คำ ผกา : เราเห็นแรงงานต่างด้าวเป็นอะไร?

คำ ผกา

ข่าวแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านพากันเดินทางกลับถิ่นฐานของตนเอง อันเนื่องมาจากการ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 มิถุนายน ทำให้ฉันอยากเขียนถึงแรงงานต่างด้าวในแบบที่ฉันเห็นบ้าง

ข่าวว่า เราต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวให้รัดกุม เพื่อแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์

ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมี 2 ประเด็นที่ควรจะโฟกัส

เราปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า ในไทยมีปัญหาการค้ามนุษย์อยู่จริง แต่ปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นในไทยนั้น เกิดจากกฎหมายควบคุมลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว ที่เข้มงวดไม่พอ หรือเกิดจากการปัญหาการคอร์รัปชั่นในระบบราชการไทยเอง

เครือข่ายของการค้ามนุษย์ในไทยที่ผ่านมาเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพลในวงการต่างๆ จนกฎหมายทำอะไรไม่ได้หรือเปล่า

เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยให้ตรงจุด น่าจะต้องไปแก้ที่การคอร์รัปชั่น เครือข่ายผู้มีอิทธิพล (ซึ่งคนที่อยู่ในวงการ หรือทำข่าวเรื่องเหล่านี้มาอย่างใกล้ชิดก็น่าจะรู้) การจ่ายส่วย จ่ายสินบน การใช้กฎหมายแบบไม่เลือกปฏิบัติ

เหล่านี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่าหรือไม่?

ความน่าฉงนอีกประการหนึ่งคือ ทุกคนรู้ว่า เศรษฐกิจไทยเกือบทุกภาคส่วนขับเคลื่อนด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในภาคเกษตร ก่อสร้าง ประมง คนทำงานบ้าน ร้านอาหาร

บ้านฉันที่เชียงใหม่นั้น พ่อค้า แม่ค้า ในตลาดนัด ตลาดสด ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งนั้น

ก่อสร้างนั้นไม่ต้องพูดถึง ที่เชียงใหม่มีแต่ไทใหญ่ กับคนที่มาจากพม่า แต่เราไม่รู้ว่าเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไหนเท่านั้นเอง

ทุกธุรกิจขับเคลื่อนด้วยแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านจนเราต้องมานั่งถามตัวเองว่า เออ…คนเชียงใหม่เขาไปทำอาชีพอะไรกันเหรอ?

เชียงใหม่ยังขนาดนี้ เราไม่ต้องพูดถึงสมุทรสาคร ระนอง แม่สอด ที่แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไปแล้ว

คำถามคือ ทำไมเรายังไม่มีระบบในการรับแรงงานเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมาเสียที

ในเชิงอุดมคติของกฎหมาย การหลบหนีเข้าเมืองเพื่อมาทำงานนั้นผิดในทุกรณี แต่ในความเป็นจริง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุกประเทศล้วนแต่มีแรงงานหลบหนีเข้าเมืองทำงานอยู่ทั้งนั้น

ไม่ต้องดูอื่นดูไกล เกาหลีใต้ยังมีแรงงานไทยหนีวีซ่าทำงานอยู่เป็นแสนๆ คน

ที่มาเลเซีย มีแรงงานไทยอยู่อย่างผิดกฎหมายอีกหนึ่งแสนคน

ในญี่ปุ่นก็มีแรงงานไทยหนีวีซ่าอยู่จำนวนไม่น้อย

ไม่นับว่าในอีกหลายประเทศก็มีแรงงานจากประเทศยากจนอื่นๆ หลบหนีไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้แก่ชีวิต

ในยุคหนึ่งแรงงานไทยแห่กันไปทำงานตะวันออกกลาง แรงงานที่ได้ค่าแรงห้าร้อยที่ไทยอาจได้ค่าแรงห้าพันที่นู่น

เงินน้อยนิดจากต่างประเทศที่แรงงานส่งกลับบ้าน กลายเป็นเงินที่มีค่ามหาศาล นำมาสร้างบ้าน ซื้อที่ดิน ส่งลูกเข้าโรงเรียนดีๆ ยกระดับคุณภาพชีวิต ปลดหนี้ ได้ลงทุนค้าขาย สร้างกิจการเล็กๆ ของตนเอง

