โรดแม็ป ซ้อน โรดแม็ป 19 ส.ค. 61 “เลือกตั้ง” [ในประเทศ]

ต้องยอมรับว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ในภาวะ “ถูกกระทำ” มาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการเซ็ตซีโร่ ที่จะทำให้ กกต. ทั้ง 5 คน ต้องถูกโละทิ้ง

แม้มีความพยายามของ กกต. ที่จะชี้ว่า การเซ็ตซีโร่ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ และได้ทำเรื่องโต้แย้งเรื่องดังกล่าว พร้อมอีก 6 ประเด็น คือ

1. มาตรา 11 วรรค 3 การกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสรรหาเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

2. มาตรา 12 วรรค 1 การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการการเลือกตั้งเกินกว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

3. มาตรา 26 หน้าที่และอำนาจของ กกต. แต่ละคน

4. มาตรา 27 อำนาจการจัดการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น

5. มาตรา 42 การบัญญัติให้ กกต. มอบอำนาจการสอบสวนได้

6. มาตรา 70 วรรค 1 การให้ประธาน กกต. และ กกต. ที่ดำรงตำแหน่งในวันก่อนที่ พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้งใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับจากวันที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับ

แต่ข้อโต้แย้งดังกล่าวก็ถูกตีตกในชั้นกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย อันประกอบด้วย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 5 คน กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 5 คน และประธาน กกต.

เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

แม้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยในคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย ได้อภิปรายโน้มน้าวใจที่ประชุมให้เห็นว่า 6 ประเด็น ขัดรัฐธรรมนูญ

แต่ที่ประชุม สนช. ก็ไม่เห็นพ้อง

ได้ลงมติผ่านในวาระที่ 2 และผ่านในวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 194 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 และเตรียมส่งให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

ถือเป็นร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ สนช. ให้ความเห็นชอบและเสร็จสิ้นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนด

“กกต.” ได้พยายามอีกเฮือกด้วยการเตรียมการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความ

แต่เมื่อนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กกต.

กลับมีมติให้ศึกษาเพื่อยื่นรัฐธรรมนูญแค่ 2 ประเด็น คือ

1. ให้ยื่นในประเด็นที่มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.กกต. ที่ตัดอำนาจ กกต.คนเดียวในการสั่งระงับยับยั้งเลือกตั้งได้หากพบว่ามีการกระทำการที่เข้าข่ายเป็นการทุจริต โดยเห็นว่าไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 224 วรรคท้าย ที่กำหนดชัดเจนว่า กกต.คนเดียวมีอำนาจในการสั่งระงับยับยั้งการเลือกตั้งของหน่วยหรือเขตเลือกตั้งได้

2. ให้ยื่นในประเด็นมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.กกต. ที่ตัดอำนาจ กกต. ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เอง ทั้งที่รัฐธรรมนูญมาตรา 224(1) บัญญัติให้ กกต. มีอำนาจทั้งจัด หรือมอบอำนาจให้หน่วยงานหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก็ได้

ส่วนประเด็นอื่นๆ กกต. ไม่ติดใจที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะเรื่องเซ็ตซีโร่ กกต.

โดยเห็นว่า ถ้ายื่น ก็จะทำให้สังคมเข้าใจว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

มองตามนี้ กกต. พร้อมจะยอมรับชะตากรรม ถูก “โละทิ้ง”

เว้นเสียแต่จะมี กกต. บางคนใช้สิทธิส่วนตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนนี้ยังคงสงวนท่าทีอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กกต. จะถูกเซ็ตซีโร่ แต่ก็ยังทำงานตามปกติ

โดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. บอกว่ายังคงติดตามผลการดำเนินงาน โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้ง

“แม้ กกต. ชุดนี้จะถูกเซ็ตซีโร่ แต่ต้องเตรียมความพร้อมเพื่อให้คนที่มารับงานต่อจากเรา และจะทำข้อสังเกตต่างๆ ส่งให้ กกต.ชุดใหม่พิจารณาด้วย”

ทั้งนี้ ในการประชุมเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม มีวาระสำคัญที่น่าสนใจ

