งานหรือชีวิต เงินหรือความสุข : คำ ผกา

คำ ผกา

“โรคนี้คนขี้เกียจไม่เป็น คนโง่ก็ไม่เป็นนะคะ” ผู้ช่วยหมอที่กำลังปลุกปล้ำกับการลงเข็มเพื่อคลายกล้ามเนื้อให้กับฉันบอก

อือม…ตามประสาลูกอีช่างเถียง ฉันก็เถียงในใจอีกว่า ถ้าฉลาดจริง คงไม่ปล่อยให้ตัวเองเจ็บมาขนาดนี้

และก็คิดอยู่นานว่าจะเขียนเรื่องนี้ดีหรือไม่

เพราะมีหลักการในการเขียนคอลัมน์อย่างหนึ่งว่า อย่าเขียนเรื่องส่วนตัว

เหตุผลนั้นแสนเรียบง่ายคือ “ใครจะไปอยากรู้เรื่องของมึง”

แต่คราวนี้คงต้องแหกกฎเขียน เพราะมันเกี่ยวพันกับอาชีพโดยตรง

และพูดให้ดราม่าได้อีกว่า มันชวนหัวใจสลายพอๆ กับที่นั่งมโนถึงภาพนักบัลเล่ต์ที่บาดเจ็บจนชีวิตนี้อาจจะไม่ได้เต้นบัลเล่ต์อีก

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ระหว่างที่เจ็บปวดอยู่นั้นฉันก็ดันนั่งเล่นเฟซบุ๊กแก้เซ็ง ดันไปเจอบทความในเฟซบุ๊กของนิตยสารมาดามฟิกกาโร ที่พูดถึงนางแบบชาวอเมริกันวัย 22 ปี (ฉันจำชื่อเธอไม่ได้ จำได้แต่ว่า เธอมีจุดเด่นคือฟันหน้าห่างอันแสนเสน่ห์ นิตยสารเขาว่างั้น) ที่ตกส้นสูงหลายครั้งในการเดินแบบ จนเอ็นพลิกบ้าง เอ็นขาดบ้าง

สุดท้าย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เธอไม่สามารถเดินแบบได้อีกต่อไป จำต้องลาวงการ

และนิตยสารก็บอกอีกว่า ตอนนี้เธอผันตัวมาทำงานเซรามิก กำลังจะวางขายภายใต้แบรนด์ของเธอเองเร็วๆ นี้

โอ พระเจ้าไม่ได้ส่งข่าวนี้มาเพื่อทำนายทายทักอนาคตของฉันใช่ไหม

อ่านไปก็จินตนาการตัวเอง อำลาวงการนักเขียน ต่อไปนี้จะไม่สามารถเขียนคอลัมน์ได้

นั่งอ่านงานของนักเขียนคนอื่นที่เขาเขียนกันโครมๆ ทุกวี่ทุกวันก็เศร้าใจว่า ทำไมเราได้แต่นั่งจ้องคีย์บอร์ดตาปริบๆ

พอเอื้อมมือไปคลำเม้าส์เท่านั้น แขน ไหล่ สะบักขวาก็เจ็บแปล๊บ ร้าวรานจนน้ำตาริน

ไม่เจ็บเปล่า ยังมีกระแสไฟฟ้าวิ่งจี๊ดๆ ไปทั้งแขนยาวไปตลอดปลายนิ้วมือ

เจ็บตอนพิมพ์ยังพอทน เพราะเคยทนมาแล้ว เคยพิมพ์ต้นฉบับทั้งน้ำตา เพราะเคาะไปประโยคหนึ่งก็ร้าว เคาะไปอีกประโยคก็ร้าว

แต่แรงอัดอั้นอยากเขียน อยากแสดงความคิดเห็น อยากเล่าอยากบอกก็อุอั่งอยู่ข้างใน

สุดท้ายก็กัดฟันเขียนจนเสร็จ

ปรากฏว่าคืนนั้นทั้งคืนแทบไม่ได้นอน เพราะตรงสะบักขวานั้น เหมือนมีคนเอามีดแหลมๆ คมๆ มาปักคาไว้ แล้วคว้านไปมุมนั้นมุมนี้ตามแต่ใจปรารถนา

ถามว่าเข็ดไหม ก็ไม่เข็ด คิดว่านิดๆ หน่อยๆ ไม่เป็นไร ทุกๆ วันก็ยังพยายามจะพิมพ์งาน พิมพ์สคริปต์ข้อมูลรายการ แล้วก็จบลงด้วยความเจ็บ

