มุกดา สุวรรณชาติ : กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะทำอย่างไร? ถ้าคดีจำนำข้าว…ผิด

มุกดา สุวรรณชาติ

จําเป็นต้องพูดถึงปัญหาทางนโยบายของรัฐอีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของประชาชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว ไม่ได้มุ่งหวังผลกำไรเป็นตัวเงิน เช่น นโยบายสาธารณสุข โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ถ้าดูที่ตัวเงิน รัฐขาดทุนแน่นอน ถ้าเปลี่ยนเป็น 300 บาทรักษาทุกโรคอาจได้กำไร แต่คนจนก็คงมีโอกาสรักษาน้อยลง

ส่วนนโยบายที่รัฐรับจำนำพืชเกษตร ยังไม่เคยมีรัฐบาลใดแถลงว่า ปีที่ผ่านมาทำกำไรจากการค้าข้าว ค้าข้าวโพด ฯลฯ ได้กี่พันล้าน

ในสภาพความเป็นจริง ชาวนาไทยลำบากมานานแล้ว และนโยบายช่วยเหลือชาวนาก็มีมาหลายสิบปีแล้ว

วันนี้เรากำลังจะมีกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมียุทธศาสตร์ด้านการเกษตร ซึ่งเกี่ยวพันกับปากท้องของคนทั้งชาติ และอาชีพดั้งเดิมของคนไทยไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของประเทศ

ยุทธศาสตร์นี้ ไม่ต้องรอดูผลระยะยาว มันจะแสดงผลทันทีไม่เกิน 1 ปี และจะมีผลทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง มีผลให้รัฐบาลอยู่หรือไป ได้ไม่ยาก

ในอดีตแม้ไม่มียุทธศาสตร์ที่วางเป็นข้อกำหนด แต่กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ทำต่อเนื่องมายาวนาน

 

การจำนำข้าวของรัฐ
มีมานาน 35 ปี รัฐขาดทุนตลอด

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กรรมกรและชาวนาเริ่มมีข้อเรียกร้องให้ช่วยยกคุณภาพชีวิต กรรมกรได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 25 บาท ส่วนเกษตรกร ชาวนา ก็มีการจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในปี 2517 เพื่อทำหน้าที่ในการเป็นตลาดกลางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป็นแหล่งในการนำสินค้ามาค้าขาย

ในช่วงปี 2517-2523 รัฐบาลในขณะนั้นได้ให้ อ.ต.ก. เข้าไปรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร เพื่อพยุงราคาข้าวเปลือกไม่ให้ตกต่ำ

ปี 2525-2526 มีการจัดทำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของ ธ.ก.ส. โดยให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำกับ ธ.ก.ส. โดยต้องนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานขององค์การคลังสินค้าในพื้นที่

ปี 2529 รัฐบาลปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในวงเงิน 5,000 ล้านบาท ทำให้ราคาข้าวเปลือกชนิดต่างๆ ได้ขยับตัวสูงขึ้น มีเกษตรกรมาขอกู้จำนวน 360,000 ราย และมีข้าวเปลือกจำนำประมาณ 2.27 ล้านตัน

ในปี 2535-2536 โครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นเป็น 10,550 ล้านบาท ปริมาณรับจำนำข้าวเปลือก 3.34 ล้านตัน มีเกษตรกรที่มาใช้บริการสินเชื่อจำนวน 465,744 ราย

ปี 2544 รัฐบาลพรรคไทยรักไทย สืบทอดนโยบายรับจำนำข้าวต่อ ให้ อคส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง และได้ขยายวงเงินรับจำนำจากรายละ 100.000 บาท เป็นไม่เกินรายละ 350,000 บาท

