เบื้องลึก ปรับสูตรระบายข้าว ลดเกรดข้าวดีเป็นข้าวเสื่อม เอกชนอ่วม-ชี้รัฐเสียมากกว่า

ก่อนการตัดสินคดีประวัติศาสตร์ “นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวจนสร้างความเสียหาย ในวันที่ 25 สิงหาคม 2560

ประเด็นร้อนแรงจากโครงการจำนำข้าวยังมีเหตุปะทุขึ้นมาอีก ในอีกด้านหนึ่ง อันเนื่องมาจากผลการคัดแยกเกรดข้าวดีเป็นข้าวเสีย

ปมร้อนเกิดขึ้นจาก นางสาวอิศราภรณ์ คงฉวี ผู้แทนเจ้าของคลังวรโชติ (หลัง 2) อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ผู้รับเก็บฝากข้าวสารหอมปทุม จากโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ปริมาณ 66,361 กระสอบ (หรือ 6,631 ตัน) ทำหนังสือร้องเรียนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 1 (ป.ป.ท.) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 ขอให้กรมการค้าต่างประเทศยุติการส่งมอบข้าวสารที่เก็บรักษาในคลังวรโชติให้กับบริษัท วี ซี เอฟ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ชนะประมูลซื้อข้าวในคลังนี้ เพื่อให้มีการตรวจสอบใหม่

โดยเจ้าของคลังยืนยันว่าข้าวหอมปทุมจากโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ที่เก็บรักษาไว้มีคุณภาพดีสามารถนำไปบริโภคได้ ไม่ควรถูกนำมาจัดกลุ่มเป็นข้าวเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่สำหรับคนบริโภค (อาหารสัตว์) ซึ่งทำให้รัฐประมูลได้ราคากิโลกรัมละ 5.07 บาทจากราคาตลาดที่ซื้อขายกิโลกรัมละ 17-18 บาท

ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเสียประโยชน์จากมูลค่าข้าวลดลง และยังทำให้คลังวรโชติมีความเสี่ยงที่จะต้องชดใช้ส่วนราคาซื้อกับต้นทุนราคาจำนำข้าวที่กิโลกรัมละ 25 บาทให้กับรัฐ คิดเป็นเงินกิโลกรัมละ 19 บาท ดังนั้น จึงขอให้ยุติการรับมอบเพื่อเก็บข้าวไว้เป็นหลักฐานและให้ ป.ป.ท. เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง

 

ประเด็นลักษณะเดียวกันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคลังวรโชติเท่านั้น แต่เคยเกิดขึ้นกับคลัง บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบล (โซลาร์ไรซ์) 2011 หลัง 9 จ.อุบลราชธานี ก่อนหน้านี้

รวมถึง “คลังกลาง” ที่รับฝากเก็บข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2556/2557 อีก 7 แห่งจากทั้งหมดประมาณ 10-20 แห่งที่พร้อมให้มีการตรวจสอบ เช่น คลังถาวรโชคชัย อ.เสาไห้ จ.สระบุรี, คลัง บ.โรงสีแสงไพฑูรย์ (2002) จำกัด จ.ปทุมธานี, คลัง หจก.โรงสีไฟธารา (1993) อ.เมือง จ.ลพบุรี, คลัง หจก.โรงสีไฟเจริญประภา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี, คลังเปรมศิริ พืชผล จ.พิษณุโลก

แต่ยังไม่ชัดเท่ากับ “คลังวรโชติ” เพราะการนำข้าวมาประมูลขายแล้ว

ในมุมเจ้าของคลังกลาง ระบุว่า ครั้งแรกที่คณะตรวจสอบที่มี “ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล” อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อปี 2557 ได้ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพข้าว จัดเกรด เป็นข้าวถูกมาตรฐาน เกรด P ข้าวที่ปรับปรุงได้แยกเป็น เกรด A เกรด B และเกรด C และข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก พร้อมทั้งจัดให้ประมูล “รายกอง” โดยกำหนด “ราคาเกณฑ์กลางขั้นต่ำ”