สรุปแล้วเป็นอะไร

นี่แหละ ลีลานักเขียน พล่ามไปหน้าหนึ่ง คนอ่านยังไม่รู้เลยว่า มึงเป็นเหี้ยอะไรคะ? กูก็ขอแช่งให้มึงเจ็บกว่าเดิมก็แล้วกัน อยากตะบอยลำไยดีนัก

เรื่องมันเป็นอย่างนี้

อยู่มาวันหนึ่งก็ให้รู้สึกติดๆ ขัดๆ ช่วงต้นแขนขวา และคอด้านขวา ก็ไม่คิดอะไร คิดว่าเราตกหมอน เรานอนผิดท่า นั่งผิดท่า ใช้มือถือมาก เป็นสังคมก้มหน้า ขึ้นแท็กซี่ปุ๊บ ยกขาขึ้นไขว่ห้าง ถ่ายน้ำหนักไปที่ไหล่ขวา ไหล่ขวาจะต่ำกว่าไหล่ซ้าย มือขวาถือโทรศัพท์ จากนั้นก็เลื่อนๆ ไถๆ ก้มหน้าก้มตาไปจนถึงจุดหมายปลายทาง แก้ตรงนี้ หยุดบ้างอะไรบ้างก็น่าจะดีขึ้น

ปรากฏว่าอาการเจ็บนิดๆ ก็ยังมาหาเสมอ แต่ไม่ถึงกับทนไม่ได้ บางทีก็ลืมๆ ไปด้วยซ้ำ

โยคะก็ยังฝึกทุกวัน โอ๊ย เราแข็งแรงจะตายไม่เป็นไรหรอก

จนหนึ่งเดือนผ่านไป ตื่นเช้ามาวันหนึ่งก็เจ็บไหล่ จนทนไม่ได้ ในจุดอ้างอิงของคนอย่างฉันที่ปกติแล้วอึดและทนมาก จึงตัดสินไปฝังเข็มที่โรงพยาบาลใกล้ๆ บ้าน

หมอก็ฝังเข็มให้ตามอาการ ฝังเข็มไปสี่ครั้งต่อเนื่อง ปรากฏว่าทุกอย่างหายเป็นปกติ ตัวเบา

พอเบาเท่านั้นแหละ มหกรรมผลิตต้นฉบับก็ตามมา

ในความบ้างานบวกความโง่ อยากจะสารภาพว่า ทุกครั้งที่เขียนงานเสร็จหนึ่งชิ้น ปริมาณความสุขในร่างกายของฉันจะพุ่งขึ้นสูงเหมือนคนได้อัพยา จะอยู่ในภาวะ High “ร้องรำทำเพลง ทำอาหาร ทำขนม”

ยิ่งวันไหนเขียนได้หลายชิ้นก็ยิ่ง high ขึ้นเรื่อยๆ

ภาวะหลังจากการฝังเข็มที่อาการดีขึ้นจึงเป็นมหกรรมการ “ขย่ม” คีย์บอร์ด – ใช่ – ฉันไม่ได้พิมพ์เฉยๆ เวลาที่อินกับเรื่องที่เขียนมากๆ มันจะเกิดอาการเหมือนจะลุกขึ้นมาเต้นบนคีย์บอร์ด คือ โก่งหลังโก่งไหล่ เหมือนไก่ชนตอนขึ้นสังเวียน พร้อมจิก พร้อมชนคู่ต่อสู้

ยิ่งเวลาเขียนบทความตอบโต้ตรรกะประหลาดๆ ประดามีในสังคมไทย

เช่น เรื่องสังคมไทยไม่ขาดคนเก่งแต่ขาดคนดี – เขียนแก้ตรรกะป่วยๆ แบบนี้ทีไร อาการโก่งคอ โก่งหลังพิมพ์ ก็คงจะยิ่งรุนแรง เดาว่ากล้ามเหนือไหล่มันคงแข็ง แน่น เขม็งเกลียว (เหล่านี้มานึกขึ้นได้หลังจากกลับไปนั่งทบทวนพฤติกรรมของตัวเอง)

