เกษียร เตชะพีระ : วิธีลักจำจากครู (จบ)

เกษียร เตชะพีระ

ย้อนอ่านตอนแรก คลิก

เมื่อผมเริ่มเรียนหนังสือกับครูเบ็น แอนเดอร์สัน (ค.ศ.1936-2015) นั้นเป็นช่วงหลังออกจากป่าและแสวงหาครั้งที่สองด้วยการฝังตัวอยู่ในห้องสมุด จมอยู่กลางกองตำรานานาทฤษฎีและสิงสู่อยู่ตามห้องสัมมนาอภิปราย

จนผ่านการชักชวนของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ผมได้เขียนจดหมายแนะนำตัวเองถึงครูเบ็น แกติดตามมาสัมภาษณ์พูดคุยด้วยที่ธรรมศาสตร์ จนผมสมัครชิงทุนได้ไปเรียนต่อที่โครงการเอเชียอาคเนย์ศึกษา มหาวิทยาลัยคอร์แนล เมืองอิทากะ มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

สิ่งแรกที่ผมทำเมื่อไปถึงคอร์แนลช่วงก่อนเปิดเทอมฤดูใบไม้ร่วง เดือนสิงหาคม พ.ศ.2528 คือหมกตัวนั่งอ่าน The Poverty of Theory and Other Essays (ค.ศ.1978) ของ E.P. Thomson นักประวัติศาสตร์สังคมนิยมชาวอังกฤษชื่อดังอยู่ในห้องสมุดจนจบเล่ม

คน 6 ตุลาฯ รุ่นผมเติบโตทางปัญญาและรู้สำนึกทางการเมืองมากับขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายและหน่วยจัดตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ผ่านประสบการณ์ตรงของการถูกปราบปรามไล่ล่าโดยฝ่ายขวาจัดและกลไกรัฐเมื่อ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และความขัดแย้งล่มสลายของขบวนการปฏิวัติด้วยอาวุธใต้การนำของคอมมิวนิสต์ในเขตชนบทป่าเขา

ดังนั้น ถึงแม้จะเปลี่ยนแนวคิดความเชื่อทางอุดมการณ์ไปแล้ว แต่ก็ยังคุ้นชินยึดติดกับวิธีเรียนรู้ที่มองหาทฤษฎีทั้งชุดอย่างเป็นระบบ ต้องการคำถามและคำตอบใหญ่ๆ ที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จโดยภาพรวม เนื่องจากโตมาอย่างนั้น คุ้นเคยแบบนั้น และแสวงหาสิ่งนั้นแม้จะเปลี่ยนที่เรียนรู้และครูไปแล้วก็ตาม

ปัญหาก็คือครูเบ็นไม่มีทฤษฎีสำเร็จรูปเป็นระบบทั้งชุดจะประสิทธิ์ประสาทให้ใคร

ผมตั้งอกตั้งใจนั่งเรียนนั่งฟังคำบรรยายและสัมมนาวิชา The Military and Politics และ Plural Society Revisited จากแกในช่วงสองปีแรกของการเรียนที่คอร์แนล แล้วก็ให้หงุดหงิดว่างโหวงใจเหลือกำลัง (ภาษาอีสานคงใช้คำว่า “โหยหวนใจเด๊”) คือฟังๆ ดูแล้วก็เต็มไปด้วยข้อสังเกตและความเข้าใจหยั่งลึกที่เฉียบแหลมลึกซึ้งแยบคายเฉพาะเรื่องเฉพาะประเด็นปลีกย่อยยุบยิบโดยเฉพาะในทางภาษาและการเมืองวัฒนธรรม

แต่ควานหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอทฤษฎี

มิพักต้องพูดถึงแนวคิดทฤษฎีใหญ่ทั้งชุดที่เป็นระบบแบบลัทธิมาร์กซ์ที่ผมคุ้นเคย หายังไงก็ไม่พบ เรียนยังไงก็ไม่รู้ ดูยังไงก็ไม่เจอ ต่างจากการเรียนในวิชาอื่นที่มักแถลงสาธิตแนวคิดทฤษฎีชัดเจน

