พลิกแฟ้ม “มือปืนป๊อปคอร์น” ศาลอุทธรณ์สั่งยกฟ้อง ทิ้งคำถาม ใครยิง “ลุงอะแกว”? : ในประเทศ

กรณี “มือปืนป๊อปคอร์น” เป็นที่น่าจับตาอีกครั้ง

ภายหลังศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลย นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์

คดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 บริเวณสะพานข้ามแยกหลักสี่ ถนนแจ้งวัฒนะ ใกล้ห้างสรรพสินค้าไอทีสแควร์

ขณะกลุ่มมวลชน กปปส. เคลื่อนขบวนไปปิดคูหาเลือกตั้งเขตหลักสี่ ก่อนการเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น ทำให้เกิดเหตุปะทะกับกลุ่มผู้สนับสนุนการเลือกตั้ง มีผู้บาดเจ็บ 4 ราย

1 ในนั้นคือ “ลุงอะแกว” หรือ นายอะแกว แซ่ลิ้ว อายุ 72 ปี ซึ่งได้เสียชีวิตหลังจากนั้นในอีก 7 เดือนต่อมา

น.ส.เอื้องฟ้า แซ่ลิ้ว ลูกสาวกล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า นายอะแกว ผู้เป็นพ่อถูกยิงขณะกำลังเดินทางมาหาตนเองที่ทำงานด้วยความเป็นห่วง เนื่องจากเกิดเหตุความรุนแรงทางการเมือง

ยืนยันที่ผ่านมา พ่อไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มใดทั้งสิ้น

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว มีการเผยแพร่ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ทางสื่อหลักและสื่ออินเตอร์เน็ต เป็นภาพกลุ่มชายฉกรรจ์ชุดดำหลายคน มีอาวุธปืนในมือ บริเวณใต้สะพานข้ามแยกหลักสี่

ในกลุ่มชายชุดดำ ซึ่งต่อมานับได้จำนวน 22 คน มี 1 คนใส่เสื้อยืดชุดดำ สวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า มือสวม “ถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียวเหลือง”

หลังถูกจับกุม นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ ยอมรับว่า ตนเองคือชายชุดดำคนดังกล่าว จนเป็นที่มาฉายา “มือปืนป๊อปคอร์น” ซูเปอร์ฮีโร่ของกลุ่มมวลชน กปปส. และดารานักแสดงสาวบางคน

วันที่ 19 มีนาคม 2557 นายวิวัฒน์ ขณะนั้นอายุ 24 ปี ถูกจับกุมตัวได้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และถูกคุมขังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในระหว่างถูกดำเนินคดีร้ายแรงหลายข้อหา

คําพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560

คดีหมายเลขดำ อ.1626/2557 พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ เป็นจำเลย

ฐานร่วมกันฆ่า, พยายามฆ่าผู้อื่น, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และนำอาวุธปืนออกนอกเคหสถานภายในพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371, พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8,72 และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 5, 6, 11 และ 18

คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 บรรยายความผิดสรุปได้ดังนี้

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 เวลากลางวัน จำเลยกับพวก ได้มีปืนเล็กยาวไม่ทราบชนิดและขนาด ติดตัวไปทางแยกหลักสี่ ซึ่งประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

และยิงปืนเข้าไปในอาคารศูนย์การค้าไอที สแควร์

ทำให้ น.ส.สมบุญ สักทอง นายนครินทร์ อุตสาหะ นายพยนต์ คงปรางค์ ได้รับอันตรายสาหัส และ นายอะแกว แซ่ลิ้ว เสียชีวิตในเวลาต่อมา

ในชั้นพิจารณาจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2559 เห็นว่า

พยานหลักฐานของอัยการที่เป็นพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบิกความสอดคล้องเกี่ยวกับการสืบสวนสอบสวนหาคนร้ายสวมเสื้อยืดชุดดำ

ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพและเป็นผู้นำชี้จุดเกิดเหตุ

จึงรับฟังปราศจากข้อสงสัยได้ว่า จำเลยเป็นคนเดียวกับคนร้ายที่สวมชุดดำ มือสวมถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียวเหลือง

โดยการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้อง เป็นความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรม

พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น

ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 3 ปี

คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง จึงมีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรให้ลดโทษกระทงละ 1 ใน 3

รวมจำคุก 37 ปี 4 เดือน

ต่อมา นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ ได้ยื่นอุทธรณ์

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกัน มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่

หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานจากผู้ต้องสงสัย 22 คน รวมถึงชายชุดดำ สวมหมวกไหมพรมปิดบังใบหน้า มือสวมถุงกระสอบข้าวโพดสีเขียวเหลือง

ตรวจสอบภาพบุคคลดังกล่าวจากกล้องวงจรปิดและในสื่ออินเตอร์เน็ต รวมทั้งภาพนิ่ง นำมาเปรียบเทียบ ปรากฏว่ามีรูปร่างลักษณะเหมือนจำเลย เป็นเหตุให้มีการจับกุม

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้อมูลภาพจากอินเตอร์เน็ต คนทั่วไปสามารถนำเข้าและคัดลอกโดยง่าย อีกทั้งโจทก์ไม่มีพยานบุคคลผู้บันทึกภาพมายืนยันได้ว่าบันทึกมาจากสถานที่เกิดเหตุ และในวันเวลาเกิดเหตุ

แม้จะอ้างว่า มีการบันทึกภาพจากสื่อมวลชนในเหตุการณ์ แต่เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพถ่ายชายชุดดำ สวมหมวกไหมพรม ช่วงที่ปิดและเปิดใบหน้า ก็ยังไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าเป็นคนเดียวกัน

เนื่องจากไม่เห็นลักษณะรูปร่างและสิ่งสำคัญอื่นๆ เห็นเพียงแต่หมวกไหมพรมสีดำคลุมหน้า เห็นแต่ดวงตา ปาก และไหล่ ยากจะยืนยันได้ว่าคือจำเลย เพราะคนชุดดำและสวมหมวกไหมพรมในวันเกิดเหตุมี 5-6 คน

ภาพที่อ้างว่าคือจำเลยเปิดใบหน้า ก็ไม่ได้ถือถุงกระสอบข้าวโพด ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเหตุการณ์ก่อนหรือหลัง เป็นวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุหรือไม่

ส่วนที่จำเลยให้การรับสารภาพ ในชั้นสอบสวนไม่ปรากฏว่ามีทนายความหรือบุคคลที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟัง ตามกฎหมายคำให้การจึงต้องห้ามไม่ให้รับฟัง

ส่วนที่จำเลยนำชี้จุดที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ก็ไม่มีอาวุธปืนของกลาง และไม่ปรากฏว่าตรวจพบลายนิ้วมือแฝงของจำเลยในที่เกิดเหตุ

แม้จะอ้างกรณีจำเลยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวยอมรับเป็นชายชุดดำถือถุงกระสอบข้าวโพด แต่ขณะนั้นจำเลยอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ย่อมมีความเกรงกลัว จึงไม่อาจรับฟังได้

ดังนั้น เมื่อพยานโจทก์มีเพียงภาพจากสื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อมวลชน ไม่มีพยานบุคคลผู้บันทึกภาพขณะเกิดเหตุยืนยัน มีเพียงคำให้การรับสารภาพของจำเลย ซึ่งเป็นพิรุธและเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย

จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้อง อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้คุมขังระหว่างฎีกา

ภายหลังรับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

น.ส.เอื้องฟ้า แซ่ลิ้ว ในฐานะโจทก์ร่วม กล่าวทั้งน้ำตาว่า รู้สึกเสียใจ เพราะไม่คาดคิดมาก่อน หลังจากนี้จะขอให้ทนายความสู้คดีจนถึงที่สุด โดยหวังจะได้รับความเป็นธรรม

อีกสิ่งที่ลูกสาวของลุงอะแกวค้างคาใจก็คือ

ในเหตุการณ์วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2557 มีการเผยแพร่ภาพกลุ่มบุคคลผู้ร่วมก่อเหตุหลายคนเห็นใบหน้าค่อนข้างชัด แต่นอกจาก นายวิวัฒน์ ยอดประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถจับกุมใครได้อีก

นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงขั้นตอนหลังจากนี้ว่า อัยการคดีอาญา 4 เจ้าของสำนวน จะต้องไปขอคัดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

เพื่อเสนออัยการสำนักงานคดีศาลสูงพิจารณา โดยการพิจารณาต้องให้เเล้วเสร็จภายใน 30 วันนับจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ส่วนอัยการศาลสูงจะพิจารณายื่นฎีกาคดีต่อหรือไม่ ไม่อาจก้าวล่วง

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่า โดยหลักเมื่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นกับอุทธรณ์ออกมาขัดกัน

รวมถึงการที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด เพียงเเต่ยังเป็นที่สงสัย ตามกฎหมายจึงยกประโยชน์ให้จำเลย อีกทั้งคำพิพากษาให้คุมขังระหว่างฎีกา

เชื่อว่าอัยการสำนักงานคดีศาลสูง จะนำประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาประกอบการศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้งหมด

โดยแนวโน้มมีความเป็นไปได้สูงว่า

คดีจะถูกส่งขึ้นไปให้ศาลฎีกาเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด