3 ปี คสช. ช้อปอาวุธ เช็กดุลอำนาจ “มังกร-หมีขาว-กิมจิ-มะกัน” ออเดิร์ฟ 43,533 ล้านบาท : ในประเทศ

ช่วง 3 ปี นับตั้งแต่ คสช. เข้ามา โครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ได้ผ่านการเห็นชอบจาก ครม. ไปจำนวนมาก ที่สำคัญมีการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ส่วนหนึ่ง ไม่รวมการจัดซื้อที่ไม่เป็นข่าวหรือจัดซื้อตามวงรอบปกติ ใช้งบประมาณไปประมาณ 43,533 ล้านบาท โดยสัญชาติของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อก็สะท้อนดุลมหาอำนาจของโลก ที่เปลี่ยนจากชาติตะวันตกมาชาติตะวันออกมากขึ้น

.
เริ่มจากรถถังจีน VT-4 ที่ ครม.เห็นชอบปี2559 แล้ว 28 คัน 4,900 ล้านบาท และในปี2560 เห็นชอบอีก 10 คัน 2,000 ล้านบาท รวม 38 คัน โดยมีกำหนดจัดซื้อครบ 48 คัน ในปี2561 เพื่อทดแทน รถถังเบา รุ่น M-41 (Walker Bulldog) สัญชาติสหรัฐฯ อายุกว่า 50 ปี ประจำการตั้งแต่ปี2505 รวม 272 คัน ที่จะต้องปลดประจำการ เป็นรถถังยุค Baby Boomer


ในระยะแรก ทบ. ได้จัดหา รถถัง M-60 /A3 และ M-60/A1 สัญชาติสหรัฐฯทดแทน โดยความแตกต่างระหว่าง M-60/A1 กับ M-60/A3 คือ A3 จะมี Tank thermal Sights หรือ การสร้างภาพจากความร้อน แต่ A1 จะไม่มี จึงต้องติดตั้งไฟฉาย เหนือปากกระบอกปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร
.

โดยรถถัง M-60/A3 ประจำการช่วงปี 2539 และ M-60/A1 ประจำการช่วงปี2534 ถือเป็นรถถังรุ่นที่2 ของ ทบ. หรือเรียกกันว่าเป็นรถถังรุ่น Gen Y ที่นำระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการยิงมาใช้ โดยรุ่นแรกคือ M-41 ที่ใช้มาตั้งแต่สงครามเวียดนาม ถือเป็นรถถังรุ่น Gen X ที่ไม่มีขีดความสามารถยิงในเวลากลางคืน และมาที่รถถัง Gen Z คือ T-84 Oplot M สัญชาติยูเครน และ VT-4 ของจีน ที่ไทยสั่งซื้อล่าสุด มีระบบการยิงมีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น

.
โดย ทบ. ได้ตั้งคณะกรรมการเปรียบเทียบ 4 ประเทศ คือ จีน รัสเซีย ยูเครน สิงคโปร์ และได้เลือก VT-4 จากจีน ด้วยเหตุผลมีรายการส่งกำลังบำรุงชัดเจน พร้อมมาสร้างศูนย์ซ่อมสร้างในไทย เพื่อดูแลเรื่องอะไหล่ ผ่านโรงงานซ่อมสร้างยุทโธปกรณ์สายสรรพาวุธ ศูนย์ซ่อมสร้างสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ กรมสรรพาวุธทหารบก อ.เมือง จ.นครราชสีมา

.
ที่ผ่านมา ทบ. ได้มีการจัดซื้อยานเกราะ T-84 Oplot M สัญชาติยูเครน 48 คัน แต่ติดปัญหาที่ส่งมอบล่าช้า โดยล่าสุดส่งมอบแล้ว 20 คัน และปี2560 จะมาเพิ่มอีก 5 คัน จนกว่าจะครบในปีต่อๆไป หลังลงนามจัดซื้อตั้งแต่ปี2550 และ 2554 เป็นการจัดหาในระยะแรก

