นิธิ เอียวศรีวงศ์ : มองเมียงเชียงตุง (ตอน3 การยึดครอง-ถอนทัพทหารไทย)

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ย้อนอ่าน ตอน 2  1

ความจำของเจ้าประคุณสมเด็จอาชญาธรรมนั้นนับว่าน่าอัศจรรย์สำหรับคนอายุกว่า 80 ท่านจำได้ว่า ระหว่างที่ท่านเป็นเณรอยู่ในวัด แล้วทหารไทยมาใช้วัดเป็นค่ายทหารนั้น มีพลทหารไทยสองนาย คนหนึ่งเป็นคน “ยวน” คือเป็นคนภาคเหนือ อีกคนหนึ่งมาจากอีสาน เป็นคนใจดีเป็นพิเศษ เพราะมักจะแจกขนมหรือบุหรี่ (เบลอไม่ให้ ส.ส.ส. มองเห็น) แก่เด็กและเณรในวัดเสมอ ท่านจำได้แม้แต่ชื่อของพลทหารสองนายนั้น แต่ผมไม่ได้จดไว้ วันรุ่งขึ้นก็ลืมไปเสียแล้ว

เมื่อซักว่า มีเหตุการณ์อะไรที่ไม่ดีของทหารไทยที่ท่านจำได้บ้าง ท่านนิ่งนึกสักครู่แล้วก็บอกว่าท่านไม่ทราบเหมือนกัน เพราะในฐานะที่เป็นเณร จึงไม่ได้ออกไปเที่ยวเตร่ข้างนอกมากพอจะได้สดับตรับฟังเรื่องราวของทหารไทยมากนัก ที่จำได้ก็ล้วนเป็นประสบการณ์โดยตรงของตัวท่านเท่านั้น

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ท่านจำได้เกิดขึ้นหลังการยึดครองของไทยนานพอดู นั่นคือมีทหารไทยตกค้างอยู่ที่เชียงตุง โดยไม่ได้กลับไปพร้อมกับที่ไทยถอนทัพเมื่อสิ้นสงคราม เหตุที่ตกค้างอยู่ก็เพราะมาได้เมียทางนี้ อยู่ด้วยกันจนมีลูกมีเต้าและชายผู้นั้นเริ่มแก่เฒ่าลง จึงคิดอยากกลับเมืองไทย แต่ทางไทยไม่ยอมรับกลับ ต้องการหลักฐานที่คนเชียงตุงสามารถยืนยันได้ว่า เขาเป็นทหารไทยที่ตกค้างจริง ท่านได้พบทหารไทยคนนี้โดยบังเอิญในวันหนึ่งเมื่อท่านนั่งรถโดยสารไปยังท่าขี้เหล็ก แล้วชายคนนี้เล่าเรื่องของตนกับปัญหาของตนให้ท่านฟัง ท่านก็รับปากว่าจะเป็นผู้เขียนหนังสือยืนยันให้

ผมเดาเอาเองว่า กระทรวงกลาโหมไทยน่าจะมีรายชื่อของคนไทยที่อาสาเป็นทหารไปรบเชียงตุงอยู่ แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่ว่าทหารตกค้างผู้นั้นอาจไม่มีเอกสารยืนยันเอกลักษณ์บุคคลอยู่เลย (เพราะกองทัพไทยไม่เคยทำให้ หรือเพราะทำสูญหายไปนานแล้วก็ตาม) ถึงมีอยู่ก็คงใช้ประโยชน์ไม่ได้มาก เพราะสมัยนั้นคงมีแต่ชื่อและรูปถ่าย ซึ่งใช้ยืนยันตัวเขาที่แก่ชราลงแล้วได้ยาก

ท่านเจ้าประคุณฯ จึงได้ออกหนังสือรับรองให้แก่ชายผู้นั้น จนในที่สุดทางไทยก็รับกลับมาเป็นพลเมืองของตัว ส่วนจะได้เอาลูกเมียกลับมาอยู่เมืองไทยด้วยหรือไม่ ท่านบอกว่าท่านไม่ทราบ

