มุกดา สุวรรณชาติ : ยุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าว.. การค้ามนุษย์ถูกสกัด..แถมมีเงินสะพัดหมื่นล้าน

มุกดา สุวรรณชาติ

เดือน ต.ค 59 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ปี 2560 – 2564 ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ฯ 5 ด้าน ดังนี้

1การจัดระบบแรงงานเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ ให้ขึ้นอยู่กับความต้องการแรงงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

2 การควบคุม กำกับ ดูแลกระบวนการเข้ามาระหว่างการทำงานและกลับออกไปของแรงงานต่างด้าว

3 การกำหนดมาตรฐานการจ้างแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

4 การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่มีประสิทธิภาพ

5 การติดตามและประเมินผล

 

วิสัยทัศน์ในการกำหนดยุทธศาสตร์ 

เป้าหมายทางยุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าวของรัฐคือ….จัดระบบเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าว อีกเรื่องหนึ่งน่าจะเป็นการสกัดการค้ามนุษย์ที่ผิดกฎหมาย

แต่มีผู้วิเคราะห์ว่าในสถานการณ์ที่เป็นจริงที่ผ่านมานับสิบปีและในอนาคต เมื่ออัตราการเกิดของคนไทยอยู่ในระดับต่ำมาก การขาดแคลนแรงงานจึงยังเป็นเรื่องที่จะดำรงอยู่ไปอีกนับ 10 ปีหรืออาจนานกว่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ยุทธศาสตร์ที่จะลดการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวน่าจะไม่ใช่เป้าหมายทั้งหมด

แต่น่าจะเป็นการ ใช้แรงงานต่างด้าวให้สอดคล้องกับการผลิต การดำรงชีวิต ของคนไทยเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจะเพิ่มหรือลด แล้วแต่สถานการณ์

และให้แรงงานต่างด้าวได้รับความเป็นธรรมสกัดกั้นการค้ามนุษย์โดยใช้ยุทธศาสตร์ข้อ 2..3..4..5 เพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ

การมองระบบเศรษฐกิจและสังคม ต้องมองเลยจากขอบเขตชายแดนประเทศออกไป เพราะผลผลิตของไทยไม่ได้ขายเฉพาะเมืองไทยแต่กระจายออกไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน และตลาดโลกมานานมากแล้ว แรงงานต่างด้าวเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เมื่อมีเงินก็ไม่เพียงใช้ในประเทศ เงินที่ส่งไปยังญาติมิตรในประเทศบ้านเกิดก็ยังกลับมาซื้อสินค้าไทยอยู่ดี

การยกฐานะของประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านส่งผลดีมายังเศรษฐกิจของเราเมื่อเขาเจริญขึ้นกำลังซื้อก็มากขึ้น คนที่มีเงินข้ามมาใช้ในไทย เช่น มาโรงพยาบาลเอกชนไทย มาเที่ยว เงินไทยสามารถใช้แลกเปลี่ยนกระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขอบเขตความสัมพันธ์ทางสังคมจึงไม่ได้อยู่แค่คน 66 ล้านในไทย แต่จะกระจายไปทั่วทั้งอินโดจีน

สังคมยุคใหม่ไม่มีการไปยึดครองรุกล้ำชายแดน ไม่ต้องไปแย่งพื้นที่

แต่เป็นสังคม ที่ขยายขึ้นจากการร่วมมือทางการค้า การผลิต วัฒนธรรม ผ่านทางเส้นทางสัญจรทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และการสื่อสารสมัยใหม่

ประเทศไทยมิได้เสียเปรียบ เราพึ่งพาเพื่อนบ้านของเราทั้งด้านแรงงานและในฐานะที่เป็นผู้บริโภคสินค้าของเรา

แต่กับประเทศมหาอำนาจเราใช่ว่าจะได้เปรียบ เพราะในทางการผลิตแล้วแทบไม่มีสินค้าอะไรที่จะไปสู้ได้เลย

 

จำเป็นต้องมีมาตรฐาน แต่ต้องเหมาะสม และปฏิบัติได้จริง

23 มิถุนายน 2560 พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ สำหรับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นการรวมกฎหมาย 2 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.การทำงนของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 มาปรับปรุง

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้คือ การเพิ่มโทษให้มีอัตราที่สูงขึ้น เช่น

นายจ้างที่รับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตน(มีใบอนุญาตทำงานกับนายจ้างอื่น) มีโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาท ต่อคน

หรือนายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน เป็นต้น

ส่วนโทษของแรงงานต่างด้าวก็มีเพิ่มขึ้น เช่น

คนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือทำงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คนต่างด้าวที่ทำงานจำเป็นและเร่งด่วนแต่ไม่แจ้งนายทะเบียน มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000

คนต่างด้าวทำงานแตกต่างจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ผู้ทำธุรกิจจัดหาแรงงานผิดกฎหมายก็มีโทษหนัก

ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 600,000-1,000,000 บาท ต่อคนต่างด้าว 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ

และผู้ใดประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวมาทำงาน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางาน มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

 

ผลกระทบที่เป็นจริง

โทษแรงขนาดนี้ ทั้งนายจ้างเล็กๆที่มีลูกจ้าง ไม่ตามกฎหมายก็ต้องเลิก มีคนบอกว่าทำธุรกิจทุกวันนี้ยากมากไม่เพียงยากในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจแต่อาจจะต้องถูกติดคุกถูกปรับถูกฟ้อง

เพราะตามกฎหมายใหม่ที่ออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 กรรมการบริษัทต้องรับผิดทางอาญา เมื่อมาเจอ พรก. นี้เข้าอีก หลายคนบอกว่า ไม่เสี่ยงเจ๊ง ไม่เสี่ยงคุก คือเลิกทำ ธุรกิจ ส่งลูกหลานไปรับราชการ ดีกว่า

ส่วนคนงานต่างด้าวก็ เลิกเหมือนกัน แต่เลิกทำงานในเมืองไทย และนั่นหมายถึงการเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ซูกับ เอ สองผัวเมีย ชาวพม่า

ซู..ทำงานในรีสอร์ตเล็ก ๆ เป็นคนสวนดูแลต้นไม้ และช่วยนายจ้างวิ่งไปตลาด ซื้อกับข้าวมาทำอาหาร และเรื่องอื่น ๆแล้วแต่นายจ้างจะเรียกใช้

ซูมีรถจักรยานยนต์มือสองคันหนึ่ง ซื้อในชื่อเจ้าของรีสอร์ต

ส่วน..เอ…เป็นแม่บ้านในรีสอร์ต ทำความสะอาด ซักรีดผ้าปูที่นอน เตรียมอาหารให้แม่ครัวคนไทย ทั้งคู่มีลูกสาวเข้าเรียนโรงเรียนไทย

เมื่อพรก.ประกาศ เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์โจษขานกันแซ่ดว่า ตำรวจจะจับพวกต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต หรือมีแต่ไม่ถูกต้อง นายจ้างเริ่มลอยแพคนงานกันแล้ว

ร้านก๋วยเตี๋ยวหัวมุมปากซอยปิดร้านเพราะคนงานพม่าสามคนกลับบ้านไปแล้ว นายจ้างก็เสียดายคนงานแต่คิดว่าปลอดภัยไว้ก่อน ดีกว่าถูกจับต้องเสียเงินหลายแสน ใครจะกล้ารับคนงานไว้ คนงานเองก็กลัวติดคุก

ซูยังใจเย็นอยู่สองวัน แต่เอไม่ยอม เริ่มเก็บข้าวของจำเป็นใส่กระเป๋าผ้าใบโต ผัวเมียเริ่มทะเลาะกัน เจ้าของรีสอร์ตก็ไม่แน่ใจว่า ควรทำอย่างไร

สุดท้ายซูเลยบอกขายรถจักรยานยนต์ เป็นของรักของหวงที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบซื้อมาในราคา 25,000 บาทให้ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่รู้จักกันดีไปในราคา 7,000 บาท

ทีวี 32 นิ้วก็ต้องขายไปในราคาถูกๆ

ซูกัดฟันทนยอมขายทิ้งไปทุกอย่าง หนทางข้างหน้าก็มืดมน เขาจากบ้านมาตั้งแต่วัยรุ่นจะกลับไปทำมาหากินอะไรเลี้ยงลูก จะไปแย่งพี่น้องทำไร่ก็มีที่ดินแค่กระแบะมือ

ซูร้องไห้อยู่ในอก แต่ลูกกับเมียกอดกันร้องไห้โฮ

ในวันรุ่งขึ้นที่ต้องเดินทางกลับบ้าน

 

ใครได้ประโยชน์

ไม่ว่า ความยุ่งยากของ นายจ้าง และ แรงงานจะเป็นอย่างไร เมื่อการจัดระเบียบและควบคุมแรงงานต่างด้าว อย่างเป็นระบบเป็นเรื่องจำเป็น ก็ต้องทำ ทางการคาดว่าจะสามารถลดการค้ามนุษย์ แบบที่ลักลอบขนใส่รถ เหมือนสินค้าได้

แต่ในวิธีการปฏิบัติจะทำอย่างไรให้ พรก.นี้ เกิดผลกระทบน้อยต่อธุรกิจ

การลงทะเบียนถูกต้องมีความรวดเร็ว มีความสะดวก เสียค่าใช้จ่ายน้อย เป้าหมาย เพื่อจูงใจให้คนส่วนใหญ่ มาลงทะเบียนถูกต้อง

ดังนั้นต้อง สามารถจะรองรับการลงทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของแรงงานต่างด้าว ได้วันละมากๆ เพราะคาดว่าจะต้อง ลงทะเบียนเกินกว่า 1.3 ล้านคน รัฐ มีความสามารถทำได้วันละกี่คน?

ถ้าไปอ่านกฎหมายรายละเอียดทั้งพรก.นี้ 145 มาตราจะพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนธรรมดาจะสามารถจ้างคนต่างด้าวมาทำงานตามกฎหมายได้ด้วยตนเอง

ดังนั้นร้อยละ 99.9 จะต้องนำคนงานต่างด้าวมาลงทะเบียน โดยผ่านบริษัทนายหน้าที่ได้รับใบอนุญาตนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศไทยซึ่งขณะนี้ก็ไม่รู้ว่ามีกี่บริษัท

 

การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ถือเป็นธุรกิจ ที่มีกฎหมายควบคุม

อย่าไปมองว่าเป็นธุรกิจหากินบนหยาดเหงื่อแรงงาน นี่เป็นการอำนวยความสะดวก เมื่อ 30 ปีที่แล้วคนไทยกว่าจะได้ พาสปอร์ต เล่มหนึ่งก็ต้องใช้เวลานานมาก จึงต้องทำผ่านนายหน้าเช่นกัน วันนี้ถือว่าพัฒนาแล้ว

แต่ผู้ที่จะทำธุรกิจนี้ได้จะต้องได้รับอนุญาตจากกรมการจัดหางานเท่านั้น และในมาตรา 27 ระบุว่าต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 1 ล้านและมีรายละเอียดต่างๆอย่างมากมาย

จากนั้นผู้ขออนุญาตทำธุรกิจนี้ต้องวางหลักประกันไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาทไว้กับอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อประกันความเสียหายท่านอาจจะเกิดจากการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศการประกอบธุรกิจนี้จะได้รับใบอนุญาตซึ่งมีอายุ 2 ปีถ้าจะทำต่อต้องขออนุญาตต่อใบอนุญาตอีกครั้ง

ทุกเดือนต้องรายงานว่ามีคนมาจดทะเบียนผ่านบริษัทกี่คน

กรณีที่คนต่างด้าวที่เป็นลูกจ้างหมดสัญญาหรือลาออกและไม่ทำงานบริษัทต้องรับผิดชอบนำตัวไปส่งยังประเทศต้นทางภายใน 7 วัน

ส่วนนายจ้างที่ต้องการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตัวเองโดยตรงไม่ผ่าน บริษัทจัดหางาน ก็ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางานเช่นกันและต้องหาวางเงินประกันเช่นเดียวกับบริษัทจัดหาคนงานเมื่อคนงานทำงานครบกำหนดหรือไม่ได้ทำแล้วก็ต้องส่งกลับคืนประเทศต้นทางภายใน 7 วัน

ถ้ามีแรงงานต่างด้าว ต้องจดทะเบียน ซึ่งตามการประเมินไม่น่าจะน้อยกว่า 2 ล้านคนต้องมีอย่างน้อย 1,500,000 คน ที่จะต้องดำเนินการผ่านบริษัทที่ได้รับอนุญาตเหล่านี้ ประมินค่าใช้จ่ายต่อราย ประมาณ20000 บาท หมายความว่านับจากช่วงนี้ไปจนถึงปีหน้า จะต้องมีเงินสะพัดอยู่ในวงการธุรกิจนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานถึง 30,000 ล้าน

ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาทุกธุรกิจกำลังย่ำแย่ ธุรกิจ จัดหาคนงานต่างด้าว เป็นโอกาสที่ดีในการจะหาเงินจำนวนมาก และเป็นการสกัดการค้ามนุษย์(ที่ผิดกฎหมาย) แต่การขอจัดตั้งบริษัทแบบนี้จะได้รับอนุญาต ยากง่ายอย่างไรยังไม่รู้ แต่อาชีพนี้ พลาดไม่ได้ ต้องประสานได้ทั้ง คนงาน นายจ้าง และราชการ

แต่อาชีพนี้พลาดไม่ได้ ต้องประสานได้ทั้งคนงาน นายจ้าง และราชการ