ข้าวนี้ นะมีรส ให้ชนชิม ทุกชั้นชน เบื้องหลัง สิทุกข์ทน และขมขื่น จนเขียวคาว

มุกดา สุวรรณชาติ

จิตร ภูมิศักดิ์ บอกว่าข้าวมีไว้ให้คนทุกชั้นกิน แต่ทั้งข้าวดีข้าวเสีย มีเบื้องหลังที่ขมขื่น

ข้าวที่เก็บไว้นาน ต้องเสื่อมบ้าง ข้าวในโกดัง 2,000 แห่ง อาจมีหายบ้าง แต่มีคนรับผิดชอบชดใช้ต่อรัฐบาลตามสัญญา ซึ่งทำไว้อย่างละเอียด อ่านแล้วต้องบอกว่าเขี้ยวจริงๆ

และสัญญานี้ทำให้ผู้รับฝากต้องปกป้องข้าวในโกดังยิ่งกว่านายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เขาจึงแน่ใจว่าเป็นข้าวดี ไม่ใช่ให้หมูกิน และท้าเปิดโกดังพิสูจน์กันต่อหน้าสื่อ

 

สัญญาของรัฐ กับผู้รับฝาก ครอบคลุมอะไรบ้าง

1.เสียหายต้องชดใช้ เพราะมีสัญญาว่าผู้รับฝากข้าวของโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของโกดังหรือโรงสีหรือคู่สัญญา ต้องชดใช้ความเสียหายทุกกรณี

หากผู้รับฝากมิได้รักษาคุณภาพ และ/หรือคงไว้ซึ่งปริมาณข้าวเปลือกที่รับฝาก หรือข้าวสารที่สีแปรสภาพจากข้าวเปลือกที่รับฝาก ผู้รับฝากต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย

กรณีข้าวเปลือกหรือข้าวสารเสื่อมคุณภาพหรือสูญหาย ให้ใช้ราคารับจำนำหรือราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยของกรมการค้าภายในและราคาของสมาคมโรงสีข้าวไทย ณ วันที่ผู้ฝากพบเหตุที่ผู้รับฝากปฏิบัติผิดสัญญา แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์คำนวณราคาที่ต้องชดใช้

2. ต้องมีระบบรักษาสินค้า และตรวจสอบ ผู้รับฝากมีหน้าที่จัดเก็บและรักษาคุณภาพข้าวให้ดีได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าข้าวที่ใช้บังคับอยู่และที่จะออกใช้บังคับต่อไป ตลอดระยะเวลาที่รับฝากเก็บโดยผู้รับฝากต้องใช้ความระมัดระวังและต้องใช้ฝีมือเป็นพิเศษตามที่ผู้มีอาชีพนี้พึงปฏิบัติ…

โดยกำหนดให้ผู้รับฝากต้องติดตั้งกล้องวงจรปิดในบริเวณที่สามารถบันทึกภาพกิจกรรมการรับจำนำข้าวเปลือกจากเกษตรกร สถานที่ตามโครงการให้ชัดเจน…ตลอดระยะเวลาโครงการ รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงภาพกิจกรรมให้ศูนย์ Operation room ของฝ่ายเลขานุการ กขช. ได้ด้วย (ถ้ามี)

ผู้รับฝากจะทำการรับฝากข้าวเปลือกจากเกษตรกรไว้ก่อนที่เจ้าหน้าที่ อคส. จะออกใบประทวนในภายหลังมิได้ ห้ามผู้รับฝากรับมอบข้าวเปลือกจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร นอกบริเวณโรงสีที่เป็นจุดรับจำนำ

ผู้รับฝากต้องยินยอมให้ผู้ฝาก ตัวแทนของผู้ฝาก เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าตรวจสอบคุณภาพ ปริมาณคงเหลือ และบัญชีรับจ่ายข้าวในโครงการได้ตลอดเวลา