ท่านจำชื่อและนามสกุลของทหารผู้นั้นได้ด้วย แต่ผมก็ลืมไปอีกตามเคย

ผมได้พบคนแก่อีกคนหนึ่งซึ่งเคยอยู่สมัยที่เชียงตุงถูกไทยยึดครอง เขาเป็นช่างทำเครื่องเขินอยู่แถบชานเมืองเชียงตุง และมีชีวิตอยู่บริเวณนั้นมาตั้งแต่ยังเด็ก สิ่งที่เขาจำได้เมื่อเป็นเด็กมีอยู่อย่างเดียวคือ ผู้ชายแถวบ้านเขาเมื่อเดินทางเข้าเวียงเชียงตุง จะถูกทหารไทยตัด “จ๊อก” (มวยผม) บนศีรษะออกเสีย เพราะเมื่อตอนที่ทหารไทยเข้ามา ผู้ชายเชียงตุงยังไว้ผมแบบเดิมคือปล่อยผมยาวแล้วมุ่นมวยผมไว้บนศีรษะ ดังนั้น จึงต้องมาตัดผมเป็นทรง “สมัยใหม่” เขาคิดว่าที่ผู้ชายเชียงตุงเปลี่ยนมาไว้ผมแบบใหม่อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เป็นผลมาจากการยึดครองของทหารไทยนั่นเอง

นี่คือมรดกการยึดครองของไทยในเชียงตุง

ผมไม่ทราบหรอกว่า เป็นมรดกจริงหรือไม่ แต่เมื่ออังกฤษยึดครองรัฐชาน อังกฤษแทบจะไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอะไรในทางสังคมของแคว้นต่างๆ เลย หากจะมีบ้างก็เป็นเรื่องในแวดวงพวกเจ้า เพราะอังกฤษรักษาเจ้าให้เป็นตัวแทนอำนาจของอังกฤษ อาจมีโรงเรียนมิชชันนารีบางแห่ง ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ก็คือลูกหลานเจ้าหรือขุนนางผู้ใหญ่ อาจมีสถาปัตยกรรมของคุ้มหลวงและตำหนักของเจ้านางที่พากันปรับเปลี่ยนให้ดู “โก้” แบบฝรั่ง อาจมีผลกระทบต่อการแต่งกายและวิถีชีวิตบ้าง แต่ก็จำกัดในหมู่พวกเจ้าเท่านั้น (ดังที่ชายาของเจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพระธิดาของเจ้าหลวงเชียงตุงให้สัมภาษณ์ไว้ถึงชีวิตวัยเด็กในคุ้มหลวงของเจ้าหลวงเชียงตุง บทสัมภาษณ์นี้ลงในนิตยสารอะไรผมก็ไม่ทราบ เพราะคัดลอกมาจากใน ฟบ. อีกทีหนึ่ง ต้องขอโทษนิตยสารต้นเรื่องด้วย)

ดังนั้น จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่ในรัฐชานจึงถูกกระทบด้วยโลกาภิวัตน์น้อยมาก การถูกทหารไทยบังคับให้ตัด “จ๊อก” จึงเป็นกระแสโลกาภิวัตน์อันแรกที่กระทบถึงสามัญชนของเชียงตุงกว้างขวางขึ้นหน่อย ส่วนจะมีผลให้ผู้ชายเชียงตุงเปลี่ยนทรงผมมาจนถึงทุกวันนี้หรือไม่ ผมไม่ทราบ เพียงแต่ผมสังเกตไม่เห็นความขุ่นเคืองใจของผู้เล่า อย่างน้อยเรื่องมันก็เกิดนานมาแล้ว หากจะมีความอาลัยต่อ “จ๊อก” บ้าง บัดนี้อารมณ์อาลัยนั้นก็อันตรธานไปหมดแล้ว