นั่นคือ การวางกรอบเวลาในการเตรียมการ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส. ดังนี้

– ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกินวันที่ 31 มีนาคม 2561

– กกต. จะออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ช่วงต้นเดือนเมษายน 2561 จากนั้นจะมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง

– ช่วงวันที่ 9 มิถุนายน 2561 คาดว่า กกต. จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร สถานที่ในการจับสลากของพรรคการเมือง การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี รวมไปถึงการยื่นบัญชีสมัครแบบบัญชีรายชื่อ

– การรับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ วางกรอบไว้ในช่วงวันที่ 2-6 กรกฎาคม 2561

– การจัดการเลือกตั้ง วางกรอบเวลาไว้วันที่ 19 สิงหาคม 2561

ทั้งนี้ นายศุภชัยอธิบายในเชิงออกตัวไว้ว่า เป็นเพียงตารางการทำงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ยังไม่ได้กำหนดเป็นทางการเพราะกฎหมายยังไม่ออก

แต่ กกต. ต้องมีแผนไทม์ไลน์เพื่อกำหนดการทำงาน

แม้จะเป็นเพียง “ตุ๊กตา” เพื่อวางแผนในการทำงานของ กกต.

แต่พลันที่วันเวลาการเลือกตั้ง คือวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ปรากฏออกมา

ก็กลายเป็นประเด็นและเป็นจุดแห่งความสนใจทันที

เพราะนี่ถือเป็นการขานวันเวลาที่เป็น “รูปธรรม” มากที่สุด

โดยก่อนหน้านี้ เป็นเพียงการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งก็ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นช่วงใด

แต่ส่วนใหญ่จะโน้มเอียงไปในทางว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2561

ขณะที่บางส่วนก็ไม่เชื่อว่า ปี 2561 จะมีการเลือกตั้ง น่าจะมีการลากยาวออกไปถึงปี 2562 หรือนานกว่านั้น

ที่มีการ “มองไกล” ไปขนาดนั้น เนื่องมาจากมีการวิเคราะห์ว่า กระแสที่จะให้มีการเลือกตั้งยังไม่สุกงอม ยังมีอยู่สูง

ด้านหนึ่ง มาจากความไม่มั่นใจว่า ถ้าเลือกตั้งไปแล้ว ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันและตั้งเป้าหมายว่าจะสืบทอดอำนาจต่อไปจะประสบชัยชนะในการเลือกตั้งหรือไม่

เมื่อไม่มั่นใจ จึงมีการกระแสข่าวว่า มีความพยายามจะเตะถ่วงการเลือกตั้งออกไป

เช่น จะมีการล้ม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่เป็นไฟต์บังคับว่าจะต้องผ่าน 4 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง, พรรคการเมือง, กกต. และสมาชิกวุฒิสภา เพื่อจะดึงเกมต้องร่างกันใหม่

ที่พูดกันมากคือ พ.ร.บ.การเลือกตั้ง และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่ในหลายประเด็น

ขณะเดียวกันก็มีกระแสว่าการเลือกตั้งควรยืดออกไปนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ เพื่อที่จะบดขยี้ฝ่ายตรงกันข้าม คือพรรคเพื่อไทย ให้ “ยับเยิน” มากที่สุด

เพื่อที่จะไม่มีศักยภาพในการแข่งขันเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งที่ยืดออกไป ฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ในปัจจุบันก็หวังว่าจะสร้างผลงานและความนิยมในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะการโงหัวขึ้นของเศรษฐกิจ

ซึ่งจะทำให้ความนิยมแปรเป็นคะแนนเสียงได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

นอกจากนี้ การเดินหน้าร่างสัญญาประชาคม ที่กองทัพเป็นเจ้าภาพ รับฟังความเห็นแล้วกลั่นออกมาเป็น 10 เรื่อง คือ 1.คนไทยทุกคนพึงตระหนักในบทบาท หน้าที่พลเมืองในการสร้างความสามัคคีปรองดอง และยอมรับผลการเลือกตั้ง 2.น้อมนำศาสตร์พระราชาประยุกต์ใช้ในชีวิต 3.ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม 4.อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 5.ส่งเสริมการดูแลคุณภาพชีวิตและสาธารณสุข 6.เคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฎหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม 7.ใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน 8.ส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากลตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี 9.ส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน และ 10.ทุกคนต้องเรียนรู้ ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

รวมกับภาคผนวกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สั่งให้จัดทำจำนวน 15 ข้อโดยโฟกัสไปยังนักการเมืองโดยเฉพาะว่า ต้องไม่ใช้อำนาจทางการบริหารเพื่อมุ่งหวังคะแนนเสียง การปกครองระบอบประชาธิปไตยต้องมีกลไกตรวจสอบหรือควบคุมพรรคให้มีความรับผิดชอบ นักการเมืองต้องมีจริยธรรมและจรรยาบรรณ ต้องตรวจสอบการทุจริตเชิงนโยบายอย่างจริงจังด้วย ปรับปรุงการคัดสรรนักการเมืองที่จะเข้าสู่ระบบอย่างเหมาะสม และมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจกระทำการโดยมิชอบเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่หรือกระบวนการแต่งตั้งและพิจารณาความดีความชอบ และต้องขจัดการซื้อขายตำแหน่ง หรือเรียกรับผลประโยชน์ในทุกโครงการ

เหล่านี้จะเป็นกรอบที่จะจำกัดความเคลื่อนไหวของนักการเมือง และนำไปสู่ผลการเลือกตั้ง ที่เป็นคุณกับฝ่ายที่ครองอำนาจอยู่ในขณะนี้ มากกว่า “นักการเมือง”

เพียงแต่อาจต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งถูกประเมินว่าจะถูก “ยืด” ออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ดังนั้น จู่ๆ การที่ กกต. ชุดปัจจุบันจะถูกเซ็ตฮีโร่ โยนตุ๊กตาการเลือกตั้งออกมา ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 ซึ่งถือว่าเร็วเกินความคาดหมาย

จึงเป็นที่ฮือฮา และถูกจับตามอง

เพราะเท่ากับเป็นการปักป้ายลงกลางปริมณฑลการเมืองว่า หากดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ การเลือกตั้งสามารถมีขึ้นได้ในกลางปี 2561

และกำหนดเวลานี้ จะเป็นที่จดจำ และจะกลายเป็นคำถามต่อ กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ว่าทำไมไม่ขับเคลื่อนตามกรอบที่ กกต.ชุดเดิมวางไว้

โดยหากตั้งใจให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น กรอบเวลา 19 สิงหาคม 2561 ก็น่าจะสามารถทำได้

ซึ่งนี่จะเป็น “กรอบ” ที่ฝ่ายสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งจะใช้เป็นหมุดหมายในการจี้จุดให้ดำเนินไปตามแนวทางนี้

แน่นอนคงเป็นเรื่องหงุดหงิดสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยศรัทธาต่อการเลือกตั้งและพยายามจะยื้อออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

แต่ก็มาถูกวันเวลาที่ กกต.ชุดที่จะต้องถูกโละทิ้ง “วางทุ่นไว้”

แม้จะมีการชี้แจงจาก กกต.ปัจจุบันว่าเป็นเพียงไทม์ไลน์เบื้องต้น ไม่ใช่มติอย่างเป็นทางการ

แต่ 19 สิงหาคม 2561 ก็ได้กลายเป็นโรดแม็ป ซ้อนในโรดแม็ปของฝ่ายที่มีอำนาจในปัจจุบันที่ไม่ยอมพูดให้ชัดว่าจะเป็นเมื่อใดไปเรียบร้อยแล้ว

จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้ กกต.ชุดปัจจุบันจะถูกเซ็ตซีโร่ในอีกไม่กี่เพลาข้างหน้านี้ แต่ก็ไม่ได้ไปแบบกลวงโบ๋

หากได้ทิ้งวันเวลาที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ คือ 19 สิงหาคม 2561

มิใช่เลื่อนลอย เพียงแค่บอกว่าพร้อมจะทำตามโรดแม็ป อย่างที่ฝ่ายไม่ศรัทธาการเลือกตั้งพูดมาโดยตลอดเท่านั้น