ผู้รับฝากต้องมีเครื่องวัดความชื้นอย่างน้อย 2 เครื่อง และมีเครื่องมือตรวจคุณภาพข้าวเปลือกที่เพียงพอต่อการใช้งาน ผู้รับฝากต้องให้ความเป็นธรรมกับเกษตรกรในการหักสิ่งเจือปน และการหักลดน้ำหนักความชื้นข้าวเปลือกตามประกาศกรมการค้าภายใน

3. มีสัญญาควบคุมดูแล การแปรสภาพ (สีข้าว)

การนำข้าวเปลือกไปสีเป็นข้าวสารจะต้องทำตามคำสั่งของผู้ฝากข้าว มีกำหนดด้วยว่า ข้าวเปลือกแต่ละชนิด สีแล้วจะได้ข้าวสารกับปลายข้าวกี่กิโล และต้องทำตามกำหนดเวลาโดยข้าวสารที่ได้จากการแปรสภาพจะต้องได้คุณภาพตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าข้าว

ห้ามผู้รับฝากนำข้าวสารที่มิได้แปรสภาพจากข้าวเปลือกที่รับจำนำตามโครงการ หรือข้าวสารของโรงสีอื่นๆ ส่งเข้าเก็บในคลังสินค้าของผู้ฝากโดยเด็ดขาด

4. มีการประกันภัย แบบครอบคลุมความเสียหายทุกด้าน

ผู้รับฝากจะต้องจัดให้มีการประกันวินาศภัยข้าวเปลือกและข้าวสารที่เก็บไว้ในคลังสินค้าของผู้รับฝากที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงสีของผู้รับฝากตามสัญญานี้ โดยทุนทรัพย์ที่เอาประกันต้องเต็มมูลค่าข้าวเปลือกและข้าวสารที่รับฝากตลอดระยะเวลาการเก็บรักษาโดยระบุให้ผู้ฝากเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญากรมธรรม์ประกันภัย และระบุเงื่อนไขการประกันภัยคุ้มครองจากอัคคีภัย ลมพายุ ภัยจากน้ำท่วม ภัยจากน้ำ และภัยจากการโจรกรรม โดยผู้รับฝากเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัย…

หากผู้รับประกันข้างต้นปฏิเสธชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่ผู้ฝากไม่ว่าเพราะเหตุผลประการใดๆ ผู้รับฝากยินยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด…

ผู้รับฝากจะต้องนำเงินสด หรือหนังสือค้ำประกันธนาคารตามแบบที่ผู้ฝากกำหนดในอัตราร้อยละ 50 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่รับฝาก…

กรณีเป็นสหกรณ์ หรือกลุ่มเกษตรกร ให้คณะกรรมการของสหกรณ์ทั้งคณะเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญาตามแบบที่ผู้ฝากกำหนด

สัญญาที่ป้องกันรอบด้านแบบนี้ คงจะเป็นคำตอบว่า ผู้รับผิดชอบโครงการ มีการเตรียมการอย่างดี ไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด

 

การหาเงินจากข้าวที่อ้างว่าเป็นข้าวเน่า ข้าวเสื่อม

เมื่อผู้รับฝากถูกบีบโดยสัญญา แถมมีการวางเงินประกันไว้ จึงไม่ยอมให้เกิดการผิดพลาดให้เป็นคดีฟ้องร้อง

และถ้าจำเป็น เช่น รู้ว่ามุมหนึ่งของโกดังมีข้าวเสีย 100 กระสอบ พวกเขาจะหาข้าวใหม่มาทดแทนข้าวที่เสียได้

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมไม่มีภาพข้าวเน่าจำนวนมหาศาลให้เห็น หรือมีข่าวข้าวหายจำนวนมาก ถ้าใครคิดจะโกง ต้องเปลี่ยนกฎ แล้วเปิดช่องทางใหม่