แตกต่างอย่างยิ่งจากอัตลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของศาสนาและชาติพันธุ์ หากถูกบังคับให้ทิ้งไปด้วยกำลังอำนาจ ก็จะเกิดความขมขื่นเจ็บช้ำไปอีกนาน อย่างที่เราอาจได้ยินเรื่องราวการบังคับให้ชาวมลายูมุสลิมเลิกนุ่งโสร่ง หรือเลิกปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนาบางอย่าง ซึ่งเกิดในสมัยเดียวกับที่บังคับตัด “จ๊อก” ที่เชียงตุง จนถึงทุกวันนี้ในปัตตานีและอีกสองจังหวัดใกล้เคียง เรื่องเหล่านั้นก็ยังถูกเล่าอย่างมีชีวิตชีวาราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวานนี้เอง

และนี่เป็นอย่างมากที่สุดของการกดขี่โดยกองทัพไทย เท่าที่ผมได้ยินจากปากคำของชาวเมืองเชียงตุงในทุกวันนี้ ไม่มีใครยืนยันได้ถึงเรื่องร้ายอื่นๆ ที่ผมเคยได้ฟังมาอีกเลย แต่ผมก็เพิ่งนึกออกในท้ายที่สุดว่า แหล่งข้อมูลของผมซึ่งจำกัดเฉพาะคนในตัวเมืองเชียงตุงนั้น ไม่เพียงพอจะตรวจสอบความเป็นไปในการยึดครองของกองทัพไทยได้ เพราะเชียงตุงเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการกองทัพยึดครอง ทหารไทยที่ประจำการที่นั่นจึงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกองทัพอย่างใกล้ชิด ขืนเที่ยวฉุดลูกสาวชาวบ้าน อย่างไรเสียก็คงต้องถูกร้องเรียนและลงโทษ เพราะร้องเรียนไม่ยากอยู่แล้ว

ผมต้องหาข้อมูลจากคนที่มีชีวิตทันเหตุการณ์ในชนบทนอกเมืองอีกมาก ทั้งที่ในชนบทและหัวเมืองของเชียงตุง และที่อพยพเข้ามาอยู่ในเชียงตุงปัจจุบัน จึงจะพอประเมินความเป็นไปที่แท้จริงของกองทัพไทยได้

อีกเรื่องหนึ่งที่ชายสูงอายุคนนั้นเล่าให้ฟังก็คือ มีทหารไทยตกค้างที่เชียงตุงอีกนั่นแหละ แต่เป็นทหารไทยที่ไม่ได้คิดจะกลับเมืองไทย หากอยู่กินกับภรรยาในหมู่บ้านแถบชานเมืองเหมือนเขา เพิ่งเสียชีวิตไปไม่นานมานี้เอง

เรื่องอย่างนี้ก็เป็นธรรมดาของทุกกองทัพยึดครองนั่นแหละครับ แต่มีอีกเรื่องที่ผมได้ยินบ่อยกว่าทหารตกค้างเสียอีกก็คือ เรื่องผู้หญิงเชียงตุงหลงรักกับทหารไทย แต่พอมีคำสั่งให้ถอนทัพ ทหารก็ไม่บอกให้รู้ จนเมื่อกองทัพเริ่มออกเดินทางแล้ว ผู้หญิงจึงวิ่งไล่ตาม แต่วิ่งไม่ทัน จึงเสียสติไปในที่สุด ผมได้ยินเรื่องทำนองนี้จากแหล่งอื่นอีกมาก โดยคนเล่าไม่ใช่คนที่เกิดทันยุคนั้น และไม่จำเป็นต้องลงเอยที่การเสียสติของสาวเชียงตุงเสมอไป

