หนุ่มเมืองจันท์ : “เต๋อ” กับ “โหน่ง”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

วันก่อน ผมเพิ่งสัมภาษณ์ “เต๋อ” สาธร อุพันวัน

เขาเป็นหนึ่งในเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา “ออนดีมานด์” ครับ

เหตุผลที่สัมภาษณ์ “เต๋อ” เพราะ “ออนดีมานด์” เป็นสถาบันกวดวิชาที่มีคนเรียนมากที่สุดและนักเรียนสามารถสอบติดคณะดังๆ มากมาย

เพราะที่น่าสนใจมากกว่าก็คือชีวิตและวิธีคิดของ “เต๋อ”

“ออนดีมานด์” เกิดขึ้นจากเพื่อนรัก 2 คนครับ

“เต๋อ” และ “โหน่ง”

ทั้งคู่เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เป็นนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบฯ จนมาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วยกัน

สนิทกันมาก รักกันมาก

ตอนเรียนอยู่สวนกุหลาบฯ “เต๋อ” กับ “โหน่ง” อยู่ชมรมคณะคณิตศาสตร์ของโรงเรียน

วันหนึ่ง รุ่นพี่ที่กำลังจะจบ มาบอกให้น้องๆ หาคนขึ้นมาเป็นประธานชมรม

บอกครั้งแรกก็เงียบ

ครั้งที่สองก็นิ่ง

จนครั้งสุดท้าย พี่ๆ เริ่มระเบิดอารมณ์ใส่น้องๆ ให้เวลา 5 นาทีเพื่อตัดสินใจว่าใครจะเป็นประธานชมรมคณิตศาสตร์คนต่อไป

ครบ 5 นาที รุ่นพี่เดินเข้ามา

“เต๋อ” ตัดสินใจยกมือ

“ตกลงเต๋อเป็นประธานชมรมใช่ไหม” รุ่นพี่ยิ้ม

“เปล่าครับ” เต๋อลุกขึ้นชี้แจง

“คือ มีเพื่อนผมคนหนึ่งเหมาะสมมาก แต่วันนี้เขาป่วย ไม่ได้มา”

แล้ว “เต๋อ” ก็เสนอชื่อเพื่อนคนนั้นให้เป็นประธานชมรม

ครับ เพื่อนคนนั้นก็คือ “โหน่ง” สุธี อัสววิมล

วันรุ่งขึ้น เมื่อ “โหน่ง” มาโรงเรียน

เขาก็กลายเป็นประธานชมรมคณิตศาสตร์

…เรียบโร้ยโรงเรียน “เต๋อ”

แต่ “เต๋อ” ก็ไม่ได้ทิ้งเพื่อน เขาช่วยเพื่อนอยู่เบื้องหลังจนเรียนจบ

หลังจากเรียนจบวิดวะ “เต๋อ” ไปทำงานซีพี

ส่วน “โหน่ง” ทำงานที่ “เอสซีจี” คุมโรงงานอยู่ที่สระแก้ว

ในโรงงานมีคนงานจำนวนมาก

แต่มีปัญหาว่ามีคนงาน 200-300 คนอ่านหนังสือไม่ออก

“โหน่ง” คิดจะพัฒนาโรงงานให้เป็นระบบก็ต้องทำคู่มือ

แต่มีปัญหาเพราะคนงานอ่านคู่มือไม่ได้

ตอนสมัยเรียน “โหน่ง” เคยเป็นติวเตอร์เพื่อหาเงินเรียน

เขาจึงตัดสินใจทำโรงเรียนในโรงงานสอนหนังสือให้คนงาน

สิ่งที่เขาประทับใจที่สุดก็คือ มีป้าคนหนึ่งเดินมาขอบคุณ

ป้าบอกว่าตอนนี้เธอขี่มอเตอร์ไซค์ไปตลาด ดูป้ายต่างๆ อย่างมีความสุขมาก เพราะสมัยก่อนอ่านไม่ออก แต่ตอนนี้อ่านออกแล้ว

เพียงประโยคเดียวของป้าทำให้ “โหน่ง” เกิดความคิดใหม่ขึ้นมา

สินค้าที่ผลิตจากโรงงานพักหนึ่งก็เสื่อมค่า

แต่มีสินค้าตัวหนึ่งที่ไม่เคยเสื่อมค่า

และสามารถเปลี่ยนชีวิตคนได้

นั่นคือ “การศึกษา”

“โหน่ง” นำเรื่องนี้มาคุยกับ “เต๋อ” เพื่อนรักของเขา

เขาอยากทำสถาบันกวดวิชาในรูปแบบใหม่

พยายามชวน “เต๋อ” หลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ

เพราะ “เต๋อ” ไม่ชอบโรงเรียนกวดวิชา

“เล่าปี่ไปเชิญขงเบ้ง 3 ครั้ง แต่ผมชวนเต๋อตั้ง 15 ครั้ง”

ในที่สุด “เต๋อ” ก็ตกลง

“เต๋อ” บอกว่าที่ตัดสินใจทำโรงเรียนกวดวิชา “ออนดีมานด์” เพราะคำพูดของ “โหน่ง” ประโยคเดียวตอนที่ถกกันเรื่องปัญหาของระบบการศึกษาไทย

“งั้นเรามาทำกระทรวงศึกษาภาคเอกชนกันเถอะ”

นั่นคือที่มาของโรงเรียนกวดวิชา “ออนดีมานด์”

“เต๋อ” กับ “โหน่ง” ปรับระบบการเรียนการสอนใหม่ เพราะเห็นจุดอ่อนของระบบเก่าที่ดูจอโทรทัศน์