คือเปิดประมูลในราคาถูก แล้วนำไปขายต่อในราคาแพง

1. วิธีนี้จะต้องมีการประกาศว่า ข้าวในโกดังเป็นข้าวที่เสื่อม หรือเป็นข้าวเสีย และต้องรีบนำมาขายในราคาถูก แต่ถ้าเจ้าของโกดังขอท้าพิสูจน์ ห้ามรับคำท้า เพราะถ้าเปิดโกดังแล้วเจอข้าวดีจะซวย

2. จำกัดผู้ซื้อ ให้มีเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตเชื้อเพลิง เจ้าของโกดัง ก็ไปแข่งประมูลไม่ได้

3. ต้องมีคนกลางจัดการตกลงกันให้ได้ จึงจะประมูลขายในราคาถูก โดยให้ราคาลดลงไป 3 เท่า เช่น กิโลละ 15 บาทก็เหลือเพียงกิโลละ 5 บาท ข้าว 1 ตัน ก็จะทำกำไรได้ 1 หมื่นบาท ข้าวล้านตัน ก็จะได้ 1 หมื่นล้าน

4. การทำกำไรต่อ สมมุติว่ามีข้าวเสื่อมจริง ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ตามข้อกำหนด นำไปขายเป็นอาหารสัตว์ ข้าวอีก 80 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำไปขายให้คนกินได้

ถ้าขายส่งต้องได้กิโลละ 15 บาท ข้าวหนึ่งตัน เหลือ 800 กิโล จะทำเงินได้ 12,000 ในขณะที่ต้นทุน 5,000 ถ้าคนซื้อต่อนำไปผลิตเป็นข้าวสารถุงที่เราซื้อมากินจะได้กิโลละ 20-35 บาท แสดงว่าเมื่อบรรจุถุงมาขายปลีกยังสามารถทำกำไรได้อีกทอดหนึ่งเกินกว่าตันละหมื่นบาท ถ้าล้านตันจะเป็นเงินเท่าไร

สามารถแบ่งกำไรให้ทุกฝ่าย งานนี้มีการประกาศมาแล้วว่า ข้าวเสื่อมที่จะขาย มีเกิน 2 ล้านตัน

แต่เรื่องแบบนี้เจ้าของโกดังจะไม่ยอม ดังนั้น จึงมีการคัดค้านโวยวายขึ้นมา ที่เขาไม่ยอมเพราะว่าจะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายในกรณีข้าวหายหรือข้าวเสื่อมตามสัญญาทำไว้กับรัฐบาล จึงไม่แปลกใจที่เจ้าของโกดังบอกว่า ต้องเปิดประมูลทั่วไป อย่าจำกัด ถ้าไม่มีใครซื้อ เขาจะซื้อเอง ให้ราคากิโลละ 10 บาท

 

ทำไมไม่เปิดโกดังพิสูจน์
และหาวิธีแก้ไขให้ถูกทาง

1.คนไทยโดยทั่วไปกินข้าวมาแต่เด็ก รู้ว่าข้าวแบบไหนกินได้ แบบไหนกินไม่ได้

ส่วนพ่อค้าข้าวก็ค้าขายกันมาหลายสิบปี บางตระกูลขายมาเป็นร้อยปี ก็พอรู้ว่าข้าวแบบไหนต้องนำไปค้าขาย ตามเกรดของข้าว จะมีราคาสูงต่ำเท่าใด จะมีกำไรมากน้อยเท่าใด ข้าวแบบไหนขัดได้แต่งได้ ผสมอย่างไร สามารถนำไปใส่ นำไปบรรจุถุงขายได้หรือไม่ ถ้าเปิดโกดัง นำผู้รู้ฝ่ายต่างๆ เข้าไป ก็ประเมินได้ไม่ยาก

2. แยกของดีของเสีย

เราสอนลูกหลานให้รู้จักคุณค่าของข้าวมาตั้งแต่เด็ก บอกว่าพยายามกินข้าวให้หมดอย่าให้เหลือ เพราะกว่าจะได้ข้าวมายากลำบากมาก แต่มาวันนี้เราจะนำข้าวซึ่งคนสามารถกินได้ไปให้สัตว์กิน ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องเหมาะสม ถ้ามีข้าวเสื่อม ซึ่งคาดว่าถ้าตรวจหาจริงๆ ไม่น่าจะมีเปอร์เซ็นต์สูงมาก

