หนุ่มเมืองจันท์ : อนุสาวรีย์…

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“สิ่งคุ้นตาที่ไม่มีให้เห็นอีกแล้วตลอดกาล

เด็กขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยกไฟแดง”

ผมเจอข้อความนี้ในเฟซบุ๊กของ “พี่จิก” ประภาส ชลศรานนท์ เมื่อวันก่อน

อ่านแล้วขำปนสะอึก

เป็นความจริงที่เจ็บปวดสำหรับคนที่อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มาเกือบทั้งชีวิตการทำงาน

ทั้งที่ความจริงแล้ว เด็กขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยกไฟแดงเริ่มหายไปเรื่อยๆ

หรือหายไปพักหนึ่งแล้ว

เพียงแต่เราไม่ได้สังเกต

พอมีคน “ขีดเส้นใต้” ให้เห็นชัดเจนในห้วงเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเจอการ disrupt หรือทำลายล้างจากสื่อดิจิตอลอย่างรุนแรง

เราจึงเพิ่งนึกขึ้นได้

เอ้อ…จริงด้วย

ถ้า “อนุสาวรีย์” คือรูปปั้นที่ระลึกถึง “อดีต”

“เด็กขายหนังสือพิมพ์ตามสี่แยกไฟแดง” ก็คงเป็นอีกหนึ่งอนุสาวรีย์ของ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น

ลองนึกกันเล่นๆ ว่าในช่วงชีวิตของเรา มีอนุสาวรีย์แห่งความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เยอะเหมือนกันนะครับ

อย่างเช่น “เพจเจอร์” ก็ถือเป็นหนึ่งใน “อนุสาวรีย์ความเปลี่ยนแปลง”

เวลาคุยกันเรื่องนี้ คนรุ่นนั้นก็จะมีเรื่องเล่าขำๆ กัน เพราะระบบเพจเจอร์เราต้องโทร.บอก “โอเปอเรเตอร์” ให้พิมพ์ข้อความให้

ยิ่งใครที่บอกรักแฟนก็ต้องบอกข้อความหวานๆ ให้ “โอเปอเรเตอร์” พิมพ์ให้

เป็นการบอกรักแฟนแบบมี “บุคคลที่สาม” รับรู้

ใครเป็นโอเปอเรเตอร์ “เพจเจอร์” ยุคนั้น คงมีเรื่องเล่าสนุกมากมาย

จีบกันก็รู้

งอนกันก็ทราบ

จะง้อกันบางที “โอเปอเรเตอร์” ก็ช่วยขัดเกลาข้อความให้

เป็นเรื่องเล่าที่ “เด็กรุ่นใหม่” ฟังแล้วงงๆ

“ตู้โทรศัพท์สาธารณะ” และ “ตู้ไปรษณีย์” ก็เช่นกันครับ

กำลังจะกลายเป็น “อนุสาวรีย์ความเปลี่ยนแปลง”

เพราะตอนนี้แทบทุกคนมี “โทรศัพท์มือถือ”

โทร.คุยกันได้เลย

จะส่งข้อความถึงกันก็ส่งผ่านทาง “ไลน์-อีเมล”

ไม่ต้องใช้จดหมาย

ถ้าไม่เชื่อ ลองถามตัวเองเล่นๆ สิครับ

…คุณเคยใช้โทรศัพท์สาธารณะ หรือไปหย่อนจดหมายที่ตู้ไปรษณีย์ครั้งสุดท้ายเมื่อไร

ที่น่าสนใจก็คือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นในวันนี้ใช้เวลาสั้นมาก

สั้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว

ขออนุญาตย้อนอดีตนิดนึง

ตอนรัฐประหาร ปี 2534 คุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

มีการรื้อโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมาย ที่ “เทเลคอมเอเชีย” หรือ “ทรู” ในวันนี้ชนะการประมูล

การเจรจาระหว่าง “อานันท์” กับ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ในครั้งนั้น ถือเป็นกรณีศึกษาที่คลาสสิกมาก

“อานันท์” ต้องการแบ่งสัมปทานออกมาเป็น 2 ส่วนเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด

เพราะตอนนั้นการขอโทรศัพท์ตามบ้านนั้นยากมาก

มีเงินก็ยังขอไม่ได้

“โทรศัพท์ตามบ้าน” ถือเป็นขุมทรัพย์ที่ใครๆ ก็แย่งชิงกัน

“โทรศัพท์มือถือ” เพิ่งเริ่มแจ้งเกิด

20 ปีผ่านไป ไม่มีใครใช้โทรศัพท์ตามบ้านหรือโทรศัพท์สาธารณะแล้ว

ทุกคนใช้แต่โทรศัพท์มือถือ

“มือถือ” กลายเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง

ที่น่าสนใจก็คือ การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ใช้เวลา 20 ปี

