“กวีตู่” ร่ายกลอน “ไทยแลนด์ 4.0” สู่วิวาทะร้อนกวีรุ่นใหญ่ “เนาวรัตน์-สุชาติ” : ในประเทศ

สัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวในวงการกวีของไทย โดยเฉพาะรุ่นใหญ่ระดับศิลปินแห่งชาติ

เรื่องนี้เริ่มขึ้นจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่งกลอนชื่อ “ประเทศไทย 4.0” โดยเขียนด้วยลายมือ พร้อมกับแจ้งว่า อันเนื่องมาจากวันสุนทรภู่ ตั้งใจแต่งให้ประชาชนทุกคน โดยเนื้อหาหลักๆ เน้นการชวนคนไทยลดความขัดแย้ง และเดินหน้าสู่การทำประเทศให้เป็นเศรษฐกิจแบบ 4.0

โลกออนไลน์ตอบรับกลอนบิ๊กตู่ สื่อมวลชนบางสำนักพาดหัวข่าวว่า “สุนทรตู่” โดยกระทรวงศึกษาธิการถึงกับเอากลอนดังกล่าวไปทำกราฟิกทีละบท จนคนแชร์ออกไปหลายพันครั้ง

ทั้งยังนำไปขับเสภาเผยแพร่ สร้างเสียงฮือฮา

ขณะที่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เคยบุกชูป้ายถามนายกฯ ประเด็นปัญหาการศึกษากลางงานปาฐกถา วิจารณ์การแต่งกลอนดังกล่าว ระบุว่า กลอนประเทศไทย 4.0 มีปัญหาการตกสัมผัสระหว่างบท เป็นข้อผิดพลาดในการแต่งกลอน ถ้าเป็นการแข่งขันแต่งกลอนก็คือโดนคัดออกโดยไม่อ่านเนื้อหา

รวมถึงยังมีภาษาแข็งทื่อ ไม่มีมธุรสวาที ไม่มีกวีโวหาร ไม่มีการเปรียบเทียบอะไรให้เห็นภาพ ไม่มีลูกเล่นอะไรให้น่าอ่านเลย

ถ้าเป็นการพูดธรรมดาก็คือพูดไม่มีเสน่ห์ ไม่น่าฟัง

รวมถึงไม่มีลีลากลอน ไม่มีการดำเนินเรื่อง เหมือนคิดอะไรก็พูดอย่างนั้น

จะบอกว่าเหมือนเรียงความก็ไม่ใช่เพราะไม่มีการลำดับเหตุผลด้วย เหมือนการพูดน้ำไหลไฟดับ แต่หาสาระยาก

โดยพริษฐ์ทิ้งท้ายว่า ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ไม่ใช่กวี จะแต่งกลอนไม่เก่งก็ไม่ผิดอะไร

ต่อจากเรื่องนี้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้แต่งกลอนตอบนายกฯ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ว่า ภายหลังจากสื่อมวลชนนำกลอน “ประเทศไทย 4.0” ออกเผยแพร่ไปแล้ว ปรากฏว่า “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ศิลปินแห่งชาติ ได้กรุณาแต่งเพิ่มเติมมาให้ ระบุว่า เป็นกลอนที่กระชับได้ใจความคือ

“จะต้องพัฒนาศึกษาชาติ

โครงสร้างอำนาจไม่บาตรใหญ่

ศิลปวัฒนธรรมความเป็นไทย

ธรรมาธิปไตยให้เป็นจริง…”

ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังแต่งกลอนตอบกลับไปยัง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มีเนื้อหาที่จะทำการเมืองไทยไปสู่อนาคต ที่ปลอดจากการทุจริต โดยการเร่งสร้างคุณธรรม และธรรมาภิบาล โดยมียุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งยังชวนคนไทยร่วมใจกันอีกด้วย

หลังเป็นข่าวดัง ที่ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แต่งกลอนตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ได้โพสต์ข้อความตอบโต้การกระทำดังกล่าว ถึงขนาดใช้คำว่า “ปล่อยแล้วครับทางใครทางมัน โลกใครโลกมัน อย่าพบกันเป็นดีที่สุด”

ทั้งยังวิจารณ์ว่านี่อาจจะเป็นหนึ่งใน 250 ส.ว. ที่มาจากการลากตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็เป็นได้

โดยเป็นที่รับทราบกันว่าสุชาติและเนาวรัตน์มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยสุชาติมีจุดยืนชัดเจนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและแนวทางการต่อสู้แบบ กปปส.

ขณะที่เนาวรัตน์เคยขึ้นเวทีการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและ กปปส. รวมถึงยังเคยรับตำแหน่งทางการเมืองหลังเหตุการณ์การยึดอำนาจเมื่อปี 2557 โดยเนาวรัตน์ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

วันเดียวกันกับที่สุชาติออกมาตอบโต้จนเป็นข่าวดัง เพจของเนาวรัตน์ได้โพสต์กลอน ชื่อเรื่อง “ใครแพ้ ใครพาล” มีเนื้อหาอาทิ “อยู่เป็นต้องดูเป็น เห็นด้านร้ายให้เป็นครู ด้านดีมีให้ดู เป็นไม้วัดบรรทัดฐาน หมาเห่าอย่าเห่าตอบ มันทดสอบสัญชาตญาณ รู้ได้ในสันดานว่าใครพาลและใครพระ…”

