ทราย เจริญปุระ : ข้าวสาร

"หวนคืนสู่บาบิลอน และเรื่องสั้นอื่นๆ" (Babylon Revisited and Other Stories) เขียนโดย F. Scott Fitzgerald แปลโดย พันทิพา บูรณมาตร์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สมมติ, 2560

“อร่อย”

ฉันร้องออกมาอย่างแปลกใจ ทั้งที่ก็ไม่ควรแปลกใจ

“ไม่น่าเชื่อเลยว่าเธอไม่เคยกิน ร้านนี้ดังจะตาย”

“เธอมาบ่อยเหรอ”

“ไม่หรอก 3-4 ครั้งเอง”

น้ำซุปนั้นร้อนจัดและเจือรสเผ็ดของพริกไทย มันอร่อยจริงๆ แต่ที่น่าแปลกไปกว่านั้น ทำไมฉันจึงไม่เคยมีร้านนี้อยู่ในความทรงจำเลย

ไม่เคยมา

ไม่เคยอยากกิน

หรือจริงๆ อาจจะเคยอยากกิน แต่ก็ไม่รู้จะมากินได้เมื่อไหร่

กับใครนั้นไม่ต้องพูดถึง

เพราะก็คงมาได้กับคนเดียว

ซึ่งไม่มีทางมากินกับฉันแน่ๆ อย่างน้อยก็ไม่ตื่นในเวลาร้านนี้เปิด หรือถึงตื่น ก็ไม่เคยเห็นอาหารการกินของฉันสำคัญกว่าการเดินไปหาคนนั้นคนนี้ที่เขารู้จัก ทิ้งให้ฉัน-ซึ่งทุกคนรู้จัก-แต่ฉันไม่รู้จักใครเลย ยืนบิดมือกระอักกระอ่วนกระเพื่อมลอยอยู่รอบๆ วง มองหาเหล้าหรือเบียร์ที่จะสาดๆ ลงคอไปเพื่อลดความรู้สึกจรจัดเช่นนี้ให้หายไปเร็วที่สุด

 

“บาบิลอน (Babylon) เป็นเมืองหลวงของอาณาจักรบาบิโลเนียที่เจริญรุ่งเรืองในราว 2100-689 ก่อนคริสต์ศักราช ตั้งอยู่ทางตอนล่างของลุ่มแม่น้ำยูเฟรตีส (บริเวณประเทศอิรักในปัจจุบัน) เป็นเมืองที่ร่ำรวยทรัพย์สินเงินทอง เต็มไปด้วยกามราคะ อบายมุข ทุจริตและความชั่วทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งคนบาปที่หลอกล่อให้คนดีที่หลงเข้าไปต้องเสียผู้เสียคน

ในที่นี้ ฟิตซ์เจอรัลด์ใช้บาบิลอนเป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายอันเนื่องมาจากการเห็นเงินเป็นพระเจ้า และการใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยงอย่างไร้สติไปกับการเสพกามคุณและความสุขทางวัตถุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง

การดื่มเหล้า

การเต้นรำ

และการมีเซ็กซ์”*

 

“แต่มันจะตี 4 แล้วนะ” ฉันพูดอ่อยๆ

“แป๊บเดียวน่า ยังไม่ได้ไปสวัสดีพี่คนนั้นที่ร้านโน้นเลย”

“ดึกแล้วนะ”

“ทำไมอีกล่ะ พรุ่งนี้ก็ไม่ได้ทำงานสักหน่อย รอบ้างไม่ได้เหรอ”

แต่วันที่มีงาน ฉันก็ยังต้องมาแกร่วคอยอยู่อย่างนี้ ส่งยิ้ม สวัสดี ขอบคุณใครต่อใครเยอะแยะไปหมดที่ฉันไม่รู้จัก

คนเราจะต้องรู้จักรู้จดจำคนไปมากมายเพื่ออะไรกันนะ

และคนแบบไหนที่คาดหวังว่าตี 3 ตี 4 จะยังอยากให้คนมาเคารพนบนอบ ไหว้สวัสดีกันอีก

แต่ฉันก็คิดแบบนี้ไปเพราะขุ่นใจนั่นล่ะ โทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง กุญแจรถก็ถืออยู่ในมือ เดินกลับไปสิ สตาร์ตรถสิ ขับกลับไปแล้วปิดโทรศัพท์เสีย สาปส่งชีวิตแบบนี้ที่ฉันก็ไม่ได้ชอบเสียหน่อย

ทำสิ

สุดท้ายฉันก็ไม่ทำ

แถมยังไม่โทษตัวเอง

ไพล่ไปโทษแต่คนอื่น คนนั้นนั่นแหละที่ยื้อ คนนู้นนั่นแหละที่ชวนคุย

บ้าจัง

“เลี้ยงเบียร์หน่อยน่า”

“เธอ พอเถอะ เกรงใจเขา อยากกินซื้อเองก็ได้”

“ทำไมล่ะ ถ้าเค้าไปร้านเราเราก็เลี้ยงนะ”

เธอไม่เข้าใจใช่ไหม

ไม่เคยเข้าใจใช่ไหม

หรือจริงๆ ก็เข้าใจ, แต่ไม่เคยให้ความสำคัญกับฉันมากพอจนจะต้องรับฟัง

 

