เมนูข้อมูล/หนทางที่(ไม่)เหลืออยู่

เมนูข้อมูล/นายดาต้า

หนทางที่(ไม่)เหลืออยู่

ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป เป็นธรรมดาอยู่เองที่ไม่ว่าใคร หรืออะไรก็ตามเมื่อตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ถูกถล่มอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถ หรือไม่คิดที่จะหลบลี้หนีหายไป ย่อมมีความจำเป็นต้องคิดหาหนทางลุกขึ้นสู้

และเมื่อจะสู้แล้วย่อมหาหนทางที่จะให้ได้รับชัยชนะ

บนเวทีการเมือง “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกไล่ต้อนไปอยู่ในมุมที่ถูกมองว่าเป็น “ความเลวร้ายของประเทศ”

เป็นพวกเห็นแก่ได้ คิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องมากกว่าที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ทำให้การเมืองเป็น “ธุรกิจ” ลงทุนเพื่อแสวงหากำไร

“นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกทำให้ภาพลักษณ์เป็นเช่นนั้นมายาวนาน จนกลับกลายเป็นว่า “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ถูกตอกย้ำเรื่องนี้จากฝ่ายด้วยกันเอง

บางพรรคยังต้องอาศัยโหนกระแสความเลวร้ายนี้ เพื่อ “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่เพื่อน” เพื่อถากถางหนทางสู่อำนาจที่ด้วยหมดความสามารถที่จะทำให้พรรคตัวเองได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

และเมื่อที่สุดแล้ว “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” พ่ายแพ้ “นักการเมืองที่มาจากการทำรัฐประหาร และจากการแต่งตั้ง” โดยสิ้นเชิง

เพราะไม่เพียงถูกควบคุมอย่างเข้มข้น ทั้งโดยอำนาจ และการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่เพื่อจัดวางไว้เป็น “นักการเมืองชั้นสอง” ที่แทบไม่มีโอกาสได้เสียงข้างมากเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล

หรือแม้จะหลุดรอดเข้าจะยังถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้นด้วยระบบที่ออกแบบไม่จัดการเรียบร้อยเท่านั้น

แต่ที่ไปไกลมากคือ “นักการเมืองจากการแต่งตั้ง” มีภาพของ “คนดี” ในสายตาประชาชน เหมือน “เทพ” กับ “มาร” เมื่อเทียบกับ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

เพราะต้องถูกไปอยู่ในมุมอับ อันชวนให้น้อยเนื้อต่ำใจมายาวนาน ที่สุดแล้วมีคนที่ฮึดสู้ พยายามหาหนทางที่จะทวงความสง่างามคืน

และ “พิชัย รัตตกุล” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอให้ “ทุกพรรคการเมืองจับมือกัน” เป็น “ภารกิจเพื่อนักการเมืองจากการเลือกตั้ง” เพราะเห็นว่าเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะสู้กับ “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง” ไหว

เพียงแต่หนทางนี้อย่าว่าแต่ “นักการเมือง” ที่ต้องถอนหายใจกันเฮือกใหญ่เพราะแม้จะรู้สึกว่าเป็น “หนทางที่ดี” ทว่า เมื่อคิดถึงความเป็นไปได้แล้ว แทบมองไม่เห็นเลย

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” เมื่อไม่นานมานี้ ในคำถามที่ว่า “คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจะจับมือร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งถัดไป”

คำตอบจากความคิดของประชาชน มีแค่ร้อยละ 6.32 เท่านั้นที่เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูง

ร้อยละ 29.36 เห็นว่ามีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง ส่วนใหญ่คือร้อยละ 53.84 เห็นว่าไม่มีความเป็นไปได้เลย

มีร้อยละ 10.48 ที่ไม่แน่ใจ

ประชาชนไม่เชื่อว่า “2 พรรค” จะต่อสู้เพื่อ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” ร่วมกัน

และอาจจะเพราะเห็นแนวโน้มอะไรบางอย่าง

นายวัฒนา เมืองสุข ทัพหน้าคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทย จึงออกมาโพสต์ยืนยันใน “ไม่มีความหวังในหนทางนี้” ทำนองว่าข้อเสนอดังกล่าวทำให้มีความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างไปในทางที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปแนบชิดกลุ่มอำนาจ

ดังนั้น “หนทางที่คิดว่าเหลืออยู่” ที่ “ปู่พิชัย รัตตกุล” เสนอนั้น ที่สุดแล้วถูกมองไปในทาง เสนอขึ้นแล้วทำให้พรรคมีหนทางที่จะเคลียร์อุปสรรคขัดข้องบางประการให้ราบรื่น

เหมือนกับว่าระหว่าง “นักการเมืองจากการเลือกตั้งโดยประชาชน” กับ “นักการเมืองที่มานอกวิถีอำนาจโดยประชาชน” จะมองไม่เห็นหนทางอะไรอีกแล้วที่จะสู้กันได้

แต่อย่างที่บอก “ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป”

และในการต่อสู้ ทุกคนมีสิทธิที่จะฝันถึงชัยชนะ