แต่จากนั้นผ่านมา 2 ปี สามารถระบายข้าวสารในสต๊อกไปได้เพียง 8 ล้านตัน เหลือข้าวเกือบ 10 ล้านตัน เป็นเหตุให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (นบข. ) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ปรับแนวทางระบายโดยให้กำหนดกลุ่มข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลใหม่ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ กลุ่มข้าวทั่วไป กลุ่มข้าวเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (อาหารสัตว์) และกลุ่มข้าวเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์ (พลังงาน) โดยใช้หลักเกณฑ์ว่าหากคลังใดมีข้าวเกรด C ตั้งแต่ 20% ขึ้นไปของจำนวนข้าวทั้งหมด ให้ตัดเกรดข้าวคลังนั้นเป็นข้าวอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ประเด็นดังกล่าวส่งผลให้ข้าวในคลังทั้ง 8 คลังถูกลดเกรดจากข้าวที่ปรับปรุงได้ให้อยู่ในกลุ่มอาหารสัตว์ และถูกประมูลซื้อในราคาที่ต่ำ

นอกจากนี้ นบข. ยังให้ประมูลแบบ “ยกคลัง” พร้อมทั้งยกเลิก “ราคาเกณฑ์กลางขึ้น” อีก

 

ประเด็นที่เจ้าของคลังกลางแย้งคือ เมื่อตรวจสอบข้าวครั้งแรก รัฐไม่มีการแจ้งผลการตรวจสอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ทุกคนไม่รู้ว่าคลังของตัวเองถูกจัดให้เป็นข้าวกลุ่มใด ต้องติดตามรายชื่อคลังจากทีโออาร์ระบายข้าวว่าอยู่ในลิสต์ประมูลกลุ่มใด หรือบางคลังรู้หลังจากถูกแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว จึง “ไม่สามารถคัดค้านผลการตรวจสอบ หรือหาหลักฐานมาหักล้าง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตัวเองได้” จนเกิดเคสของวรโชติที่ขายไปแล้วจึงรู้ว่าข้าวดีในคลังถูกลดเกรดเป็นข้าวเสื่อม

และที่สำคัญการออกมติ นบข.ใหม่ ออกมาภายใต้ประกาศมาตรา 44 ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อปลายปี 2559 ให้ความคุ้มครองข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทำให้ราชการปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อเร่งขายข้าวให้หมด หวังลดค่าฝากเก็บ

ทันทีที่รู้ว่าถูกจัดเกรดว่าเป็นข้าวเพื่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการคลังยื่นขอซื้อข้าวที่อยู่ในคลังคืนจากหลวง โดยให้ราคาที่สูง ราคาที่คาดการณ์ว่าจะประมูลไปถึงกิโลกรัมละ 11-11.25 บาท แต่รัฐบาลไม่ขาย เพราะราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางขั้นต่ำ

และเมื่อจัดกลุ่มใหม่แล้วกลายมาอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โรงสีไม่สามารถที่จะเข้าร่วมประมูลได้ เพราะไม่มีใบอนุญาตโรงงาน 10 สำหรับอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่อาหารคน ผิดกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของทีโออาร์ จึงไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ จำเป็นต้องหลีกทางให้บริษัทอาหารสัตว์และปุ๋ยเข้าซื้ออย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์

อย่างไรก็ตาม ประเด็นการร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ป.ป.ท. เพื่อขอให้ระงับการขนย้าย และขอตรวจสอบข้าวสารในสต๊อกซ้ำอีกครั้ง “ไม่เป็นผล”

 

กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะผู้ดำเนินการระบายข้าว ยืนยันว่าจะดำเนินการระบายต่อไปตามแผน และยึดมติ นบข. เป็นบรรทัดฐาน โดยให้เหตุผลว่า กระบวนการตรวจสอบล่วงเลยมาแล้ว หากย้อนกลับไปจะเสียกระบวนทั้งหมด

