มุกดา สุวรรณชาติ : ที่เหลืออยู่… จากการเรียกร้องให้ยุบสภา 2553 (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

ฉากสุดท้าย ไม่มีสันติ มีแต่ ความตาย

แม้มีความพยายามจะทำให้ผู้คนลืมเหตุการณ์ปี 2553 แต่ยุคนี้ทำไม่ได้แล้ว วันนี้เพียงใช้นิ้วจิ้ม เหตุการณ์ในอดีต ทั้งภาพและเสียง จะปรากฏให้เห็น ไม่มีใครสามารถโกหกคนทั้งโลกได้

18 พฤษภาคม ศอฉ. ประกาศให้มีการหยุดราชการในกรุงเทพฯ ไปอีก 3 วัน คือ 19-21 ในตอนเย็น พลเอกเลิศรัตน์ ส.ว.สรรหาได้นำ ส.ว. กลุ่มหนึ่งเข้ามาปรึกษากับแกนนำ นปช. ที่ราชประสงค์เพื่อหาทางยุติความขัดแย้ง โดยหวังว่าวันรุ่งขึ้นอาจจะเจรจากับรัฐบาลได้โดยมี ส.ว. เป็นตัวกลาง

แต่หลังจากนั้นก็มีข่าวว่าทหารจะเข้าสลายการชุมนุมในเช้ามืดวันรุ่งขี้น เวลาตี 5 ผู้ที่ไม่ต้องการให้ถูกจับ ต้องมุดหนีออกไป พวกที่เหลืออยู่ ก็พร้อมรับทุกสถานการณ์

ใครเป็นผู้ล้มการเจรจา?

19 พฤษภาคม ปฏิบัติการสลายการชุมนุมเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลาประมาณ 4 นาฬิกา ทางฝ่ายผู้ชุมนุมก็รู้ตัว พอสว่างทหารก็นำรถหุ้มเกราะเข้าเคลียร์พื้นที่ทลายป้อมค่ายที่เป็นยางรถยนต์ทางด้านสวนลุมฯ แล้วเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ มีการยิงทั้งบริเวณสวนลุมฯ และในแนวถนนราชดำริ

ช่วงเช้า เวทียังตรึงผู้ชุมนุมให้อยู่ในระเบียบได้ ตอนบ่ายโมงแกนนำ นปช. ตัดสินใจยุติการชุมนุมแล้วยอมมอบตัว แม้จะมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอม

การสูญเสียมีบ้าง แต่น้อยกว่าที่ทางการคาดไว้ เป็นเพราะไม่มีอาวุธร้ายแรงในที่ชุมนุม และแทบไม่มีการยิงต่อสู้ การถูกลูกหลงจึงไม่มี มีแต่ตั้งใจกับไม่ตั้งใจเท่านั้น

การชุมนุมจบลงเมื่อแกนนำเข้าไปมอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งอยู่ใกล้กับสี่แยกราชประสงค์ ผู้ชุมนุมบางส่วนเข้าไปอยู่ในวัดปทุมวนาราม บางส่วนเดินไปขึ้นรถที่สนามกีฬา

และในที่สุดผู้ชุมนุมคนสุดท้ายก็ต้องเก็บธงแดงและออกจากพื้นที่ไป เพราะทหารได้เข้าควบคุมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว

หลังจากแกนนำมอบตัวและมีการสลายมวลชนจากที่ชุมนุมสี่แยกราชประสงค์แล้วเหตุการณ์ควรจะจบ แต่กลับกลายเป็นว่ามีการเผาบริเวณโรงหนังสยามและห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่ง 2 จุดนั้นทหารน่าจะควบคุมได้ไม่ยากนัก แต่ว่าเกิดไฟไหม้แล้วไม่มีรถดับเพลิงที่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ หลังจากนั้นยังมีการยิงเข้าใส่ประชาชนที่หลบไปอยู่ในวัดปทุมวนารามทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 6 คน

ในการกระชับพื้นที่บริเวณราชประสงค์และโดยรอบตลอด 7 วัน น่าจะมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 55 ราย แต่รวมตลอดทั้งเหตุการณ์มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บนับพัน

