ปฏิรูปไม่หลุดโลก : วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

การปฏิรูปตำรวจที่เรียกร้องกันหนักหนา ถึงขั้นยัดเข้าไปในรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าจะต้องปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี บัดนี้มีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้นมาอย่างเป็นทางการตามสั่งของรัฐธรรมนูญเรียบร้อยแล้ว โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. เป็นผู้เคาะรายชื่อเอง

แน่นอน กลุ่มที่ต้องการให้ปฏิรูปตำรวจมากที่สุด ก็คือ พวกที่เคยร่วมเป็นแกนนำม็อบนกหวีด ที่หงุดหงิดบทบาทขององค์กรตำรวจ ในการเป็นอุปสรรคของการหยุดประชาธิปไตย

ดังนั้น หลังได้รับชัยชนะ ได้รัฐบาลจาก คสช. มาปกครอง ก็พยายามจะผลักดันให้ผ่าตำรวจออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ให้เป็นองค์กรเล็กๆ ไม่มีฤทธิ์เดชจะมาปกป้องรัฐบาลนักการเมืองในอนาคตได้อีก

จนกระทั่งเมื่อสามารถผลักดันให้รัฐธรรมนูญเขียนกำหนดว่าต้องปฏิรูปตำรวจจนได้ ทำให้รัฐบาล คสช. ต้องมาตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้นมาอย่างเป็นทางการ

“แต่การตั้งคณะกรรมการค่อนข้างล่าช้า จนล่าสุดเมื่อรายชื่อคลอดออกมาแล้ว ก็เหลือเวลาให้ทำงานเพียงแค่ 8-9 เดือนเท่านั้น”

รายชื่อที่ปรากฏออกมา นำโดย พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำ คมช. ที่ปฏิวัติเมื่อ 19 กันยายน 2549

ส่วนกรรมการ ก็มีทั้งตำรวจในราชการและอดีตตำรวจนอกราชการ กับฝ่ายนักวิชาการ และผู้บริหารกระทรวงอื่นๆ

“ดูรายชื่อแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกลางๆ ไม่ได้สุดโต่งหลุดโลก”

ฝ่ายตำรวจเป้าหมายที่จะโดนผ่าตัดก็รับได้ ว่าสุดท้ายแนวทางปฏิรูปน่าจะออกมาแบบ ไม่บ้าระห่ำ น่าจะยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง

ส่วนที่มีอดีต ผบ.สูงสุดมาเป็นประธาน ซึ่งเกิดข้อวิจารณ์ทันทีว่า จะเอาทหารมาปฏิรูปตำรวจหรืออย่างไรนั้น ดูเหมือนฝ่ายตำรวจจะไม่หวั่นไหวในแง่นี้ เพราะ พล.อ.บุญสร้างเป็นอดีตนายทหารที่นิ่งสุขุม น่าจะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างเปิดกว้าง

อีกทั้งคณะกรรมการยังมีอีก 35 คน ยากที่ใครคนใดคนหนึ่งจะป็นผู้กำหนดแนวทางทั้งหมดได้

ฝ่ายที่แสดงความผิดหวังเมื่อเห็นรายชื่อกรรมการชุดปฏิรูปตำรวจ คงไม่พ้นพวกสุดโต่ง โดยเฉพาะแกนนำนกหวีด

“เพราะไม่มีประเภทถือเลื่อยไฟฟ้าเข้าไปเป็นกรรมการเลย”

“เสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายนกหวีด จึงออกมาในแนวทางที่ไม่เชื่อว่าจะปฏิรูปได้ดีนัก!”