พร้อมกันนี้ยังชี้แจงว่ารัฐได้พยายามจะแบ่งแยกข้าวดี-ข้าวเสียแล้ว แต่มีข้อจำกัดทั้งพื้นที่-ระยะเวลา-ค่าใช้จ่าย หากรัฐบาลแบ่งแยกข้าวดี-ข้าวเสื่อม โดยย้ายกองซึ่งจะมีต้นทุนค่าขนย้ายข้าว กระสอบละ 12 บาท หากต้องตรวจสอบแยกกองทั้งหมดของข้าว 18 ล้านตัน ซึ่งมี 13,000 กอง ดูจะไม่ใช่เรื่องง่าย ในคลังกลางไม่มีแม้แต่พื้นที่ว่างสำหรับคัดแยกกอง และที่สำคัญถ้าแยกขายอาจต้องใช้เวลาระบายยาวนานกว่า 3 ปี ทำให้ข้าวยิ่งเสื่อมลงไปเรื่อยๆ มูลค่าก็หายไป จึงจำเป็นต้องขาย

อย่างไรก็ตาม วงการข้าวตั้งข้อสังเกตว่า การปรับสูตรการระบายข้าวของ นบข. เมื่อต้นปี 2560 ที่ดูเหมือนจะ “วิน-วิน” ทุกฝ่าย เพราะการจัดเกรดข้าวใหม่และระบายแบบเหมาคลัง ช่วยทำให้รัฐสามารถ “ขายเร็ว” ลดภาระค่าเก็บฝากตันละ 200 บาทต่อเดือน

ขณะที่ “ผู้ซื้อ” โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็ได้วัตถุดิบราคาถูกกว่าท้องตลาดอย่างมาก เช่น ซื้อข้าวกิโลกรัมละ 5.70 บาท เทียบกับข้าวโพดกิโลกรัมละ 8 บาท มันสำปะหลังเส้นกิโลกรัมละ 5 บาท คุ้มค่ากับการซื้อไปสต๊อก บางโรงงานวางแผนสต๊อกไว้ยาวนานถึง 5 ปี

และเมื่อนำไปขายเป็นอาหารสัตว์ ราคาขายก็จะถูกกดให้ต่ำลงๆ กว่าปกติเป็นเท่าตัว เช่น ถ้าขายเป็นข้าวทั่วไปกิโลกรัมละ 10 บาท ขาดทุนจากต้นทุนจำนำกิโลกรัมละ 15 บาท ถ้าขายเป็นอาหารสัตว์ 5 บาท ขาดทุน 25 บาท

ที่สำคัญ ผลความเลวร้ายจากการขาดทุนมหาศาลย้อนศรกลับไปที่ฝ่ายการเมืองที่เป็นต้นตอของโครงการรับจำนำทันที

 

จะเห็นว่าทุกฝ่ายได้ประโยชน์หมด ยกเว้น “เจ้าของคลัง” เท่านั้นที่ต้องรับผิดชอบจ่ายส่วนต่างราคาให้กับรัฐบาล ในฐานะคู่สัญญา “สัญญาเก็บฝาก” กับ อคส./องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อเก็บฝากข้าวสารจากในโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ซึ่งต้องรับผิดชอบ “ปริมาณและคุณภาพข้าว”

และถึงจะมีโอกาสต่อสู้ทางคดี แต่ “โอกาส” ชนะเรียกว่าริบหรี่มาก เพราะไม่สามารถเก็บ “ข้าวสาร” ไว้เป็นหลักฐานในการแก้ต่างให้ตัวเองได้ หนีไม่พ้นต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างราคามหาศาล

นี่คือชะตากรรมของเจ้าของคลังเก็บข้าว จากการปรับกระบวนการระบายข้าว จนทำให้เอกชนต้องออกมาดับเครื่องชนอยู่ในขณะนี้