เรื่องจริงอย่างนี้จะมีหรือไม่ผมไม่ทราบ แต่ทำให้ผมนึกถึงเรื่องสาวเครือฟ้าและตำนานวังบัวบาน (ซึ่งคนเก่าๆ ในเชียงใหม่ยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง) ท้องเรื่องแบบนั้นกลายเป็นบทกลอน, นิยายนิทาน, คำพังเพย, บทเพลง, ละคร ฯลฯ ของคนภาคเหนือมานาน เรื่องของคนไทยที่ใช้ความทันสมัยอันรวมถึงทรัพย์ด้วย (รายได้ที่เป็นตัวเงินก็เป็นหนึ่งในความทันสมัย) หลอกลวงและช่วงชิงแก่นสารอันเป็นสาระสำคัญของหญิงสาวชาวเหนือที่แสนบริสุทธิ์และซื่อตรง จนทำให้เธอต้องจบชีวิตลง

เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยในความเป็นจริง จึงถูกเล่าบ่อยไปด้วยใช่หรือไม่ ผมไม่ทราบหรอกครับ แต่ผมคิดว่าท้องเรื่องอย่างนี้เป็นสัญลักษณ์ของอะไรบางอย่างที่มีต่อความสัมพันธ์กับกรุงเทพฯ ในใจของคนเหนือ อ่านงานวิจัยเรื่องเปิดแผนยึดล้านนาของ ผศ.ดร.เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว แล้ว ผมอยากเดาว่าคำสัญญาว่าเราเป็นไทยด้วยกัน จึงควรผนวกรวมเข้าเป็นประเทศเดียวกัน ไม่มีความต่างระหว่าง “คนใต้” และ “คนเมือง” อีกต่อไป แต่พอถูกผนวกรวมเข้าจริง กลับถูกพวก “คนใต้” ดูหมิ่นเหยียดว่าเป็น “ลาว” เกียจคร้านและไม่ฉลาด คือสิ่งที่คนเหนือแปลงความรู้สึกออกเป็นท้องเรื่องแบบสาวเครือฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความจริง แต่ไม่ใช่เรื่องจริง

เป็นไปได้ว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมของสาวเชียงตุงกับทหารไทยจะมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ในทำนองเดียวกัน คำสัญญาเรื่อง “สหรัฐไทยเดิม” จบลงอย่างง่ายๆ เพียงเพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม กองทัพไทยเดินทางกลับอย่างที่ชาวเชียงตุงแทบไม่ทันตั้งตัว ไม่เหลือแม้แต่ “เงา” ไว้ให้ชาวเชียงตุง (หรือรัฐชานทั้งหมด) ใช้เป็นเครื่องมือต่อรองกับพม่าได้เลย ดังนั้น เมื่อชาวชานถูกกองทัพพม่ากดขี่มากขึ้นหลัง 1962 (2505) คิดถึงการยึดครองของไทยระหว่างสงครามทีไร ก็เหมือนคิดถึง ร.ต.พร้อม ไปทุกทีเหมือนกัน

สรุปก็คือ แม้ได้ไปเที่ยวมองในเชียงตุงมาแล้ว ผมก็ไม่ทราบแน่ว่า พฤติกรรมของกองทัพไทยระหว่างยึดครองเชียงตุงเป็นอย่างไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม แม้เรื่องราวเกี่ยวกับการกดขี่ข่มเหงที่กองทัพไทยกระทำต่อชาวเชียงตุงจะเป็นจริง ผมก็ไม่ประหลาดใจแต่อย่างไร เพราะดังที่กล่าวในตอนก่อนแล้วว่า การยึดครองเป็นสิ่งที่กองทัพส่วนใหญ่ในโลกนี้ทำไม่เป็น

อย่านึกว่าญี่ปุ่นถูกอเมริกันยึดครองแล้ว จึงได้เป็นญี่ปุ่นอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้ กองทัพอเมริกันเคยยึดครองฟิลิปปินส์, คิวบา และเวียดนามใต้ แต่ผลที่เกิดแก่สามประเทศนั้นก็ย่ำแย่อย่างเดิมหรือย่ำแย่ไปคนละอย่าง แต่ยังย่ำแย่อย่างเดิม การยึดครองจะเกิดอะไรในทางดีหรือร้าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกองทัพที่ทำการยึดครองเท่ากับสังคมที่ถูกยึดครองเอง มีกำลังจะทะยานออกไปสู่สิ่งที่ดีกว่าหรือไม่ อย่างที่ญี่ปุ่นและเยอรมันทำสำเร็จมาแล้ว (แน่นอนว่าทั้งสองกรณีมีปัจจัยอื่นหนุนอยู่ด้วย โดยเฉพาะสงครามเย็น)

