นักวิชาการ-ทายาทผู้ก่อการ ร่วมรำลึก 85 ปี อภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475

เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ พรรคใต้เตียง มธ. และคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ ได้จัดงานเสวนา “ขุดราก ถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร” เนื่องในโอกาสครบรอบ 85 ปีของการอภิวัฒน์สยามโดยผู้ก่อการคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยได้เชิญวิทยากรจากหลายกลุ่มร่วมบอกเล่าเรื่องราวที่ส่งผลตามมาจากการอภิวัฒน์สยาม อาทิ นายสุลักษณ์  ศิวลักษณ์ นักเขียนที่ได้รู้จักในฐานะ “ปัญญาชนสยาม” พ.ต.พุทธินาถ พหลพลพยุเสนา บุตรชายของพระยาพหลพลพยุหเสนา ผู้นำคณะราษฎรสายทหาร นายเอกชัย ไชยนุวัติ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ นายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา น.ส.ธนาวิ โชติประดิษฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ นายชานันท์ ยอดหงส์ นักเขียนและนักศึกษาปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์

บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักโดยมีประชาชนที่สนใจร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารนอกเครื่องแบบหลายสิบนายกระจายทั่วห้องประชุม โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลรับผิดชอบได้ขอพบเพื่อพูดคุยตกลงว่าการเสวนาดังกล่าวจะไม่มีการกล่าวถึงกรณีหมุดคณะราษฎรหายจากลานพระบรมรูป

นายสุลักษณ์กล่าวว่า วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันสำคัญที่สุดของคนไทยร่วมสมัย โดยเฉพาะคนที่ถือว่าสาระของประชาธิปไตยคือหัวใจของเมืองไทยสมัยใหม่ โดยมีสาระว่า “ณ ที่นี่ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อเกิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” เหตุการณ์ดังกล่าวสำคัญกับชนชั้นนำฉันใด เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ก็สำคัญกับชนชั้นปกครองของสหรัฐฯฉันนั้น เพราะไม่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐมาก่อน

“นายจอร์จ ดับเบิลยู บุชเคยกล่าวว่า “พวกเขาเกลียดเสรีภาพของเรา เสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา เสรีภาพในการรวมตัวและเสรีภาพในการยอมรับความเห็นที่แตกต่าง” ถือได้ว่าวาทกรรมดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ของความทันสมัย ที่เริ่มต้นที่สหรัฐฯตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ และเกิดขึ้นกับการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 โดยชาวต่างชาติทำได้แค่ไหนนั่นเป็นอีกเรื่อง เพราะก่อหน้านี้ ระบบศักดินาในยุโรปไม่ยอมให้มีสิ่งนั้น เกิดขึ้น สิ่งที่นายบุชพูดถือเป็นหัวใจสำคัญของการอภิวัฒน์สยามได้หรือไม่ โดยที่ก่อนหน้านี้ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยไม่ยอมรับสิทธิต่างๆของราษฎร แม้มีการทำให้ประเทศสยามมีความทันสมัยในรัชกาลที่ 5 หันเหไปทางอารยธรรมตะวันตกทุกที แต่ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของราษฎรกลับไม่อยู่ในความคิด “ นายสุลักษณ์ กล่าว

นายสุลักษณ์กล่าวอีกว่า งานเขียนของสายชล สัตยานุรักษ์ ระบุว่า ปัญญาชนกระแสหลักในเวลานั้นได้สร้างความเป็นชนชั้นพร้อมกับบอกว่าเป็นสังคมที่ดี พร้อมกับบอกว่าการปกครองรวมศูนย์แบบไทย เป็นการปกครองที่ดี โดยที่การเลือกตั้งคือการเลือกคนดี ทำให้ผู้สิทธิ์เลือกตั้งนั้นคือเหล่าอภิชน หรือชนชั้นนำบนชาติกำเนิดหรือคุณวุฒิทางการเมืองการปกครอง ซึ่งปัญญาชนกระแสหลักอธิบายว่า ชาติกำเนิดและพุทธศาสนาทำให้ผู้ปกครองเป็นคนดี ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ต่อราษฎรโดยไม่จำเป็นต้องมีระบบตรวจสอบ ปัญญาชนกระแสหลักเน้นเรื่องความยุติธรรมมาก แต่เป็นความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาค

“ การที่สังคมไทยฝากความหวังไว้กับคนๆเดียวหรือพึ่งพิงสถาบันทางการเมืองอันหนึ่งอันใด  มีอำนาจปกครองดูแลคนในสังคมนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะสังคมไทยซับซ้อนมาก การจัดการทรัพยากรแบบผูกขาดไม่มีทางทำให้เกิดความเป็นธรรม ต้องเปิดให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการในทุกสถาบัน” นายสุลักษณ์ กล่าวและว่า  สำหรับพวกเรา ที่ต้องการให้อภิวัฒน์สยามเกิดขึ้นจริง จะต้องเรียนรู้อดีตและประยุกต์ใช้อย่างแยบคาย ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่าค่านิยมดั้งเดิมของระบบเก่าได้มอมเมาผู้คนเป็นร้อยปี กฎสำคัญอยู่ที่สำนึกภายในต้องฝึกให้กล้าหาญ กล้ายอมรับความจริง พร้อมกับการแสวงหาความงามและความดี ซึ่งสถาบันการศึกษาไม่ได้เน้นเรื่องนี้  ฉะนั้นเยาวชนทุกคนควรหากัลยาณมิตร และต้องการกล้าพูดกับผู้อำนาจเพื่อเป็นเสียงแห่งมโนสำนึก

พ.ท.พุทธินารถ กล่าวว่า เมื่อก่อนตอนเป็นทหารก็ต้องเครื่องแบบ แม้ไม่ได้เป็นทหารก็มีเครื่องแบบเป็นของตัวเองนั้นคือเครื่องแบบผู้รักประชาธิปไตย ตนอยากบอกว่าภูมิใจที่พ่อตนและคณะราษฎรกล้าเอาชีวิตเข้าแลกนำประชาธิปไตยให้มาปวงชนชาวไทยทั้งหลาย ครั้งหนึ่งตนเคยถูกย้ายหน่วยโดยสงสัยว่าซ่องสุมกำลังพล ตนถามว่าเชื่อเหรอ ทางนั้นก็เชื่อโดยอ้างว่าเป็นลูกพระยาพหลฯและเป็นลูกน้องมนูญ รูปขจร ตนบอกว่าแค่สองอย่างเหรอถึงกับต้องปฏิวัติ แล้วคิดเหรอว่าปฏิวัติแล้วประเทศจะเจริญ ถามหน่อยว่าประเทศไทยมีปฏิวัติกี่ครั้ง ตนนับได้ครั้งเดียว คือครั้งที่คุณพ่อและคณะราษฎรลงมือก่อการ เพราะครั้งนั้นไม่มีการนิรโทษกรรม มีแต่ว่าหากไม่สำเร็จก็เจอประหารเจ็ดชั่วโคตร

“คำว่ามรดกไม่มี เพราะว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นเจ้าของระบอบประชาธิปไตย แต่ระบอบนี้เป็นของประชาชน อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน อะไรก็แล้วแต่ที่เกิดขึ้นมาตามหลังเค้า ย่อมมีล้มลุกคลุกคลานเป็นธรรมดา “ พ.ท.พุทธินารถ กล่าว

ด้านนายเอกชัย กล่าวว่า ในทางกฎหมายไม่ได้ถือเอาวันที่ 24 มิถุนายน แต่นับเอาวันที่ 27 มิถุนายน 2475 เมื่อพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พ.ศ.2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติไว้ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” สิ่งสำคัญของการอภิวัฒน์สยามนั้นคือการทำให้คนเป็นคน จากไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน เป็นข้าราษฎร์ คณะราษฎรเปลี่ยนการกำหนดอนาคตโดยคนๆเดียวมาเป็นของราษฎรที่ปกครองโดยหลักนิติรัฐ และกฎหมายมีลายลักษณ์อักษรไม่ได้ปกครองตามอำเภอใจ เพราะคณะราษฎรได้สถาปนาสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญให้เป็นกฎหมายสูงสุดในรัฐ ต้องไม่มีองค์กรใดสูงกว่ารัฐธรรมนูญ คณะราษฎรเลือกประชาธิปไตยแบบรัฐสภาโดยขอให้พระมหากษัตริย์เป็นประมุขใต้อำนาจรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจตามขอบเขต

“ประเด็นที่จะเสนอนั้นคือ องค์กรตุลาการตามอำนาจรัฐธรรมนูญไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน และการบังคับใช้กฎหมายนั้นกว้างเกินกว่าที่ควรเป็น โดยหลักกฎหมายอาญานั้นระบุว่า บังคับเฉพาะที่บัญญัติไว้ และผลผลิตที่เรียกว่าคำพิพากษานั้น เป็นอำนาจของประชาชน หวังว่าสิ่งที่องค์กรจะใช้อำนาจจะยึดโยงกับประชาชน อย่างที่ ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ระบุว่า ทุกองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญจะต้องยึดโยงกับประชาชน  และอุดมการณ์นั้นก็สำคัญโดยเฉพาะนักกฎหมาย ของผู้ใช้อำนาจกฎหมายในองค์กร ซึ่งอุดมการณ์จะสะท้อนการตีความกฎหมาย หากยึดโยงแนวคิดอำนาจนิยมก็จะตีความกฎหมายแบบหนึ่ง หากมีอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะตีความที่คุ้มครองเสรีภาพของประชาชน” นายเอกชัยกล่าวและว่า ส่วนอีกประเด็นหนึ่งแนวคิดเรื่อง เสรีภาพ เสมอภาคและภราดรภาพ  โดยเฉพาะแนวคิดภราดรภาพซึ่ง อ.ฐาปนันท์ เคยนำเสนอเมื่อ 2 ปีก่อน เราเห็นว่าทุกคนร่วมทุกข์ร่วมสุข การประกันตั้งแต่เกิดจนตาย มันเป็นหลักพื้นฐานที่นำไปสู่ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นห่วงทุกคนในตอนนี้ที่ทำประชาพิจารณ์ เพราะถ้าเอาตามหลักร่วมจ่าย ทุกคนล้มละลาย ดังนั้นเราอย่ามุ่งแค่ศึกษาสิ่งที่คณะราษฎรทำไว้ในอดีตแต่จะนำไปใช้กับปัจจุบันอย่างไร

นายเอกชัยกล่าวทิ้งท้ายโดยอ้างคำของอ.วรเจตน์ระบุว่า คณะราษฎรไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม ชอบกล่าวหาว่าเป็นความผิดเค้า คณะราษฎรไม่ใช่แค่คนจำนวนหนึ่ง เป็นแนวคิดของคนเท่ากัน ตัดสินด้วยคนเท่ากันและมีพื้นที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนพื้นฐานของการเลือกตั้งและเสียงข้างมาก

น.ส.ธนาวิ กล่าวถึงอิทธิพลของคณะราษฎรต่อศิลปะว่า หากจะเริ่มต้นสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในยุคคณะราษฎร ขอเริ่มจากหมุดคณะราษฎรตรงลานบพระบรมรูปทรงม้า เพราะเป็นสิ่งที่แสดงความทรงจำของการอภิวัฒน์สยาม อย่างไรก็ตาม หมุดคณะราษฎรไม่ได้เป็นของชิ้นเดียวที่ถูกสร้างขึ้นในยุคคณะราษฎร แต่ยังมีหลายแห่งอย่าง เช่น ศาลาเฉลิมไทยซึ่งเป็นโรงมหรสพก่อนที่ถูกทุบในปี 2532 โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชให้ความเห็น ว่า เพื่อเปิดทิวทัศน์ของโลหะปราสาทและโบสถ์วัดราชนัดดาราม แต่สิ่งก่อสร้างเป็นของใหม่ที่เริ่มใช้วัสดุใหม่อย่างคอนกรีตเข้ามาก่อสร้าง ขณะที่ศาลาเฉลิมกรุงที่ถูกสร้างขึ้นโดยรัชกาลที่ 7 ก็ถูกสร้างในรูปแบบและวัสดุเดียวกันและรอดมาได้จนถึงทุกวันนี้

“อีกตัวอย่างที่ชัดคืออาคารศาลฎีกา เป็นอาคารที่คณะราษฎรสร้างขึ้นเพื่อฉลองได้รับเอกราชทางศาลในปี 2481 มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ หลังคาตัด ไม่ประดับประดาเหมือนรูปแบบประเพณี แต่ก็ถูกรื้อในปี 2555 และสร้างใหม่กลับมาในรูปแบบศิลปะแบบไทยประเพณี คือมีหลังคาซ้อนชั้นและยอดแหลม  แต่กรณีรื้ออาคารศาลฎีกาถูกต้านทั้งจากฝ่ายสนับสนุนคณะราษฎรและฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะฝ่ายอนุรักษ์นิยมเห็นว่าอาคารจะสูงเกินพระบรมมหาราชวัง

“ชะตากรรมของสถาปัตยกรรมคณะราษฎรไม่ได้เพียงแค่รื้อทิ้งแต่ถูกใช้เป็นอย่างอื่น อย่างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ด้วยความที่อนุสาวรีย์แสดงถึงสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย ทำให้หลายฝ่ายใช้อนุสาวรีย์แสดงพลังทางการเมืองอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่ต้องอ้างคณะราษฎรก็ได้ ถูกใช้เป็นพื้นที่แสดงพลังทางการเมืองในเหตุการณ์ต่างๆ ผู้ชุมนุมใช้อนุสาวรีย์เป็นฐานที่มั่น มองตัวเองว่าเป็นการกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะในช่วงความขัดแย้งระหว่างสี ในทางกลับกันในความที่มีกิจกรรมมาตลอด ทำให้ความหมายไม่ได้อยู่นิ่ง สามารถเพิ่มพูนเรื่อยๆได้ เป็นไปตามกิจกรรมที่ใช้อนุสาวรีย์เป็นเครื่องมือ” น.ส.ธนาวิ กล่าว