เป็นข่าวดังขึ้นมาอีก ทำให้ วิสา คัญทัพ นักคิดนักเขียน กวี และศิลปินเพลงเพื่อชีวิต จับปากกาเขียนก่อนตอบโต้ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ทันที มีเนื้อหาอาทิ “อยู่เป็นและดูเป็น ดังที่เห็นที่เป็นอยู่ ตัวรอดคือยอดครู ตัวชี้วัดบรรทัดฐาน กิ้งก่าย่อมเปลี่ยนสี มิเสียทีรอมานาน หมาเห่ารู้สันดาน ก็ว่าหมาตามราวี…”

และบทท้ายที่ว่า “ลุ่มหลงในสร้อยทอง ที่เขาคล้องเฒ่าเปรมปรีดิ์ อยู่สุขทุกข์ไม่มี เพราะอยู่เป็นดูเป็นเอย”

นอกจากนี้ ยังมีกลอนจาก เกษียร เตชะพีระ อาจารย์รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่เขียนกลอนในเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า “ท่านไม่ชอบเผด็จการรำคาญเหลือ แต่เลือกตั้งก็เบื่อเกลียดไฉน เผด็จการตั้งท่านเป็นฉันใด รับตำแหน่งเอาไว้ไม่คืนฤๅ”

แม้เกษียรจะไม่ระบุว่าเขียนถึงใคร แต่ในบริบทขณะนี้ก็ทำให้อดเชื่อมโยงไม่ได้ว่ากวีบทดังกล่าวกำลังตอบโต้กวีที่เข้าไปรับตำแหน่งทางการเมืองจากกลุ่มก้อนทางอำนาจขณะนี้นั่นเอง

จากเหตุการณ์การตอบโต้กันของศิลปินแห่งชาติทั้งสองฝ่าย ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับออกปากบ่นว่าเซ็ง ในพิธีเปิดการประชุมขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า “ผมแต่งกลอนไปหน่อยเดียว กวีแห่งชาติทะเลาะกันสองฝ่าย ผมก็ไม่เข้าใจว่าเป็นตัวเปิดศึก เพราะคิดอะไรได้เร็วๆ ก็เขียนไป พอได้กลายเป็นทำให้มาทะเลาะกัน ซึ่งก็รู้สึกกลุ้มใจจนอยากจะหยุดพูดสักหนึ่งเดือน”

เรื่องนี้สุชาติพูดถึงโดยระบุว่า “ครับ ใช่ครับ ท่านไม่ทราบจริงๆ หรือครับ ท่านนี่แหละ “ตัวปัญหา” ที่ทำให้ทะเลาะกัน”

ทั้งยังระบุอีกว่า รอคำตอบจาก “หงา คาราวาน” อีกหนึ่งศิลปินแห่งชาติ ที่จุดยืนต่างกัน และเคยมีวิวาทะร้อนแรง หลังการรัฐประหาร ปี 2557 เกี่ยวกับจุดยืนเห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย การยึดอำนาจ

ซึ่งการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม หลังเลิกประชุม นายกฯ ยังคงแต่งกลอนให้กำลังใจคณะรัฐมนตรี ต่อเนื่อง โดยมีสาระหลักคือขอให้กำลังใจและช่วยกันทำงาน ก้าวข้ามพ้นอุปสรรคไปให้ได้ มีเนื้อหาอาทิ

“ทำสิ่งใดรอบคอบทุกปัญหา ช่วยกันนำช่วยกันพาอย่าคืนหวน แก้สิ่งหนึ่งอีกสิ่งหนึ่งไม่เรรวน ไทยทั้งมวลสุขอยู่ด้วยมือเรา”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ผู้ดูแลแฟนเพจ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้ออกมาชี้แจงว่า เนื้อหาของกลอนเรื่อง “ใครพระ ใครพาล” ซึ่งถูกสำนักข่าวตีประเด็นว่าเป็นการตอบโต้ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี แท้จริงแล้วเป็นกลอนที่แต่งมานานแล้ว และมีการตั้งเวลาล่วงหน้าการโพสต์มานาน

ไม่เกี่ยวกับการตอบโต้ใคร จนเกิดผลกระทบต่อผู้ถูกอ้างถึง

ถ้าเรานิยามการเมืองว่าเป็นเรื่องอำนาจ

โดยเฉพาะเป็นอำนาจในการเข้าไปจัดสรรทรัพยากรของสังคมนั้นๆ ว่าจะให้ใครใช้อะไร, ใช้อย่างไร ใช้เมื่อไหร่ ในเงื่อนไขอะไร

ก็พบว่าเป็นเรื่องปกติที่คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมย่อมต้องการอำนาจในการต่อรองทางการเมือง เพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

กวี นักเขียน ศิลปิน ก็เป็นส่วนหนึ่งในสังคม คนทุกชนชั้น หรือพูดให้ชัดก็คือทุกสีเสื้อทางการเมือง ก็ล้วนแต่มีกวี หรือนักเขียน ผู้ผลิตชิ้นงานเขียน บทกวีที่ไพเราะ ถ่ายทอดอุดมการณ์ทางสังคม การเมือง ประเด็นปัญหาของแต่ละฝ่ายให้ประชาชนรับรู้

กวีกับการเมืองจึงสัมพันธ์กันอย่างเป็นเรื่องปกติ นับตั้งแต่ยุคที่มนุษย์สามารถขีดเขียนได้

เช่นเดียวกับความขัดแย้งทางความคิดในสังคม ที่จะต้องมีคนเห็นต่างกันบ้าง

จึงไม่ต้องเซ็งหากเห็นกวีทะเลาะกัน