สั่งให้เผาเรือรบและค่ายคูประตูหอรบของตนทั้งหมด เมื่อเผาไปจนหมดแล้วก็มิอาจทำศึกได้ต่อไป ด้วยกำลังลดลงอย่างมหาศาล จึงต้องถอนทัพกลับไป

จากเหตุนี้ บันทึกในส่วนนี้ถึงกับมีคำกล่าวของเฉาเชาด้วยว่า “เนื่องเพราะโรคภัยในยามนั้น ข้าจึงใช้อัคคีเผาทำลายเรือแล้วถอนทัพกลับไป จึงนับเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลด้วยประการทั้งปวง หากจะยกความชอบให้กับโจวอี๋ว์ในศึกครั้งนี้”

 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า เหตุผลของเฉาเชามีน้ำหนักพอที่จะเชื่อได้ เพราะวิธีการขจัดโรคระบาดที่ดีวิธีหนึ่ง (ในสมัยก่อน) คือ การเผาทำลาย

แต่เหตุผลนี้ก็มีข้อที่ชวนให้สงสัยตรงที่ว่า หลังจากที่เฉาเชาถอนทัพกลับไปแล้วก็ไม่คิดที่จะยกทัพมาทางใต้จนอีกหลายปีผ่านไปแล้ว ทั้งที่เฉาเชาเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่มีความได้เปรียบมากกว่ากลุ่มอื่น เมื่อกลับไปตั้งมั่นทางตอนเหนือแล้วก็น่าที่จะฟื้นฟูกองทัพให้แข็งแกร่งขึ้นมาใหม่ แล้วใช้ความได้เปรียบมาทำศึกใหม่ก็ย่อมได้ แต่เฉาเชากลับไม่ทำเช่นนั้น

เพราะฉะนั้นแล้ว จึงเป็นไปได้ว่าเฉาเชาเข็ดขยาดกับความร่วมมือระหว่างซุนฉวนกับหลิวเป้ยในศึกครั้งนั้น ซึ่งคงสร้างความเสียหายให้กับเฉาเชาจนยากที่จะฟื้นฟูให้แข็งแกร่งดังเดิม หรือไม่ก็ต้องใช้เวลายาวนานในการฟื้นฟู

ด้วยเหตุนี้ การอ้างเหตุผลของเฉาเชาว่าเป็นผู้เผาเรือด้วยตนเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้น หากจะเป็นจริงก็จริงด้วยเหตุเดียวคือ โรคระบาดได้ทำลายชีวิตทหารในทัพเฉาเชาอย่างมากมายมหาศาลเท่านั้น คือมากถึงขนาดที่ยากแก่การฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกในเวลาอันรวดเร็ว

 

ควรกล่าวด้วยว่า งานศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้จากที่ผ่านมาก็ยังคงมีคำถามนี้โดยไร้มติที่ชัดเจนเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แนวโน้มที่ออกมามักเอียงไปในทางที่เชื่อว่าแผนเผาเรือในศึกผาแดงของซุนฉวนกับหลิวเป้ยน่าจะเป็นเรื่องจริง

ประเด็นนี้ถึงแม้จะเป็นปัญหาที่มาจากบันทึกของเฉินโซ่ว แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของประวัติศาสตร์ในยุคสามรัฐ ที่ได้ยั่วยวนดึงดูดให้ผู้คนติดตามและถกเถียงกันมาจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ศึกผาแดงที่นำความพ่ายแพ้มาให้แก่เฉาเชาได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายประการ

ประการแรก นับแต่นั้นมาเฉาเชาก็กลับไปตั้งมั่นอยู่ดินแดนทางตอนเหนืออันเป็นเขตอิทธิพลของตนตามเดิม ความคิดที่จะรวบรวมจีนให้เป็นเอกภาพถูกพักเอาไว้ยาวนานอีกหลายปี

ประการที่สอง หลังศึกผาแดงไปแล้วฐานะของซุนฉวนในเจียงตง (กังตั๋ง) ก็มั่นคงขึ้นอย่างมาก

และประการที่สาม เมื่อเสร็จศึกผาแดง หลิวเป้ยได้ถือโอกาสในขณะที่กำลังได้เปรียบเข้ายึดเมืองอู่หลิง ฉางซา กุ้ยหยาง และหลิงหลิง ซึ่งในปัจจุบันทั้งสี่เมืองนี้ล้วนตั้งอยู่ในมณฑลหูหนาน นอกจากนี้ ก็ยังแย่งชิงอี้โจวเอามาได้อีกด้วย

หลิวเป้ยซึ่งเป็นขุนนางต่ำศักดิ์มาแต่เดิมจึงเลื่อนฐานะมาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลขึ้นมา

การศึกที่เริ่มจากที่เฉาเชาพยายามรวบรวมจีนให้เป็นเอกภาพด้วยการเข้าโจมตีหยวนเส้า แล้วมาจบลงที่ศึกผาแดงด้วยความพ่ายแพ้นั้น ได้เปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองในขณะนั้นอย่างมีนัยสำคัญ

กล่าวคือ หลังศึกผาแดงไปแล้ว เฉาเชาได้ใช้เวลาหลังความพ่ายแพ้เข้าตีชิงดินแดนทางภาคเหนือที่อยู่ในการยึดครองของกลุ่มต่างๆ ได้สำเร็จ จนสามารถขยายดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเหลืองที่กว้างใหญ่ไพศาลเอาไว้ได้ ในขณะที่ทางใต้ลงมาทางบริเวณเจียงตงก็อยู่ในการยึดครองที่มีเสถียรภาพอย่างยิ่งของซุนฉวน ส่วนหลิวเป้ยซึ่งถือเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ก็ยึดครองอี้โจวและจิงโจวได้อย่างมั่นคง

ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดดุลอำนาจที่แบ่งเป็นสามกลุ่มขึ้นมา จนนำบ้านเมืองจีนเข้าสู่ยุคสามรัฐในเวลาต่อมา