จุดสำคัญที่ฝ่ายนกหวีด หรือคนที่มองตำรวจอย่างเลวร้ายทุกด้าน พูดกันมาตลอดจนเคลิ้มว่า เป็นเรื่องใหญ่ที่จะทำให้การปฏิรูปตำรวจออกมาสำเร็จสดสวย นั่นก็คือ ต้องแยกงานสอบสวนออกไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปเป็นหน่วยอิสระ หรือไปขึ้นกับหน่วยอื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ

ประเด็นแยกงานสอบสวนออกไปนั้น เคยมี พ.ต.อ.มานะ เผาะช่วย เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวน ซึ่งเป็นนายตำรวจที่ทำงานด้านสอบสวนมาตลอดชีวิต ปัจจุบันก็ยังอยู่ในราชการ ได้เคยอธิบายให้สังคมได้รับฟังอย่างน่าสนใจว่า

ความคิดที่จะให้แยกงานสอบสวนเป็นอิสระจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในทางปฏิบัติ เท่ากับจะมีการตั้งหน่วยงานใหม่มารับงานสอบสวนคดีอาญาขึ้นมาใหม่ ประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง

“เพราะกระบวนการของงานสอบสวน หรือการรับแจ้งความเพื่อรวบรวมเรื่องร้องทุกข์จากชาวบ้าน หน่วยงานที่จะมารับทำงานสอบสวนใหม่จะต้องทำงานให้ได้ 24 ชั่วโมง มีสถานที่ทำงานทุกแห่งทั่วประเทศไทยเหมือนสถานีตำรวจ”

ขณะเดียวกัน ลักษณะของงานสอบสวนไม่ใช่รับแล้วตามอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมกับฝ่ายอื่นๆ ด้วย นั่นคือ ต้องประสานกับงานสืบสวน งานป้องกันปราบปราม งานจราจร หากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น เพื่อความสะดวกรวดเร็ว หน่วยงานที่จะมารับผิดชอบใหม่แทน จะทำหน้าที่ดังกล่าวแทนได้หรือไม่

“ปัจจุบัน ตำรวจมีพนักงานสอบสวนทั้งหมดประมาณ 12,000 นาย การที่จะมาเป็นพนักงานสอบสวนได้จะต้องมีการฝึกฝนทดสอบมาใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี”

ยังไม่รวมไปถึงอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ สถานที่คุมขังผู้ต้องหา งบประมาณ

การที่จะเอางานสอบสวนไปรวมไว้ที่เดียวกับอำเภอหรือที่อื่นๆ ถือว่าคิดผิด เพราะงานสอบสวนจะไม่สามารถเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ ได้เลย ถ้าไม่สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“เลขาธิการสมาคมพนักงานสอบสวนย้ำว่า หากมีการปฏิรูปตำรวจในกรณีดังกล่าวแล้ว ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ด้วยว่าจะเป็นอย่างไรในอนาคต ประชาชนจะเป็นอย่างไร”

นั่นคือ ข้อมูลที่นำเสนอโดยพนักงานสอบสวนมืออาชีพ

ประเด็นก็คือ พนักงานสอบสวนจะต้องรับแจ้งความจากชาวบ้านได้ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น จะไปอยู่ที่ไหน ใกล้ชิดกับชุมชนที่ชาวบ้านเดินทางมาง่ายหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันก็คือ สถานีตำรวจทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในแหล่งที่เป็นใจกลางทุกชุมชนอยู่แล้ว และมีร้อยเวรทำงานตลอดทั้งวันอยู่แล้ว

ไม่เท่านั้น เมื่อเกิดเหตุขึ้น นอกจากร้อยเวรต้องเดินทางไปยังจุดเกิดเหตุแล้ว ยังจะต้องมีฝ่ายสายตรวจหรือฝ่ายป้องกันปราบปราม รุดไปตรวจที่เกิดเหตุก่อน แล้วต้องมีฝ่ายสืบสวน ที่ไปดูสภาพจุดเกิดเหตุเพื่อเตรียมแกะรอยคนร้าย เดินตามหาพยานเพื่อหาข้อมูล

แต่ทั้งหมดอยู่ในโรงพักเดียวกัน หรือในกองบังคับการเดียวกัน

แล้วต้องประสานงานใกล้ชิดร่วมกัน จนกว่าจะจับคนร้ายได้ จนกว่าจะทำสำนวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น เพื่อส่งฟ้องศาล

นี่เป็นข้อมูลจากพนักงานสอบสวนตัวจริง!