นับวันยิ่งเรียนยิ่งรู้สึกไม่ค่อยเข้าใจครูเบ็นและพลอยแปลกต่างออกห่างจากแกไปเรื่อยๆ

จนวันหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะแรงบันดาลใจจากแบบอย่างการวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองวัฒนธรรมของนักคิดบางคนที่ผมได้เรียนมาในวิชาอื่น (Walter Benjamin นักวิจารณ์วรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษาเยอรมันเชื้อสายยิว ค.ศ.1892-1940 โดยการชี้แนะของศาสตราจารย์ Susan Buck-Morss ผู้สอนทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่)

และก็อาจเป็นเพราะเบื่อเหลือกำลังกับการหาทฤษฎีไม่เจอเสียทีจากครูเบ็น ผมก็เลยมาตั้งนะโมตัสสะใหม่ว่า…

ในเมื่อมองหาทฤษฎีเท่าไหร่ไม่เจอก็ไม่ต้องไปหามันแล้ว แต่มาดูอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่า เวลาครูเบ็นศึกษาประเทศหนึ่งๆ การเมืองวัฒนธรรมของสังคมหนึ่งๆ หรือเรื่องหนึ่งๆ นั้น แกดูอะไร? สนใจสิ่งใด? ตรงไหนและอย่างไร? ศึกษามันยังไง? ด้วยกลวิธีกระบวนท่าแบบใด? โดยอารมณ์ความรู้สึกและมุขขำเสียดเยาะอย่างไร?

แล้วจากนั้นก็ “ลอกเลียนแบบ” หรือ mimicking วิธีของครูอย่างทื่อๆ ตรงๆ มาในกรณีศึกษาที่เราสนใจนั่นแหละ

ผมกลับไปค้นอ่านและสังเกตทบทวนงานชิ้นต่างๆ ของครูเบ็นที่เคยผ่านตาอีกครั้ง จากนั้นก็ลองทำการลอกเลียนแบบวิธีศึกษาของครูเบ็นมาใช้ในกรณีประวัติศาสตร์การเมืองวัฒนธรรมไทยดู นี่เป็นที่มาของบทความ “Pigtail : A Pre-History of Chineseness in Siam” ที่ผมทำส่งครูเบ็นในวิชาสัมมนา Plural Society Revisited เมื่อปี พ.ศ.2531

และต่อมาตีพิมพ์ในวารสาร Sojourn, 7 : 1 (February 1992), 95-122. แล้วถูกนำไปรวมเล่มภายหลังสองครั้งในหนังสือ Alternate Identities : The Chinese of Contemporary Thailand (2001) ซึ่ง Tong Chee Kiong & Chan Kwok Bun เป็นบรรณาธิการ และ The Chinese Diaspora in the Pacific (2008) ที่ Anthony Reid เป็นบรรณาธิการ

ส่วนฉบับแปลเป็นไทย “หางเปีย : บุพประวัติของความเป็นจีนในสยาม” นั้นลงในรัฐศาสตร์สาร, 16 : 1-2 (ม.ค.-ส.ค.2533), 69-112. และผมนำไปรวมกับบทความอื่นๆ ของตัวเองในหนังสือ แลลอดลายมังกร : รวมข้อเขียนว่าด้วยความเป็นจีนในสยาม (พ.ศ.2537) อีกที

บทความนี้ผมรู้สึกว่าเป็น breakthrough ในกระบวนการเรียนรู้ของผมกับครูเบ็น

แกประทับใจและชอบอกชอบใจมันมาก และดูเหมือนจะเชื่อใจและเชื่อมือผมนับแต่นั้นมา

ทั้งยังส่งสำเนาบทความนี้ของผมไปให้ศาสตราจารย์ G. William Skinner ผู้บุกเบิกการศึกษาเรื่องชุมชนคนจีนในเมืองไทย ซึ่งเป็นเป้าวิเคราะห์วิจารณ์หลักของผมในบทความนั้นได้อ่านด้วย

