ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : พระเจ้าอโศก ไม่เคยส่งสมณทูตมาสุวรรณภูมิ?

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เชื่อต่อๆ กันมาว่า พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์โมริยะ ของอินเดีย ทรงส่ง “สมณทูต” ออกไปยังดินแดนต่างๆ ถึง 9 สาย

และก็เป็นสมณทูตสายสุดท้าย ที่นำโดยพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระนั้น ได้เดินทางจาริกมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” ซึ่งก็หมายถึงภูมิภาคอุษาคเนย์ ภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ของเรานี่เอง

พระเถระทั้งสองท่านนี้มีชีวิตอยู่ในสมัยพระเจ้าอโศก เมื่อช่วงศตวรรษของ พ.ศ.200 ซ้ำยังมีการขุดค้นทางโบราณคดีจนพบพระธาตุของพระโสณเถระ และพระอุตตรเถระ จากสถูปเก่าแก่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดียอีกต่างหาก

แต่จารึกของพระเจ้าอโศกจำนวนมากมายหลายหลักนั้น กลับไม่มีหลักไหนเลยที่ระบุว่า มีการส่งพระมหาเถระทั้งสองมาเป็นสมณทูตยังสุวรรณภูมิ

อันที่จริงแล้ว ต้องบอกว่าในจารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งเป็นหลักฐานที่ร่วมสมัยกับพระองค์ ซ้ำยังเป็นวัตถุที่พระองค์โปรดให้จดจารข้อความทั้งหลายขึ้นเองนั้น ไม่ยักจะมีที่ตรงไหนกล่าวถึงการส่ง “สมณทูต” ออกไปทั้ง 9 สาย มีแต่สิ่งที่ในจารึกเรียกว่า “ธรรมวิชัย” ต่างหาก

 

“ธรรมวิชัย” ในจารึกของพระเจ้าอโศกที่ว่า แปลความได้ตรงตัวว่า “ชัยชนะโดยธรรม” ตามความบรรยายในจารึกศิลาหลักที่ 13 จากกลุ่มจารึกศิลา 14 หลัก (แต่ไม่ได้แปลว่าจารึกของพระเจ้าอโศกมีจำนวนเพียง 14 หลักนี้เท่านั้น เพียงแต่นักปราชญ์ยุคเก่าก่อนท่านจัดจารึกเหล่าเป็นหมวดหมู่เดียวกันไว้) ซึ่งเป็นหลักจารึกสำคัญสำหรับนักประวัติศาสตร์ในการศึกษาเรื่องราวของพระเจ้าอโศก นั้นมีใจความบางตอนระบุเอาไว้ว่า

“…การที่ได้ทรงปราบปรามแคว้นกลิงคะ (ปัจจุบันคือ รัฐโอริสสา ในประเทศอินเดีย) ลงนั้น ทำให้พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ (หมายถึงพระเจ้าอโศก) ทรงมีความสำนึกสลดพระทัย…

ในคราวยึดครองแคว้นกลิงคะนี้ จะมีประชาชนที่ถูกฆ่าล้มตายลงและถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม แม้เพียงหนึ่งในร้อยส่วน หรือหนึ่งในพันส่วน (ของจำนวนที่กล่าวนั้น) พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพย่อมทรงสำนึกว่าเป็นกรรมอันร้ายแรงยิ่ง…

สำหรับพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ชัยชนะที่ทรงถือว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ได้แก่ ธรรมวิชัย และธรรมวิชัยนั้น พระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพได้ทรงกระทำสำเร็จแล้ว ทั้ง ณ ที่นี้ (ในพระราชอาณาเขตของพระองค์เอง) และในดินแดนข้างเคียงทั้งปวง ไกลออกไป 600 โยชน์…

ทุกหนทุกแห่ง (ประชาชนเหล่านี้) พากันประพฤติปฏิบัติตามคำสอนธรรมของพระผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ…

ด้วยเหตุเพียงนี้ ชัยชนะนี้เป็นอันได้กระทำสำเร็จแล้วในที่ทุกสถาน เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส พรั่งพร้อมด้วยความเอิบอิ่มใจ เป็นปีติที่ได้มาด้วยธรรมวิชัย…”

 

ข้อความในจารึกข้างต้นผมคัดลอกมาจากสำนวนแปลของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่มีข้อความตอนไหนที่ได้นิยามเอาอย่างชัดเจนเลยว่า ธรรมวิชัยของพระเจ้าอโศกหมายถึงอะไรแน่?

