มุกดา สุวรรณชาติ : เลือกตั้ง 2561 ไม่มีผลชี้ขาด… การเปลี่ยนแปลงเกมการเมือง

มุกดา สุวรรณชาติ

การเลือกตั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนเกมการเมือง หรือเปลี่ยนรัฐบาล หลังรัฐประหาร 2549 ผู้ชนะเลือกตั้ง แม้กุมอำนาจรัฐได้เพียงบางส่วน แต่ก็ยังได้เป็นรัฐบาล ยังมีเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่ในฝ่ายตุลาการ ทั้งศาลและองค์กรอิสระ กลับกลายเป็นแรงบีบที่หนักถึงขั้นหลุดตำแหน่ง หรือต้องติดคุก

การกุมอำนาจที่แท้จริง จึงชี้ขาดที่อำนาจทางทหาร อำนาจชี้ถูกชี้ผิดของศาล การรัฐประหาร และตุลาการภิวัฒน์ จึงมีอำนาจเหนือการลงคะแนนเสียงของประชาชน ตัวอย่างคือ…

การล้มรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร นายกฯ สมัคร สุนทรเวช นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การตั้งรัฐบาลนายกฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

การล้มรัฐบาลแต่ละครั้ง เมื่อมีการเลือกตั้ง ยังสามารถกลับมาได้ แต่การเลือกตั้ง 2561 ผลการเลือกตั้งดูแล้ว ไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกมการเมือง การบริหาร และอะไรที่อาจทำให้เปลี่ยนแปลง

ดูจาก…สภาพของตัวแปร ทั้งปัจจุบัน และอนาคต โดยยึดรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นกฎ

 

1.อำนาจทางการบริหารในปัจจุบันมีความมั่นคงแค่ไหน ดูจากผลงานการบริหารประเทศดูจากการโยกย้ายข้าราชการ การวางคนในตำแหน่งต่างๆ ทั้งอธิบดี ผู้ว่าฯ และตำแหน่งสำคัญอื่นๆ รวมถึงตำรวจทั่วประเทศ แม้ผลงานไม่ชัดเจน แต่วางคนไว้แล้ว

2. อำนาจนิติบัญญัติถ้าดูจากสภาพปัจจุบันทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติทั้งสองยังคงทำหน้าที่อยู่ แม้การให้ความเชื่อถือของประชาชนอาจมีไม่มากนัก แต่สภานิติบัญญัติเอง มีความเป็นเอกภาพ มีเสียงค้านน้อยมากในการออกกฎหมาย ทุกฉบับอยู่ในระดับ 1 ต่อ 100 หรือบางทีก็เป็นเอกฉันท์

แต่สภาในอนาคต ตาม รธน.2560 อำนาจนิติบัญญัติจะแบ่งเป็น 2 สภา คือ สภาผู้แทนฯ มี ส.ส. 500 คนมาจากเขต 350 คน และมาจากระบบปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน การจัดสรรปันส่วนตามรัฐธรรมนูญใหม่คาดกันว่าจะทำให้พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงไม่มีทางได้คะแนนถึง 250 คน

ส่วนวุฒิสภา มี ส.ว. ที่จะมาจากการแต่งตั้ง 200 คน และสรรหาเลือกกันเอง 50 คน

เดิมคาดว่าจะมีความเป็นเอกภาพหรือมาจากสายเดียวทั้งหมด แต่สถานการณ์การเมืองในปี 2561 อำนาจส่วนบนอาจจัดดุลกำลังใหม่ ทำให้ ส.ว. แต่งตั้งในปี 2561 เกิดความไม่แน่นอน เป็นไปได้ว่าจะมีผู้มาขอแบ่งโควต้าทำให้อาจต้องแบ่งเป็นสายละร้อยคน

นายกฯ คนนอกมาได้ แต่ต้องพึ่งหลายฝ่าย

 

3.อำนาจตุลาการในที่นี้หมายถึงระบบยุติธรรมทั้งระบบ ที่น่าจับตาดูคือศาลและองค์กรอิสระ

ประชาชนเคยเห็นการตัดสินคดีที่เกี่ยวกับการเมืองมามากมาย ทั้งคดีปลดนายกฯ สมัคร นายกฯ สมชาย คดี ปรส. แปดแสนล้าน คดี 2.2 ล้านล้านเพื่อสร้างระบบคมนาคม และรถไฟความเร็วสูง คดีมือปืนป๊อบคอร์น คดีเผาบ้านเผาเมือง คดีที่ไม่รู้จะตัดสินเมื่อไรหรือตัดสินยังไง เช่น ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยึดกระทรวง มีคดีที่เปรียบเทียบคือ สลายม็อบพันธมิตรเสื้อเหลือง ตาย 2 คน กับสลายม็อบเสื้อแดงตาย 99 คน

