ศัลยา ประชาชาติ : ผ่าวิกฤตด้วย ม.44 (อีกครั้ง) ถอนพิษ พ.ร.ก.คุมแรงงานต่างด้าว สกัด “เมียนมา ลาว กัมพูชา” หนีกลับ

เป็นอีกครั้งที่อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ถูกนำมาใช้แก้วิกฤตปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า หลังพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา

หลังจาก พ.ร.ก. ดังกล่าว กำหนดบทลงโทษทั้งจำคุก ทั้งจับปรับหนัก 400,000-800,000 บาท กับนายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างด้าวที่ฝ่าฝืนกฎหมาย กลายเป็นปัจจัยที่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมไม่ทันตั้งรับ

แต่เมื่อเทียบกับการแก้ปมสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ที่ถูกศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ก่อนหน้านี้ พ.ร.ก. คุมเข้มการทำงานของแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่งผลกระทบเกิดขึ้นในวงกว้างมากกว่า รุนแรงกว่า

ทำให้รัฐบาลจำต้องปิดเกมเร็ว ก่อนบานปลายกระทบเศรษฐกิจ ชนิดที่คาดไม่ถึงว่าผลสุดท้ายจะร้ายแรงขนาดไหน

 

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 4 กรกฎาคม 2560 ถือเป็นการใช้มาตรา 44 แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดผลกระทบของนายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างด้าว หลัง พ.ร.ก.กำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว

จนทำให้สมาคมองค์กรภาคเอกชน โดยเฉพาะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับสมาคมธนาคารไทย ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการผ่อนปรนตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้

สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว เป็นการยืดระยะเวลาบังคับใช้บทบัญญัติตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวรวม 4 มาตรา ออกไป 180 วัน ถึงวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยยกเว้นโทษลูกจ้างต่างด้าว กับนายจ้าง 4 ฐานความผิด

ได้แก่ 1. มาตรา 101 ลูกจ้างต่างด้าวทำงานต้องห้าม หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน ยกเว้นโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. มาตรา 102 นายจ้างรับคนต่างด้าวทำงานต้องห้าม หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน เว้นโทษปรับตั้งแต่ 400,000 บาทต่อต่างด้าว 1 คน

3. มาตรา 119 ลูกจ้างต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้มีหนังสือแจ้งนายทะเบียน เว้นโทษปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท

และ 4. มาตรา 122 นายจ้างรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทำงาน เว้นโทษปรับตั้งแต่ 400,000-800,000 บาทต่อต่างด้าว 1 คน

ถือเป็นการผ่อนปรนเพิ่มเติมจากก่อนหน้านี้ ที่จะยกเว้นโทษเฉพาะมาตรา 101, 102 และ 122 ขณะเดียวกันก็ขยายระยะเวลาให้ลูกจ้าง นายจ้างปรับตัวจากเดิม 120 วัน เป็น 180 วัน

ผลแห่งมาตรา 44 น่าจะช่วยหยุดกระแสแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่หวาดผวาโทษเข้มตามกฎหมายใหม่ และพากันทยอยเดินทางกลับประเทศมากเป็นประวัติการณ์ ด่านชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งในภาคเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก มีแรงงานต่างด้าวต่อแถวยาวเหยียดในช่วงก่อนหน้านี้

 

นั่นดูจะทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเบาใจลงได้บ้าง แม้ยังวิตกกังวลว่าการจัดระเบียบคุมเข้มแรงงานต่างด้าวจะส่งผลให้แรงงานที่ปัจจุบันขาดแคลนอยู่แล้ววิกฤตหนักขึ้นอีก

เพราะแม้แรงงานต่างด้าวที่ตัดสินใจกลับประเทศส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน แต่ก็มีกลุ่มที่ได้รับการผ่อนผันถือบัตรสีชมพู อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทางรวมอยู่ด้วย ทั้งที่สามารถอยู่ในประเทศไทยได้จนกว่าบัตรสีชมพูจะหมดอายุ 31 มีนาคม 2561

โดยกลุ่มนี้บางส่วนกลับไปดำเนินการขั้นตอนเอกสาร ก่อนกลับมายื่นขอใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่บางส่วนอาจไม่กลับมาอีก

