เท่า “เทียม” : หน้า 8

ไม่แปลกที่พลพรรคเพื่อไทยจะออกมาคัดค้าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เพราะเนื้อหาใหม่แตกต่างจากฉบับเดิมอย่างชัดเจน

ทั้งเรื่องอายุความ

การให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลย

และการออกกฎหมายย้อนหลัง

ที่ไม่แปลกเพราะใครๆ ก็อ่านออกว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องการเล่นงาน “ใคร”

และ “ใคร”

ประเด็นเรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นด้วย

แต่ปัญหาอยู่ที่

1. กระบวนการจัดการด้วยกฎหมายนั้นถูกต้องและมีความชอบธรรมหรือไม่

2. ทำไมต้องเจาะจงเล่นงานแต่ “นักการเมือง”

ทั้งที่การทุจริตโกงเงินภาษีอากรของประชาชนควรเป็น “ความผิด” ที่เท่าเทียมกัน

ใครโกงก็ผิด

กฎหมายปราบโกงที่ออกมาทำไมจึงพุ่งเป้าไปที่ “นักการเมือง” เป็นหลัก

ราวกับว่าการทุจริตคอร์รัปชั่น “คนทำ” คือ “นักการเมือง” กลุ่มเดียว

“ข้าราชการ” ไม่เคยทำเลย

จริงเหรอ??

ลองดูตัวอย่างเหล่านี้

“สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคมที่โดนโจรปล้นบ้านเมื่อปี 2554

โจรสารภาพว่าขนเงินมาได้แค่ 200 ล้านบาท

แต่ยังมีเงินที่ซ่อนในกระเป๋าอีก 700-1,000 ล้านบาท

สุดท้ายโดนยึดทรัพย์ข้อหาร่ำรวยผิดปกติไปแค่ 60 กว่าล้านบาท

แค่นั้น

หรือกรณีของ นายสาธิต รังคศิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร เจอคดีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ

เรื่องนี้ปูดขึ้นเมื่อปี 2556

ปี 2558 ป.ป.ช. จะลงมติว่านายสาธิตร่ำรวยผิดปกติ และไล่ออกจากราชการ

ข้าราชการระดับสูงคนนี้ร่ำรวยผิดปกติแค่ 714 ล้านบาทเท่านั้นเอง

ปัจจุบันทั้งคู่ยังสุขสบาย ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

หรือกรณี “จุฑามาศ ศิริวรรณ” อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เจอคดีสินบนข้ามชาติ

เหตุเกิดปี 2553

ฝรั่งที่จ่ายเงินสินบน 62 ล้านโดนจำคุกไปนานแล้ว

ป.ป.ช. เพิ่งชี้มูลความผิดปี 2558

ศาลตัดสินจำคุก “จุฑามาศ” เดือนมีนาคม 2560

กระบวนการยุติธรรมสำหรับ “ข้าราชการ” อย่าง “จุฑามาศ” ใช้เวลา 7 ปี

ทั้งที่เป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนกับ “นักการเมือง”

ประเทศชาติเสียหายเหมือนกัน

แต่ทำไมหลายสิ่งหลายอย่างจึงแตกต่างกัน

…เท่า “เทียม” จริงๆ