จิตต์สุภา ฉิน : จิตที่ผูกติดกับสมาร์ตโฟน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

สัปดาห์นี้มาชวนคุยเรื่องเบาสมองกันบ้างนะคะ

เรื่องที่หยิบมาเล่าวันนี้เป็นเรื่องเบาสมองมากค่ะ เบาจริงๆ เพราะว่ามันเป็นระบายพลังออกจากสมองเราไปเรื่อยๆ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า brain drain นั่นเอง

คุณผู้อ่านอาจจะเคยประสบเหตุการณ์แบบเดียวกับซู่ชิง กิจกรรมอย่างการเอนกายลงบนโซฟาแล้วหยิบหนังสือมาอ่านสักเล่ม ค่อยๆ ลิ้มชิมรสตัวอักษรแต่ละตัวไปอย่างละเมียดละไม มันดูเป็นกิจกรรมที่ไม่ยากอะไรเลยใช่ไหมคะ

แต่สำหรับซู่ชิงและใครอีกหลายๆ คน กลับพบว่าการจะรวบรวมสมาธิในการทำอะไรสักอย่าง แม้แต่จะเป็นเรื่องที่ง่ายดายอย่างการอ่านหนังสือสักเล่ม ก็ดูจะมีอุปสรรคมาขัดขวางตลอดเวลา

และอุปสรรคที่ว่านั่นก็คือสมาร์ตโฟนคู่ใจของเราเองนั่นแหละค่ะ

เคยเป็นใช่ไหมคะที่อ่านหนังสือไปได้ไม่กี่หน้า หรือพิมพ์งานไปได้ไม่กี่บรรทัด ใจก็เริ่มวอกแวก เริ่มอยากจะเช็กว่ามีใครส่งข้อความอะไรมาหาเราหรือเปล่าน้อ มีใครโพสต์อะไรฮาๆ บ้างมั้ยในช่วงห้านาทีที่ผ่านมา (อาการหนักสุดๆ)

จนสุดท้ายก็แพ้ใจตัวเอง คว้าโทรศัพท์ขึ้นมา แล้วรู้ตัวอีกทีก็ถูกดูดเข้าไปอยู่ในหลุมดำนานเป็นครึ่งชั่วโมง

 

นักวิจัยจาก McCombs School of Business แห่ง University of Texas ในเมืองออสตินได้ทำการวิจัยเพื่อหาคำตอบว่าการวางสมาร์ตโฟนไว้ข้างตัวในระหว่างที่เราต้องการทำงานอะไรบางอย่างนั้นจะเป็นการไปลดประสิทธิภาพการรับรู้และความสามารถในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงหรือไม่

ซึ่งจริงๆ แล้วใครๆ ก็รู้ว่าถ้าวางโทรศัพท์ไว้ข้างๆ มันจะต้องทำให้เราเสียสมาธิแน่ๆ เพราะเดี๋ยวก็ต้องมีนั่นมีนี่เด้งขึ้นมาให้แวบสายตาไปมอง ไม่ต้องทำวิจัยก็ได้หรอกมั้ง

แต่นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการวิจัยเพื่อดูว่ามนุษย์เราสามารถปฏิบัติภารกิจให้เสร็จสิ้นได้ดีแค่ไหนถ้าหากว่ามีโทรศัพท์วางไว้ข้างๆ “โดยปิดมันเอาไว้ และไม่หยิบขึ้นมาใช้เลย”

วิธีการหาคำตอบเขาทำแบบนี้ค่ะ

ทีมวิจัยได้หาอาสาสมัครที่เป็นผู้ใช้สมาร์ตโฟนทั้งหมด 800 คน การวิจัยในส่วนแรก ให้อาสาสมัครนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และทำการทดสอบเป็นชุดๆ

การจะทำบททดสอบให้ได้คะแนนดีจะต้องใช้สมาธิสูง ข้อสอบเหล่านี้ออกแบบมาเพื่อวัดประสิทธิภาพในการรับรู้ของผู้เข้าร่วมการวิจัย ซึ่งหมายถึงความสามารถของสมองในการที่จะเก็บและประมวลข้อมูลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งนั่นเอง