ถ้าเผลอคุยกับเพื่อน หรือไม่มีสมาธิแค่ไม่กี่นาทีก็จะตามไม่ทัน

เขานำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ นักเรียนสามารถดูย้อนหลังได้ถ้าไม่เข้าใจ

จะมาเรียนตอนไหนก็ได้

ตอนนั้นพัฒนาถึงขั้นเรียนที่บ้านก็ได้

เรียนไป ทำบททดสอบไป วิธีการนี้ทำให้รู้ว่าใครเข้าใจหรือไม่เข้าใจ

ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน นักเรียนก็สามารถถ่ายรูปข้อความที่สงสัยแล้วส่งเข้ามาในระบบ

ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังประมาณ 100 คนจะ “เคลียร์” ให้ภายใน 24 ชั่วโมง

ด้วยระบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย และโดนใจ

“ออนดีมานด์” ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ

จนตอนนี้มีอยู่ 49 สาขาทั่วประเทศ

แต่ “ความคิด” เรื่อง “กระทรวงศึกษาภาคเอกชน” ยังคงอยู่

วันหนึ่ง “เต๋อ” ไปที่วัดสวนดอก เชียงใหม่

เขาเห็นโรงเรียนที่มีเณรจำนวนมากเรียนอยู่

เณรกลุ่มนี้คือเด็กชาวเขาที่วัดสวนดอกรับมาบวชเป็นเณรเพื่อให้ได้เรียนในโรงเรียนนี้

ความคิดที่อยู่ในใจของเขามานานเริ่มเป็นรูปร่างขึ้น

ตอนนี้เขามีความพร้อมทั้งเรื่องระบบการสอน และเงินทุน

แต่การเรียนในโรงเรียนจริง แตกต่างจากโรงเรียนกวดวิชา

เขาจึงตัดสินใจทำวิจัยที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่สุพรรณบุรี

เป็นโรงเรียนของเพื่อน

ทดลองอยู่ 2 ปีจนระบบเข้าที่

ใช้เงินจากธุรกิจกวดวิชาลงทุนกับการวิจัยครั้งนี้เป็นหลักสิบล้านบาท

แต่ผลที่เกิดขึ้นคุ้มค่ามาก

นักเรียนในโรงเรียนนั้นที่เคยสอบโอเน็ต เอเน็ตได้อันดับท้ายๆ ของจังหวัด

ผ่านไป 2 ปี สอบได้อันดับที่ 1

ระบบใหม่นี้ช่วยให้ครูสอนง่ายขึ้น

เริ่มต้นจากการเกริ่นเรื่องที่จะสอนประมาณ 10 นาที จากนั้นให้นักเรียนเรียนจากคอมพิวเตอร์

เนื้อหาที่เรียนจะมีการออกแบบให้เหมาะกับเด็กแต่ละกลุ่ม

ถ้าตรงไหนเด็กไม่เข้าใจ ยกมือขึ้น ครูก็จะเข้าไปอธิบาย

มีการทดสอบแฝงอยู่ระหว่างเรียน ทำให้ไม่ต้องกลับไปทำการบ้านอีก

ตอนท้ายชั่วโมงครูค่อยมาสรุปบทเรียนอีกครั้งประมาณ 10 นาที

คอมพิวเตอร์จะตรวจการบ้านให้ครู

ครูก็จะรู้ว่านักเรียนคนไหนไม่เข้าใจ แก้ไขได้ทันที

เขาก็เริ่มนำระบบดังกล่าวไปลงที่โรงเรียนต่างๆ

มีโรงเรียนบางแห่งซื้อระบบไปลง

ภาคเอกชนรายใหญ่เป็น “ผู้ใหญ่ใจดี” เอาระบบไปลงตามโรงเรียนที่ด้อยโอกาส

และ “เต๋อ” กับ “โหน่ง” นำรายได้ 15% นำระบบนี้ไปลงให้โรงเรียนต่างๆ ในชนบทฟรี

ตอนนี้ประมาณ 120 โรงเรียนแล้ว

สถิติผลการสอบของนักเรียนที่ดีขึ้นผิดหูผิดตา ชนะนักเรียนในเมืองได้

ทำให้เขาค้นพบว่าแท้จริงแล้ว “เด็กชนบท” ไม่ได้ “โง่”

เพียงแต่เขาขาด “โอกาส” เท่านั้นเอง

โครงการนี้ของเขาได้รางวัล “โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์” ของเมืองไทยปี 2557

และในปี 2558 ได้รางวัลชนะเลิศระดับทวีป “โซเชียล เวนเจอร์ ชาลเลนจ์ เอเชีย 2015”

“ทุกวันนี้ผมไม่เคยคิดว่ากำลังทำโรงเรียนกวดวิชาอยู่ แต่คิดว่าผมกำลังทำกระทรวงศึกษาภาคเอกชน”

และเขายังทำต่อไป

ตอนที่สัมภาษณ์ “เต๋อ” ทาง “เฟซบุ๊กไลฟ์”

มีคนหนึ่งเขียนข้อความเข้ามาว่า “อยากให้ลุงตู่แต่งตั้งเต๋อเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ”

พอผมอ่านให้เขาฟัง

“เต๋อ” รีบยกมือขึ้น

“ผมมีเพื่อนคนหนึ่งครับที่เหมาะสมมาก แต่วันนี้เขาไม่ได้มา”

ครับ คงไม่ต้องทายใช่ไหมครับ ชื่อที่เขาเสนอเป็นใคร

…เพื่อนคนนั้นชื่อ “โหน่ง” ครับ