คดีจำนำข้าวที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประชาชนบางส่วนใช้ประสบการณ์และสถานการณ์การเมืองตัดสินล่วงหน้า แต่มีผู้สันทัดการเมืองมองว่า คดีนี้อาจยังไม่ตัดสินง่ายๆ เพราะมีแต่เสียกับเสีย อาจถูกดึงออกไปอีก เพื่อความยุติธรรม เพื่อการเมือง เพื่อ ฯลฯ

ส่วนองค์กรอิสระ ถ้ามีการ set zero การเลือกกรรมการองค์กรอิสระก็เลือกจากกลุ่มผู้มีอำนาจปัจจุบัน แต่จะนำคนเหล่านี้ไปใช้ในอนาคต จะมีอำนาจยาวนานเกินกว่าปี 2561

ความคาดหวังของประชาชนต่อระบบยุติธรรมเป็นเรื่องใหญ่มาก ประชาชนคาดหวังอะไร?

ประชาชนอยากให้ศาลซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน ต้องธำรงหลักความเป็นอิสระของสถาบันตุลาการไว้ให้ได้ ไม่ยอมให้ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องในการช่วงชิงอำนาจ

ประชาชนอยากเห็นการใช้กฎหมายเพื่อตอบสนองต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอย่างแท้จริง

ประชาชนอยากเห็นการใช้อำนาจตามหลักการระบอบประชาธิปไตย มิใช่สนับสนุนอำนาจที่กดประชาชน เช่น ไม่ให้คัดค้านหรือแสดงความเห็นตามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และไม่ยอมให้สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

แต่ปี 2561 อำนาจส่วนนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยน ต้องรอนานกว่านั้น

4. อำนาจทางทหาร การแต่งตั้งทหารเดือนกันยายนจะชี้บอกความมั่นคงและความเป็นเอกภาพ รวมทั้งแนวโน้มการวางตัวทางการเมืองของทหารว่าจะเป็นอย่างไร

5. อำนาจนอกระบบ อำนาจแบบนี้ในปัจจุบันไม่สามารถประเมินทิศทางได้ชัดเจน มีความเป็นไปได้ว่า ปี 2561 จะมีการขยายกำลังเข้ามาทั้งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และทางทหาร ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

และมีผลต่อความเป็นเอกภาพหรือสามารถเปลี่ยนดุลการใช้กำลังที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

 

6.กำลังมวลชนที่เป็นฐานการเมือง ต้องจับตาดูทั้งแกนนำ นปช. คนเสื้อแดง และ กปปส. มวลชนสีต่างๆ ซึ่งขณะนี้ต่างก็ได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองคล้ายกัน ส่วนใหญ่แล้วต่างก็ไม่สมหวังทางการเมืองตามที่ตั้งใจไว้ ปัจจุบันทุกกลุ่มดูสงบนิ่ง ความไม่พอใจยังคงอยู่ในกรอบของการซุบซิบนินทาทั้งวาจาและสื่อออนไลน์ ยุทธศาสตร์ของทุกกลุ่มคือ รอเวลาไม่ออกไปให้เจ็บตัว แต่ถ้าโอกาสเปิด ก็จะเข้าร่วมทันที

7. ปฏิกิริยาจากสื่อ สื่อสารมวลชนที่ดำเนินการเป็นธุรกิจอยู่ต่างได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ สื่อบางด้านต้องปิดตัวเองลงไป ผลกระทบนี้มีตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ ทุกบริษัทที่เกี่ยวข้องไม่มีข้อยกเว้น แต่ดูจากการเสนอความจริงก็ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ไม่มีใครกล้าตีแสกหน้าอย่างที่คุยกัน ทำได้เต็มที่แค่ขุดคุ้ยเรื่องที่มีความผิดชัดเจนออกมาตีแผ่

แต่ในโลก social media มีความรุนแรงกว่าหลายเท่า ทั้งกระจายกว้างไปเรื่อยๆ

8. แรงกดดันจากต่างประเทศ ทางด้านอเมริกาและยุโรปเป็นแรงกดที่มีลักษณะบีบคั้นทางการเมือง เพื่อให้แรงกดดันเหล่านี้บังคับให้มีการเลือกตั้ง ให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่เมื่อรัฐบาลชั่วคราวซึ่งอยู่มาหลายปีไม่สามารถทำได้ก็จำเป็นจะต้องหันไปหาประเทศอื่น เช่น จีน

จีนจึงกลายเป็นที่พึ่งของรัฐบาลในทุกด้าน ดังนั้น แรงกดจากประเทศมหาอำนาจแบบจีนจึงเป็นแรงกดเพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจและผลประโยชน์อย่างอื่น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลชั่วคราวจะมีโครงการค้าขาย ลงทุน ร่วมกับจีน

