เพ็ญสุภา สุขคตะ : “หม่อมเจ้าบวรเดช” กับการย้ายคดีอธิกรณ์ “ครูบาเจ้าศรีวิชัย” จากลำพูนสู่เชียงใหม่-กรุงเทพฯ (จบ)

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ความเดิมตอนที่แล้วกล่าวถึง พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ ออกคำสั่งให้ย้ายคดีอธิกรณ์ครูบาเจ้าศรีวิชัยจากวัดพระธาตุหริภุญชัย ลำพูน เนื่องจากมีศิษยานุศิษย์ยกขบวนมาล้อมมากกว่าหมื่นชีวิต

นำตัวมาฝากขังที่วัดศรีดอนไชย เชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของพระครูสุคันธศีล (สีโหม้)

เรียกเป็นภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า “โดนม็อบผ้าเหลือง-ม็อบผ้าขาวกดดัน”

เหตุการณ์ช่วงนี้น่าสนใจยิ่ง หากอ่านข้ามๆ เผินๆ ก็อาจคิดไปว่า การย้ายครูบาเจ้าศรีวิชัยจากลำพูนไปเชียงใหม่ “น่าจะเป็นคำสั่งของพระครูญาณมงคล วัดมหาวัน เจ้าคณะจังหวัดลำพูนกระมัง”

ทว่า การตัดสินใจแบบปุบปับฉับพลันทันด่วนเช่นนี้ หาใช่ธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการสงฆ์ล้านนาไม่ ไม่ใช่ทั้งคำสั่งจากมหาเถรสมาคม (เพราะอยู่ไกล ยังไม่ทันทราบเรื่องทราบราว สมัยนั้นยังไม่ทันได้โทรเลขรายงานคณะสงฆ์ส่วนกลาง) และไม่ใช่ทั้งคำขอร้องจากเจ้าคณะจังหวัดลำพูน

หากแต่เป็นการตัดสินใจของฝ่ายบ้านเมืองเอง

ในเมื่อไม่มีกฎหมายมาตราใดระบุว่าต้องปฏิบัติเช่นนั้นเช่นนี้ต่อกรณีพระสงฆ์ที่ไปไหนมาไหนมีผู้ติดตามมาจำนวนมหาศาล ถามว่าทางออกมีทางอื่นไหม

เจ้าคณะจังหวัดลำพูนอาจยุติปัญหาให้จบลงแค่ที่ลำพูน ด้วยการเชิญเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนมาเป็นตัวแทนในการเจรจาไกล่เกลี่ยขอร้องครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ยุติความเคลื่อนไหว

 

ย้ายครูบาจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ

ขณะที่ครูบาเจ้าศรีวิชัยถูกกักตัวที่วัดศรีดอนไชย (เป็นเวลานานถึง 3 เดือน 8 วันโดยไม่มีการไต่สวนคดีใดๆ เลย) ชาวเชียงใหม่เมื่อทราบข่าว ก็พยายามฝ่าฝืนผู้คุมที่เฝ้าประตูมากราบเยี่ยมครูบาเจ้าศรีวิชัยอีก

พระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูน เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นในหนังสือพระราชทานเพลิงศพครูบาเจ้าศรีวิชัย ปี 2489 ว่า

“…ศรีวิชัยถูกกักตัวอยู่ที่วัดศรีดอนไชยและกำลังได้รับความลำบากเพราะอยู่กลางแจ้งต้องลำบากด้วยแสงอาทิตย์สาดร้อน เสนาสนะคิลานะอันเป็นเป็นปัจจัยก็อดอยาก เพราะการกักตัวเป็นไปอย่างเคร่งครัด…”

“…เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้แต่งตั้งหลวงประสานคดีชนคอยสังเกตความเคลื่อนไหว แต่ยังเห็นโทษพอที่ส่อว่าเป็นผีบุญได้จึงกักกันไว้เพื่อไม่ให้ประชาชนแตกตื่นแพร่ข่าวไปในทางอกุศล แต่ถึงกระนั้นประชาชนก็ยังพากันไปทำบุญถวายทานกันไม่ได้ขาด…”

ประหนึ่งว่าการกักตัวท่านที่วัดศรีดอนไชยนี้ ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีก

บุคคลที่พยายามฝ่าด่านกำแพงรั้ววัดศรีดอนไชย มาเสวนาธรรมและคอยอุปัฏฐากครูบาเจ้าศรีวิชัยให้ได้ ประกอบด้วยคนทุกหมู่เsล่า นับแต่คหบดีเชื้อสายจีน เช่น หลวงอนุสารสุนทร และเพื่อนของท่านคือ พญาคำวิจิตรธุระราษฎร์ หรือพระสงฆ์ เช่น ครูบาแสน คุณาลงฺกาโร

จากนั้นแต่ละวันก็มีผู้คนทะลักหลามไหลเข้ามาเยี่ยมครูบาไม่ต่ำกว่าวันละ 3,000 คน

พูดง่ายๆ ก็คือ หมดม็อบลำพูน ต้องมาเจอม็อบเชียงใหม่เข้าอีกจนได้

เมื่อปริมาณผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความหวาดกลัวในเรื่องผีบุญของผู้มีอำนาจก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ทั้งกลัวผู้คนเหล่านั้นจะป้องกันแย่งชิงตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากที่กุมขัง

เจ้าอาวาสวัดศรีดอนไชยจึงให้สามเณรไปขอเสมียนอำเภอช่วยปิดกั้นที่ประตูวัด ห้ามคนเข้าออก ถ้าห้ามแล้วไม่หยุด ก็ให้จดชื่อเอาไว้ เพื่อจักนำไปแจ้งแก่เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ และอุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ เอาตัวไปทำโทษ

แม้จะข่มขู่อย่างไร ก็ไม่อาจต้านทานแรงศรัทธาประชาชนได้ ผู้คนยังยัดเยียดเบียดกันเข้ามากราบครูบาเจ้าศรีวิชัย

ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดารอุปมาเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า

“ดังภุมราแม่ผึ้งพาบริวารไปเที่ยวเสาะสูบเอารสละอองเกสรดอกไม้คือความหอมหวานของศีลธรรมแห่งตนบุญเจ้าศรีวิชัย มนุษย์ตนใดจักมาจดชื่อแม่ผึ้งได้ เว้นแต่พระอรหันต์เท่านั้น”

ถือเป็นสถานการณ์คับขันเกินกว่าที่จะควบคุม พระครูโพธิรังษี เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ หารือกับพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพว่าควรทำอย่างไร

หม่อมเจ้าบวรเดช มีความเกรงกลัวว่าครูบาเจ้าศรีวิชัยจะเป็นผีบุญก่อกบฏต่อต้านบ้านเมือง จึงได้ตัดสินใจให้ย้ายหรือส่งตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยลงไปยังกรุงเทพฯ เพื่อให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (ในเอกสารเรียกสมเด็จเจ้าคณะมณฑลสยาม) ชำระโทษ

สำหรับตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น ในเอกสารกล่าวว่า แม้เหตุการณ์จะเปลี่ยนผันรุนแรงอย่างไร ท่านสะกดจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ “…เป็นดังหลักอินทขีลอันฝังไว้ในปฐวีนั่นแล…”

วันที่ 18 พฤษภาคม 2463 พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร ได้ลงนามในหนังสือราชการมีคำสั่งให้ หลวงประสานคดีชน และนายถนอม ผู้คุมตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยตลอดระยะเวลา 3 เดือน ทำการย้ายตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยออกจากวัดศรีดอนไชย ขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟลำพูน (แวะจำวัดที่วัดวังตอง เหมืองง่าก่อน 1 คืน) ไปชำระโทษที่วัดเบญจมบพิตรฯ

ถือเป็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีการ “ย้ายตัวบุคคลที่มีปัญหาไปกักตัวที่อื่น” อีกเป็นคำรบที่สองของหม่อมเจ้าบวรเดช

 

หากไม่มีหม่อมเจ้าบวรเดช
รูปคดีอธิกรณ์ครูบาจะเป็นเช่นไร

ลองพิจารณาให้ดีว่าศักดิ์ศรีหรือสถานะของเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้สูงกว่าหรืออยู่เหนือกว่าเจ้าคณะจังหวัดลำพูน คือไม่มีหน้าที่ปกครองกัน

ดังนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่เจ้าคณะจังหวัดลำพูนเมื่อถึงทางตันในการปฏิบัติงานแล้วจะต้องนำเสนอชงเรื่องต่อให้เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่จัดการปัญหาแทน

อีกทั้งผู้ที่อยู่เหนือกว่าเจ้าคณะจังหวัดทั้งสอง ก็คือเจ้าคณะมณฑลพายัพ คือพระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) ก็ยังจำพรรษาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิ9วนาราม กรุงเทพมหานคร (มีแต่ชื่อที่ตั้งให้ดูแลคณะสงฆ์ล้านนา แต่ตัวอยู่ภาคกลาง)

เจ้าคณะมณฑลพายัพ ยังไม่ทันได้รับทราบเหตุการณ์อะไรทั้งสิ้นเกี่ยวกับพฤติกรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย และท่านไม่ใช่ผู้สั่งการให้ย้ายครูบาจากลำพูนมาเชียงใหม่ หรือจากเชียงใหม่มากรุงเทพมหานคร

ดังนั้น บุคคลในพื้นที่ที่ดูแลความสงบเรียบร้อยความเป็นไปทั้งของลำพูนและเชียงใหม่ ก็คือ อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ พลโทหม่อมเจ้าบวรเดช ท่านนี้ผู้เดียว ที่มีอำนาจตัดสินใจสามารถย้ายตัวครูบาเจ้าศรีวิชัยได้อย่างฉับพลันภายในวันเดียว

และเข้าใจว่าการที่ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ที่ทางเจ้าคณะเชียงใหม่ไม่รู้ (หรือไม่คิด) จะดำเนินการอย่างไรดีกับครูบาเจ้าศรีวิชัยนั้น เหตุก็เพราะความผิดต้นเรื่องอยู่ที่ลำพูน ไม่ใช่ที่นี่

เบื้องแรก หม่อมเจ้าบวรเดช คงแค่อยากแยกครูบาเจ้าศรีวิชัยออกมาจากคณะศรัทธา (ม็อบนักบุญ) ให้เรื่องซาๆ ไปสักพัก แล้วกะจะส่งครูบาเจ้าศรีวิชัยกลับคืนไปให้เจ้าคณะจังหวัดลำพูนตัดสินคดีตามเดิมกระมัง จึงไม่ให้เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่เข้าไปยุ่มย่ามในการตัดสินชี้โทษ

แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ ยิ่งอยู่ยาวกว่า 3 เดือนแล้ว คณะศรัทธา (ม็อบนักบุญ) ก็ยังไม่สงบลง กลับโหมกระหน่ำหนักข้อขึ้นกว่าเดิม

กล่าวให้ง่ายก็คือ จะเรียกว่าชะตากรรมหรือสถานการณ์ก็ไม่ต่างกัน ล้วนนำพาให้ต๋นบุญแห่งล้านนาผู้นี้ต้องไปสัมผัสกับผู้ที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดในวงการสงฆ์สยาม นั่นคือสมเด็จพระสังฆราช (โดยที่เจ้าคณะมณฑลพายัพ ยังตั้งตัวไม่ทันติดเลย)

มองมุมกลับแล้วเข้าท่าทีเดียวเลย ไม่งั้นคดีจบที่ลำพูน ครูบาเจ้าศรีวิชัยก็ต้องถูกส่งตัวกลับไปชำระโทษโดยเจ้าคณะแขวงลี้ (ครูบามหาอินทร์ หรือพระครูมหารัตนากร) หรือเป็นไม่เบื้อไม้เมากับเจ้าคณะจังหวัดลำพูน ที่คอยหาเรื่องกลั่นแกล้งซ้ำซาก

 

น่าเสียดายที่แม้แต่หนังสือพระราชเพลิงศพของพระองค์เจ้าบวรเดช ไม่มีการบันทึกเบื้องหลังความในใจช่วงที่ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ (ปี 2463) ว่าท่านคิดเช่นไรในเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ที่ได้ตัดสินใจส่งครูบาจากลำพูน ไปเชียงใหม่ และจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ

หากมองแบบพุทธ ว่าทุกอย่างเป็นกรรม ชีวิตนี้ไม่มีอะไรบังเอิญ เป็นวิบากของครูบาเจ้าศรีวิชัยเอง ไม่ต้องไปโทษใครก็มองได้ คือดวงคนจะ “โด่งดัง” ชะตากรรมจะได้ “โกอินเตอร์” อยู่ดี

