ในประเทศ/จับตาศึกใน “กรธ.-สนช.” ท้ารบปมร้อน “ไพรมารีโหวต”

ในประเทศ

จับตาศึกใน “กรธ.-สนช.” ท้ารบปมร้อน “ไพรมารีโหวต”

เป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ออกโรงเปิดหน้าท้าชนกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. … สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองของ สนช.

ในประเด็นร้อนเมื่อที่ประชุม สนช. มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ในวาระ 2 และ 3 ตามที่เนื้อหา กมธ.วิสามัญปรับแก้ไขร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง แบบไม่ไว้หน้า กรธ. ในประเด็นการใช้ระบบ “ไพรมารีโหวต” คัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมือง โดยแก้ไขเนื้อหาจากร่างเดิมของ กรธ. ที่กำหนดไว้ว่าควรให้พรรคการเมืองดำเนินการตามความเหมาะสมของแต่ละพรรคการเมืองเป็นสำคัญ ไม่ใช่ไปกำหนดเป็นกระบวนการที่ขยับอะไรไม่ได้อย่างระบบไพรมารีโหวต ที่ สนช. ปรับแก้ไขในชั้นของ กมธ.

ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางปฏิบัติอย่างแน่นอน หากร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่ สนช. ปรับแก้ไขมานั้นประกาศใช้เป็นกฎหมาย

ตามที่ “มีชัย” ได้โต้แย้งในที่ประชุมใหญ่ของ สนช. ก่อนที่จะลงมติเห็นชอบให้ใช้ระบบไพรมารีโหวตไว้ว่า

“ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะเดิมปกติเวลากำหนดวันเลือกตั้งแล้วจะมีการกำหนดวันรับสมัครภายใน 7-10 วันหลังจากได้ประกาศวันเลือกตั้ง แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่กำหนดไว้ว่าพรรคการเมืองจะสมัคร ส.ส. ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองมีการทำไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงทำให้มีปัญหาว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร และพรรคการเมืองจะกลับมาสมัครรับเลือกตั้งทันหรือไม่”

แน่นอนปรากฏการณ์การเปิดศึกในของคนกันเอง อย่าง “กรธ.” กับ “สนช.” ไม่ต่างอะไรกับการที่แม่น้ำ 2 ใน 5 สาย ที่มาจากต้นกำเนิดเดียวกันจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องมาไหลแบบสวนทางกัน ซึ่งอาจจะพานไปกระทบกับแม่น้ำอีก 3 สายของ คสช. ได้

เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้าที่ กรธ. กับ สนช. จะเปิดศึกกันเอง ในประเด็นร้อนของระบบไพรมารีโหวต ของกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา แม่น้ำ 2 สายทั้ง กรธ. และ สนช. ล้วนไหลไปในทิศทางเดียวกัน จูบปากกันอย่างหวานชื่น ในประเด็นการ “เซ็ตซีโร่” 5 เสือ กกต.ยกชุด ตามเนื้อหาที่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วย กกต. ของ สนช. ใช้ยาแรงปรับแก้ไขร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. ของ กรธ. ที่บัญญัติไว้แค่ “รีเซ็ต” กกต.บางคนที่ขาดคุณสมบัติต้องพ้นสภาพไป ส่วน กกต. ที่สเป๊กครบได้อยู่ทำหน้าที่ต่อ

นำมาซึ่งความเห็นแย้งในประเด็นข้อกฎหมาย จนต้องเปิดศึกนอกกับ กกต. ด้วยการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 3 ฝ่าย (กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย) จำนวน 11 คน ประกอบด้วย กรธ. 5 คน สนช. 5 คน และ กกต.1 คน

แน่นอนการเปิดศึกกับ กกต. ในการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ด้วยการผนึกกำลังกันตั้งแต่ในชั้นการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ของ สนช. มาแล้วนั้น โหรหลายสำนักฟันธงล่วงหน้าได้เลยว่า โอกาสที่ กกต. จะมีชัยในชั้นของการตั้ง กมธ.ร่วม คงต้องพึ่งปาฏิหาริย์

ประเด็นเห็นแย้งเรื่องการใช้ระบบไพรมารีโหวต เพื่อคัดเลือก ส.ส. ก่อนลงสนามเลือกตั้งในครั้งต่อไปนั้น จากสัญญาณล่าสุดของทั้งฝั่ง กรธ. และ สนช. คงไม่พ้นต้องตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายขึ้นมาอีกครั้ง ในการโต้แย้งหลักการและสาระของข้อกฎหมายที่อาจจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยมีสัดส่วนคือ กรธ. 5 คน สนช. 5 คน และ กกต. 1 คน