นี่คือชีวิตของคนงานไทยที่ไปซาอุฯ ไปตะวันออกกลางในทศวรรษที่ 80s

จากความสำเร็จนี้ทำให้มีบริษัทจัดหางานหลอกลวง ให้คนขายที่นาที่สวนจ่ายให้บริษัทที่หลอกว่าจะพาไปทำงานซาอุฯ สุดท้ายไม่ได้ไป หรือไปแล้วถูกลอยแพ หรือถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ

ถัดจากซาอุฯ ตะวันออกกลาง แรงงานไทยก็ไปเกาหลี ไปมาเลเซีย ไปสิงคโปร์ (จนมีข่าวคนงานไทยไหลตายที่สิงคโปร์)

A Myanmar migrant worker with thanaka paste on her face is seen at a wholesale market for shrimp and other seafood in Mahachai, in Samut Sakhon province, Thailand, July 4, 2017. REUTERS/Chaiwat Subprasom

ตอนนี้มีคนไทยจำนวนมากเต็มใจหนีวีซ่า หนีทัวร์ ไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายจะทำงานในเกาหลีใต้ให้ได้ เป็นเหตุให้ ตม.เกาหลีใต้ต้องตรวจเข้มนักท่องเที่ยวไทยจนเป็นดราม่าให้เราเห็นเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

การที่คนไทยยอมเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไปเป็น “ผีน้อย” หรือแรงงานผิดกฎหมายในเกาหลีมากอย่างมีนัยสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็เป็นสัญญาณบอกให้เรารู้ว่า เศรษฐกิจในประเทศมันต้องเหลือทนขนาดไหน ที่ทำให้คนรู้สึกว่า – เอาวะ ไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า

วิธีสากลที่ใช้ในการจัดการกับแรงงานหนีวีซ่า อย่างตรงไปตรงมาคือ ถ้าจับได้ก็ส่งตัวกลับประเทศ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ การจับแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายอย่างหมดจดไม่เคยเกิดขึ้นจริง และหลายประเทศก็ตระหนักดีว่า ตนเองได้ประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้ เพราะเป็นแรงงานราคาถูก ในหลายกรณีเป็นแรงงานมีฝีมือ ในหลายกรณีแรงงานเหล่านี้ก็คือ “ผู้จับจ่ายใช้สอย” เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ อีก การหลับตาข้างหนึ่งให้กับการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ

ประเทศที่ต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างชาติมีทางเลือกอะไรบ้างในการจัดการกับแรงงานที่หนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

วิธีที่ดีที่สุด น่าจะเป็นการหาทางดูดซึมแรงงานนอกกฎหมายเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบเสีย

เช่น เปิดโอกาสให้แรงงานที่ผิดกฎหมายเหล่านี้เข้ามาลงทะเบียน ออกใบอนุญาตให้ทำงาน ออกวีซ่า หรือกระทั่งเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถเปลี่ยนสัญชาติได้

ประเทศอย่างอเมริกานั้นเป็นประเทศที่ก่อร่างสร้างตัวได้ด้วยผู้อพยพทั้งสิ้น

คนจีนสัญชาติอเมริกันจำนวนมากที่เป็นชนชั้นนำในวงการอุตสาหรรม การแพทย์ ปัญญาชน นักกฎหมาย ก็ล้วนแต่มีปู่ ย่า ตา ยาย เป็นผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองด้วยผิดกฎหมาย

สำหรับประเทศไทยเราปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในเมืองนานนับสิบๆ ปี พวกเขาล้วนแต่มีลูกมีเต้า เรียนหนังสือกันอยู่เมืองไทย

โจทย์ของเราคือ เราพร้อมจะเปิดรับคนเหล่านี้เข้าเป็นพลเมืองไทยอย่างถูกกฎหมายหรือไม่

หรืออย่างน้อย เรายินดีจะให้วีซ่าถาวรแก่เด็กที่เกิดในผืนแผ่นไทยเพื่อให้เขาสามารถเลือกสัญชาติด้วยตนเองเมื่อเขาบรรลุนิติภาวะว่าเขาจะเลือกสัญชาติไทยหรือสัญชาติของประเทศบ้านเกิดของพ่อกับแม่ของเขา

