ไพรัชนิยายไทย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ก่อนจะพูดอะไรทั้งสิ้นต่อไปนี้ ผมขอประกาศว่า ไม่มีอาชีพอะไรที่ผมอิจฉาตั้งแต่หนุ่มมาจนแก่ป่านนี้เท่าอาชีพนักเขียน (งานประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า creative writings) เพราะเป็นอาชีพที่ผมอยากทำมากที่สุด แต่พยายามอย่างไรก็พบว่าตัวไม่มีความสามารถทำได้ ในด้านหนึ่ง ผมชอบเอางานของท่านเหล่านั้นไปเปรียบกับนักเขียนฝรั่ง แต่ที่ทำอย่างนั้นก็เพื่อสร้างความเข้าใจบางเรื่อง อย่างที่การศึกษาเปรียบเทียบมักช่วยได้ ไม่ได้คิดว่างานของฝรั่งเป็นมาตรฐานแต่อย่างใด ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ความไม่เหมือนกับงานฝรั่ง กลับทำให้ผมคิดว่า นักเขียนไทยเข้าใจ-เข้าถึงสังคมและวัฒนธรรมไทยได้ลึกกว่านักวิชาการไทยศึกษาทั้งโลก

ในระหว่างเดินทางด้วยรถยนต์ระยะยาวในพม่า คำสนทนากับอาจารย์แมนนี่และอาจารย์โก ซึ่งเป็นนักอ่านนวนิยายตัวยง ทำให้ผมเกิดความฉงนกับนิยายที่เรียกกันว่า “ไพรัชนิยาย” ขึ้น

“ไพรัชนิยาย” มักถูกนิยามว่าคือนิยายที่ผูกเรื่องโดยใช้ต่างแดนเป็นฉาก หรือตัวละคร หรือทั้งสองอย่าง คุณสมบัติสำคัญที่ผู้ใหญ่บางท่านได้กล่าวไว้ก็คือ การบรรยายต่างแดนในไพรัชนิยายควรจะ “ถูกต้อง” แล้วท่านก็ยกตัวอย่างที่ผิดให้ดู ซึ่งทั้งหมดเป็นความจริงในเชิงรูปธรรมทั้งสิ้น เช่น ชื่อแม่น้ำ, ชื่อหรือรูปโฉมของตึก, ทิศทางของฉาก ฯลฯ

ดูเหมือนนิยามและคุณสมบัติสำคัญของไพรัชนิยายจะถูกกำหนดเช่นนี้สืบมา

ผมจึงสงสัยว่า คนเขียนไพรัชนิยายก็เพียงแนะนำชีวิตผู้คน, วัฒนธรรม, ระบบการเมือง, หรือประเพณี ฯลฯ แปลกๆ ไม่เป็นที่คุ้นเคยของผู้อ่านให้เป็นที่รู้จักเท่านั้น ไม่ต่างจากหนังสือนำเที่ยวประเภทต่างๆ หรือให้หนักไปกว่านั้นคือหนังสือวิชาการว่าด้วยต่างแดนที่เขียนให้มีนิยายอยู่ด้วยเท่านั้น

สงสัยอย่างนี้แล้วจึงอดสงสัยต่อไปไม่ได้ว่า ใช่ละหรือ?

ไพรัชนิยายเล่มสุดท้ายที่ผมเพิ่งอ่านไม่นานมานี้คือ Burmese Days ของ ยอร์ช ออร์เวลล์ ผมคิดว่าเราเปลี่ยนฉากจากพม่าไปเป็นอินเดีย, สหพันธรัฐมลายู, หรือฮ่องกง ไม่ได้ แม้ว่าทั้งหมดต่างเป็นอาณานิคมอังกฤษในช่วงนั้นเหมือนกัน มันต้องเป็นพม่าซึ่งชีวิตของข้าราชการอาณานิคมชาวอังกฤษ ต้องอุดอู้อยู่ในสังคมผิวขาวที่แคบนิดเดียว (การเดินทางไม่สะดวก และจำนวนของคนผิวขาวมีน้อยมาก) และต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคนพื้นเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการปกครอง, การทำมาค้าขาย และระบายอารมณ์ใคร่ของตนเอง

สภาพอันอุดอู้และอบอ้าวของพม่าเช่นนี้ต่างหากที่ปลดเปลื้องเนื้อในของความเป็นอังกฤษออกมาอย่างล่อนจ้อน ซึ่งอาจยังความตระหนกอย่างสุดขีดแก่คนอังกฤษ ซึ่งน่าจะเป็นผู้อ่านเป้าหมายของผู้เขียน

พม่าจึงไม่ได้เป็นแค่ฉากหรือตัวละคร แต่เป็นสิ่งที่ช่วยเปลื้องเจ้าอาณานิคมให้ล่อนจ้อนจนมองเห็นตัวเองได้ถนัดชัดเจน ต่างแดนจึงเป็นมากกว่าฉากหรือตัวละคร แต่เป็นส่วนหนึ่งของแก่นเรื่องที่ขาดไม่ได้

ผมพยายามค้นหาไพรัชนิยายไทยที่ใช้ต่างแดนเป็นมากกว่าฉากหรือตัวละครบ้าง ก็มีเหมือนกันนะครับ แต่น้อยมาก โดยเฉพาะหากไม่นับนวนิยายที่ตั้งใจจะแนะนำต่างแดนแล้ว (เช่น ตระเวนมะนิลาของ วิตต์ สุทธเสถียร) ก็แทบจะพูดได้ว่าไม่มีเลย ปารีสมีความสำคัญในความรักของวัลยา เพราะเป็นสถานที่ซึ่งทำให้คนไทยที่ต่างสถานภาพกันอย่างสุดกู่ สามารถพบปะ คบหา และรักกันได้ ซึ่งหากยังอยู่กรุงเทพฯ โอกาสเช่นนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ยาก (ในสมัยนั้น) แต่เปลี่ยนเป็นลอนดอน, มะนิลา, นิวยอร์ก, แทนได้ไหม? ก็ได้เหมือนกัน ส่วนใหญ่ของนวนิยายรักต่างชนชั้นในภาษาไทย (อันนำไปสู่การนิยามความรักอีกชนิดหนึ่ง ตื้นบ้างลึกบ้าง) มักสร้างสถานการณ์พิเศษบางอย่างขึ้นในเมืองไทย มากกว่าจับเอาตัวละครไปวางไว้ในต่างแดน

ผมอยากจะพูดเลยไปถึงว่า แม้แต่ไพรัชนิยายที่ใช้ฉากและตัวละครต่างแดนทั้งเรื่อง ความเป็นต่างแดนในนิยายก็ไม่มีความสำคัญอะไร นอกจากให้กลิ่นอายแปลกใหม่เหมือนเครื่องเทศชนิดใหม่ที่เราไม่เคยลิ้มมาก่อนเท่านั้น – ไม่ว่าจะเป็นลังกา, ทะเลทราย, อัฟกานิสถาน, หรือ ฯลฯ (น่าสังเกตด้วยว่ามักเป็น “แดน” ที่คนไทยไม่คุ้นเคย และมักมีภาพจำลองแบบเหมารวมอยู่ด้วย) นิยายของไพรัชนิยายเหล่านี้ เอามาวางไว้ในบริบทอื่นก็ได้ นักเขียนบางท่านใช้แดนสมมติเป็นฉาก (ซึ่งมักเป็นภาพเหมารวมของล้านนาหรือแคว้นในรัฐไทยใหญ่)

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ไพรัชนิยายของฝรั่งที่ไม่ได้ใช้ต่างแดนเป็นอะไรมากไปกว่าสิ่งแปลกหูแปลกตา (exotica) ก็มีมากเหมือนกัน

นักวรรณคดีศึกษาไทยท่านหนึ่ง อ้างงานของนักมานุษยวิทยาฝรั่ง (Gabriele Schwab, Ethnographies : Literature, Culture and Subjectivity) ว่า ไพรัชนิยายก็เหมือนกับงานด้านชาติพันธุ์วรรณนา คือนำเสนอความรู้ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับ “คนอื่น” เพียงแต่งานวิจัยด้านชาติพันธุ์วรรณนาเสนออย่างเป็นภววิสัย ในขณะที่นวนิยายเสนออย่างเป็นอัตวิสัย เพราะจุดมุ่งหมายของนวนิยายต้องการเสนอภาพของตัวตน (ของผู้เขียน, ตัวละคร, หรือผู้อ่าน)

เราเรียนรู้ “คนอื่น” เพื่อรู้จักตัวเอง

ฟังดูเหมือนจะดีนะครับ แต่นิยายทั้งหลายที่มนุษย์เล่าสู่กันฟัง ไม่เว้นแม้แต่นิยายพื้นบ้าน และไม่เกี่ยวกับไพรัชหรือไม่ไพรัช ก็ล้วนทำให้เรารู้จักผู้อื่นและรู้จักตัวเองทั้งนั้น ไม่ใช่หรือครับ รู้ว่าหมอ, วิศวกร, โจร, เจ้าชาย, ดารา, คนโลภ, คนโกรธ, คนมีเมตตา ฯลฯ เป็นอย่างไร และรู้ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆ สำหรับตัวเรา

ยิ่งหากเอาทฤษฎีนี้มาทำความเข้าใจกับไพรัชนิยายไทย (หรือส่วนใหญ่ของไพรัชนิยายฝรั่ง) ผมสงสัยว่า มันจะไม่เข้ากันเลย มีไพรัชนิยายไทยน้อยมากที่พยายามจะรู้จักความเป็นอื่น นักเขียนไทยที่มีชื่อเสียงและมากฝีมือท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านได้อ่านประวัติศาสตร์ของประเทศหนึ่งซึ่งจะกลายเป็นฉากของท้องเรื่องในนวนิยายของท่านเรื่องหนึ่งเพียง 3-4 หน้า และได้ไปเที่ยวชมโบราณสถานแห่งหนึ่งของประเทศนั้น ทำให้ท่านเกิดความฝันและจินตนาการที่จะเขียนนวนิยายชิ้นลือชื่อของท่านเล่มนั้นขึ้นมา

ผมไม่ได้หมายความเพียงข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์หรือในเชิงกายภาพ (ซึ่งประวัติศาสตร์ 3-4 หน้าไม่ช่วยให้รู้) แต่ความ “เป็นอื่น” ที่สำคัญกว่าน่าจะอยู่ที่วิถีคิด, วิถีชีวิตและวิถีความเชื่อของผู้คนซึ่งแตกต่างจากเราต่างหาก ผมคิดว่านักเขียนไพรัชนิยายไทย (หรือฝรั่งด้วย) ให้ความสำคัญแก่เรื่องนี้น้อยเกือบทั้งนั้น ยกเว้นแต่คนที่ไปใช้ชีวิตในสังคมนั้นมาอย่างยาวนาน จนทำให้วิถีวัฒนธรรมของผู้คนต่างแดนซึมเข้าไปในบุคลิกภาพของตัวละคร โดยไม่ต้องบรรยายฉากต่างแดนสักประโยคเดียว

หากหญิงสูงศักดิ์ในสังคมอาหรับถูกองครักษ์รูปหล่อจุมพิต เธอจะบอกเขาไหมว่า ฉันจะไม่ตบเธอ เพราะจะทำให้เธอจูบซ้ำ วัฒนธรรมตบจูบเป็นวัฒนธรรมหนังและละครทีวีไทยนะครับ ผมไม่ทราบหรอกว่าในวัฒนธรรมอาหรับ ผู้หญิงตอบสนองต่อการจูบในลักษณะล่วงละเมิดอย่างไร เพียงแต่แปลกใจว่าทำไมจึงช่างเหมือนละครหลังข่าวในเมืองไทยได้ขนาดนั้น

ไพรัชนิยายไทยที่ผมเข้าใจว่าพยายามจะเข้าใจความเป็นอื่นให้มากกว่าความแตกต่างทางกายภาพน่าจะเป็น ปักกิ่งนครแห่งความหลัง ของคุณสด กูรมะโรหิต ที่พยายามเข้าไปถึงเงื่อนไขในชีวิตความเป็นอยู่และจิตใจของกลุ่มผู้ดีรัสเซียที่ต้องหนีออกจากประเทศอย่างสิ้นเนื้อประดาตัว แต่เราก็ไม่ค่อยได้พบความพยายามอย่างนี้ในไพรัชนิยายไทยมากนัก หรือแม้แต่ใน ปักกิ่งนครแห่งความหลัง เอง การตัดสินใจของตัวละคร ก็เป็นการตัดสินใจที่เอามาใส่ในตัวละครไทยก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าตัวตายเพื่ออิสรภาพของคนที่รัก หรือความปรารถนาดีอย่างจริงใจที่ให้แก่คนรักซึ่งกำลังจะจากไป

ความ “เป็นอื่น” ทางวัฒนธรรมจึงเป็นเพียง “ฉาก” ที่แปลกหูแปลกตาสำหรับผู้อ่านเท่านั้น ไม่มีผลต่อเนื้อเรื่องหรือบุคลิกตัวละคร ซึ่งยังคงมีพฤติกรรมที่ผู้อ่านไทยพึงคาดหวังได้ หรือไม่รู้สึกประหลาดใจแต่อย่างใด

ในการสร้างนิยาย ความเป็น “ต่างแดน” อาจทำหน้าที่ได้หลายอย่าง นอกจากการสร้างความแปลกหูแปลกตา ผมคิดว่านักเขียนไพรัชนิยายไทยใช้ประโยชน์จาก “ต่างแดน” น้อยเกินไป

“ต่างแดน” ทำอะไรได้หลายอย่าง “ต่างยุค” ก็ทำอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน ที่น่าประหลาดใจแก่ผมก็คือ นิยายไทยใช้ประโยชน์จาก “ต่างยุค” ได้มากกว่า “ต่างแดน” ดังที่กล่าวแล้วว่าไพรัชนิยายไทยใช้ “ต่างแดน” เป็นเพียงเครื่องเทศรสใหม่เท่านั้น แต่นิยาย “ต่างยุค” ของไทยมักใช้ยุคอดีตหรืออนาคต มากกว่าเครื่องเทศ แต่เพื่อพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น สี่แผ่นดิน ทำให้เราเชื่อว่า ท่ามกลางความบกพร่องของสังคมไทยในอดีต มันกลับมีคุณค่าบางอย่างซึ่งควรคงอยู่ชั่วนิรันดร์ (เช่น ความยุติธรรมและเมตตาธรรมของผู้ใหญ่ดัง “เสด็จ”) และคุณค่าเช่นนั้นดำรงอยู่ได้ในชีวิตจริงของผู้คนเพราะ “ที่บน” หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นวนิยายอีกหลายเรื่องยืนยันว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” คือคนไทยเผชิญวิกฤตได้หรือกู้ชีวิตตนเองจากวิกฤตได้ ในระยะแรกวิกฤตที่ถูกใช้ในนิยายมากคือการเสียกรุงใน พ.ศ.2310 ในระยะหลังก็อาจเป็นการเผชิญกับลัทธิล่าอาณานิคมของตะวันตก แต่น่าสังเกตว่าการอภิวัฒน์ใน พ.ศ.2475 ในนวนิยายไทย กลับเปลี่ยนท้องเรื่องเป็นวิกฤตที่คนไทยแก้ไม่หลุดสืบมาจนปัจจุบัน ไม่มีนักเขียนไทยคนไหนสนใจจะพูดถึงชีวิตใหม่, โอกาสใหม่, สังคมใหม่, ความสัมพันธ์ใหม่ อันเป็นผลมาจากการอภิวัฒน์ ซึ่งแม้ไม่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแก่ทุกคน แต่ก็เกิดขึ้นแก่คนจำนวนไม่น้อยเหมือนกัน (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาท่านหนึ่งเคยพูดว่า หากไม่มีการอภิวัฒน์ใน 2475 ท่านก็คงไม่ได้เรียนหนังสือ และไม่มีวันก้าวขึ้นมาเป็นผู้พิพากษาได้เลย)