โถมแรงขย่มคีย์บอร์ดไม่พอ หยุดการฝังเข็ม เลื่อนนัดหมอ ผัดวันประกันพรุ่ง ติดงาน ติดนู่น ติดนี่ ชะล่าใจ คิดว่าดีขึ้นแล้ว ไว้เดือนหน้าค่อยไป

นิสัยโง่ๆ ของฉันอยากสารภาพอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความขี้ประชด

เวลาเจอใครทำงานเร็วไม่ทันใจ ช้าเกินจะแกง ได้คุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน ความนอยด์ จะบังเกิดหนักมาก เนื่องจากฉันจะเริ่มก่นด่าในใจว่า -เอ้ย มาตรฐานการศึกษาแบบไทยนี้ผลิตบัณฑิตปริญญาโทได้คุณภาพแค่นี้จริงเหรอ

เฮ้ย ทำไมขี้เกียจ เอ้ย แน่ใจเหรอว่า วันหนึ่งๆ ออฟฟิศเขาจ้างคุณมาทำงานแค่นี้

เฮ้ย แปดชั่วโมง ผลิตงานได้เท่ากับปริมาณงานที่ควรเสร็จภายในสามชั่วโมง – พระเจ้า

สิ่งที่ฉันทำเมื่อเจอเรื่องแบบนี้คือ หนึ่ง เครียด สอง สาธิตให้ดูว่า งานที่ควรได้ งานที่ควรเป็น ปริมาณผลผลิตที่ควรมีคือเท่าไหร่ อย่างไร

ผลก็คือ การโถมตัวเข้าหาคอมพิวเตอร์อย่างไม่คิดชีวิตอีก พร้อมกับผลงานที่เป็นรูปธรรมให้เห็นว่า -นี่ๆ ในหนึ่งวัน คนเราควรได้ปริมาณงานเท่านี้เป็นอย่างน้อยนะ เข้าใจไหม?

ซึ่งผลที่ได้คือ ไม่มีใครเข้าใจหรอก เราประชด แต่เขาคิดว่าเรา “บ้า” ทำงาน บ้าพลัง และบ้าขนาดนี้ใครจะทนทำงานกับเธอได้

ทำอย่างนี้ติดต่อกันไปอีกหนึ่งเดือน ผลก็คือ เช้ามาวันหนึ่งก็ตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการปวดแขนขวา ปวดมากจนยกแขนไม่ขึ้น

วันนั้นจึงไปฝังเข็มอีกรอบ

ปกติ หลังฝังเข็ม อาการจะดีขึ้น แต่วันนั้นหมอฝังเข็มสงสัยว่ากระดูกคอจะทับเส้นประสาทจึงให้ไปเอ็กซเรย์

เอ็กซเรย์แล้ว หมอบอกว่า มีสัญญาณของกระดูกเมื่อมองจากด้านข้าง ทำให้ของเหลวไม่ไหลผ่านคลองข้างคอ จึงมีส่วนไปกดทับเส้นประสาท ส่วนอาการปวดคือ ออฟฟิศซินโดรม แก้ด้วยกายภาพบำบัด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ท่านั่งท่าทำงาน

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รุ่งเช้าวันต่อมา เจ็บหนักกว่าเดิม เจ็บเหลือจะทน เพื่อนอีกคนแนะนำว่าควรไป “ลงเข็ม” หรือ Trigger Point Injection

ณ ความเจ็บที่เกิดขึ้น ต่อให้มีคนบอกว่าฉันโดนเล่นของมีคนเสกตะปูเข้าไปในบ่าไหล่ ฉันก็คงเชื่อ

การรักษาด้วยการลงเข็มก็เริ่มต้นขึ้น และทำให้ได้ความรู้เกี่ยวกับโรคที่ชื่อว่า Myofasial Pain Syndrome หรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า MPS ภาษาไทยเรียกว่า กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง

ในเว็บไซต์ของบางคลินิกในอเมริกาบอกว่า ร้อยละ 80 ของคนที่เข้ามาบำบัดที่ Pain Clinic – ในความเป็นนักเขียนก็ให้ชอบชื่อคลินิกนี้มาก คลินิกแห่งความเจ็บปวด

และด้วยความป่วยไข้จากโรคนี้มันส่งผลต่อเศรษฐกิจปีละหลายร้อยล้านดอลลาร์ ไม่แน่ใจว่าหลายร้อยล้านดอลลาร์นี้หมายถึงเงินที่คนไข้ต้องเสียไปเพื่อรักษาตัว การเสียโอกาสในการทำงาน หรือผลในการที่ทำให้ธุรกิจ Pain Clinic เป็นธุรกิจที่จะสร้างรายได้มหาศาลกันแน่

จุดกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรังและพังผืดที่เกาะตัวกันหนาแข็งเหมือนก้อนหินที่ต้องสลายด้วยการลงเข็มนั้น ในครั้งแรก ฉันบันทึกไว้ในเฟซบุ๊กในหัวข้อ “ความทุกข์อยู่ที่บ่าไหล่”

หลังจากลงเข็มไปประมาณสามสิบเข็ม ผู้ช่วยหมอกดนิ้วลงบนบ่า พอเจ็บจี๊ด น้ำตาก็ทะลักออกมาท่วมท้น อยู่ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่า เออ…ร้องไห้บ้างก็ได้ เออ…คนเราบ่นว่าเบื่อ ว่าเหนื่อย ว่าเกลียดบ้างก็ได้

ผลพวงของความป่วยไข้ ไม่เพียงแต่รู้ว่าตัวเองบ้างาน เสพติดงาน เสพติดความสมบูรณ์แบบ (ที่คิดเอาเอง) ของงาน เสพติดประสิทธิภาพการทำงาน และไม่มีขันติธรรมต่อความขี้เกียจ ความไม่เป็นโล้เป็นพายใดๆ ในโลกหล้า สิ่งที่ทำให้ฉันเครียดมากถึงมากที่สุดคือ หนึ่ง การเห็นคนโง่ทำงานแบบโง่ๆ (ถ้ามันฟังดูก้าวร้าว ต้องขออภัยจากใจ) สอง การเห็นคนทอดลำตัวส่วนบนเลื้อยไปบนโต๊ะทำงานพร้อมทอดถอนใจ ตาจ้องโทรศัพท์ แล้วเคลื่อนไหวตัวช้าๆ เดินช้าๆ ทำงานช้า

คนอื่นอาจจะแค่เครียด ฉันเครียดแล้วโกรธที่บ้ากว่าคือโกรธแล้วทำเป็นไม่โกรธ

ส่วนปัญหาอื่นๆ ความเครียดอื่นๆ ในชีวิตอย่างน้อยในรอบ 10 ปีฉันไปเอาความเข้าใจผิดๆ มาจากไหนไม่รู้ว่า โตแล้ว ต้องเข้มแข็ง ต้องมีเหตุผล ต้องไม่พูดเรื่องความเศร้า ความทุกข์ของเราให้ใครฟัง อย่าเอาอารมณ์นำหน้า นิ่งๆ คูลๆ ไว้ หัวใจเบิกบาน ฉันรับได้ทุกสถานการณ์

ทั้งหมดนี้มันคงไม่เป็นอะไรถ้าไม่เจอ trigger piont – วันหนึ่งที่ร่างกายมันรับไม่ได้ มันก็พังทลายลงมาเหมือนฉันที่แขนขวาปฏิเสธการทำงาน และเพียงการกดเบาๆ ที่บ่าขวาก็นำมาซึ่งการร้องไห้อย่างหนักหน่วง สะอึกสะอื้นนับชั่วโมง

แล้วหายไหม? ดีขึ้นบางส่วน แต่มีดที่ปักอยู่ตรงสะบักขวา ยังอยู่ – โนววววววววว– อาการชายังอยู่

ก้าวต่อไปคือทำ MRI ผลก็ไม่เซอร์ไพรส์ พบว่ากระดูกคอข้อที่ห้า หก เจ็ด เสื่อม กดทับเส้นประสาท

จากการปรึกษาหลายทาง ตกลงใจว่า จะดูแลร่างกาย และ “เคารพความเจ็บปวด” ไปก่อน ส่วนการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้าย

และมาถึงจุดที่คุณหมอท่านหนึ่งแนะนำว่า ในจุดที่วิกฤตต่อความเจ็บปวดขนาดนี้ หยุดการพิมพ์งานใดๆ ก่อนไหม? ดีขึ้นแล้วค่อยว่ากัน หรือใช้เสียงพิมพ์ไหม? จัดท่านั่ง ห้ามโน้มคอมาหาจอ มือต้องพักบนหมอนตลอดเวลา ก้นต้องติดพนักเก้าอี้ ใส่ปลอกคอเพื่อล็อกการเคลื่อนไหวของคอ พิมพ์แล้วพักทุกๆ ห้านาที

และมันจึงนำมาสู่ความเครียดอันใหม่ของฉัน ห้ามนักเขียนพิมพ์ นี่เหมือนห้ามคนไม่ให้หายใจ ใช้เสียงพิมพ์? สั้นๆ ได้ ยาวๆ ไม่เวิร์ก ที่สำคัญ ไม่เขียนหนังสือขาย แล้วจะเอาอะไรกินค้า?????

อีกเสียงหนึ่งก็ตอบมาว่า จะเอาเงินหรือจะเอาร่างกาย?

วี้ดดดด อีกหนึ่งของหว่างกลางเขาควายแห่งปรัชญาการมีชีวิตของมนุษย์มาอีกแล้ว

เงินกับความสุข

เงินกับสุขภาพ

งานกับครอบครัว

จะเลือกอะไร?

โอ๊ยเลือกง่ายจะตาย เลือกชีวิต เลือกความสุข เลือกครอบครัวสิ จะงกไปถึงไหน?

ภาพยายของฉันผุดขึ้นมาเลยทีเดียว ยายตายอายุน้อยมาก เพราะสูบบุหรี่ตั้งแต่ยังสาว ทำงานหนัก แบกหาม ยกของหนัก เยี่ยงกรรมกร อายุ 45 ปี เท่ากับฉันตอนนี้ ยายก็คงกระดูกทรุดไปทั้งร่าง เพราะอยู่กับความเจ็บปวดกระดูกกล้ามเนื้อ และอีกสารพัดโรค จากนั้นก็อยู่กับยาแก้ปวดจนตับไตพังกันไปข้าง

ยายจะเคยถามอภิปรัชญากับตัวเองไหมว่า งานกับชีวิตจะเลือกอะไร

สําหรับคนจำนวนมากในโลกนี้ มันไม่มีอะไรให้เลือกมากนักหรอก ถ้าไม่มีงานก็ไม่มีชีวิต ถ้าไม่มีงานก็ไม่มีกิน ถ้าไม่มีงาน ก็คงต้องป่วยด้วยโรคอื่นอยู่ดี แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปหาหมอ ถ้าไม่มีงาน ใครจะเลี้ยงดูครอบครัว

แม้กระทั่งมองจากมุมของคนที่พอจะมีทางเลือกในชีวิต เมื่อมาเจอเข้ากับตัวเองจริงๆ ถึงได้รู้ว่า ชีวิตไม่ได้เรียบง่ายขนาดนั้น และฉันก็ยังไม่เห็นด้วยอยู่ดีที่จริยธรรมการทำงานหนักแบบโปรเตสแตนต์ตามทฤษฎีของแม็กซ์เวเบอร์ และการพิสูจน์คุณค่าของความเป็นมนุษย์ด้วยการทำงานให้หนักเข้าไว้ตามกลไกของทุนนิยมอันเป็นโช่ตรวนของมนุษย์อย่างที่มาร์กซ์ว่าไว้จะต้องเป็นผู้ร้ายไปเสียทุกกรณี

ในเมื่อทุกห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ทุกผู้บนโลกใบนี้ยังเป็นห่วงโซ่ของทุนนิยมปราศจากรัฐสวัสดิการ การเลือกความสุข และชีวิตเหนืองานและเงินจึงหมายถึงการดูดซับทรัพยากรส่วนเกินจากที่ใดที่หนึ่งมาบำรุงบำเรอชีวิตของตัวเองอยู่นั่นเอง

ดังที่เพื่อนของฉันรำพึงว่า “อยากมีชีวิตเหมือนน้องฝันจุงเลย เธอเป็นศิลปิน ปลูกข้าวอยู่ที่เชียงราย ปลูกข้าว ทำนาเองเลยนะ ทำเองกับมือ ส่วนผัวฝรั่งก็เล่นหุ้น มีเงินเก็บไม่เดือดร้อน ทำโฮมสกูลให้ลูกเอง หุ้นกับเพื่อนๆ สองสามคน ทำหลักสูตรด้วยกัน เพราะไม่ชอบระบบโรงเรียนไทย ชีวิตดี๊ดี”

ฟังแล้ว ฉันก็ลุกขึ้นฝ่าฟันภาวะกล้ามเนื้อหดตัวมานั่งตอกต้นฉบับเหมือนเดิม และเตรียมไปทำกายบำบัดต่อ