ส่วนข้าวดี ก็สามารถขายได้ตามปกติ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องนำไปปนกับข้าวเสียส่วนน้อย แล้วขายเลหลังรวมออกไป พวกข้าวสารไม่ใช่สินค้าที่จะเน่าเสียในวันสองวัน

การเหมารวมแบบนี้เคยทำมาแล้วในกรณี ปรส. 850,000 ล้าน ซึ่งมีการนำหนี้เสีย หนี้ดีมาปนกันแล้วขายไปในราคาถูก หนี้ 850,000 ล้าน ขายได้เพียง 190,000 ล้าน ขาดทุนย่อยยับ แล้วก็ปรากฏว่า บริษัทเมืองนอกผู้ที่รับซื้อหนี้ในราคาถูกนำกลับไปขายให้คนไทยได้ในราคาแพง ทำกำไรไปสบายๆ

3. ถ้านำมาบรรจุถุงขายราคาถูก รัฐจะได้เงินเพิ่มเป็นหมื่นล้าน คนจนได้ข้าวสารราคาถูกบริโภค

ถ้ามีการตรวจอย่างละเอียด พ่อค้าทั่วไปสามารถนำข้าวที่คนกินได้มาบรรจุถุงขายซึ่งจะได้เงินมากกว่าไปประมูลขายในราคาข้าวเสื่อมเป็นเท่าตัว

ถ้าเป็นรัฐจะทำโครงการข้าวถูก ก็ยังนำไปบรรจุเป็นข้าวถุงไปขายให้คนซึ่งมีปัญหาทางเศรษฐกิจซื้อไปบริโภคในราคาถูก ทำแบบนี้รัฐได้เงินมากขึ้น เงินทองไม่รั่วไหลตกหล่น ประชาชนผู้บริโภคก็ได้ซื้อข้าวราคาถูก

วันนี้ข้าวสารที่ซื้อกินราคาก็เกิน 20 บาทต่อกิโลกรัมอยู่แล้ว การจัดการปัญหาแบบนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องวิตกเรื่องจะเกิดการแทรกแซงราคาตลาดข้าวสาร เพราะราคาข้าวสารสูงเกินไป สมควรจะลดลงมาบ้าง

ทุกวันนี้แม้ต้นทุนข้าวเปลือกถูกลงมา แต่ไม่เห็นว่าข้าวถุงจะลดราคาลงมาสักเท่าไหร่ ถ้ารัฐแทรกแซงการทำข้าวถุงราคาถูกออกมา คนยากคนจนจะพลอยได้ผลประโยชน์จากการกินข้าวสารราคาถูกได้บ้าง ไม่ใช่เอาไปให้หมูให้หมากิน

ปัญหาการจำหน่ายข้าวเสื่อมคุณภาพที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นทั้งปัญหาการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทำถูกต้องคนยกย่องว่าบริหารเป็น รัฐได้เงินเพิ่ม ถ้าทำผิดพลาด คนมองว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เป็นการรังแกเอกชน มีการทุจริตหาเงิน และจะชี้ชัดว่าคดีจำนำข้าวเป็นการเมือง ซึ่งจะยังไม่จบในเร็ววันนี้ จะขยายต่อไปแค่ไหนยังตอบไม่ได้

ในโลกนี้มีแต่คนปลอมของเสีย ของด้อยคุณภาพว่าเป็นของดี ถ้ามีคนนำของดีไปบอกว่าเป็นของเสีย มันต้องมีปัญหาอยู่เบื้องหลังแน่นอน การทุจริตแบบนี้ผู้ปฏิบัติลำบากแน่ ในอนาคตเมื่อรื้อฟื้นขึ้นมา ม.44 ก็คุ้มกันไม่ได้ เบื้องหลังขมขื่น เบื้องหน้ายิ่งขมขื่น