ไม่แปลกที่ปรากฏการณ์ “ช่วงคนหาย” หรือช่วงที่แรงงานต่างด้าวกลับบ้าน จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทั้งในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด โดยเฉพาะลูกจ้างร้านอาหาร สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอี ไซต์งานก่อสร้างโครงการสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

ขณะที่ค่าจ้างแรงงานพุ่งขึ้นสวนทาง เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายมีน้อยลง หาแรงงานยากขึ้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ร้านค้า ร้านอาหาร ภาคการเกษตร ประมง ในหลายจังหวัดเริ่มได้รับผลกระทบ อาทิ ภูเก็ต ตาก ตราด สมุทรสาคร สมุทรปราการ เป็นต้น

 

ข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากภาคเอกชน ภายใต้การนำของ นายปรีดี ดาวฉาย ประธาน กกร. เปิดประเด็นเรียกร้องขอให้รัฐขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายบางมาตราออกไปอีก

โดยชี้ว่าแม้เอกชนจะพอใจที่รัฐบาลรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะและเร่งหาทางออกเรื่องแรงงานต่างด้าว

แต่มองว่าเวลาที่ยืดให้ยังน้อย นายจ้างและลูกจ้างแรงงานต่างด้าวที่มีจำนวนมากอาจดำเนินการไม่ทัน

นอกจากนี้ ขอให้ทบทวนอัตราโทษ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้กำหนดบทลงโทษไว้สูงเกินไป เมื่อเทียบกับความผิดที่แรงงานต่างด้าว หรือนายจ้างอาจกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะความประมาทเลินเล่อ หรือหละหลวมไม่รัดกุม ต่างจากฐานความผิดเรื่องการค้ามนุษย์ หรือใช้แรงงานโดยผิดกฎหมาย เอกชนจึงขอให้รัฐบาลกำหนดตัวบทกฎหมาย รวมทั้งคำนิยามต่างๆ ให้ชัดเจน

เช่นเดียวกับข้อเสนอของ นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กับนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่ขอให้รัฐปรับแก้ไขโทษตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่สูงเกินไป และให้ยืดระยะเวลาผ่อนผันสำหรับต่างด้าวที่ถือบัตรสีชมพูออกไปอีก พร้อมปิดจดทะเบียนแรงงานใหม่โดยทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นค่อยนำมาตรการเข้มงวดมาใช้บังคับ

แต่ยังไม่มีคำตอบสำหรับข้อเรียกร้องดังกล่าว แต่จับสัญญาณคำสั่งที่ 33/2560 มาตรการชั่วคราวแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ของหัวหน้า คสช. มีข้อความระบุชัด ให้กระทรวงแรงงานแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

พร้อมให้พิจารณาหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นระบบและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล และในการจัดทำร่างกฎหมายแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งอนุบัญญัติ ให้กระทรวงแรงงานรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและนำมาประกอบการพิจารณาด้วย เท่ากับเปิดทางสะดวกให้มีการปรับแก้กฎหมาย ที่บางประเด็นอาจกระทบภาคเอกชน ส่งผลต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจ

 

และที่ต้องจับตามองกันต่อไปอีกก็คือมาตรการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น การอาศัยช่องทางกฎหมายจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวเรียกผลประโยชน์ เงินใต้โต๊ะของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพราะหลังมีข่าวฉาวโฉ่ข้ามประเทศ นายทูลวิน ผู้ว่าราชการจังหวัดเมียวดี ทำหนังสือถึง นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ขอให้ทางการไทยตรวจสอบแก้ไขปัญหาการเรียกเงินจากแรงงานเมียนมา ทำคนไทยทั้งประเทศต้องอับอายขายหน้า

คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับเดียวกันนี้ ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามกฎหมาย หรือคำสั่งนี้ใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือกระทำหรือไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด

หากพบมีการกระทำผิดให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางแพ่ง อาญา และทางปกครองอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

นาทีนี้ถึงเวลาต้องนับถอยหลังเพื่อรอดูว่า…การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว กับการปราบส่วยแรงงานเถื่อน ภารกิจไหนจะไปถึงเป้าหมายก่อน