ว่าที่จริงประวัติศาสตร์ไทยมีเรื่องของความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ที่กระทบชีวิตผู้คนหลายชั้นหลายรุ่นมามาก แต่ไม่ค่อยมีนักเขียนสมัยหลังคนไหนสนใจนำเอามาเป็นท้องเรื่องในนิยาย แตกต่างจากทุ่งมหาราชของ มาลัย ชูพินิจ, งานของ ไม้ เมืองเดิม และเสือใบเสือดำของ ป.อินทรปาลิต

ผมยังรออ่านนวนิยายที่ใช้วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 เป็นปูมหลังของเรื่อง เพราะวิกฤตครั้งนั้นทำให้ชีวิตของหลายคนเป็นเหมือนนิยายให้เล่าขานสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ผมอยากจะตั้งสมมติฐานโดยปราศจากความรู้วรรณกรรมนานาชาติอย่างเพียงพอว่า ไพรัชนิยายย่อมถูกสร้างขึ้นเมื่อ “ต่างแดน” มีความสำคัญแก่คนในสังคมนั้นๆ เราจึงพบไพรัชนิยายเก๋ากึ๊กในวัฒนธรรมโบราณที่กำลังขยายตัวไป “ต่างแดน” เสมอ จะขยายตัวเพื่อเผยแพร่อารยธรรมและศาสนาของตน หรือเพื่อขยายแสนยานุภาพและผลประโยชน์จากการค้าก็ตามที

อินเดียสร้างรามายณะขึ้นเล่าถึงตอนใต้ของอนุทวีป เลยไปจนถึงลังกา ซึ่งสมัยที่แต่งยังเป็น “ต่างแดน” ของคนทางเหนือ รวมทั้งนิทานพื้นบ้านที่พูดถึงสุวรรณภูมิ, จีน, จนถึงโลกตะวันตก จีนสร้างไซอิ๋ว และรายละเอียดของ “ต่างแดน” ที่ไปจิ้มก้องจักรพรรดิจีนไว้จำนวนมากในพระราชพงศาวดารและเอกสารโบราณ กรีกสร้างไพรัชนิยายลือชื่อคืออีเลียตของโฮเมอร์ โรมมีนักภูมิศาสตร์ที่ศึกษาโลกไปจนสุดขอบฟ้า เช่นเดียวกับอาหรับ

ไทยและเพื่อนบ้านมีแค่พระเจ้าเลียบโลกซึ่งก็คือดินแดนใกล้เคียงซึ่งรู้จักกันดีอยู่แล้วเท่านั้น ซ้ำยังไม่สนใจจะเล่าถึงดินแดนแถบนั้นมากไปกว่าการเยือนของพระพุทธเจ้า โดยปราศจากความรู้โดยสิ้นเชิง ผมอยากเดาว่าญี่ปุ่นไม่น่าจะมีไพรัชนิยายจนถึงหลังสมัยเมจิไปแล้ว นอกจากที่เกี่ยวกับจีนซึ่งเป็นแม่แบบวัฒนธรรมของตน

และด้วยเหตุดังนั้น ไพรัชนิยายที่สะท้อนสำนึกสากลนิยม (cosmopolitanism) จึงไม่ค่อยปรากฏในนวนิยายไทย เพราะสถานะของประเทศไทยไม่เป็นเหตุให้คนไทยต้องมีสำนึกสากลนิยมตลอดมา สำนึกสากลนิยมก็คล้ายกับจานผีและมนุษย์ต่างดาวแหละครับ คือชอบลงจอดในประเทศที่นึกว่าตัวเป็นศูนย์กลางของโลก เมื่อหลังสงคราม จานผีและมนุษย์ต่างดาวชอบลงจอดในอเมริกา แต่ตอนนี้ชอบลงจอดในจีน โดยอ่านภาษาจีนไม่ออกเลย ผมอยากเดาว่า ปัจจุบันคงมีการสร้างไพรัชนิยายในภาษาจีนเป็นอันมาก