 

9.พรรคการเมือง พรรคการเมืองทุกพรรคอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีกำลังต่อต้านใดๆ ที่จะต่อกรกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารได้

ปฏิกิริยาที่ตอบโต้ก็มักเพียงเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การเลือกตั้งหรือเป็นปากเสียงแทนประชาชนในเรื่องที่เดือดร้อนบ้างแต่ไม่นับเป็นแรงกดดันที่มีสาระสำคัญเท่าไรกับรัฐบาลชั่วคราว

ดังนั้น การจะทำตามโรดแม็ปให้มีการเลือกตั้งหรือไม่มี หรือทำเมื่อใดล้วนแล้วแต่เป็นไปตามความต้องการของคณะรัฐบาลชั่วคราว พรรคการเมืองไม่สามารถมีข้อเสนออื่นๆ ได้

การเปลี่ยนแปลงในพรรคการเมือง พรรคประชาธิปัตย์จะมีการเปลี่ยนกลุ่มผู้นำหรือไม่ เปลี่ยนเพื่อแข่งเป็นนายกฯ หรือเพื่อร่วมรัฐบาลกับนายกฯ คนนอก

กรณีพรรคเพื่อไทย ต้องเปลี่ยนผู้นำตามกฎหมาย แต่จะเป็นใคร จะทำเพื่อสู้ หรือประนีประนอม

การเกิดพรรคการเมืองใหม่ จะมีกี่พรรคที่ตั้งขึ้นมาร่วมกับ ส.ว. หนุนนายกฯ คนนอก

10. ผู้นำการเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบันสภาพการต่อสู้ทางการเมืองของไทยไม่มีผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในระดับการปฏิวัติหรือการเปลี่ยนแปลงใหญ่

จะมีก็เพียงแต่หัวหน้าพรรคการเมืองซึ่งจะนำพรรคตัวเองมาแข่งขันและการเลือกตั้งเท่านั้น

ดังนั้น ผู้นำระดับหัวหน้าพรรคที่จะมาต่อกรในการเลือกตั้งถือว่าเป็นแคนดิเดตนายกฯ ตามระบบเลือกตั้งใหม่ซึ่งเป็นเพียงผู้นำเล็กๆ ที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิวัติให้เป็นประชาธิปไตย เพราะถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ก็มิได้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใดๆ ในระดับที่เป็นระบบหรือวิธีการปกครองแต่เป็นการเปลี่ยนคนเข้ามาเป็นรัฐบาลเท่านั้น

ซึ่งถ้าตามรัฐธรรมนูญนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ได้

 

11.ปัจจัยสำคัญที่สุดก็คือสภาพเศรษฐกิจซึ่งอาจจะเป็นเชื้อปะทุไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในขาลงมาตั้งแต่ปี 2556 ยังไม่มีการโงหัวขึ้น ความยากลำบากของประชาชนปรากฏให้เห็นโดยทั่ว บางอย่างอาจไม่เกิดระดับประชาชนทั่วไป เช่น ปัญหาค่าเงินบาท สำหรับประชาชนทั่วไปแล้วราคาพืชผลที่ตกต่ำเกือบทุกตัว คือความลำบาก

ราคาข้าวไม่มีทางสูงขึ้น ถ้ารัฐไม่พยุงราคา เพราะปริมาณการปลูกทั่วโลกล้นเกิน

ราคายาง ปริมาณปลูกมากขึ้น และผลผลิตจากน้ำมันที่ใช้ทดแทนถูกลง ราคายางจึงน่าจะวิ่งอยู่ช่วง 1- 1.75 เหรียญสหรัฐ ใครอยู่ได้ก็ทำต่อ

ปัญหาแรงงานต่างด้าว เมื่อเวลาผ่านไป ใกล้ครบ 180 วันจะกลับมาปะทุอีกครั้ง

ราคาหุ้นในตลาดหุ้นซึ่งมีเงินต่างชาติไหลเข้ามาค้ำเอาไว้ ในขณะที่สภาพเศรษฐกิจแทบทุกส่วนตกต่ำแต่ตลาดหุ้นไม่ตกลงไปมากเท่าของจริง ทำให้หลายคนวิตกว่าถ้าวันใดเงินต่างชาติไหลออกอาจจะเกิดความปั่นป่วนขึ้นมาได้

12. ความสามัคคีของผู้มีอำนาจปกครอง

สรุปว่า การเลือกตั้ง 2561 ไม่ว่าจะมีเมื่อไร ผลการเลือกตั้งจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเหมือนครั้งก่อนๆ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะเกิดจากเรื่องอื่น จะมาเถียงกัน ต่อสู้กันเรื่องไพรมารีโหวตทำไม ในเมื่อยังไม่รู้จักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของตนเองและประชาชน