ศัลยา ประชาชาติ : “คาราบาว” แผ่อาณาจักร ชิงส่วนแบ่งเหล้าขาวแสนล้าน รุกตลาดโลก-ตลาดไทย

ความเคลื่อนไหวของแวดวงน้ำเมาในช่วงนี้ คงไม่มีอะไรที่เรียกเสียงฮือฮาและน่าจับตาไปกว่า การประกาศกร้าวของกลุ่มผู้บริหาร “คาราบาว” ที่ออกมากระตุกหนวดเสือ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” ด้วยการเปิดตัวโรงเหล้าแห่งใหม่ขึ้น หวังชิงส่วนแบ่งตลาดเหล้า 1.5 แสนล้านบาท อันเป็นที่รู้กันว่าเป็นขุมทรัพย์ของเสี่ยเจริญมาอย่างยาวนาน

ภายใต้งบฯ การลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ของบริษัท ตะวันแดง 1999 จำกัด นำโดย “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” และพรรคพวกอีก 5 ราย ซึ่งรวมไปถึงพี่แอ๊ด-ยืนยง โอภากุล ที่บุกเบิกธุรกิจคาราบาวแดง และโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงมาด้วยกัน

งานนี้ทัพคาราบาวจัดหนักจัดเต็มทั้งเครื่องจักร เทคโนโลยี ฯลฯ สามารถรองรับการผลิตสุราทุกชนิด

โดยเริ่มเปิดตัวด้วยเหล้าขาว แบรนด์ “ตะวันแดง” เพื่อทะลวงฐานใหญ่ของตลาดและคู่แข่งก่อน

ส่วนเหล้าชนิดอื่นๆ นั้นเตรียมพบแบบฟูลคอลเล็กชั่นได้ภายใน 3 ปี

 

เสถียร ในฐานะประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท เผยถึงแผนที่จะเอามางัดข้อกับเจ้าตลาดอย่างมั่นใจว่า สิ่งที่คู่ค้าและผู้บริโภคของตะวันแดงจะได้นั้นต้องดีกว่าคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นกำไรของร้านค้าที่รับเหล้าไปจำหน่าย ผู้บริโภคที่ได้ของดีแต่ราคาถูกกว่าเจ้าใหญ่ในตลาดถึง 10-20% นอกจากนี้ ยังมีให้เลือกตั้งแต่ 28-40 ดีกรี ครบทุกดีกรีที่คอทองแดงต้องการ

รวมกับเน็ตเวิร์กการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งในเครือคาราบาวกรุ๊ป ซึ่งเจาะลึกระดับตำบล หมู่บ้าน อันเป็นพื้นที่ขายหลักของสินค้าประเภทนี้อยู่ทั่วประเทศกว่า 2 แสนร้านค้า

จะว่าไปแล้ว น้ำเมาน้องใหม่ “ตะวันแดง” เตรียมการมาอย่างดี และซุ่มรอจังหวะอยู่นานเกือบ 10 ปี เพราะการเปิดโรงเหล้าไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กฎหมายจะให้ทำได้อย่างเสรีก็ตาม เนื่องจากต้องมีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ ต้องหาพื้นที่ขนาดใหญ่ ราคาไม่แพง ชุมชนไม่หนาแน่น ฯลฯ

วันนี้ ไม่เพียงเฉพาะการก้าวเข้ามาสู่สมรภูมิรบเหล้าขาวเท่านั้น “ตะวันแดง” ใส่เม็ดเงินเข้าไปเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ต่ออีกทันที เพื่อขยายโรงงานเฟส 2 รองรับการผลิตเหล้าสีในปีหน้า เมื่อถึงวันนั้นโรงงานนี้จะมีกำลังการผลิตมากถึง 1.5 แสนลิตรต่อวัน

จากนี้ไปแนวรบเหล้าขาว-เหล้าสี คงจะทวีความร้อนแรงมากขึ้น

 

อีกด้านหนึ่ง เมื่อในแวดวงทราบข่าวการเปิดโรงเหล้านี้ขึ้น “เสถียร” เผยว่า “หัวกระไดไม่เคยแห้ง” มีผู้สนใจในแวดวงเข้ามาติดต่อขอเป็นพันธมิตรอยู่ตลอด

ซึ่งเขาเองก็ยอมรับว่าสนใจ แต่จะต้องเป็นดีลที่ทำให้ตะวันแดง 1999 สามารถขยายตัวไปในภูมิภาคนี้ได้ด้วย

และที่สำคัญพันธมิตรในรูปแบบของคู่ค้า ที่มาจ้างโรงงานแห่งนี้ผลิต (OEM) ก็เริ่มต้นแล้วเช่นกัน

แม้จะเป็นการลงทุนในนามส่วนตัว แต่คงปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องในแง่ของแบรนดิ้ง “คาราบาว” ไปไม่ได้

เพราะทั้งกลุ่มผู้บริหารเอง และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเครือ อย่างเช่น ระบบโลจิสติกส์ การกระจายสินค้าเข้าร้านที่ทำโดยบริษัท ตะวันแดง ซีดีเอ็ม จำกัด