ในช่วงปีการผลิต 2546-2548 รัฐบาลคงเป้าหมายการรับจำนำข้าวเปลือกไว้ที่ 9 ล้านตัน และปรับเพิ่มระดับราคารับจำนำให้สูงกว่าระดับราคาตลาด ทำให้ข้าวหอมมะลิสูงขึ้นจากเดิมตันละ 3,000 บาท ข้าวเจ้านาปีได้ปรับราคาเพิ่มขึ้นอีกตันละประมาณ 1,240-1,440 บาท

ปี 2549 หลังรัฐประหาร รัฐบาล พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การจำนำข้าว เพียงแต่ได้ปรับลดเป้าหมายปริมาณการรับจำนำลงจาก 9 ล้านตันมาเป็น 8 ล้านตัน

ปี 2551 สถานการณ์วิกฤตอาหารดันราคาข้าวขึ้นถึงตันละ 15,000 บาท

เมื่อพรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้ง ก็ยังคงเป้าหมายและราคารับจำนำข้าวนาปีไว้ตามเดิม แต่เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมของปี 2551 ระดับราคาข้าวในตลาดต่างประเทศได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอันเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงานโลก เกษตรกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลประกาศราคารับจำนำในฤดูนาปรังปี 2551 ให้เท่ากับราคาตลาด ซึ่งในขณะนั้นราคาข้าวเปลือกที่ระดับฟาร์มได้ขึ้นไปสูงถึงตันละ 15,000 บาท ทำให้มีการปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 15% ไปที่ตันละ 14,000 บาท

แต่ต้นปี 2552 ตลาดโลกได้ผ่อนคลายจากภาวะวิกฤตและราคาได้อ่อนตัวลงอย่างมาก ราคาที่รับจำนำข้าวเปลือกเจ้าอยู่ที่ตันละ 12,000 บาท

 

การประกาศนโยบายรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท
เป็นความผิดหรือไม่?

ปี2552 ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปลี่ยนนโยบายการแทรกแซงตลาด โดยเลิกการรับจำนำข้าวเปลือกมาเป็นนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำ

ปี 2554 เมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล กลับมาใช้นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกอีกครั้งในปีการผลิต 2554/2555 และยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า เป็นตันละ 15,000 บาท ตามที่ประกาศเป็นนโยบายไว้ตอนหาเสียง และแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

สรุปได้ว่านโยบายจำนำข้าว เป็นการตัดสินใจเชิงนโยบายที่พรรคการเมืองทำอย่างต่อเนื่องหลายปีโดยมีจุดมุ่งหมายช่วยชาวนาแต่ช่วงต้นพยุงไว้ตามราคาตลาด เพื่อไม่ให้ราคาตกลงไปในช่วงที่ข้าวเก็บเกี่ยว

แต่ในช่วงหลังจากพรรคไทยรักไทยมาถึงเพื่อไทย มีนโยบายดันราคาข้าวให้สูง โดยกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด และขยายปริมาณรับจำนำอย่างเต็มที่

เงินที่ใช้ในโครงการนี้จึงสูงมาก เพราะชาวนามีมาก และก็มีผลกระทบต่อระบบค้าข้าวเดิม

เรื่องนี้ในเชิงนโยบายรัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวไว้ที่ 15,000 บาทต่อตัน แต่ในทางปฏิบัติเมื่อหักค่าความชื้นแล้วชาวนาจะได้รับเงินจำนำไปในราคาตันละ 11,000-12,000 บาท ราคาข้าวในตลาดโลกขณะนั้นอยู่ที่ 7-8 พันบาท ชาวนาจะได้เงินเพิ่มตันละประมาณ 4,000-5,000 บาท

มีการวิจัยว่าชาวนาจะได้เงินเพิ่ม 31-38% แต่เมื่อรัฐนำข้าวไปขายในขณะที่ราคาในตลาดโลกไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นบวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเก็บรักษา การขนส่ง การแปรรูปให้เป็นข้าวสาร การประกันภัย ความเสียหายจากการเก็บรักษา ซึ่งต้องใช้จ่ายเพิ่มอีก ดังนั้น ต้องขาดทุนแน่ ขึ้นอยู่กับราคาขายข้าวสารว่าสูงแค่ไหน