และเราควรจะเปิดใจให้กว้างไว้ก่อนไหม เด็กๆ เหล่านี้ในอนาคตอาจเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติของเราก็ได้

ในอนาคต ใครจะรู้ว่า รางวัลโนเบลแรกของประเทศไทยอาจจะมาจากคนที่เป็นลูกคนงานต่างด้าวที่เกิดเมืองไทยแล้วได้สัญชาติไทย

ถ้าเราคิดแบบนี้ ถ้าเรามองเห็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า การออกกฎหมาย นโยบายเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวของเราน่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับแรงงานที่ทำงานในประเทศไทยอยู่ตอนนี้ โดยเฉพาะแรงงานที่ถูกกฎหมาย

ส่วนแรงงานที่ผิดกฎหมายนั้นเล่า ก็ต้องไปดูว่าทำไมพวกเขาจึงอยู่อย่างผิดกฎหมาย ถูกหลอกมา ถูกกีดกันจากนายจ้างไม่ให้เข้าสู่ระบบที่ถูกกฎหมาย นายจ้างจะได้กดขี่ขูดรีดได้เต็มที่

หรือเกิดจากการที่ระเบียบ ขั้นตอน งานเอกสาร มันซับซ้อน สับสน จนทำให้แรงงานที่ถูกกฎหมายอยู่ดีๆ อาจกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายเพราะเข้าใจผิดก็เป็นได้

การปรับระบบงานเอกสารให้ชัดเจน กระชับ รัดกุม ไม่มีสองระบบ สามระบบที่ทับซ้อนกัน ทำให้ทุกอย่างง่าย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่คอร์รัปชั่น ระบบที่ไม่เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้อง ข้าราชการ บริหารอำนาจตามอำเภอใจเพื่อเรียกเงินเรียกทองจากนายจ้างและลูกจ้าง น่าจะเป็นหนทางเดียวที่ลดปัญหาการทำงานอย่างผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าวได้

และด้วยเห็นพวกเขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่า ย่อมทำให้เกิดระบบการดูแลเรื่องคุณภาพชีวิต ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย โอกาสในการสันทนาการ การเข้าถึงการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ การเข้าถึงสันทนาการอย่างภาพยนตร์ มิวเซียม หอสมุด ก็ย่อมอยู่ในแผนการดูแลแรงงานต่างด้าว

แทนที่จะเป็นเรื่องการตรวจจับ ระแวง สงสัย มองเห็นแรงงานต่างด้าวอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของผู้ประกอบอาชญากรรมอยู่ร่ำไปในสายตาของคนไทยและผู้รักษากฎหมายไทย

เมื่อตอนที่ไปเชียงตุง ได้ขอไปนั่งร่วมโต๊ะกับกลุ่มครอบครัว “ว้า” ที่มาเที่ยวเชียงตุง พวกเขานั่งกินอาหารเป็นกลุ่มใหญ่ อย่างสนุกสนาน เกือบครึ่งหนึ่งของสมาชิกพูดภาษาไทยได้ ใช้สมาร์ตโฟน

ฉันถามว่าทำไมถึงพูดภาษาไทยได้ เขาบอกว่า เคยมาเรียนภาษาจีนและไทยที่แม่สาย การมาเรียนที่แม่สาย หนุ่มคนนี้ถ้าเดินอยู่เมืองไทยก็คงไม่พ้นถูกมองว่าเป็นต่างด้าว พูดไทยไม่ชัด พูดจาไม่รู้เรื่อง เผลอๆ ก็มองว่า พวกนี้ “ค้ายา” – เท่านั้น

แต่เมื่อเราไปอยู่ในบ้านเมืองของเขา เขากลับต้อนรับขับสู้เราอย่างเป็นมิตร

อีกหลายครั้งที่เดินอยู่บนถนนในเชียงตุง จะมีคนเชียงตุงเดินมาทักอยู่เรื่อยๆ เมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทย เขามาทักเพื่อจะเล่าว่าเขาเคยมาทำงานอยู่เมืองไทยนะ เคยมาทำงานที่บ้านถวายนะ มีความทรงจำดีๆ ในช่วงเวลาที่ทำงานที่เมืองไทย