มีแต่ข้อความเปรียบเทียบว่า สงครามที่แคว้นกลิงคะเป็นเรื่องที่โหดร้าย หลังจากที่พระองค์ได้เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนา ก็ทรงหันมาประกาศธรรมวิชัยไปยังดินแดนต่างๆ แทน

สำหรับในจารึกหลักนี้ “ธรรมวิชัย” จึงกลายเป็นคู่ตรงข้ามกับ “สงคราม” ที่โหดร้าย เพราะถึงแม้ว่าพระองค์จะประกาศธรรมวิชัยไปยังดินแดนแห่งใดก็ดี (และจะด้วยวิธีการอย่างไรก็ดี?) ประชาชนทุกหนแห่งที่พระองค์ประกาศธรรมวิชัยไปนั้น ต่างก็ประพฤติปฏิบัติตนตามคำสอนของพระเจ้าอโศก

จนในจารึกเรียกว่า “เป็นชัยชนะอันมีปีติเป็นรส” เลยทีเดียว

 

ที่จริงแล้วคำว่า “ธรรมวิชัย” มีมาก่อนในแนวคิดของพวกพราหมณ์นะครับ ดังปรากฏในคัมภีร์อรรถศาสตร์ ของจาณักยะ พราหมณ์ผู้เป็นที่ปรึกษา ควบตำแหน่งเสนาบดีของพระเจ้าจันทรคุปต์ พระอัยกา ซึ่งก็คือปู่แท้ๆ ของพระเจ้าอโศกเอง

แต่ผู้มีธรรมวิชัย หรือ “ธรรมวิชยี” ของจาณักยะนั้นหมายถึง ผู้ชนะที่พอใจเพียงการที่ผู้แพ้ยอมภักดีแก่ตน โดยไม่ข่มเหงทำร้ายบ้านเมืองของผู้แพ้ จึงน่าขบคิดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวว่า ธรรมวิชัยในจารึกของพระเจ้าอโศกนั้นหมายถึงอะไรแน่?

ข้อความสำคัญอีกตอนหนึ่งในจารึกของพระเจ้าอโศกหลักเดียวกันนี้ก็คือ การที่พระองค์ประกาศธรรมวิชัยออกไปยังดินแดนใกล้เคียง ที่ไกลออกไป 600 โยชน์ เพราะในจารึกก็ระบุไว้ด้วยว่า ดินแดนทั้ง 600 โยชน์ที่ว่านั้น ประกอบไว้ด้วยอะไรบ้าง

ดังความในจารึกที่ว่า

 

“…ไกลออกไป 600 โยชน์ ในดินแดนอันเป็นที่ประทับแห่งกษัตริย์โยนก (คือ Ionian หรือพวกกรีกจากทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ตกค้างอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย) พระนามว่าอันติโยคะ (คือพระเจ้า Antiochus II Theos แห่งซีเรีย) และดินแดนต่อจากพระเจ้าอันติโยคะนั้นไป (ทางตะวันตกเฉียงเหนือ) อันเป็นที่ประทับของกษัตริย์ 4 พระองค์ พระนามว่า พระเจ้าตุรมายะ (คือพระเจ้า Ptolemy II Philadelphus แห่งอียิปต์) พระเจ้าอันเตกินะ (คือพระเจ้า Antigonus II Gonatas แห่งมาซิโดเนีย) พระเจ้ามคะ (คือพระเจ้า Magas แห่งไซรีน ที่ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศลิเบีย) พระเจ้าอลิกสุนทระ (คือพระเจ้า Alexander แห่งโครินธ์ ผู้เป็นพระราชนัดดา คือหลานของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ผู้ทำสงครามมาจนถึงอินเดีย)

และถัดลงไป (ทางทิศใต้) ถึงแว่นแคว้นของชาวโจฬะ (ชนชาวทมิฬกลุ่มหนึ่ง ในรัฐทมิฬนาฑู ทางใต้ของประเทศอินเดียปัจจุบัน) แว่นแคว้นของชาวปาณฑยะ (ชาวทมิฬอีกกลุ่มในรัฐทมิฬนาฑู) ตลอดถึงประชาชนชาวตามรปรรณี (ชื่อแม่น้ำสำคัญในรัฐทมิฬนาฑู)