 

เมื่อมันตีพิมพ์ครั้งแรกใน Sojourn ผมได้ลงข้อความขอบคุณครูเบ็นไว้ที่เตือนใจผมให้ได้คิดถึง “หางเปียที่ขาดหายและความเป็นเจ๊กที่หลงลืมไปแล้วของผม” (“my absent pigtail and forgotten Chineseness”)

ครูเบ็นเป็นครูที่สอนคุณอย่างห่างๆ และวางมือ แกชอบตั้งคำถามแปลกๆ ให้คุณชะงักคิดเพราะมันสวนทวนวิธีคิดปกติของคุณตอนนั้น

วิธีการเรียนรู้ของผมจากครูเบ็นจึงผ่านงานเขียนของแกเป็นหลัก ด้วยการอ่านทบทวน สังเกตและลอกเลียนแบบมากกว่าอื่น

เทียบกับอาจารย์คนอื่นแล้ว แกคอมเมนต์งานวิทยานิพนธ์ของผมไม่มากนัก เหมือนกับเมื่อไว้ใจแล้วว่าพอทำเองได้ ก็ปล่อยผมว่าไปเองตามถนัด

จะทักท้วงติติงก็ในประเด็นย่อยเป็นจุดๆ เรื่องข้อเท็จจริงหรือการตีความ มากกว่าเค้าโครงใหญ่ภาพรวมซึ่งแกปล่อยให้เป็นไปอย่างที่เราวาดวางเอง

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตอนที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ แกไปวิจัยภาคสนามนานแรมปีอยู่ที่ฟิลิปปินส์ ติดต่อกันได้ทางไปรษณีย์เป็นหลักซึ่งไม่บ่อยนัก (ก่อนยุคอินเตอร์เน็ตแพร่หลาย)

เวลาพบปะพูดคุยกันซึ่งหน้า ก็มักเป็นเรื่องสารทุกข์สุกดิบส่วนตัว ประเด็นการเมืองไทยปัจจุบัน ตลกโปกฮา นินทาคนนั้นคนนี้ไปตามเพลง มากกว่าเรื่องวิชาการ

แม้เรียนจบคอร์แนลมาแล้ว แต่ครูเบ็นก็ยังคงห่วงใย ตามมาเยี่ยมเยียนเป็นระยะและเปิดโอกาสทางวิชาการใหม่ๆ ให้เสมอ

ผมได้รับความเมตตาอย่างนี้จากครูเบ็นหลายครั้ง ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักผู้คน พบประสบการณ์และสร้างงานใหม่ๆ ที่คงไม่คิดจะทำหรือไม่ได้ทำถ้าไม่เป็นเพราะแกเชื่อมั่นและปรารถนาดีต่อผม

ไม่ว่าจะเป็นการไปพบปะเสวนากับเครือข่ายปัญญาชนนักเขียนนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าในเครือข่ายของ Goenawan Mohamad ที่อินโดนีเซีย

การไปทดลองบรรยายสมัครเป็นอาจารย์ที่คอร์แนล หรือการเขียนบทความไปลงวารสาร New Left Review ซึ่งกลายเป็นบทความของนักวิชาการไทยคนแรกที่ได้ลงในวารสารนั้น (Kasian Tejapira, “Toppling Thaksin,” New Left Review, second series, 39 (May/June 2006), 5-37) ฯลฯ

ในทางกลับกัน ผมก็ได้พยายามนำข้อคิดงานเขียนของครูเบ็นบางชิ้นบางประเด็นมาประยุกต์อธิบายขยายความหรือแปลเรียบเรียงเพื่อเผยแพร่เป็นประโยชน์แก่วงวิชาการและสาธารณชนไทยเท่าที่มีกำลังและโอกาสจะทำ…

