มุกดา สุวรรณชาติ : 85 ปี 2475 … อำมาตยาธิปไตย แปลงกาย ภาค 3

มุกดา สุวรรณชาติ

ปีที่ 41 เริ่มปราบประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ

บทเรียนแรก…เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีประชาชน นักศึกษาเสียชีวิต มีเผาบ้านเผาเมือง แต่เมื่อชนะก็ได้เป็นวีรชน

ด้วยความไร้เดียงสาทางการเมือง คนหนุ่มสาวที่ก้าวหน้าก็คิดว่า ฟ้าประชาธิปไตยเปิดแล้ว ประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นอารยะ เป็นการเพ้อพกโดยไม่ได้มองอดีต

40 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสพัฒนาประชาธิปไตยไม่ถึง 10 ปี รากฐานทางอุดมการณ์ ทางความคิด ผลดีจากระบบคนก็ยังไม่รู้

ในขณะที่ระบอบอำมาตยาธิปไตย มีประสบการณ์ในการปกครองทั้งแบบใช้กำลัง ใช้เล่ห์เหลี่ยม หลอกล่อ แปลงกาย สารพัด ดังนั้น พวกเขาจึงต้องใช้ชีวิตแลกประสบการณ์

บทเรียนที่สอง…วันสังหารโหด รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

หลังการเคลื่อนไหวของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ประชาธิปไตยก็เบ่งบานได้เพียง 3 ปี ก็เกิดการรัฐประหาร มีการเข่นฆ่านักศึกษาอย่างโหดเหี้ยม ทำให้มีคนหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์จับอาวุธ ใช้สงครามจรยุทธ์สู้กับรัฐบาลต่อเนื่องนานประมาณ 5 ปี

จะเห็นว่าโอกาสเคลื่อนไหวหรือพัฒนาประชาธิปไตยช่วงนี้ก็สั้นมาก มีเวลาเพียง 3 ปีและก็ถูกระบบเผด็จการรัฐประหารกดหัวต่อไปอีก 3 ปี

แต่ระบบเผด็จการไทยไม่เป็นที่ต้อนรับของชาวโลกจึงต้องปรับลดมาเป็นเผด็จการครึ่งใบ โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ ปี 2521 มาเปิดการเลือกตั้ง

ช่วงเวลาสั้น 2517-2519 เป็นประชาธิปไตย แต่ 2520-2522 เป็นเผด็จการ แต่เป็น 6 ปีที่การต่อสู้ทางการเมืองแหลมคม รุนแรงถึงใช้อาวุธ และมีนักศึกษา-ประชาชนเข้าร่วม จากนี้ไปการเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องชิงอำนาจเฉพาะกลุ่มผู้ปกครองอีกแล้ว

 

ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
10 ปี อำมาตยาธิปไตย แปลงกาย ภาค 2 ปรากฏ

เกรียงศักดิ์โมเดล พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เลียนแบบการรัฐประหารในปี 2494 และการเลือกตั้งปี 2495 เพียงแต่ในปี 2495 จอมพล ป. ให้มี ส.ส. กับ ส.ว. จำนวนเท่ากัน

แต่สมัยเกรียงศักดิ์กำหนดให้ ส.ว. มี 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. และมีอำนาจในการตั้งนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน

ผลการเลือกตั้ง ส.ส. เมษายน 2522 ทั้งหมด 301 คน ปรากฏว่า กลุ่มกิจสังคมได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 82 คน กลุ่มอิสระร่วมกัน 63 คน กลุ่มชาติไทยได้ 38 กลุ่มประชากรไทย 32 กลุ่มประชาธิปัตย์ 32 กลุ่มเสรีธรรม 21 กลุ่มชาติประชาชน 13 กลุ่มพลังใหม่ 8 นอกนั้นเป็นกลุ่มเล็กได้ 1-3 คน

การแต่งตั้ง ส.ว. 225 คนเป็นทหารบก 112 ทหารเรือ 39 ทหารอากาศ 34 และตำรวจ 8 มีพลเรือน 32 ภายในวันเดียวเราก็มีสมาชิกรัฐสภา 526 คน ใครคุมเสียงเกินครึ่ง (264 คน) จะได้เป็นนายกฯ ผลการเลือกตั้ง กลุ่มวุฒิสภาใหญ่สุด