ข้าวสารสำหรับฉันก็เป็นเหมือนบาบิลอน

เต็มไปด้วยแสงสีเสียง ผู้คนแม้จะมีหลายประเภท แต่ก็มีลักษณะบางอย่างร่วมกัน ความท้าทายผจญภัย ความไม่หลับไม่นอน ความกระเพื่อมล่องลอยไปตามจังหวะเฉพาะตัวบางอย่าง

มันเป็นสถานที่เฉพาะและไม่ได้เหมาะกับทุกคน ในทุกวันของชีวิต

“กล่าวได้ว่า ช่วงทศวรรษ 1920 หรือที่เรียกว่ายุคแจ๊ซ (The Jazz Age) ที่สหรัฐอเมริกา ตัวละครในเรื่องสั้นนี้ของฟิตซ์เจอรัลด์-ชาร์ลี เคยเป็นเศรษฐีชาวอเมริกันที่ไปใช้ชีวิตในกรุงปารีส เขาใช้ชีวิตเสเพลโดยใช้เงินหว่านซื้อหาความสุข กระทั่งเขาต้องสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไป–เมื่อเขากลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดีแล้ว และกลับมาเยือนปารีสอีกครั้งหนึ่ง เขาจะหวนกลับไปเป็นชาร์ลีคนเดิมอีกหรือไม่”*

 

“รู้ว่าเธอไม่ชอบกินขนม แต่อยากให้ลองอันนี้นะ”

โรตีแป้งบางกรอบทบพับกันไปมา แทรกด้วยเนื้อมะพร้าวอ่อนสีขาวนวลนุ่ม โรยน้ำตาลน้อยๆ พอให้ดึงรสเฉพาะของมะพร้าวออกมา

“เพิ่งรู้นะ ว่าที่นี่มีแบบนี้ด้วย”

“นี่ แล้วร้านตรงข้ามนั่นก็อร่อยนะ ขายสุกี้จานร้อน เสียดายว่าเรากินมาแล้ว ไม่งั้นจะชวนไปลอง”

ฉันไม่เคยสังเกตอะไรเลย ปกติถ้าขับรถมาถึงตรงนี้ฉันต้องเลี้ยวขวา หาที่จอด เดินเข้าไปข้างในร้าน แกร่วไปอีก 3-4 ชั่วโมงกว่าคนที่เรียกตัวฉันมาจะอยาก–หรือที่จริงต้องบอกว่าถูกขอร้อง–ให้กลับบ้านเสียที คนมารอง่วงจะแย่อยู่แล้ว ซึ่งฉันก็ต้องทำหน้าสดชื่นขึ้น ไม่งั้นก็จะโดนว่า หรือที่โดนบ่อยกว่าคือทำเมินไม่ให้ความสนใจไปเลย การทำหน้าสดชื่นนั้นหลอกใครไม่ได้สักคน แต่ฉันก็ยังพยายามทำเพื่อหลอกตัวเองนั่นล่ะ ว่าฉันสนุก ฉันรู้สึกดี ฉันสบายดีกับการมานั่งตรงนี้และฟังเขาต่อเวลาออกไปอีกเรื่อยๆ

“เป็นไร”

“เปล่า คิดอะไรเพลินๆ น่ะ”

“อิ่มยัง ลองกินนี่ดู”

“โหย ไม่มีใครชวนกินนมมาเป็นสิบปีแล้วนะเนี่ย”

“เอาน่า กินหน่อย แล้วค่อยเดินกลับกัน”

“จริงเหรอ ไม่อยากแวะดื่มตรงไหนก่อนเหรอ”

“ไม่ล่ะ หรือเธอจะแวะก็ได้นะ ตามสบาย”

“ถามไปอย่างงั้นแหละ ไม่แวะแล้ว อิ่ม”

“งั้นกลับห้องกัน ดูหนังเนอะคืนนี้”

 

หรือข้าวสารจะไม่ใช่บาบิลอน

ยังมีผู้คนที่ออกมากินข้าว แวะซื้อของในร้านสะดวกซื้อก่อนกลับบ้าน เดินเล่นดูนั่นดูนี่

คนต่างหากที่ทำให้สถานที่กลายไปเป็นอะไรบางอย่าง

คนต่างหากที่จะรู้จักเลือกทำหรือไม่ทำอะไร

คนต่างหากที่รู้

และคนคนเดียวเดียวกันนั้นสามารถทั้งรู้แต่ทำตัวไม่รู้ ล่องลอยไปตามแรงกระเพื่อมของอะไรบางอย่าง เป็นตัวของตัวเองโดยบอกว่าสถานที่ทำให้เป็นไป

 

ผ่านไปหลายปีแล้วที่ฉันไม่ได้มาข้าวสาร

แต่ข้าวสารน่ารักขึ้นสำหรับฉันในคืนนี้

อ่อนโยนและไม่ต้องเมามาย ไม่ต้องเดินไปไหว้ใคร ไม่ต้องขอเบียร์ใครกินฟรี เราดื่มและกินในสิ่งที่เรามีปัญญาจ่าย ตรงไปตรงมาไม่ซ่อนบุญคุณ เราเดินกลับได้เมื่อเราอยากกลับ เราจะยิ้มหรือไม่ยิ้มก็ได้ตามแต่สิ่งที่เราพบเจอ

คืนนี้ทำให้ฉันเห็นว่า, ข้าวสารก็คือสถานที่ทั่วไปอีกสถานที่หนึ่งเท่านั้นเอง

————————————————————–
*ข้อความจากในหนังสือ