ที่ผมบอกว่ากองทัพต่างๆ ล้วนทำการยึดครองไม่เป็น (มากกว่าทางการทหาร) นั้น ก็เพราะการยึดครองเป็นสิ่งใหม่ที่รัฐทั้งหลายไม่เคยทำมาก่อน เพิ่งมาเริ่มทำไม่เกินร้อยกว่าปีมานี้เอง

กองทัพโบราณของไทยและอุษาคเนย์ทั้งหมด เมื่อรบชนะข้าศึกแล้ว ก็ริบทรัพย์จับเชลยขนกลับบ้าน คุณคิดว่าทหารที่ต้องละทิ้งไร่นาและลูกเมีย (บางครั้งก็ไม่ทิ้งเพราะขนไปกับกองทัพด้วย) ไปรบตามการเรียกเกณฑ์ จะไปรบทำไม นอกจากหนีไม่ทันหรือหนีไม่ได้แล้ว ก็เพื่อริบทรัพย์จับเชลยนี่แหละครับ กองทัพโบราณกับกองโจรนั้น แทบไม่มีอะไรต่างกัน เพียงแต่กองโจรผิดกฎหมาย กองทัพถูกกฎหมายเท่านั้น

ส่วนดินแดนของข้าศึกหรือราชอาณาจักรที่เอาชนะมาได้ ก็ตั้งเจ้าที่หน่อมแน้มของเมืองนั้นสักองค์หนึ่งขึ้นเป็นกษัตริย์ คอยส่งบรรณาการมาถวายตามกำหนดเวลา ถ้าราชาธิราชอยากได้พระเกียรติยศ ก็ได้แล้วด้วยการชนะศึกและราชบรรณาการ ถ้าอยากได้แดนกันชนจากข้าศึกที่น่ากลัวกว่านั้น ก็ได้แล้วตรงที่ประเทศราชช่วยกันศัตรูให้อยู่ไกลขึ้นไปอีกหน่อย ถ้าอยากได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอะไรนอกเหนือจากที่ริบทรัพย์จับเชลยมาได้ ก็ยึดเอาเลย เช่น ยึดเมืองท่า, ยึดเหมืองเงิน, ยึด “ขวัญ” ของเมืองนั้น เช่น พระสิงห์, พระแก้ว, หรืออะไรอื่นก็ได้ ซึ่งก็ล้วนทำมาแล้วในประวัติศาสตร์

จะไปยึดครองทำไม แพงเปล่าๆ ซ้ำยังไม่มีทางถอนทุนคืนให้คุ้มได้ แค่เรียกเก็บค่านาจากราษฎรในประเทศราช ก็ต้องลงทุนไม่รู้จะเท่าไรแล้ว กวาดต้อนผู้คนมาตั้งทำนาในประเทศตัวเอง มิทำให้ได้ค่านาเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าหรอกหรือ

กษัตริย์ฝรั่งก็เหมือนกันนะครับ เพียงแต่ด้วยเหตุที่แตกต่างจากเราเท่านั้น แต่ไม่มีเนื้อที่จะเล่าในที่นี้ได้ เขายึดดินแดนได้แล้วก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ของดินแดนใหม่เลย ดินแดนใหม่นั้น (เช่น เกาะอังกฤษ) กลายเป็นประเทศของเขา อย่างนี้ไม่ใช่การยึดครองหรือการสร้างรัฐบาลใหม่ขึ้นบริหารจัดการในประเทศอื่น

