จิตต์สุภา ฉิน : ฝึกซ้อมเสมือนจริงยิ่งกว่าจินตนาการ

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

เทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ Virtual Reality ที่สามารถเนรมิตให้เราไปอยู่ที่ใดก็ได้ภายในชั่วพริบตาเดียวมักจะถูกนำไปเชื่อมโยงเข้ากับประโยชน์ของการเล่นเกม

ซึ่งในแง่นั้นมันก็ทำได้ดีจริงๆ นั่นแหละค่ะ เพราะมันสามารถทำให้เรารู้สึกราวกับเป็นตัวละครในเกมนั้นๆ

และรู้สึกร่วมไปกับเกมมากยิ่งกว่าการเล่นผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์หรือคอมพิวเตอร์ไปหลายขุม

ทว่า เมื่อถูกนำไปจับคู่กับการเล่นเกมบ่อยๆ ก็อาจทำให้หลายคนรู้สึกสงสัยว่าแล้วเทคโนโลยีนี้มันมีดีอะไรมากไปกว่าการเล่นเกมบ้างล่ะ

มันสามารถทำประโยชน์ได้จริง หรือมันเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ช่วยเพิ่มพูนอรรถรสและความตะลึงพรึงเพริดไปกับโลกแห่งจินตนาการของนักเล่นเกมเท่านั้น

มันทำได้มากกว่านั้นแน่นอนค่ะ

และวันนี้ในคอลัมน์ Cool Tech เราจะมาคุยถึงประโยชน์ของวีอาร์ในแง่ของการช่วยฝึกซ้อมคนในสาขาวิชาชีพต่างๆ

 

คุณผู้อ่านเป็นหนึ่งในคนที่เกลียด กลัว แขยง การต้องพูดต่อหน้าสาธารณชนหรือเปล่าคะ เวลาจะต้องออกไปรายงานหน้าห้อง พรีเซ้นต์งานในที่ประชุม หรือต้องพูดสุนทรพจน์ในงานพิธีการต่างๆ ก็มักจะมีอาการเหงื่อออกตามฝ่ามือ หัวใจเต้นรัวราวตีกลอง และวิงเวียนศีรษะอยากจะขุดหลุมมุดดินหนีออกจากสถานที่ตรงนั้นไปให้พ้นๆ

ถ้าใช่ คุณคือหนึ่งในคนที่เทคโนโลยีวีอาร์จะช่วยได้ค่ะ

ออคคิวลัส (Oculus) หนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีวีอาร์อันดับต้นๆ ของโลก มีแอพพลิเคชั่นชื่อ เวอร์ช่วลสปีช (VirtualSpeech) ที่ออกแบบมาช่วยฝึกฝนผู้ใช้งานให้มีความช่ำชองในการพูดในที่สาธารณะมากขึ้น

ใช้ควบคู่กับ เกียร์ วีอาร์ (Gear VR) ของซัมซุง เพียงแค่สวมเข้าไปรอบศีรษะ ก็จะเห็นภาพตัวเองอยู่ในสถานที่ต่างๆ ตามที่เราต้องการจะฝึก ไม่ว่าจะเป็นโรงละคร ห้องประชุม หรือในห้องสัมภาษณ์งาน แอพพลิเคชั่นจะสร้างผู้ชมเสมือนจริงมาให้นั่งฟังคุณฝึกพูด และไม่ได้มานั่งหัวโด่ตัวแข็งทื่อนะคะ แต่จะมีปฏิกิริยาเสมือนผู้ชมจริงๆ ที่จะตั้งใจฟังบ้าง ขยุกขยิกบ้าง คุยกันให้เราเสียสมาธิบ้าง

เราสามารถอัพโหลดสไลด์ของเราเข้าไปเพื่อใช้ฝึกพูดได้อย่างสมจริง

และท้ายที่สุดก็จะมีการให้คะแนนว่าเราทำได้ดีแค่ไหนด้วย

ไม่จำเป็นอีกแล้วที่เราจะต้องใช้เคล็ดลับเก่าๆ ในการฝึกพูดหน้ากระจก หรือจินตนาการถึงผู้ชมที่นั่งฟังอยู่ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามา จินตนาการบางอย่างก็ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นความ (เสมือน) จริง และเชื่อเถอะค่ะว่าฝึกวิธีนี้บ่อยๆ มันจะทำให้เราหายกลัวการพูดต่อหน้าคนและทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

 

มาที่อีกประโยชน์ใช้สอยกันค่ะ อันนี้เป็นแพลตฟอร์มชื่อ ออสโซ วีอาร์ (Osso VR) ออกแบบมาให้ศัลยแพทย์ได้ใช้เพื่อฝึกฝนตัวเองในการผ่าตัดเคสต่างๆ นายแพทย์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้บอกว่าทุกวันนี้ศัลยแพทย์ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีชั่วโมงการฝึกฝนที่ไม่เพียงพอ หรือบางคนก็ไม่มีโอกาสได้ฝึกเคสที่หลากหลายเพราะไม่มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในเคสนั้นจริง

อีกทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่พัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วก็ทำให้มีเครื่องมือแพทย์ออกใหม่มาเรื่อยๆ และมีความสลับซับซ้อนสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งแพทย์ก็จะต้องเตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ

เมื่อสวมอุปกรณ์สวมศีรษะแสดงภาพเสมือนจริงพร้อมถือคอนโทรลเลอร์ตัวบังคับ แพทย์คนนั้นๆ ก็จะเหมือนได้วาร์ปเข้าไปในห้องผ่าตัด มีคนไข้นอนอยู่บนเตียงตรงหน้า และเริ่มต้นฝึกฝนขั้นตอนของการผ่าตัดไปทีละขั้นๆ โดยละเอียด