คดีเกิดขึ้นที่ลำพูนแท้ๆ แค่ภายในระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้นก็จับพลัดจับผลู ถูกผลักไปไกลมาก

หากคดีปี 2463 จบที่ลำพูน ชะตากรรมครูบาเจ้าศรีวิชัยก็คงต้องเดินทางกลับอำเภอลี้ อำเภอที่ห่างไกลจากความเจริญ อาจมีสานุศิษย์เรือน 2,000 ขยายไปเรื่อยๆ ไม่เกินหมื่น และคงมีชื่อเสียงโด่งดังแค่ละแวกแม่ปิง-วัง ตอนใต้คือแถบลี้ บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง แม่ทา จอมทอง ฮอด ดอยเต่า เถิน เสริมงาม แม่พริก สบปราบ ฯลฯ

ไม่กลายเป็นข่าวใน น.ส.พ. Bangkok Time

คงไม่ได้รับนิมนต์จากเจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยาให้ไปบูรณะวัดพระเจ้าตนหลวง จนก่อเกิดกระบวนการสร้างวัดระหว่างเส้นทางอีกนับร้อยๆ แห่ง

และเจ้าแก้วนวรัฐคงไม่ได้นิมนต์ให้มาเป็นประธานสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ผลงานชิ้นโบแดงเมื่อปี 2477

การศึกษาคดีต้องอธิกรณ์ครูบาเจ้าศรีวิชัยที่ผ่านมา เรามักเพ่งโทษไปที่ “สีโหม้” หรือพระครูสุคันธศีล วัดศรีดอนไชยว่าช่างใจไม้ไส้ระกำต่อครูบาเจ้าศรีวิชัยเสียเหลือเกิน

แต่ศึกษาไปศึกษามา เริ่มเอะใจคิดว่า เราแน่ใจได้อย่างไรว่า อยู่ดีๆ เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่นึกอยากแบกรับภาระ (คล้ายๆ แกว่งเท้าหาเสี้ยน) ไปเอานักบุญที่ชาวบ้านศรัทธาอย่างสูงสุดมากักขัง

หรือในนามของเจ้าคณะจังหวัดลำพูน การย้ายครูบาเจ้าศรีวิชัยไปดื้อๆ เช่นนี้ ก็เท่ากับสร้างความอับอายให้ฝ่ายลำพูนเช่นกัน คล้ายว่าไม่มีน้ำยาหรือไร้บารมีในการปราบพระป่าตัวเล็กๆ ไม่มีสมณศักดิ์ใดๆ

ถามว่า “แล้วใครเล่า เป็นผู้ออกคำสั่งให้ส่งครูบาเจ้าศรีวิชัยไปเชียงใหม่และกรุงเทพฯ” ตรงนี้เป็นมุมที่เราไม่เคยวิเคราะห์กันมาก่อน

 

เราไม่เคยตั้งคำถามว่าใครคือ “อุปราชเทศาภิบาลมณฑลพายัพ” ทำไมเขาผู้นี้ต้องเข้ามาจัดการเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และเมื่อทุกครั้งที่ปรากฏชื่อของเขา รูปคดีต้องอธิกรณ์ครูบาเจ้าศรีวิชัยต้องพลิกผันทันที

แท้จริงแล้วเขาคือผู้มีอำนาจประสานส่วนท้องถิ่นสู่ส่วนกลางโดยไม่ต้องรอคำสั่งจากใคร สามารถจัดการปัญหาในลำพูน-เชียงใหม่ได้ด้วยตัวเอง เพราะถือเป็นจังหวัดลูกๆ ภายใต้ร่มเงาของมณฑลพายัพ

ยอมรับว่าพลโทหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์อีกผู้หนึ่งที่มีสีสัน ชีวิตโลดโผนเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา ทั้งบวกทั้งลบ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย น่าศึกษามากท่านหนึ่ง

ขนาดว่ากำลังศึกษาเรื่องครูบาเจ้าศรีวิชัยอยู่แท้ๆ เทียว ชื่อของหม่อมเจ้าบวรเดชยังโผล่ขึ้นมาในประวัติศาสตร์หน้านี้อีกจนได้