เอาเข้าจริงๆ ยังไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่า อีก 8-9 เดือน ที่คณะกรรมการชุดนี้จะประชุมหารือ หาแนวทางเพื่อปฏิรูปองค์กรตำรวจนั้น สุดท้ายจะออกมาในแนวไหน แต่หากดูการตั้งรับของฝ่ายตำรวจ รวมทั้งอดีตตำรวจ ที่เข้าไปนั่งร่วมเป็นกรรมการปฏิรูปแล้ว

ประการแรก จะมีการนำเสนอข้อมูล พร้อมประสบการณ์จากการทำงานที่เป็นจริง มายืนยันว่า ไม่สามารถแยกงานสอบสวนออกไปจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้

ประการต่อมา แนวคิดที่จะผ่าตำรวจเป็นส่วนต่างๆ แล้วแยกกระจายออกไป ทำให้องค์กรตำรวจเล็กลง และต่างคนต่างอยู่ เช่น ไปเป็นตำรวจจังหวัด

ประเด็นนี้ ตำรวจมีข้อมูลเพื่อนำเสนอให้ที่ประชุมเห็นว่าทำไม่ได้

“ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์เองก็ยอมรับว่า แนวทางที่ฝ่ายผลักดันการปฏิรูป เสนอให้แยกตำรวจเป็นตำรวจจังหวัดนั้น นั่นคือ แนวทางของสหรัฐอเมริกา ที่ไม่เหมาะกับประเทศไทย”

ส่วนประเด็นตัดโอนหน่วยที่ถือว่ามีภารกิจคาบเกี่ยวกับหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจด้านทรัพยากรและป่าไม้ ให้ไปขึ้นกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ แทน หรือตำรวจรถไฟไปขึ้นกับกระทรวงคมนาคมแทน และอีกหลายๆ หน่วย

“ฝ่ายตำรวจได้เตรียมเสนอว่า ไม่เคยขัดข้องเลย หากจะตัดโอน ตำรวจไม่เคยค้าน แต่หน่วยงานอื่นๆ นั่นเอง ที่ไม่พร้อมรับ เพราะหากจะตัดโอนไป หมายความว่าจะต้องไปหมด ทั้งงานสืบสวน งานสอบสวนทำสำนวนคดี”

เช่น จะเอาตำรวจด้านทรัพยากร ก็ต้องไปทั้งกองบังคับการ ทั้งฝ่ายสืบจับ และฝ่ายที่ต้องทำสำนวนส่งฟ้อง ซึ่งประเด็นนี้แหละที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่พร้อมจะรับไป

ดังนั้น หากคณะกรรมการปฏิรูปอยากให้ตัดโอนไป ก็ต้องกำหนดให้หน่วยงานที่จะรับไปนั้น ต้องรับงานของหน่วยนั้นไปให้ครบถ้วนทั้งหมดด้วย

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ฝ่ายตำรวจต้องการให้เป็นส่วนของการปฏิรูป ก็เช่น การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน โดยเฉพาะในยุคที่งานพิสูจน์หลักฐาน งานวิทยาการ เป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องการให้ตำรวจหน่วยนี้ขยายกำลัง ถึงขั้นมีประจำตามโรงพักหรือตามกองบังคับการ เพื่อให้เห็นว่าการสืบสวนสอบสวนทุกคดี เริ่มตั้นจากงานด้านวิทยาการ อันน่าเชื่อถือ

“ประเด็นนี้จะทำให้ประชาชนรู้สึกมั่นใจ และสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการสืบสวนสอบสวนของตำรวจในระดับสากลด้วย”

อีก 8-9 เดือนคงจะได้รู้กันว่า ผลการผ่าตัดจะทำให้องค์กรตำรวจมีรูปโฉมใหม่เช่นไร

จุดสำคัญต้องดูผลกระทบต่อประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เอาแนวทางของกลุ่มที่มีเป้าหมายการเมืองแฝงเร้นมากำหนด!