E-DUANG :ทำไม”สงบสยบเคลื่อนไหว”จึง”ชนะ”

 

เมื่อเอ่ยถึง “สงบสยบการเคลื่อนไหว” นักรำมวยไทเก๊กมักเกิดนัยประหวัดถึงท่าน “จางซันฟง”

ขณะที่คอกำลังภายในนึกเห็นภาพ “อาฮุย”

แท้จริงแล้ว ไม่ว่ากรณีของ “อาฮุย” ไม่ว่ากรณีของ”จางซันฟง” ล้วนเป็นการเรียนรู้จาก “ธรรมชาติ”

เรียนรู้จากการต่อสู้ของ “กะเรียน” กับ “งู”

เรียนรู้แล้วตกผลึกกระทั่งสามารถสรุปได้ในเรื่องของความอดทนและรอคอย

แล้วจริงๆแล้วกระบวนการของ”กะเรียน” เป็นอย่างไร

 

กะเรียนแม้จะมีจงอยปากคมแต่ยังคงไม่กล้าจู่โจมตามอำเภอน้ำใจตน

เพราะมันรู้จักสัญชาตญาณ “งู”

นั่นก็คือ หลังจากขดเป็นวง หัวหางติดต่อกันแล้วจะมีความ คล่องแคล่วปราดเปรียว

ยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ แปลบปลาบ

สภาพเช่นนี้หากกะเรียนใช้จงอยปากจิกหัว ขาทั้ง 2 ของมันย่อมถูกหางงูรัด

ขณะเดียวกัน หากจิกหางก็อยากยิ่งจะไม่ถูกหัวฉกทำร้าย

จากนี้กะเรียนจึงได้บทสรุป จากพื้นฐานแห่งสัญชาตญาณของมันเอง

โดยการยืนนิ่งไม่เคลื่อนไหว

รอจนกระทั่งงูมิอาจอดรนทนได้ จำต้องจู่โจมก่อนจึงได้ใช้จงอยปากอันคมและแข็งจิก

ชัยชนะจึงเป็นของกะเรียน

 

เมื่อได้รับรู้เรื่องของ “จางซันฟง” เมื่อได้อ่านกระบวนการเรียนรู้ของ “อาฮุย”

ทำให้”จินตภาพ” ของ”สงบ”แจ่มชัด

แจ่มชัดกระทั่งนำไปสู่บทสรุปที่ว่า “ใช้สงบ สยบเคลื่อนไหว ใช้กะปรี้กะเปร่าทำลายระโหยโรยแรง”

แต่ประเด็นอยู่ที่บทสรุปนี้อยู่ในพรมแดนแห่ง”การต่อสู้”

การต่อสู้ย่อมอยู่ตรงกันข้ามกับการยอมจำนน หมอบราบคาบแก้วอย่างสิ้นเชิง หากสิโรราบตั้งแต่ต้นไม่คิดต่อสู้ต่อให้ศึกษาบทเรียน “ร้อยกะเรียน”ก็ไม่มีบทบาท

คำถามจึงอยู่ที่ว่าจะ”ต่อสู้”หรือว่า”ยอมจำนน”