.
ในระยะที่2 ทำให้ ‘ครม.ประยุทธ์’ อนุมัติโครงการจัดซื้อยานเกราะล้อยาง รุ่น “VN-1” สัญชาติจีนแทน ในปี2560 ผ่านการพิจารณาโดย ทบ. รวม 34 คัน 2,300 ล้านบาท งบประมาณผูกพันปี2560-2563
.
การจัดหายานเกราะล้อยางทั้ง 2 ระยะ เพื่อทดแทนรถยานเกราะ V-150 และรถสายพาน M113A3 ที่ใช้งานมากว่า 40- 50ปี โดยคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ ทบ. เปิดเผยว่า มี 3 ประเทศ ที่ยื่นแบบมา คือ ประเทศยูเครน เสนอยานเกราะล้อยาง BTR-4E , ประเทศรัสเซีย เสนอยานเกราะล้อยาง BTR-82A และ ประเทศจีนเสนอยานเกราะล้อยาง VN-1

.
ต่อกันที่โครงการจัดซื้อ “ครั้งประวัติศาสตร์ของราชนาวีไทย” หลังครม.อนุมัติโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน Yuan Class S-26T จำนวน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท โดยแบ่งผ่อนชำระเป็นระยะเวลา 7 ปี แบ่งจ่ายเป็น 17 งวด ตามความก้าวหน้าในการสร้างเรือ ชำระเงินในปี 2560 จำนวน 700 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ถึง 2566 จะเฉลี่ยปีละ 2,100 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาต่อเรือราว 6 ปี ซึ่งราคาที่ไทยซื้อจากจีนรวมอะไหล่ต่างๆ ติดอาวุธตอร์ปิโด โรงซ่อมสร้าง และหลักสูตรการฝึกด้วย


.
ส่วนลำที่ 2 จะจัดซื้อเมื่อมีความจำเป็นและงบประมาณเพียงพอ ซึ่ง ครม. ได้อนุมัติในหลักการในการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ ตามแผนยุทธศาสตร์กองทัพเรือ รวม 36,000 ล้านบาท ส่วนจะจัดซื้อได้ครบทั้ง 3 ลำ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพร้อมทางด้านงบประมาณและสภาวะภัยคุกคามเวลานั้นด้วย เบื้องต้นจัดแบ่งไว้ คือ ลำแรกช่วงปี2560-2566 ลำที่ 2 ช่วงปี2564-2569 และลำที่3 ช่วงปี2565-2570 รวม 11 ปี

.
ทั้งนี้ประเทศที่มี “เรือดำน้ำจีน” ประจำการ ได้แก่ เรือดำน้ำรุ่น Roject 633 Romeo (รุ่นแรก) มีประจำการใน ทร.เรืออิยิปต์ และ ทร.เกาหลีเหนือ ต่อมาเรือดำน้ำจีนรุ่น Ming Class G (รุ่น2) มีประจำการใน ทร.บังคลาเทศ


ส่วนกองทัพเรือไทยมีเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S-26T ถือเป็นรุ่นที่4 ในวิวัฒนาการเรือดำน้ำจีน ซึ่งทาง ทร.ปากีสถาน ก็จัดซื้อจากจีนรุ่น Yuan Class S-20 แทนการซื้อเรือดำน้ำฝรั่งเศส 8 ลำ ด้วย

.
“Yuan Class S-26T” ถือเป็นเรือดำน้ำ 3 สัญชาติ เพราะพัฒนามาจากเรือดำน้ำระหว่างรุ่น Yuan-Class ของจีน กับ Kilo-Class ของรัสเซีย โดยมีระบบ “อยู่ใต้น้ำ” หรือ AIP (Air Independent Propulsion System) เดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใต้น้ำได้ มีถึงออกซิเจนไปกับเรือด้วย พัฒนาจากเรือดำน้ำ’สวีเดน-จีน’ มีตอร์ปิโดที่ยิงได้ไกล เทียบระยะจากสัตหีบไปชุมพร ในการทำลายเป้าหมาย จำนวน 6 ท่อ “Heavy Weight Torpedo แบบ Wire Guided” และทุ่นระเบิดทำลายเรือ


อีกทั้ง ทบ. จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงรุ่น Mi-17V5 สัญชาติรัสเซีย 6 เครื่อง แบ่งเป็นการจัดซื้อ 2 ครั้ง โดยครั้งแรกซื้อ 2 เครื่อง 1,698 ล้านบาท และครั้งที่2 จำนวน 4 เครื่อง 3,385 ล้านบาท เพื่อทดแทนเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง CH-47 Chinook ทั้ง 6 เครื่อง ที่ปลดประจำการแล้ว โดยโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17V5 มีทั้งหมด 12 เครื่อง