ขณะที่ นายสุรพศ กล่าวถึงมรดกอภิวัฒน์สยามในวงการพระพุทธศาสนานั้น รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้กำเนิดพลังกองทัพและระบบราชการ ส่วนพุทธศาสนาถูกใช้เป็นพลังสร้างอำนาจนำเชิงวัฒนธรรม ถูกใช้สนับสนุนอุดมการณ์ของผู้ปกครอง โดยองค์กรกลางอย่าง มหาเถรสมาคม ที่รวมศูนย์เหมือนระบบราชการ องค์กรสงฆ์ใดไม่ทำตาม มหาเถรสมาคมก็ต้องจัดการ

แต่เมื่อเกิดการอภิวัฒน์สยาม ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของวงพุทธศาสนา และการเป็นการท้าทายมหาเถรสมาคม โดยเมื่อปี 2477 กลุ่มพระสงฆ์ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนการปกครองแบบมหาเถรสมาคมให้เป็นประชาธิปไตยที่สอดคล้องกับบ้านเมือง เพราะว่าระบบเก่าไม่ได้ให้ความเสมอภาคระหว่างนิกาย จำนวนพระธรรมยุตินิกายน้อยแต่กลับได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช พอบ้านเมืองเปลี่ยน เริ่มมีปากมีเสียง มีการต่อรอง ในที่สุดเปลี่ยนระบบการปกครองสงฆ์ สู่พระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. 2484 จัดรูปแบบคล้ายระบบบริหารปกครองแบบประชาธิปไตย แบ่งแยกอำนาจ 3 ฝ่าย ใช้ระบบคัดเลือกคล้ายกับวุฒิสภา

“ความพยายามของคณะราษฎรในศาสนาก็เพื่อปรับตัวให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตย ส่งผลให้พระสงฆ์มีการเผยแพร่ศาสนาที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย โดยพระสงฆ์ที่โดดเด่นนั้นคือ พุทธทาสภิกขุ  ได้เสนอแนวคิดพุทธศาสนาตามหลักประชาธิปไตย โดยไม่พูดถึง “คนดี” เลย แต่ต่อมากลับกันมาเสนอแนวคิดเผด็จการโดยธรรม “ นายสุรพศ กล่าว

นายสุรพศ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากการอภิวัฒน์สยาม คือ โครงสร้างใหม่ของคณะสงฆ์มันเปิดโอกาสให้เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมาได้โดยการบริหาร ยกตัวอย่าง พระพิมลธรรม ได้ส่งลูกศิษย์ไปศึกษาวิปัสสนาที่พม่าแล้วกลับมาเผยแพร่ ความใหม่ที่ว่าคือ การได้ขยายอำนาจการตีความคำสอนของพุทธศาสนาไปสู่ฆราวาส ฆราวาส รวมถึงผู้หญิงจึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพระอภิธรรมมาแข่งกับพระ ทำให้อำนาจในการตีความขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเหตุการณ์ต่อพระสงฆ์ล่าสุดนั้นผู้ปกครองหวังเพียงควบคุม ไม่สามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างอำนาจนำทางวัฒนธรรมได้อีกต่อไปแล้ว

นอกจากนี้ นายชานันท์ กล่าวว่า การอภิวัฒน์สยามได้ทำให้สิทธิสตรีมีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในลักษณะครอบครัวจากผัวเดียวหลายเมีย มาเป็นผัวเดียวเมียเดียว ฝ่ายหญิงมีสิทธิจัดการทรัพย์สินรวมถึงฟ้องอย่าได้ การยกย่องผู้หญิงเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญทำให้เกิดประเพณีการประกวดนางงาม อย่างไรก็ตามในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ยังเป็นลักษณะแคบเพราะแนวคิดไม่ตรงกับรัฐที่มีเพียงชายและหญิง ด้วยความจำเป็นสำหรับผลิตประชากรรุ่นใหม่ อีกทั้งมีบทลงโทษโดยเอาแบบอินเดียมาใช้จัดการ

จากนั้นเวลา 17.30 น. ผู้ร่วมงานทุกคนนำโดยนักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยได้ร่วมกันวางดอกไม้รำลึกเหตุการณ์อภิวัฒน์สยามที่หมุดคณะราษฎรจำลองใกล้คณะนิติศาสตร์ เพื่อรำลึกและสำนึกขอบคุณที่คณะราษฎรก่อการที่นำประชาธิปไตยให้ประชาชนได้ใช้เพื่อสร้างอนาคตให้กับประเทศ