ทำให้ภาพของอาณาจักร “คาราบาว” ในวันนี้ ไม่ได้มีแค่เอ็นเนอร์จี้ดริ๊งก์อีกต่อไป

 

ย้อนกลับไปไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา คาราบาวเพิ่งสร้างเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่ ด้วยการเชิญ “ชอน ฮาร์เวย์” ประธานบริหารของฟุตบอลลีกคัพ อังกฤษ (อีเอฟแอล) มาจับสลากประกบคู่การแข่งขันฟุตบอล “คาราบาว คัพ” ฤดูกาล 2017-2018 ที่ประเทศไทย

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คาราบาวกรุ๊ป ได้เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับลีกนี้อย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อใช้เป็นเวทีในการสร้างแบรนด์ระดับโกบอล โดยพุ่งเป้าไปที่อังกฤษ ที่เป็นฐานใหญ่ของตลาดเอ็นเนอร์จี้ดริ๊งก์ ก่อนที่จะสปริงบอร์ดไปยังประเทศอื่นๆ ในโซนยุโรปต่อไป

โดยเม็ดเงินที่ใช้ในการเข้าไปสนับสนุนครั้งนี้สูงถึง 18 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 800 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี (2017-2020)

และก่อนหน้านั้นคาราบาวก็ยังใช้เงินกว่า 30 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท สนับสนุนสโมสรเชลซีในพรีเมียร์ลีกอังกฤษอีกด้วย

รวมๆ แล้วเฉพาะค่าสปอร์ตมาร์เก็ตติ้งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ใช้ไปกว่า 2,400 ล้านบาท

และเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา “คาราบาว” ก็นำเอ็นเนอร์จี้ดริ๊งก์ไปวางขายที่จีนเรียบร้อยแล้ว ไปแบบเงียบๆ แต่พรึบทีเดียว 17 มณฑลที่เข้าไปตั้งเซลออฟฟิศ พร้อมเดินหน้าบุกจีนเต็มกำลัง

ตั้งเป้าเบาๆ เอาไว้ที่ 300 ล้านกระป๋อง เพราะยังใช้การผลิตจากโรงงานในไทย ที่เพิ่งลงทุนเพิ่มไปอีก 6,000-7,000 ล้านบาทเมื่อต้นปี สำหรับขยายโรงงานขวดแล้ว และเพิ่มกำลังการผลิตในโรงงานที่มีอยู่เดิม

แต่เชื่อว่าคงไม่เพียงพอ เพราะตลาดเอ็นเนอร์จี้ดริ๊งก์ในจีนมีมูลค่ามหาศาล การบริโภคต่อหัวก็ยังน้อย มีโอกาสเติบโตอีกมาก

หากคาราบาวแดงติดตลาดได้ ยอดขายจากจีนจะมีเข้ามาอีกมหาศาล และผลักดันให้สัดส่วนของตลาดต่างประเทศเติบโตแซงหน้าตลาดในประเทศในที่สุด

เพราะลำพังแค่การพึ่งพายอดขายจากเอ็นเนอร์จี้ดริ๊งก์ในประเทศเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถสร้างการเติบโตให้กับคาราบาวมากนัก ทั้งสภาพตลาดที่เริ่มถึงจุดอิ่มตัว เนื่องจากฐานผู้บริโภคที่จำกัดอยู่ในกลุ่มของคนใช้แรงงาน เศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ทรงตัว ตลอดจนการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ราคาขายต่อขวดอยู่ที่ 10 บาทมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ไม่สามารถขยับขึ้นได้

 

นี่คือเกมที่ “เสถียร” มองสถานการณ์ได้ขาดตั้งแต่แรก เพราะการไปขยายตลาดต่างประเทศ การตั้งเป้าไปสู่โกบอลแบรนด์ การแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างกาแฟกระป๋อง กาแฟ 3 อิน 1 น้ำดื่ม ภายใต้แบรนด์คาราบาว หรือเกลือแร่ภายใต้แบรนด์สตาร์ทพลัสก็ดี ล้วนเป็นแผนที่เซ็ตอัพมานาน

รอเพียงจังหวะที่เหมาะสมในการออกมาเขย่าตลาดให้เปรี้ยงปร้าง ชนิดที่คู่แข่งรายเล็กรายใหญ่เป็นอันต้องหนาวๆ ร้อนๆ

เหมือนเมื่อครั้งที่เครื่องดื่มชูกำลังคาราบาวแดงเปิดตัวเข้าสู่ตลาดเมื่อปี 2545 และสร้างปรากฏการณ์อย่างถล่มทลาย พร้อมกับเบียดกระทิงแดง เบอร์ 2 ของตลาดให้ตกลงไปอยู่อันดับ 3 ภายในเวลาอันรวดเร็ว

และปีที่ผ่านมา คาราบาวกรุ๊ปมียอดขาย 9,965 ล้านบาท ภายใน 3-5 ปี จะ “ทริปเปิล” ไซซ์ยอดขายเป็น 30,000 ล้านบาท

พร้อมกับอิมเมจความเป็นโกบอลแบรนด์ คงไม่ยากเกินความตั้งใจ…ไม่ไกลเกินฝัน