เพียงแต่การตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่ายในการพิจารณาข้อโต้แย้งของเนื้อหาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองครั้งนี้ สัดส่วนของ กมธ.ร่วม ที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน ระหว่าง กรธ. กับ สนช. มีตัวเลขกลมๆ เท่ากัน คือฝ่ายละ 5 คน ชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายคงต้องงัดข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งสาระเหตุผล เพื่อโน้มน้าวให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย คล้อยตามในประเด็นที่ขัดแย้งกัน

โดย กมธ.ร่วมในฝั่งของ สนช. จะต้องยกเหตุผลการบัญญัติให้มีระบบไพรมารีโหวตไว้ในกฎหมายพรรคการเมือง เพื่อตอบโจทย์ใหญ่ในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องเหมารวมถึงการปฏิรูปการเมืองเข้าไปด้วย

เพราะไฮไลต์ของ “ระบบไพรมารีโหวต” คือการส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งนั้น สาขาพรรคประจำจังหวัดจะเป็นผู้คัดเลือกส่งตัวแทนทั้งระบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก่อนจะนำไปสู่การสรรหาขั้นสุดท้าย คือให้สมาชิกพรรคจัดประชุมเพื่อลงคะแนนว่าผู้ใดเหมาะสม แล้วส่งให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาเห็นชอบ และหากกรรมหารบริหารพรรคยังมีความเห็นต่างกัน ก็ต้องให้เริ่มต้นขั้นตอนใหม่ทั้งหมด

อีกเหตุผลสำคัญของ สนช. ที่ต้องการใช้ระบบไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้แทนของแต่ละพรรคนั้น เพื่อต้องการให้ไปตอบโจทย์การรีเซ็ตพรรคการเมือง ด้วยการให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนของตนเอง ขจัดปัญหาพรรคการเมืองที่เป็นของนายทุน อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเผด็จการในพรรคการเมือง ที่จะต้องเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกผู้สมัคร

ขณะที่เสียงคัดค้านอย่าง “กรธ.” ยืนกรานชัดเจนว่า ประเด็นไพรมารีโหวตที่ สนช. ปรับแก้ไขมานั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้เกิดปัญหากระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าไม่ราบรื่น พรรคการเมืองอาจมีเวลาเตรียมตัวไม่ทัน

รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาและสร้างภาระให้กับ กกต. เพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนบรรดาคีย์แมนของพรรคการเมืองแทบทุกพรรค ต่างออกมาประสานเสียงคัดค้าน โดยระบุว่าระบบไพรมารีโหวตจะนำมาซึ่งปัญหาให้กับพรรคการเมือง ก่อให้เกิดความขัดแย้งและแตกแยกกันในพรรคมากขึ้น

ตัวอย่างคือกระบวนการคัดเลือกตัวแทนเขต หรือจังหวัด ที่สุดคนหน้าใหม่ประเภทนักการเมืองน้ำดี ที่มีความรู้มีคุณภาพจะไม่ถูกเลือก เพราะสาขาพรรคหรือสาขาจังหวัดล้วนตั้งอยู่ในบ้าน ส.ส. หรือผู้มีอิทธิพลในจังหวัดนั้น ต้องเลือกคนของเขาทั้งนั้น ต้องเอาเครือข่าย หรือคนในวงศ์วานว่านเครือเขา การแข่งขันในเขตเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ จะรุนแรงขึ้น ยิ่งหากเขตไหนมีบิ๊กเนมทางการเมืองมากกว่า 1 คน แต่ต้องผ่านระบบไพรมารีโหวตให้เหลือแค่ 1 คน เพื่อเป็นตัวแทนของพรรคไปลงชิงชัยคว้าเก้าอี้ ส.ส. อีกคนที่ไม่ได้รับเลือกเป็นตัวแทนพรรคย่อมเกิดความไม่พอใจ และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งกันภายในพรรคได้

ต้องติดตามกันว่า บทสรุปในชั้นการตั้ง กมธ.ร่วมในประเด็นเห็นแย้งระบบไพรมารีโหวต ระหว่าง กรธ. และ สนช. จะจบลงแบบใด เพราะต้องไม่ลืมว่าท้ายที่สุดแล้ว ผลสรุปจาก กมธ.ร่วม จะต้องนำเข้าที่ประชุมให้ สนช. ทั้ง 250 คนชี้ขาดอีกครั้ง หาก สนช. ไม่เอาด้วยจะต้องใช้เสียงถึง 2 ใน 3 หรือ 167 เสียง ตีตกร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อกลับไปนับหนึ่งยกร่างกฎหมายกันใหม่

ทั้งหมดจึงหนีไม่พ้นออเดอร์จาก “คสช.” ว่าต้องการให้เนื้อหาของกฎหมายลูกแต่ละฉบับออกมาอย่างไร