จากนั้นนักวิจัยจะสุ่มให้คำสั่งอาสาสมัคร บางคนจะถูกขอให้วางโทรศัพท์มือถือไว้ข้างๆ โดยที่คว่ำหน้าและวางไว้บนโต๊ะ บางคนถูกขอให้ใส่โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋ากางเกง กระเป๋าถือ ในขณะที่บางคนก็จะถูกขอให้เอาโทรศัพท์ไปเก็บไว้ในอีกห้องหนึ่งไปเลย แต่ทุกคนจะต้องปิดเสียงโทรศัพท์มือถือให้เป็นโหมดเงียบเอาไว้ทั้งหมด

นักวิจัยพบว่า อาสาสมัครที่วางโทรศัพท์ไว้อีกห้องจะทำข้อสอบออกมาได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าคนที่วางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะเป็นอย่างมาก

และทำได้ดีกว่าคนที่ใส่โทรศัพท์ไว้ในกระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าถือเล็กน้อย

 


การทดลองครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นอะไร?

นักวิจัยบอกว่าการมีอยู่ของสมาร์ตโฟนจะไปลดประสิทธิภาพการรับรู้ของแต่ละคนลง และไปลดกระบวนการทำงานของการรับรู้ด้วย ถึงแม้ว่าคนคนนั้นจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าแค่ไหนก็ตาม

กล่าวคือ ยิ่งโทรศัพท์มาอยู่ให้เห็นในสายตาแค่ไหน ก็ยิ่งทำให้การรับรู้ลดลงเท่านั้น แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ทันรู้ตัวเลยว่าตัวเองกำลังคิดถึงโทรศัพท์อยู่

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ “กระบวนการของการพยายามไม่คิดถึงโทรศัพท์” หรือห้ามใจให้ไม่เผลอไปคิดถึงโทรศัพท์ นั่นแหละค่ะ ที่นักวิจัยเขาบอกว่ามันไปเบียดบังทรัพยากรที่เราต้องใช้ในการที่จะประมวลผลอะไรบางอย่าง ซึ่งทรัพยากรที่ว่าเนี่ยก็มีจำกัดอยู่แล้ว

ยิ่งไปหยิบมาใช้อีกก็ทำให้เหมือนเป็นการระบายความรับรู้ออกไปโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งก็คือสิ่งที่เขาเรียกว่า brain drain หรือการระบายพลังสมองออกไปนั่นแหละค่ะ

ไปดูอีกการทดลองหนึ่งกันนะคะ คราวนี้อาสาสมัครจะถูกขอให้ต้องรายงานว่าในวันหนึ่งๆ เขาหรือเธอต้องพึ่งพาโทรศัพท์มือถือมากน้อยแค่ไหน หรือรู้สึกมีความต้องการที่จะใช้สมาร์ตโฟนอย่างแรงกล้าแค่ไหนในระหว่างวัน

แล้วก็ให้อาสาสมัครทำแบบทดสอบคอมพิวเตอร์แบบเดียวกับงานวิจัยแรก

เช่นเดียวกับการขอให้อาสาสมัครวางโทรศัพท์ไว้ในที่ที่แตกต่างกันและบางคนจะต้องปิดเครื่องเอาไว้ด้วย

ผลลัพธ์ที่ออกมาก็คือคนที่ให้ข้อมูลว่าตัวเองต้องพึ่งพาโทรศัพท์หนักมาก ทำแบบทดสอบออกมาได้แย่กว่าคนที่บอกว่าตัวเองไม่ต้องการโทรศัพท์สักเท่าไหร่

แต่จะเป็นเช่นนั้นก็ต่อเมื่อวางโทรศัพท์เอาไว้บนโต๊ะหรือในกระเป๋าเท่านั้น และไม่จำเป็นเลยว่าโทรศัพท์จะเปิด หรือปิดไว้ จะวางคว่ำหรือวางหงายอยู่บนโต๊ะ

ขอเพียงแค่ให้มีโทรศัพท์วางอยู่แค่นั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานแล้ว

นักวิจัยเชื่อว่าความสามารถในการรับรู้ที่ถดถอยลงนั้นเกิดมาจากการที่สมองของเราคอยสั่งการเราอยู่ตลอดว่า ห้ามหยิบโทรศัพท์ขึ้นมานะ อย่าใช้โทรศัพท์นะ ซึ่งไม่ได้เป็นการถูกรบกวนจากคำแจ้งเตือน หรือ notifications ที่ทำให้หน้าจอสว่างวาบขึ้นมาหรือมีเสียงเตือนขึ้นมาแต่อย่างใด

ต่อให้วางเอาไว้นิ่งๆ เฉยๆ จอดำๆ แค่นั้นก็มากพอแล้วที่จะไปรบกวนการรับรู้ของเราได้

 


เป็นอย่างไรบ้างคะ ได้ฟังผลวิจัยนี้แล้วก็พอจะตอบคำถามได้แล้วใช่ไหมคะว่าทำไมช่วงหลังๆ มานี้เราถึงทำงานอะไรไม่เสร็จง่ายเสียที ทั้งที่งานบางงานก็ไม่ได้ดูยากเลย หรือทั้งๆ ที่เราไม่ได้หยิบโทรศัพท์มาใช้สักเท่าไหร่ด้วยซ้ำ ยิ่งเราเตือนตัวเองว่าเราจะต้องไม่หยิบโทรศัพท์ขึ้นมา สมองก็ยิ่งเหนื่อย และหมดพลังที่จะทำงานตรงหน้าไปเรื่อยๆ

นักวิจัยเขาบอกว่า ผลิตภัณฑ์หรือของใช้แบบอื่นไม่ได้ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกับโทรศัพท์มือถือ เพราะนี่เป็นวัตถุที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างเป็นส่วนตัว และเราก็ข้องเกี่ยวกับมันอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้น จึงได้แนะนำว่าเราควรจะกำหนดช่วงเวลาสักระยะหนึ่งให้เราอยู่ห่างจากสมาร์ตโฟนในแบบที่เราวางรูปแบบเองได้ ไม่ใช่การหักดิบชิงกระชากสมาร์ตโฟนออกไปจากชีวิตแบบไม่ทันได้ตั้งตัว ก็จะช่วยให้ผู้ใช้โทรศัพท์ทุกคนสามารถทำงานได้ขึ้น เพราะมันจะเป็นการช่วยเพิ่มระดับความรับรู้ที่เราหยิบมาใช้ได้ในระหว่างทำงานนั่นเอง

งานวิจัยนี้ทำให้ซู่ชิงหวนคิดไปถึงหลากหลายแอพพลิเคชั่นที่กล่าวอ้างว่าจะช่วยให้เราสามารถมีสมาธิกับงานตรงหน้าได้ ด้วยการจับเวลา ล็อกโทรศัพท์มือถือ ยิ่งเราไม่สนใจมือถือนานแค่ไหนก็จะยิ่งนับเป็นการประสบความสำเร็จ (ซึ่งซู่ชิงก็เคยลองใช้อยู่หลายครั้ง)

แต่หากอ้างอิงจากผลการวิจัยครั้งนี้แล้ว แอะพลิเคชั่นเหล่านี้นอกจากจะไม่สามารถให้ผลลัพธ์ตามนั้นได้แล้ว จะยิ่งทำให้เราพะว้าพะวงในระหว่างการทำงานมากกว่าเดิมอีกค่ะ

สำหรับซู่ชิง อย่างน้อยๆ ตอนนี้ถ้าหากต้องการที่จะจดจ่อกับการดูซีรี่ส์ หรืออ่านหนังสือที่ถืออยู่ในมือให้ได้อย่างเต็มอรรถรส (ตกลงใจคอจะไม่ทำงานเลยสินะ) สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเอาโทรศัพท์ไปเก็บไว้ให้พ้นหูพ้นตามากที่สุด และแน่นอนว่าจะต้องปิดเสียงแจ้งเตือนเอาไว้ด้วย

เอ หรือคิดอีกที การเอาโทรศัพท์ไปไว้อีกห้อง แล้วเปิดเสียงแจ้งเตือนไว้ อาจจะทำให้ได้ออกกำลังกาย เดินไปเดินมา เพื่อความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อขาก็ได้นะคะ