และในแว่นแคว้นภายในพระราชอำนาจของพระองค์ ก็เช่นเดียวกันคือ แว่นแคว้นของชาวโยนก (หมายถึงพวกกรีกในอินเดีย) และชนชาวกัมโพช (หมายถึงกลุ่มคนที่มีศูนย์กลางที่เมืองทวารกา ในอินเดีย) ชนชาวนาภปันติแห่งนาภคะ (อยู่ในรัฐอานธรประเทศ ของอินเดียปัจจุบัน) ชนชาวโภชะ (ชนกลุ่มหนึ่งในอินเดียโบราณ) และชนชาวปิตินิก (ชนกลุ่มหนึ่งในอินเดียโบราณ) ชนชาวอันธระ (ชนกลุ่มหนึ่งในรัฐอานธรประเทศ) และชนชาวปุลินทะ (ชนเผ่าโบราณในเทือกเขาวินธัย ทางตอนกลางของอินเดีย)…”

ถ้า “ธรรมวิชัย” ในจารึกของพระเจ้าอโศก หมายถึงการส่ง “สมณทูต” ไปเผยแผ่พระธรรมยังดินแดนต่างๆ ดินแดนที่จารึกของพระองค์เองระบุถึงก็ไม่เห็นจะมี “สุวรรณภูมิ” เลยเสียหน่อย?

 

หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับนิทานเรื่อง พระเจ้าอโศกทรงส่งสมณทูตไปยังพื้นที่ต่างๆ 9 สาย รวมทั้ง “สุวรรณภูมิ” ด้วยนั้น เพิ่งเริ่มมีระบุอยู่ในสมันตปาสาทิกา ซึ่งเป็นคัมภีร์รุ่นอรรถกถา (คือเป็นอรรถกถาพระวินัยปิฏก) ที่ประพันธ์ขึ้นในเกาะลังกา โดยพระพุทธโฆษาจารย์ ที่มีชีวิตอยู่เมื่อระหว่าง พ.ศ.927-973 และมีอยู่ในหนังสือที่ชื่อ “มหาวงศ์” ซึ่งเป็นพงศาวดารลังกาทวีป ที่ประพันธ์ขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามหานามะ ผู้ครองราชย์อยู่ที่เมืองอนุราธปุระ บนเกาะลังกา ในช่วงระหว่าง พ.ศ.955-977

จึงกล่าวได้ว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้ถูกแต่งขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน

พูดง่ายๆ อีกทีหนึ่งก็ได้ว่า เรื่องพระเจ้าอโศกส่งพระอุตตรเถระ และพระโสณเถระ มาเผยแผ่พุทธศาสนายังสุวรรณภูมิ เป็นสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็นอรรถกถา คือการอธิบาย ขยายความ และเล่าเสริมเติมแต่งเรื่องของพระเจ้าอโศกเมื่อ พ.ศ.200 กว่าๆ โดยคนที่มีชีวิตอยู่บนเกาะลังกาเมื่อราวก่อน พ.ศ.1000 เล็กน้อย

ด้วยการอ้างอิงถึงตัวละครที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในประวัติศาสตร์ แต่ตัวละครเหล่านั้นไม่ได้จำเป็นต้องเคยเดินทางไปยังสุวรรณภูมิจริงๆ เสียหน่อย?

ถ้าจะมีใครอยากส่งสมณทูตมายังสุวรรณภูมิ คนคนนั้นก็น่าจะมีชีวิตอยู่ที่เกาะลังกาในช่วงก่อน พ.ศ.1000 เล็กน้อย ไม่ใช่พระเจ้าอโศกในอินเดีย เมื่อ พ.ศ.200 กว่าๆ เพราะจักรวาลวิทยาของชาวลังกาในยุคนั้นผูกโยงอยู่กับสุวรรณภูมิ ด้วยฐานะอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าข้ามสมุทร ไม่ต่างอะไรไปจากจักรวาลวิทยาของพระเจ้าอโศก ที่ก็ยึดโยงอยู่กับบรรดาแว่นแคว้น และบ้านเมืองทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในจารึกของพระองค์นั่นเอง