ยกบทเรียนแต่งตั้งตำรวจ เงาสะท้อน 3 ปีปฏิรูปสีกากี

3ปีเต็ม ที่วลี “ปฏิรูปตำรวจ” ถูกตีปี๊บให้กระหึ่ม

ยกเป็นหนึ่งในประเด็นร้อน หมวด “ปฏิรูปประเทศ” ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

แต่ทว่า 3 ปีผ่านไป ก็ยังเป็นเพียง “วลี” ที่ยังไม่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

3 ปี “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ภายใต้การกุมบังเหียน บัญชาโดย “พี่ใหญ่ คสช.” บิ๊กป้อม “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้กำกับดูแลองค์กรตำรวจ การเข้าคุมโดยบิ๊กป้อมผู้มีน้องชายร่วมสายเลือด บิ๊กป๊อด “พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ” เป็นถึงอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และยังเป็น ผบ.ตร. ในยุคที่องค์กรตำรวจเผชิญวิบากการเมืองมีสี ม็อบการเมืองรุมเร้า ส่งผลให้ “บิ๊กป๊อด” ในตอนนั้นได้รับผลกระทบอย่างจัง!!

ด้วยปัจจัยความพร้อมของบิ๊กป้อมและคนใกล้ชิดนี่เองทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าการบังคับบัญชา กุมกำองค์กรสีกากีในยุคนี้จะเป็นไปในทางวัฒนา และเดินหน้า “ปฏิรูป” ตำรวจอย่างเข้าอกเข้าใจ

ทว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา องค์กรตำรวจเดินไปอย่างไร ทิศทางอนาคตส่องเห็นสิ่งใด “ปฏิรูป” หรือไม่ เหล่าสีกากีเรียนรู้ รับทราบ

และมีคำตอบเก็บไว้ในใจ?!

การสลัดอำนาจแฝง ที่กุม “ตำรวจ” จนทำให้ขาดอิสระ ในฐานที่ผู้บังคับใช้กฎหมายพึงเป็น การจัดการแต่งตั้งโยกย้ายบริหารกำลังพลสีกากีให้เป็นธรรม ยึดหลักคุณธรรม ลบข้อครหาร้ายกาจ กล่าวหาเก้าอี้ซื้อได้ เป็นหัวข้อใหญ่โจทย์หลักๆ ของการปฏิรูปสีกากี ภายใต้ คสช. ที่สามารถใช้อำนาจออกระเบียบกฎหมายพิเศษได้เมื่อเห็นสมควร

นับแต่ คสช. คุมอำนาจ มีคำสั่ง ประกาศ หัวหน้า คสช. เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปตำรวจหลายฉบับ และส่วนใหญ่ระบุจุดประสงค์ชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ

แม้กระทั่งคำสั่งหัวหน้า คสช. ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2560 เรื่องการปรับปรุงระบบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ” ที่ถูกนำมาใช้ในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายสารวัตร ถึงรองผู้บังคับการ วาระประจำปี 2559

สาระหลักที่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติ ในการแต่งตั้งวาระ 59 คือ อำนาจการแต่งตั้ง ออกคำสั่ง ทุกหน่วย ยังอยู่ที่ ผบ.ตร. แต่ต้องผ่านการพิจารณาคัดเลือก หรือกลั่นกรอง โดยคณะกรรมการหรือบอร์ดระดับ กองบังคับการ หรือจังหวัด ที่มีผู้บังคับการหน่วยเป็นหัวโต๊ะ มีรองผู้บังคับการทุกคนเป็นกรรมการ

ส่งต่อกลั่นกรองโดยบอร์ดกองบัญชาการ มีผู้บัญชาการเป็นประธาน รองผู้บัญชาการเป็นทีมกรรมการ จากนั้นผ่านบอร์ดสุดท้ายระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอร์ดกลั่นกรอง ตร. มี ผบ.ตร. หัวโต๊ะ คณะรอง ผบ.ตร. เป็นกรรมการ

กลุ่มที่ต้องยกเว้นหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ทั้งกรณีข้อยกเว้นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตำแหน่ง กลุ่มที่ข้อยกเว้นโยกย้ายโดยอยู่ในตำแหน่งเดิมไม่ถึง 2 ปี ผบ.ตร. เสนอรายชื่อให้ “บอร์ดใหญ่” คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ประทับตรารับรองก่อน จากนั้นออกคำสั่งโดย ผบ.ตร. แจกจ่ายพร้อมกัน

เป็นหลักแนวทางตามกฎหมายที่ใช้ในการแต่งตั้งครั้งนี้ภายใต้อำนาจตามกฎหมายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

การแต่งตั้งตำรวจ โดยเฉพาะวาระ สว.-รอง ผบก. ถูกจับตามอง เฉพาะวาระปี 2559 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในขณะนี้นั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ระบุว่า มีมากกว่า 6,000 ราย จำแนกเป็น กลุ่มเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ประมาณ 2,50ราย ที่เหลือคือโยกย้ายสลับ