พลเอกเกรียงศักดิ์ ไม่สนใจพรรคการเมือง แต่ใช้ ส.ว.และ ส.ส. กลุ่มเล็กๆ เป็นฐาน ตั้งรัฐบาลเสร็จอยู่ได้ 9 เดือน ก็ถูกชุบมือเปิบ ถูกบีบให้ลาออกกลางสภา

เปลี่ยนนายกฯ เป็น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

 

เปรมโมเดล

พลเอกเปรมมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เหมือน จอมพล ป. ที่เข้ามาฮุบอำนาจต่อจาก นายควง อภัยวงศ์ มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รองรับตำแหน่งนายกฯ ของตัวเอง พลเอกเปรมปิดช่องว่างจุดอ่อนที่เห็นในสมัยของนายกฯ พลเอกเกรียงศักดิ์

1. พลเอกเปรมได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยดึงพรรคใหญ่เข้ามาร่วม กลายเป็นพรรคการเมือง 5 พรรค และมีการจัด ครม. เป็นสัดส่วนตามโควต้ามากน้อยของจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้รับเลือก

พรรคกิจสังคมจึงได้ตำแหน่ง รมต. 11 ตำแหน่ง พรรคชาติไทยได้ 6 และพรรคประชาธิปัตย์ได้ 5 ทำให้เกิดความมั่นคงของเสียง ส.ส. ในสภาและความราบรื่นในการบริหารงาน

ส่วนโควต้ารัฐมนตรีของพลเอกเปรมก็มีอยู่จำนวนหนึ่งเช่นเดียวกัน

2. พลเอกเปรมไม่ต้องการให้ฐานทางทหาร…ลอย…ไปจากการควบคุมจึงต้องทำการต่ออายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทบ. ออกไปอีก 1 ปี

ปี 2526 มีการเลือกตั้งผลปรากฏว่า พรรคชาติไทยได้รับเลือกมาเป็นลำดับที่หนึ่ง โดยได้ 110 ที่นั่ง พรรคกิจสังคมได้ 99 ที่นั่ง และ ปชป. ได้ 56 ที่นั่ง ทั้ง 3 พรรคหนุน พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้พรรคชาติไทยเป็นฝ่ายค้าน ครม. 44 คน มีการจัดสรรโควต้าตามหลักการเดิม

ปี 2529 มีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ผลการเลือกตั้ง ปชป. โดย นายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกตั้งมากที่สุดถึง 99 เสียง พรรคชาติไทย 64 เสียง พรรคกิจสังคม 51 เสียง และพรรคราษฎร 20 เสียง

การจัดตั้งรัฐบาล ทุกพรรคต่างเห็นชอบให้พลเอกเปรม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

พลเอกเปรมหลังจากรับตำแหน่งในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบก็อยู่ได้นานถึง 8 ปีกว่าโดยไม่ต้องลงเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว เป็นนายกฯ คนนอกที่พรรคการเมืองช่วยกันเสนอมาตลอด

อำมาตยาธิปไตย แปลงกาย ภาค 2 จบลงตรงนี้

 

ยุคพัฒนาประชาธิปไตย 18 ปี
ทำให้คิดว่า…คนธรรมดาก็เป็นนายกฯ ได้

พลเอกเปรมยุบสภาและมีการเลือกตั้งปี 2531 เมื่อพลเอกเปรมไม่ยอมรับตำแหน่งนายกฯ ต่อเพราะมีผู้คัดค้านมากขึ้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 87 เสียงได้เป็นนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลผสม ใช้โควต้ารัฐมนตรี นายกฯ ชาติชายทำการบริหาร ประชาชนรู้สึกว่าประเทศน่าจะไปได้ดี

