กรองกระแส/โรคระบาด การเมือง ความไม่เชื่อ ความไม่มั่นใจ ในเรื่อง “การเลือกตั้ง”

กรองกระแส

โรคระบาด การเมือง ความไม่เชื่อ ความไม่มั่นใจ ในเรื่อง “การเลือกตั้ง”

ไม่ว่า 4 คำถามอันมาจาก “ศาสตร์แห่งพระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ไม่ว่าความพยายามในการเตะถ่วงร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับสำคัญ

ล้วนสัมพันธ์กับ “การเลือกตั้ง”

น่าสนใจอย่างยิ่งที่มิได้มีรากงอกมาจากความต้องการทำให้โรดแม็ปโดยเฉพาะอย่างยิ่งอันเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง” ปรากฏเป็นจริง

ตรงกันข้าม เป้าหมายกลับต้องการเลื่อน “การเลือกตั้ง” ออกไป

หากสดับตรับฟังจากเสียงของ “กองเชียร์” อันแวดล้อมอยู่โดยรอบของ คสช. และของรัฐบาลจะเห็นชัดมากยิ่งขึ้นว่า เป้าหมายอย่างแท้จริงมิได้อยู่ที่การเลื่อน “การเลือกตั้ง” ให้ยาวนานออกไป หากแต่ถ้าไม่ต้องมี “การเลือกตั้ง” เลยจะยิ่งเป็นความปรารถนา

เท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า ความต้องการโดยพื้นฐานก็คือ ความต้องการไม่ให้มี “การเลือกตั้ง” ได้บังเกิดขึ้นในทางเป็นจริง

เป็นความฝันเหมือนกับหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

บทเรียนจากอดีต

บทเรียนรัฐประหาร

จะทำความเข้าใจต่อเหตุและปัจจัยอันทำให้เกิดความรังเกียจเดียดฉันท์ “การเลือกตั้ง” ได้ ต้องทำความเข้าใจต่อเหตุและปัจจัยอันทำให้เกิดรัฐประหาร 2 ครั้งภายในห้วง 1 ทศวรรษ

เป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 คืออะไร

ไม่ว่าจะมองก่อน ไม่ว่าจะมองเมื่อเกิดปฏิบัติการ ไม่ว่าจะมองภายหลังรัฐประหารได้สำเร็จ คือการโค่นล้มและทำลายพรรคไทยรักไทย

เป้าหมายของรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คืออะไร

ไม่ว่าจะมองก่อน ไม่ว่าจะมองเมื่อเกิดปฏิบัติการ ไม่ว่าจะมองภายหลังรัฐประหารได้สำเร็จ คือการโค่นล้มและทำลายพรรคเพื่อไทย

ถามว่าความสัมพันธ์ระหว่างพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร

พรรคพลังประชาชนคืออวตารของพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทยคืออวตารของพรรคพลังประชาชน

พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย จึงเป็นพรรคเดียวกัน

พรรคไทยรักไทยได้อำนาจจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2548 พรรคพลังประชาชนได้อำนาจจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนได้อำนาจจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554

แม้ผ่านรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 ความหวาดกลัวว่าจะพ่ายแพ้แก่พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งก็ยังดำรงอยู่

ความกลัว พรั่นพรึง

ปัจจัยไม่อยากเลือกตั้ง

ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งคือเวทีอันแข็งแกร่งเป็นอย่างมากที่พรรคเพื่อไทยสืบทอดมาจากพรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักไทย

เมื่อมีรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 จึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ทิ้ง

แม้เมื่อมีการร่างและประกาศบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกมาเป็นเครื่องมือใหม่ แต่เลือกตั้งเดือนธันวาคม 2550 ก็แพ้ เลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2554 ก็แพ้

จึงต้องมีการรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 และร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศและบังคับใช้ กระนั้น ความหวาดกลัวต่อการเลือกตั้งก็ยังดำรงอยู่ในกลุ่มคนที่แวดล้อมและได้ประโยชน์จาก คสช. และรัฐบาล

จึงพยายามทำทุกอย่างให้ “การเลือกตั้ง” เลื่อนยาวออกไป หรือถึงขั้นที่สุดแล้วก็คือไม่ยอมให้มี “การเลือกตั้ง” เกิดขึ้น

สะท้อนให้เห็นความไม่เชื่อมั่นต่อ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”

สะท้อนให้เห็นว่าความพยายามจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 และต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยังดำรงอยู่

และต้องทำทุกอย่างให้ “การเลือกตั้ง” ต้องเลื่อนออกไปอีก

โรคระบาดใหม่

โรคความไม่เชื่อมั่น

ทั้งๆ ที่ทุกรัฐบาลเรียกร้องต้องการให้เกิด “ความเชื่อมั่น” เกิดความไว้วางใจ แต่บทบาทและลีลาในห้วงนับแต่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เมื่อเดือนเมษายน เป็นต้น

“ความไม่เชื่อ” กำลังกลายเป็นกระแสและจะกลายเป็น “โรคระบาด”

เฉพาะหน้าที่เห็นและเป็นอยู่ก็คือ ความไม่เชื่อว่าจะมี “การเลือกตั้ง” เป็นไปตามโรดแม็ป 1 อาจเป็นเพราะโรดแม็ปมีการเลื่อนแล้วมีการเลื่อนอีก

1 อาจเป็นเพราะเห็นการเคลื่อนไหวที่ส่อ “ทางโน้ม” ไปอย่างนั้น

ยิ่งกระแส “ความไม่เชื่อ” แพร่ขยายออกไปมากเพียงใดจะยิ่งเป็นอันตรายต่อ “ความเชื่อมั่น” และความไว้วางใจ

ในที่สุด คนที่เคยเป็น “โจทก์” ก็อาจกลายเป็น “จำเลย” ในทางสังคม