แต่พรรคเพื่อไทยแถลงว่า เงินไหลไปสู่ชาวนามากกว่า 800,000 ล้านบาท

ถามว่าโอกาสขาดทุนแบบนี้สามารถประเมินได้ล่วงหน้าหรือไม่

ตอบว่าในการพยุงราคาพืชเกษตรทุกชนิดทุกรัฐบาลทั้งไทยและทั่วโลกก็รู้ว่าไม่มีการได้กำไรจากเกษตรกร รัฐบาลมีแต่ต้องขาดทุนเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้

แต่ในทางปฏิบัติจะขาดทุนมากน้อยขึ้นอยู่กับการควบคุมคุณภาพในระหว่างการทำงานทั้งระบบ ตั้งแต่รับข้าวมาเก็บรักษาจนขายออกไป ควบคุมการรั่วไหลทุกขั้นตอน

เป้าหมายพรรคเพื่อไทย คือ อัดเงินลงสู่ชาวนา ยกระดับชีวิตขึ้น และหวังให้เงินนั้นกระตุ้นกำลังซื้อจากชนบทเข้าสู่เมือง แต่การประกาศขณะเลือกตั้งก็ต้องได้คะแนนเสียงทางการเมือง

แต่เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่าได้ผลทุกโครงการ เช่น โครงการจำนำยุ้งฉาง จนบัดนี้ยังไม่เห็นใครสรุปผลงานออกมา คาดว่ามีชาวนาเข้าร่วมน้อยมาก

ผลการตัดสินของศาลในคดีจำนำข้าว จะส่งผลต่อทุกโครงการในอนาคต

 

กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
จะกำหนดยุทธศาสตร์
พืชเกษตร และความมั่นคงทางอาหารอย่างไร?

กรรมการยุทธศาสตร์ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีผู้นำเหล่าทัพ มีผู้นำด้านธุรกิจ ผู้นำเกือบทุกสายอาชีพ มีผู้ทรงคุณวุฒิที่รู้ทุกเรื่อง มาช่วยงาน ซึ่งจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ด้านต่างๆ ที่จะใช้กันในชาตินี้ ไม่ใช่ชาติหน้า แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนเร็ว ต้องตั้งเร็ว ทำเร็ว

ขณะนี้ราคาพืชผลทุกชนิดตกต่ำมาก ที่เราได้เห็นล่าสุดคือการนำผลมะนาวมาทิ้งไว้ท้ายสวนเพื่อให้เป็นปุ๋ยเพราะเมื่อราคาเหลือลูกละ 15 สตางค์ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะนำออกไปขาย

ไม่ต้องพูดถึงราคาข้าวซึ่งนับวันมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นทั้งโลก แต่ถ้าไม่มีใครปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักจะเกิดปัญหาความมั่นคงทางอาหารขึ้นได้ ในอดีตเราเคยกินข้าวแพงมาแล้ว ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องนี้จึงมีได้มีเสีย

1. ถ้าหากศาลตัดสินว่ากรณีจำนำข้าวของนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นความผิด จะมีผลต่อนโยบายการพยุงราคาพืชเกษตรแน่นอน

เพราะถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ากรณีจำนำข้าวมีการวางกฎเกณฑ์ไว้อย่างละเอียดมิได้ประมาทเลินเล่อ แต่ถ้าความเสียหายเกิดจากเป็นเพราะไปรับจำนำในราคาสูง แล้วต้องมาขายออกในราคาต่ำทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งแบบนี้มีมาทุกรัฐบาลและมีในพืชเกษตรไม่ว่าจะเป็นยาง ลำไย ข้าวโพด มันสำปะหลัง อื่นๆ

ถ้ามองว่านโยบายที่ทำให้รัฐขาดทุนเป็นความผิด แบบที่ใช้คำว่า…คอร์รัปชั่นทางนโยบาย… ผู้เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ

ต่อให้ไม่มีความผิดอาญา แค่ผิดในคดีแพ่ง หรือถูกยึดทรัพย์แบบนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่ต้องรอศาลตัดสิน แต่ใช้ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องถึง 30,000 ล้าน แค่ 100 ล้าน 1,000 ล้าน ก็หมดตัวล้มละลายเหมือนกันหมดทุกคน จากนี้ไปรัฐบาลใดจะกล้ากำหนดนโยบายพยุงราคาข้าวหรือพยุงราคาพืชเกษตรอื่น

2. กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะกล้ากำหนดไหมว่า ยุทธศาสตร์คือ จะไม่ให้รัฐขาดทุนจากการพยุงราคาพืชผลการเกษตร แต่จะปล่อยให้ราคาพืชผลการเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาด จะไม่มีการเข้าไปพยุงราคาไม่ว่าวิธีการใดๆ ทั้งประกันราคา จำนำ หรือให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งทุกวิธีล้วนทำให้ขาดทุนทั้งสิ้น

และถ้าเขียนลงไปแบบนั้น จะมีมาตรการทดแทนอย่างไร ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรจำนวนนับสิบล้านคน

3. ถ้าการตัดสินกรณีจำนำข้าวออกมาว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ไม่ผิด แสดงว่านโยบายพยุงราคาพืชเกษตรทำได้ ไม่เพียงข้าว แต่หมายถึงยางพารา มันสำปะหลัง ฯลฯ แบบนี้การพยุงราคาพืชเกษตรที่กำลังทำอยู่ก็ทำต่อไปได้ แต่กรรมการยุทธศาสตร์จะกำหนดกรอบอย่างไรในอนาคต เกี่ยวกับตัวเลขความช่วยเหลือ การยอมรับการขาดทุนในแต่ละปี คุณสมบัติของเกษตรกร ชนิดของพืชเกษตร ฯลฯ

คดีจำนำข้าว 2560 จะมีผลต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ เป็นการวัดความสามารถของชนชั้นนำ ว่ามีความสามารถแบบข้าราชการประจำ พ่อค้าธรรมดา หรือนักยุทธศาสตร์ระดับชาติ

 

ถึงวันนี้ทีมงานไม่ได้ประเมินว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์จะอยู่ในสถานะที่ต้องถูกตัดสินว่าผิด

เพราะโดยเนื้อหาและรูปแบบของการวางนโยบายและการปฏิบัติ สามารถสู้คดีได้แบบชอบธรรม

เพียงแต่ตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นคีย์ทางการเมือง เป็นตัวชี้ขาดที่สำคัญคนหนึ่ง ในการตัดสินแพ้ชนะ ช่วงการเลือกตั้ง จึงถูกสกัดไม่ให้ลงสนามแข่งขันซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของฝ่ายตรงข้าม เรื่องแบบนี้รุกได้ถอยได้

แต่ที่กำลังเป็นข่าวคือ เกมปิดประตูตีแมว ที่เอาข้าวดีมาแอบขายเป็นข้าวเน่าเพื่อทำกำไร ถ้าไม่ยอมยุติแสดงว่าข่าวเรื่องการสะสมทุนหมื่นล้าน เพื่องานการเมืองปีหน้าเป็นเรื่องจริง

คดีจำนำข้าว 2560 กำลังขยายตัวออกไป กลายเป็นปัจจัยสำคัญทางการเมืองในการกำหนดอนาคต ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งหน้า

การกำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว

การกำหนดว่าการเมืองจะราบเรียบหรือยุ่งเหยิง เป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ส่งผลถึงการกระทำในอดีตและอนาคตของคนทำงาน ทั้งข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง อาจจะเกิดคดีแบบนี้อีก 500 คดีในอนาคต

ซึ่งจะวิเคราะห์ผลกระทบแต่ละด้านในโอกาสต่อไป