ถึงปี 2534 ก็เกิดการรัฐประหารของทหารคณะ รสช. แต่ยึดอำนาจมาได้เพียงปีเดียวประชาชนก็ลุกขึ้นมาต่อต้านโค่นคณะ รสช. ลง หลังจากพยายามสืบทอดอำนาจด้วยการเลือกตั้งใหม่และส่ง พลเอกสุจินดา คราประยูร เข้ามาเป็นนายกฯ

การปราบประชาชนครั้งที่ 3 ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 จบลง มีการเลือกตั้งใหม่

ปชป. ได้เสียงมากที่สุด 79 เสียง ชาติไทยได้ 77 เสียง ชาติพัฒนา 60 เสียง ความหวังใหม่ 51 เสียง พลังธรรม 47 เสียง กิจสังคม 22 เสียง

นายชวน หลีกภัย จึงได้เป็นนายกฯ อยู่จนถึงปี 2538 เดือนพฤษภาคมก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องกรณีที่ดิน ส.ป.ก.4-01

มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ คราวนี้พรรคชาติไทยได้ ส.ส. มากที่สุดคือ 92 เสียง ชนะประชาธิปัตย์ที่ได้ 86 เสียง นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้เป็นนายกฯ บริหารได้เพียง 1 ปีก็ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายบรรหารยุบสภา

มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2539 พรรคความหวังใหม่ของ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้รับเสียงมากที่สุด 125 เสียง ชนะ ปชป. ซึ่งได้ 123 เสียง ถึงจุดนี้ดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงกันในหมู่พรรคการเมืองแล้วว่าใครชนะที่ 1 เป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่พลเอกชวลิตแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ และในที่สุดก็ลาออกหลังจากบริหารมาได้เกือบปี

นายชวน หลีกภัย ชนะโหวตในสภาจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 บริหารจนเกือบหมดวาระ

การเลือกตั้งใหม่มีขึ้นในเดือนมกราคม 2544 ผลปรากฏว่าพรรคไทยรักไทยของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นพรรคใหม่ได้ ส.ส. มากที่สุดถึง 208 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 97 เสียง พรรคชาติไทย 33 เสียง ความหวังใหม่ 27 เสียง

ทักษิณเป็นนายกฯ คนใหม่จัดตั้งรัฐบาลผสม มีชาติไทยและความหวังใหม่เข้าร่วม บริหารไปจนถึงปี 2547 ครบวาระมีการเลือกตั้งใหม่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นได้ ส.ส.ทั้งเขตและปาร์ตี้ลิสต์ถึง 377 เสียง มีการตั้งรัฐบาลพรรคเดียวจากไทยรักไทย

สภาพเช่นนี้ดูเหมือนว่าจะดีเป็นสิ่งที่คนไทยเคยบ่นว่าทำไมไทยไม่เป็นระบบพรรคการเมือง 2 พรรคแบบต่างประเทศจะได้ไม่ต้องมาแบ่งโควต้ารัฐมนตรี กำหนดนโยบายอะไรออกมาก็สามารถบริหารได้

แต่ในทางกลับกันพรรคไทยรักไทยกลับโดดเดี่ยวและการต่อต้านนายกฯ ทักษิณก็เริ่มแรงขึ้นจนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ยุคของการพัฒนาประชาธิปไตยนับตั้งแต่นายกฯ ชาติชาย จนถึงนายกฯ ทักษิณ 18 ปีจึงจบลงที่ตรงนี้

การพัฒนาระบอบประชาธิปไตยในรอบ 18 ปี จาก 2531 ถึง 2548 หลังพลเอกชาติชายบริหารและถูกรัฐประหาร มีทั้งการชุมนุมเพื่อเรียกร้อง นายกฯ จากการเลือกตั้ง มีเลือกตั้ง ยุบสภา ลาออก ครบทุกอย่าง ชิงอำนาจนอกสภา ในสภา

ที่จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยควรจะพัฒนาและเดินต่อไปได้ แต่มีคนไม่อยากให้ระบอบประชาธิปไตยเดินต่อ

 