ตัวแอพพ์ถูกออกแบบมาอย่างสมจริงและรอบคอบทำให้จำลองประสบการณ์ผ่าตัดมาได้อย่างแม่นยำ

และเมื่อเทียบกับการเรียนรู้ผ่านทางตัวหนังสือบนหน้ากระดาษหรือคลิปวิดีโอแล้ว วิธีนี้ได้ผลดีกว่ามากและได้รับฟีดแบ็กที่ดีจากแพทย์ที่ได้ทดลองใช้แล้ว

ซึ่งต่อไปเราน่าจะได้เห็นแพทย์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการฝึกฝนตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็น่าจะนำไปสู่เปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดของการผ่าตัดจริงที่น้อยลงด้วยเช่นกัน

 

นอกจากแพทย์แล้ว อีกอาชีพหนึ่งที่จะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเสมือนจริงก็คือนักบินค่ะ

ที่ผ่านมานักบินก็ได้ฝึกฝนการบินด้วยระบบจำลองอยู่แล้ว แต่ในตอนนี้เทคโนโลยีเสมือนจริงก็ทำให้การฝึกฝนนั้นสมจริงสมจังขึ้นกว่าเดิมไปอีกขั้น

หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ทำแบบนั้นได้มีชื่อว่า เลิร์น ทู ฟลาย เมลเบิร์น (Learn To Fly Melbourne) ซึ่งผู้สร้างระบบยืนยันว่ามันจะเหมือนจริงเสียจนแทบจะแยกไม่ออกจากความเป็นจริง ทุกรายละเอียดถูกออกแบบมาให้ตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด ในขนาดมิติที่เท่าของจริง และอยู่ในตำแหน่งเดียวกันเป๊ะๆ และข้อดีอีกอย่างของระบบนี้ก็คือต้นทุนของการฝึกซ้อมการบินที่ลดลง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้นด้วยนั่นเอง ราคาของการฝึกบินแบบนี้จะอยู่ที่ประมาณ 7,500 บาทต่อการบิน 60 นาที ไม่เลวเลยใช่ไหมละคะ

นักพูดก็แล้ว หมอก็แล้ว นักบินก็แล้ว คราวนี้กระโดดมาที่อาชีพตำรวจกันบ้างค่ะ

อาชีพตำรวจเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องฝึกฝนให้เชี่ยวชาญและช่ำชองเพื่อที่เวลาต้องอยู่ในสถานการณ์จริงจะได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบที่ฉับไวและถูกต้อง ดังนั้น เทคโนโลยีเสมือนจริงจึงเหมาะมากที่จะเข้ามาช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ฝึกฝนตัวเองให้พร้อมอยู่ตลอดเวลา

ใน มอนเมาธ์ เคาน์ตี้ มลรัฐนิวเจอร์ซี ได้มีการสร้างสถานที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปใช้เทคโนโลยีจำลองเสมือนจริงสำหรับการเทรนนิ่งได้แล้ว โดยให้ชื่อว่า สตาร์ (STARS) ที่ย่อมาจาก Situational Training and Response Simulator หรือตัวจำลองการฝึกซ้อมและตอบโต้ในสถานการณ์ต่างๆ โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรกเป็นสถานที่สำหรับฝึกซ้อมทางกายภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงที่จับต้องได้ และจำลองสถานการณ์ต่างๆ ด้วยสเปเชียลเอฟเฟ็กต์

และส่วนที่สองเป็นส่วนที่ใช้วีอาร์เข้ามาช่วย

สำหรับส่วนที่สองจะมีหน้าจอทั้งหมด 5 จอ ทำให้สามารถเห็นภาพได้แบบสามร้อยองศา สถานการณ์ที่ถูกจำลองขึ้นมาจะเป็นการเลียนแบบสถานการณ์ในชีวิตจริงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจพบเจอในการปฏิบัติหน้าที่

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายระหว่างคนในครอบครัว

หรือสถานการณ์กราดยิง

หรือจับตัวประกัน ผู้ฝึกซ้อมจะได้รับเครื่องมือติดตัวหลายประเภทให้เลือกใช้ ซึ่งทุกอย่างก็จะสมจริงสมจังแม้กระทั่งระยะสะท้อนกลับของปืนหรือน้ำหนักของอาวุธต่างๆ ที่ใช้ ก็จะเท่ากับของจริงเป๊ะ

ในขณะฝึกซ้อมจะมีเจ้าหน้าที่ในห้องเทรนนิ่งที่ทำหน้าที่ควบคุมว่าสถานการณ์แต่ละอย่างจะคลี่คลายไปในทางใดบ้าง

ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รู้สึกราวกับตัวเองเข้าไปสัมผัสของจริงแล้ว ทำให้เวลาต้องเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันในโลกแห่งความเป็นจริง ก็จะสามารถตัดสินใจได้ฉับไว

ซึ่งการตัดสินใจได้ถูกต้องและว่องไวก็เป็นตัวแปรที่ชี้เป็นชี้ตายได้ในสถานการณ์จริงนั่นเอง

ยังมีอีกหลายอาชีพเลยนะคะที่สามารถใช้ประโยชน์จากวีอาร์ได้ นักกีฬาก็เช่นกัน ที่ผ่านมานักกีฬาใช้เทคนิคการสร้างจินตภาพในการฝึกซ้อมตัวเองเสมอ

แต่ในตอนนี้ไม่จำเป็นต้องนึกภาพเองอีกแล้วเพราะเทคโนโลยีพร้อมทำให้ในขั้นที่สมบูรณ์กว่านั้น

นี่แหละค่ะ ความเจ๋งของวีอาร์ที่นอกเหนือไปจากการเล่นเกม