พอเจอคนไทยก็ดีใจอยากทักอยากคุย คนเหล่านี้กลายมาเป็นเจ้าของกิจการที่บ้านเกิด

หนุ่มขายซาลาเปาที่เชียงตุง ถีบรถขายซาลาเปาร้อนๆ ไปทั่วเมือง ฉันถามเขาว่า เรียนทำซาลาเปามาจากไหน เขาบอกว่า จากการที่เคยเป็นลูกจ้างร้านซาลาเปาที่เมืองไทย พอเก็บเงินได้ ก็กลับบ้าน มาทำซาลาเปาในแบบที่ไม่มีใครทำขายที่เชียงตุงมาก่อน

ขณะเล่า ดวงตาเขาก็สดใส – เหมือนคนที่มีความสุขกับฝันที่เป็นจริง

มันอาจเป็นการเหมารวม หากฉันจะบอกว่า คนเหล่านี้ ครั้งหนึ่งพวกเขาต้องเคยเผชิญกับการถูกเหยียดหยาม หรือการมองจากคนไทยด้วยสายตาที่ไม่ได้เคารพนับถืออะไรในตัวของพวกเขา

และฉันก็รู้สึกละอายหน่อยๆ ด้วย ที่เขาบอกว่าเขามีความทรงจำดีๆ ที่บ้านเรา เพราะ “เรา” ไม่แน่ใจว่า เราเคยมีเขาอยู่ในสายตาหรือไม่

การมีกฎหมายเพื่อดูแลและจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวนั้นถูกต้องแล้ว

กฎหมายเดิมต้องการแก้ไขให้รัดกุมขึ้นก็ถูกต้องแล้ว

แต่สังคมไทยต้องถามตัวเองอย่างจริงจังว่า กฎหมายนี้มีเพื่อ “ควบคุม” ด้วยเห็นแรงงานต่างด้าวเป็นคู่ตรงข้ามกับแนวคิดเรื่องความมั่นคง หรือเห็นแรงงานต่างด้าวมาพร้อมกับคำว่า ยาเสพติด อาชญากรรม

หรือกฎหมายแรงงานต่างด้าวควรเป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแล คุ้มครอง ยกระดับ ส่งเสริมศักยภาพ ยกระดับฝีมือแรงงาน

พูดง่ายๆ กฎหมายแรงงานต่างด้าวควรมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างด้าวเป็นหลัก ป้องกันการหลอกหลวง และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง

หากกฎหมายเป็นไปเพื่อการนี้ ย่อมทำให้แรงงานต่างด้าวเกิดความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ที่จะอยู่ทำงานในเมืองไทยต่อไป

ส่วนคนไทยที่รังเกียจเดียดฉันท์แรงงานต่างด้าว ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็พึงระลึกอยู่เสมอว่า ประเทศไทยก็เป็นประเทศของผู้อพยพ

คนไทยเชื้อสายจีนที่อยู่ในเมืองไทยทุกวันนี้ก็ล้วนแต่เป็นลูกหลานของคนจีนที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายเป็นเบื้องต้นทั้งสิ้น กว่าจะกลายเป็น “คนไทย” อยู่ทุกวันนี้

ส่วนคนที่ไม่ใช่จีน หากไม่ใช่เชื้อสายพ่อค้าอาหรับ แขก ก็เป็นไท ไต ลาว ในอุษาคเนย์ ที่อพยพย้ายถิ่นไปมา บ้างก็เป็นทาส บ้างก็เป็นเชลยสงครามถูกกวาดต้อนมาทั้งนั้น

หรือหากยังมีสำนึกเดียดฉันท์ดูถูกแรงงานต่างด้าว ก็พึงคิดบ้างว่า หากเราต้องไปทำงานในประเทศอื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราก็คงอยากให้เจ้าของประเทศเห็นหัวเรา เห็นเราเป็นคน เห็นเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเท่าๆ กับที่เจ้าของประเทศเขาเป็น และไม่อยากถูกดูถูกเหยียดหยามจากสีผิว สีผม หรือสำเนียงภาษาของเรา

แต่ถ้ายังคิดไม่ได้ ก็คิดแค่ว่า วันนี้หากไม่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เราจะอยู่ได้ไหม – เท่านั้นแหละ?