แต่วันนี้การเปลี่ยนผ่านเร็วขึ้น

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ทีวีดิจิตอล

เมื่อ 3 ปีก่อน เพิ่งประมูลทีวีดิจิตอลกัน

แข่งกันดุเดือดมาก

คนที่เข้าร่วมประมูลก็ล้วนแต่ “รายใหญ่”

เป็นคนที่คร่ำหวอดในวงการโทรทัศน์หรือวงการสื่อต่างๆ

ประสบความสำเร็จทางธุรกิจทุกราย

ตอนที่ประมูลทุกคนเชื่อว่า “ทีวีดิจิตอล” คือ “ขุมทรัพย์”

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ก็ชัดเจนว่า “ความเชื่อ” เช่นนั้น ผิดพลาด

ทุกคนเจ็บตัวกันถ้วนหน้า

เหลือรอดไม่กี่ราย

ถามว่ากลุ่มธุรกิจเหล่านั้นไม่เก่งเหรอ

ไม่ใช่เลย

ทุกคนเก่ง

ไม่มีใครไม่ฉลาด

แต่ทุกคนคิดไม่ถึงว่า “ความเปลี่ยนแปลง” จะมาเร็วขนาดนี้

คนดูโทรทัศน์น้อยลง

บางส่วนใช้เวลากับ “มือถือ” หรือ “จอคอมพิวเตอร์” มากขึ้น

อยู่ในโลกออนไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก ดูคลิปต่างๆ

บางส่วนก็ดูรายการโทรทัศน์เหมือนเดิม

แต่เปลี่ยนไปดูผ่าน “โทรศัพท์มือถือ” เยอะขึ้น

นี่คือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้น

นับจากวันประมูลทีวีดิจิตอล ถึงวันนี้

3 ปีครับ

“โทรศัพท์ตามบ้าน” เปลี่ยนมาเป็น “โทรศัพท์มือถือ”

ใช้เวลา 20 ปี

แต่การเปลี่ยนแปลงจากการดู “โทรทัศน์” มาเป็น “มือถือ”

ใช้เวลา 3 ปี

“อัตราเร่ง” ของ “ความเปลี่ยนแปลง” เร็วขึ้นหลายเท่าตัว

น่ากลัวจริงๆ

มีคนบอกว่าวิธีการต่อสู้กับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่ดีที่สุด

คือ อย่าสู้

ให้ยอมรับว่า “ความเปลี่ยนแปลง” คือ “สัจธรรม”

ทำใจ

แล้ว…ปล่อยไหล

อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

ครับ ในช่วงเวลาที่ “ความเปลี่ยนแปลง” ท่วมเมือง

เราต้องอย่ายึดมั่นถือมั่น

ธุรกิจหรือชีวิตต้องรู้จักกระจายความเสี่ยง

ห้ามแทงเต็ง

ต้องแทงกั๊ก

ต้องนึกเสมอว่าไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้

เรื่องที่นึกไม่ถึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ดังนั้น ใครที่คิดวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีล่วงหน้าจึงต้องได้รับคำชมเชยว่าเป็นคนที่กล้าหาญมาก

สมควรมี “อนุสาวรีย์” เป็นของตัวเอง

เพราะคนที่จะวางยุทธศาสตร์ล่วงหน้าได้ต้องเห็นภาพในอนาคตชัดเจนว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

แบบนี้ไม่เรียกว่า “กล้าหาญ” แล้วจะให้ชมว่าอย่างไร

เพราะขนาด “บิล เกตส์-มาร์ค ซัคเคอร์เบอร์ค-อิลอน มัสก์” ยังไม่กล้าเลยครับ

ทายล่วงหน้า 5 ปีก็เก่งแล้ว

จะให้จินตนาการถึงโลกในอีก 20 ปี

คงต้องระดับ “ริว จิตสัมผัส” หรือ “เจน ญานทิพย์” เท่านั้น

บางทีอีกไม่กี่ปี เราอาจจะมีอนุสาวรีย์แห่งความเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง แข่งกับ “ตู้โทรศัพท์สาธารณะ”

ชื่อว่า “อนุสาวรีย์อับดุล”

อับดุลรู้…รู้

อับดุลเห็น…เห็น

…อับดุลเห็นอะไร?

“เห็นอะไรก็ไม่รู้”