.
ล่าสุด ครม. รับทราบกรณีกระทรวงกลาโหมเสนอจัดซื้อเครื่องบินฝึกแบบไอพ่น “T-50TH Golden Eagle” จากเกาหลีใต้ 8 เครื่อง มูลค่า 9,000 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 4 ปี จัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) หลังครม.อนุมัติเมื่อ 25ต.ค.2559 ทดแทนเครื่องบินฝึกแบบไอพ่น “L-39 Albatros” ประจำกองบิน4และ41 ที่ใช้งานมากว่า 20 ปี

.
โดยเป็นการจัดหาระยะที่ 2 หลังจากครม.อนุมัติ เมื่อ 2557 ปีที่แล้วไว้ 16 เครื่อง โดยจัดหา 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 จำนวน 4 เครื่อง 3,750 ล้านบาท เมื่อปี 2558 สมัย พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. เป็น เสธ.ทอ. ในฐานะปธ.กรรมการจัดซื้อฯ ระยะที่ 2 จำนวน 8 เครื่อง ปี2560 และ ระยะที่ 3 จำนวน 4 เครื่อง เพื่อให้ครบ 1 ฝูง 16 เครื่อง

.
อย่างไรก็ตามช่วงปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตรได้นำคณะตรวจเยี่ยมกองบิน 4 อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เยี่ยมชม บริษัท อุตสาหกรรมการบิน จำกัด (ศูนย์ซ่อมตาคลี) จึงมองว่าจุดนี้จะเป็นฮับศูนย์ซ่อมสร้างอากาศยาน-เครื่องบินรบในอนาคตด้วย

.
แม้ในสถานการณ์ที่ไทยจัดซื้ออาวุธจากค่ายเอเชียบูรพาหรือค่ายทะเลดำ-โซเวียต มากขึ้น แต่ช่วงปลายปี2559 ไทยกับสหรัฐฯก็มีท่าทีที่ดีมากกันมากขึ้น ด้วยปัจจัยเร่งข้อพิพาทคาบสมุทรเกาหลีและทะเลจีนใต้ ที่ทำให้ไทยเนื้อหอมขึ้นมา

.
อีกทั้งการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ โทรศัพท์สายตรงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมเชิญเยือนสหรัฐฯในการพูดคุยผ่านโทรศัพท์ครั้งนั้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่ามีจดหมายเชิญจากทำเนียบขาวมาถึงไทยแล้วหรือไม่

.
แต่ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเตรียมข้อมูลทางการทหารระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ส่งไปยังกระทรวงการต่างประเทศเพื่อรวมรวมให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้เป็นข้อมูลในการไปสหรัฐฯด้วย
.

 

พร้อมกันนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ได้เปิดเผยถึงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์UH-60 Black Hawk ให้ครบ 1 ฝูง 16 เครื่อง ที่ผ่านมาเข้าประจำการแล้ว 12 เครื่อง แต่มาหยุดในช่วงที่ คสช. เข้ามา โดยขณะนี้สหรัฐฯได้อนุมัติผ่านสภาคองเกรสเรียบร้อยแล้ว ให้ดำเนินการต่ออีก 4 เครื่อง โดยเป็นการจัดหาตามโครงการช่วยเหลือทางทหารระหว่างไทย-สหรัฐฯ (FMS) และ ครม.ไทยได้อนุมัติจัดซื้อ 4 เครื่อง วงเงิน 3,000 ล้านบาท เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ผูกพันงบประมาณปี2560-2562

.
ทั้งหมดนี้สะท้อนภาพ “ดุลมหาอำนาจ” ที่ไทยสร้างผ่าน “การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์” และการเตรียมสร้างฮับศูนย์กลางการซ่อมสร้างฯ ที่ชี้ชัดอนาคตระยะยาวว่าไทยจะมี “ดุลอำนาจทางทหาร” กับใคร

.
ถ้าไม่ใช่กับมหาอำนาจที่เราไปซื้อ !!