ยุคต่อต้านประชาธิปไตย 11 ปี

ไม่มีคำบรรยายสำหรับการเมืองหลังรัฐประหาร 2549 ที่การชิงอำนาจใช้ทุกรูปแบบ ทุกองค์กรไม่เคารพหลักการใดๆ เริ่มจากการต่อต้านการเลือกตั้ง ป่วนสภา เกมม็อบบนถนน ใช้สื่อ ใช้องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์ ใช้กำลังยึดอำนาจ ใช้การปราบประชาชนเพื่อรักษาอำนาจ ใช้การร่างรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ นับเป็นการพัฒนาวิธีการของอำมาตยาธิปไตย ที่สูงสุดในรอบ 85 ปี บรรยายเป็นปีก็ไม่จบ

เมื่อการต่อสู้ขยายมาเป็นกลุ่มคน เป็นชนชั้น คนจึงเข้าร่วมมากที่สุด ถ้าประชาชนไม่พัฒนาความคิดให้เท่าทัน ถูกแบ่งแยก การต่อสู้แบบนี้จะยืดเยื้อ จาก 11 ปีเป็น 31 ปีได้ไม่ยาก

สรุปว่า 85 ปีที่ผ่านมา อำมาตยาธิปไตยแปลงกาย ภาค 3 จะใช้อีกในปี 2561 ตามแบบเปรมโมเดล

วิเคราะห์จากโครงสร้างอำนาจ มีโอกาสถึง 80%

1. การดำรงอยู่ของระบอบอำมาตยาธิปไตยแปลงกาย ต้องใช้รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นเครื่องมือรับรองการเข้าสู่อำนาจ ผู้ใช้ต้องร่างเอง ต้องมี ส.ว.แต่งตั้งเป็นตัวช่วย แถมยุคใหม่ยังมีกรรมการยุทธศาสตร์มากำกับ

2. จะต้องมีการแบ่งอำนาจและผลประโยชน์ของ 2 กลุ่มการเมือง คืออำนาจเก่าซึ่งมีข้าราชการ อดีตข้าราชการเข้ามาเป็นตัวแทนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ที่ผ่านเข้ามาทางระบบเลือกตั้ง สามารถตั้งรัฐบาลผสม มีการแบ่งอำนาจบริหาร ระบบโควต้าในการตั้งรัฐมนตรี ส่วนอำนาจในทางสภาก็อาศัยเสียง ส.ส. ของแต่ละพรรคมาร่วมกันเพื่อที่จะผลักดันกฎหมาย ผลักดันนโยบาย หรือปกป้องรัฐบาลผสมในกรณีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

3. จะมีการนำเอาคนนอกซึ่งไม่ผ่านการเลือกตั้งมาเป็นนายกรัฐมนตรี แกนนำของพรรคต่างๆ ยินยอมเพื่อแบ่งอำนาจกันเพราะจะมีผู้สูญเสียโอกาสคือหัวหน้าพรรคที่ได้รับเลือกเป็นอันดับ 1 ที่ควรได้เป็นนายกรัฐมนตรีแต่กลับไม่ได้เป็น เช่น กรณีคุณพิชัย รัตตกุล เมื่อครั้งปี 2529 แต่ถ้ามองไปที่แกนนำหรือลูกพรรคจะพบว่าทุกคนต่างได้ประโยชน์เพราะแกนนำคนอื่นก็ยังได้เป็นรัฐมนตรีเหมือนเดิม ดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงสมยอมเพื่อให้ตัวเองได้อำนาจและได้เป็นรัฐมนตรี

4. ต้องมีกำลังทหารเป็นฐาน การชิงอำนาจนอกระบบ เป็นตัวแปรที่ไม่แน่นอน

5. ปัญหาเศรษฐกิจ จะบั่นทอนทั้งผู้ปกครองและประชาชน ในระบอบอำมาตยาธิปไตย ประชาชนมาลำดับหลัง ความขัดแย้งจึงเกิดง่ายๆ

จากนี้ไปต้องสรุปว่า คนธรรมดาเป็นนายกฯ ไม่ได้ เพราะระบบปกครองออกแบบให้เป็นอำมาตยาธิปไตย ภาค 3 นอกจากจะแก้ไขให้กลับมาเป็นประชาธิปไตย