ลูกศิษย์ทุกคนโดยใจจริงก็อยากรู้แหละครับว่าครูมองดูและประเมินเราอย่างไร ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่านข้อคิดความเห็นของครูเบ็นเกี่ยวกับตัวผมตรงๆ ใน “คำนำของผู้เขียน” สำหรับหนังสือรวมบทความวิชาการของครูเบ็นเกี่ยวกับเมืองไทยเรื่อง Exploration and Irony in Studies of Siam over Forty Years (2014) ที่พิมพ์ออกมาราวหนึ่งปีก่อนท่านเสียชีวิต

อันที่จริงจะบอกว่า “ตีพิมพ์” ก็ไม่ถูกนัก เพราะ “คำนำฯ” ที่ว่านี้เกิดพลัดหลงในการสื่อสารระหว่างผู้เขียนกับบรรณาธิการผู้จัดพิมพ์จนหายไปไม่ได้รวมพิมพ์อยู่ในตัวเล่มหนังสือจริง หากแต่จัดพิมพ์แยกออกมาเป็นเอกสารต่างหากที่ครูเบ็นและบรรณาธิการส่งให้เพื่อนชาวไทยของครูเบ็น 4 รุ่น 15 คนซึ่งครูเขียนถึงใน “คำนำฯ” ดังกล่าว

ผมได้แปล “คำนำฯ” ที่ว่าลงในคอลัมน์การเมืองวัฒนธรรมของมติชนสุดสัปดาห์ต่อกันสองตอนในชื่อเรื่อง “ปัญญาชนสยาม 4 รุ่นผู้สอนจระเข้ว่ายน้ำ” เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2557 แต่แปลไว้เฉพาะส่วนที่ครูเบ็นเขียนถึงเพื่อนชาวไทย 14 คน โดยงดเว้นที่จะแปลสิ่งที่ครูเบ็นเขียนเกี่ยวกับตัวผมเอง เพื่อความเหมาะสม

ในโอกาสรวมเล่มหนังสือนี้ ผมจึงอยากถือโอกาสนำข้อความที่ครูเบ็นเขียนใน “คำนำฯ” ส่วนที่ยังไม่ได้แปลมาแปลลงไว้ ณ ที่นี้ :

“เกษียร เตชะพีระ. เกษียรซึ่งอ่อนวัยกว่า เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ไม่กี่ปี ก็หนีเข้าป่าไปด้วยเช่นกันในปี ค.ศ.1976 และมาเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลในต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1980 เขาทำให้ผมยินดีปรีดาด้วยความฉลาดปราดเปรื่อง กล้าหาญและเสียงหัวเราะของเขา นักศึกษาชาวเอเชียอาคเนย์ที่ดีคนอื่นๆ ซึ่งผมสอนมักจะเงียบและประหม่า แต่เกษียรไม่เป็นเช่นนั้นเลย เขาเป็นนักศึกษาไทยคนแรกที่ผมมีซึ่งคิดในเชิงทฤษฎี ข้อเขียนอันเศร้าหวนครวญคิดเรื่อง “Theses on the Philosophy of History” ของ วอลเตอร์ เบนจามิน นั้นเหมาะเจาะกับเขาอย่างยิ่งและสอนให้เขาเล่นกับประวัติศาสตร์สยามได้อย่างย้อนแย้ง นั่นเป็นที่มาของวิทยานิพนธ์อันปราดเปรื่องของเขา (ซึ่งต่อมาพิมพ์เป็นหนังสือ) ชื่อ “Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958” ย่อหน้าท้ายๆ ที่แสบร้ายอย่างน่าอัศจรรย์ของบทความเรื่อง “Murder and Progress in Modern Siam” (“ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคสมัยใหม่”) ของผม (ซึ่งตีพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือ ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา : ว่าด้วยการเมืองไทยสมัยใหม่ หน้า 108-132) นั้นเป็นข้อเขียนของเขาทั้งหมด”

ขอขอบพระคุณบ่าอันยิ่งใหญ่ของครูที่ให้ผมได้อาศัยเกาะและมองโลกกว้างไกลออกไป