เข้าสู่เดือนที่ 6 ของปี 2560 เวลานี้ ทว่า การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ในตำแหน่งระดับ สว. ถึง รอง ผบก. วาระประจำปี 2559 ปีที่แล้ว ยังไม่สะเด็ดน้ำ

เลื่อนขยับจากวาระแต่งตั้งโยกย้ายที่ควรจะเป็น ล่วงเวลาตามกรอบกฎหมายร่วมครึ่งปี

ย้อนไปซ้ำรอยการแต่งตั้ง สว.-รอง ผบก. วาระประจำปี 2558 เป็นที่โจษขานในวงการสีกากี ว่าเป็นวาระแต่งตั้งที่ติดขัด ขยักขย้อน ล่าช้าเป็นประวัติการณ์

ปีที่แล้ว ห้วงเวลาเดียวกันนี้ เดือนมิถุนายน 2559 การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ก็ยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ ท่ามกลางข้อครหา ความกังขา ค้างเติ่ง เปิดหลุมที่รอการล้างภาพสะสางในการแต่งตั้งวาระปีนี้

ย้อนไปคราววาระ 2559 การออกคำสั่งแต่งตั้งตำรวจ มีแต่เรื่องฮือฮา มีทั้งตั้งคนตาย ย้ายคนซ้ำ ออกคำสั่งแก้ คำสั่งถอนกันโกลาหล กลายเป็นเรื่องตลกร้ายสีกากี ที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่อยากได้ยิน

เป็นความผิดพลาดทั้งทางธุรการ ทางบริหาร ที่ปรากฏชัด ท่ามกลางข่าวลือสะพัดลดทอนความศักดิ์สิทธิของคำสั่ง จนทำให้ผู้มีอำนาจต้องสั่งเบรกทั้งที่ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ มีหลุม มีเก้าอี้ที่ต้องแก้ปัญหาเชิงบริหารด้วยการออกคำสั่งรักษาราชการแทน!?

ผู้ที่เกี่ยวข้องสรุปบทเรียน ชี้เป้าความผิดพลาดครั้งวาระ 2559 ไปที่เรื่องธุรการ และข้อมูล เนื่องจากในการแต่งตั้งวาระ 2558 เป็นครั้งแรกที่ให้อำนาจการออกคำสั่งทำบัญชี อยู่ที่ ผบ.ตร. และทีมงานเฉพาะส่วนกลาง

ครั้งนี้จึงแก้ปัญหา อัพเดตข้อมูลใหม่ ใช้ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยงาน ในทางหนึ่งคือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2560 ให้ผ่านการกลั่นกรองจัดบัญชีระดับต้นมาจาก บก. บช. ตามลำดับ เมื่อเข้าบอร์ดใหญ่คณะทำงานทำบัญชีของ ผบ.ตร. ที่ยังเป็นกลุ่มคนเดิมๆ เมื่อครั้งวาระ 2558 ผบ.ตร. ก็ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ธุรการกำลังพลของทุกกองบัญชาการมาปฏิบัติราชการในส่วนกลางที่กองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่ออุดรอยรั่วความผิดพลาด ข้อมูลกำลังพลเออเร่อร์ ที่เคยสร้างความฮือฮา

แต่แล้วอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นการแต่งตั้ง สว.-รอง ผบก. วาระ 2559 ยังคงล่วงเลยล่าช้าอยู่ดี

ปัญหาการแต่งตั้งที่ล่าช้า ล่วงเลยเวลาอันควรตามกฎหมาย ที่ทำให้เหล่าสีกากีที่ได้รับผลกระทบเสียสิทธิ โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นตามสัดส่วนความอาวุโส วันนี้เมื่อคำสั่งที่ต้องได้เลื่อนตำแหน่งล่าช้า เวลาที่ควรได้ปฏิบัติหน้าที่คลาดเคลื่อน ทั้งขั้นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ที่หายไปกับเวลาที่ล่วงเลย ไม่นับรวมภาวะสุญญากาศ ระหว่างรอคอยคำสั่งแต่งตั้ง ภาวะเกียร์ว่างที่เกิดขึ้น สังคม ประชาชนเสียประโยชน์ไปเท่าไหร่ เหล่านี้เป็นการตั้งคำถาม

หรือปมเหตุปัญหาการแต่งตั้งตำรวจไม่ใช่ที่ธุรการล่าช้า แต่เป็นเพราะบุคคล

อำนาจมืดในที่สว่าง อย่างนั้นหรือไม่ ที่ยังทำให้ผู้มีอำนาจตามตัวบทกฎหมายต้องซูฮก ต้องจำยอม จนไม่สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมเพื่อปฏิรูปองค์กรตำรวจตามโจทย์ใหญ่

นี่ไม่ใช่เรื่องตลก เรื่องโจ๊กที่จะทำซ้ำ เล่ากันขำขัน 2 ปีซ้อนเช่นนี้

ไม่รู้ “บิ๊กป้อม” พี่ใหญ่ คสช. ผู้กุมบังเหียนจะทำอย่างไรต่อไป

หากปล่อยให้ระบบรวน “ปฏิรูปตำรวจ” คงไกลเกินกว่าจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์