การยึดครองมาเกิดขึ้นเมื่อกษัตริย์ฝรั่งเริ่มเปลี่ยนลักษณะสำคัญสองอย่าง หนึ่งคือ กษัตริย์ฝรั่งเริ่มรู้สึกว่าตัวเป็นกษัตริย์ของชนชาติใดชนชาติหนึ่ง ก่อนหน้านั้นประชาชนมีชนชาติ แต่กษัตริย์ไม่มีนะครับ หรือถึงมีก็เป็นชนชาติกษัตริย์ อยู่ในพวกเดียวกันกับกษัตริย์ทั่วไปหมด แต่ไม่ใช่ชนชาติเดียวกับราษฎร และสองเมื่อเกิดสำนึกความเป็นชาติในยุโรปอย่างแจ่มชัดมากขึ้น ถึงตอนนั้น กษัตริย์ก็กลายเป็นประมุขของชนชาติใดชนชาติหนึ่งไปด้วย

การยึดครองแบบนี้จึงแตกต่างจากการยึดครองทางทหาร ซึ่งคงรู้จักทำกันมาตั้งแต่สมัยหินแล้วกระมัง มีเป้าหมายแคบๆ เพียงการยึดพื้นที่หรือคนหรืออาวุธไว้เพื่อเป็นข้อได้เปรียบทางทหาร แต่การยึดครองแบบใหม่ซึ่งผมขอเรียกว่าการยึดครองทางพลเรือน มีความสลับซับซ้อนยุ่งยากกว่าการยึดครองทางทหารมาก และกองทัพทำไม่เป็นหรอกครับ

การยึดครองทางพลเรือนต้องมีเป้าหมายในระยะยาวหรือมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อจัดการบริหารให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ใช่เพียงกำราบให้อยู่มือเท่านั้น ยุทธศาสตร์ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในการยึดครองเชียงตุง ก็คือกลืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เพื่อให้ไทยมีพรมแดนทางธรรมชาติด้านตะวันตกที่แข็งแกร่งขึ้น ถ้าอย่างนั้นท่านก็ควรจะจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนขึ้นโดยเร็ว ถึงคงกำลังทหารไว้ ก็เพียงเพื่อรักษาความสงบภายใน และต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลพลเรือน ซึ่งต้องตัดสินใจในแต่ละกรณีว่า จะจัดการกับความไม่สงบที่เกิดขึ้นด้วยวิธีทางทหาร หรือวิธีอื่น ซึ่งจะได้ผลกว่าในการบรรลุเป้าหมายของการยึดครอง

แต่ท่านกลับยกสหรัฐไทยเดิมให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของข้าหลวงทหาร ซึ่งผิดมาแต่ต้น เพราะทหารยึดครองทางพลเรือนไม่เป็น (ขนาดยึดอำนาจในประเทศตัวเอง ยังทำเหมือนการยึดครองทางทหาร) จึงอาจเกิดการกระทำที่สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนในดินแดนที่ถูกยึดครองได้ง่าย ทหารละเมิดวินัยก็ลงโทษกันไปตามกระบิลทัพ ไม่เข้าใจว่านั่นคือเหตุให้เกิดการต่อต้าน จึงจำเป็นต้องป้องกันอย่างเข้มงวดมาแต่แรก

โชคดีที่รัฐบาลไทยหลังจากนั้นตัดสินใจถอนทหารจากเชียงตุงเสีย เพื่อเปิดให้สถานะเดิมของเชียงตุงกลับคืนมาโดยทันที ทำให้การเจรจากับอังกฤษหลังสงครามมีอุปสรรคน้อยลงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากเชียงตุงยังเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในทุกวันนี้ เราอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายอย่างเดียวกับที่เกิดในเขตยึดครองของสามจังหวัดภาคใต้ด้วยก็ได้ จึงนับว่าโชคดีที่เชียงตุงกลับไปเป็นเชียงตุงของอังกฤษ และของพม่าในเวลาต่อมา