ที่ทบทวนเหตุการณ์อีกครั้งก็เพื่อจะได้ยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตลอดเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่ใช่อุบัติเหตุเพราะเกิดความรุนแรงขึ้นหลายครั้งหลายหนในช่วงเวลาที่ต่างกัน มีระยะเวลาติดต่อกันนานนับเดือน

ผลลัพธ์ของการกระทำครั้งนั้นเกิดจากการตัดสินใจของผู้นำทั้งสองฝ่ายซึ่งได้ตัดสินใจตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และก็แก้อีกปัญหาต่อไปเรื่อยๆ จนถลำลึกเข้าวังวนแห่งความรุนแรง

 

ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณีเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ได้ออกแถลงการณ์เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีของเหตุนองเลือด โดยระบุว่า

แม้เวลาจะล่วงเลยเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไป 7 ปีแล้ว ศปช. ยังขอยืนยัน “ความจริง” ที่ค้นพบอีกคำรบหนึ่ง ดังต่อไปนี้

– รัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพ ใช้กำลังเกินกว่าเหตุและละเมิดกฎการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักในการสลายการชุมนุม มีการระดมกำลังพลของกองทัพถึง 67,000 นาย มีการเบิกจ่ายกระสุนจริงถึง 597,500 นัด ส่งคืน 479,577 นัด เท่ากับมีการใช้กระสุนจริงไปทั้งสิ้น 117,923 นัด มีการเบิกจ่ายกระสุนสำหรับการซุ่มยิง (สไนเปอร์) 3,000 นัด ส่งคืนเพียง 880 นัด เท่ากับใช้ไป 2,120 นัด และมีการประกาศ “เขตกระสุนจริง” ต่อผู้ชุมนุมอย่างเปิดเผย และนี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีพลเรือนเสียชีวิต 84 ราย (เจ้าหน้าที่ 10 ราย) และบาดเจ็บอีกกว่า 1,400 คน

– แม้ว่ารัฐบาลและ ศอฉ. พยายามกล่าวหาว่าผู้ชุมนุมเป็นผู้ก่อการร้าย และมีอาวุธร้ายแรง แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้เสียชีวิตรายใดมีอาวุธร้ายแรงที่สามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ในระยะไกลได้ ผลการไต่สวนการตายของผู้ชุมนุมโดยศาลอาญาจำนวน 18 ราย ล้วนยืนยันข้อเท็จจริงนี้

– การเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตฝ่ายพลเรือน เกือบทั้งหมดเสียชีวิตจากกระสุนปืน โดยมากกว่าร้อยละ 50 พบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ประสงค์ให้ถึงแก่ชีวิต

– จากการไต่สวนการตายของศาลอาญาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ในกรณี 6 ศพวัดปทุมวนาราม ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักให้เชื่อตามคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหารว่ามีชายชุดดำยิงอยู่ภายในพื้นที่รอบวัดหรือภายในวัด หรือมีการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ศาลจึงวินิจฉัยว่าการเสียชีวิตของทั้ง 6 คนเป็นผลจากการกระทำของทหาร

– กรณีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเดิมเจ้าหน้าที่กล่าวหาผู้ชุมนุมเสื้อแดง 2 คน คือ นายสายชล แพบัว และ นายพินิจ จันทร์ณรงค์ ในข้อหาวางเพลิง

ศาลอุทธรณ์ได้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นไปแล้ว

 

คดีความและการฟ้องร้อง เอาผิดใครไม่ได้

เดือนตุลาคม 2556 อัยการสูงสุดได้สั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าโดยเจตนา

แต่หลังการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 มีการพิพากษายกฟ้องนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ด้วยเหตุผลว่าทั้งสองออกคำสั่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณา ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง ต้องให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้มูลความผิดและยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉะนั้น ศาลอาญาจึงไม่มีอำนาจพิจารณา

ขณะที่ทางด้าน ป.ป.ช. ก็มีมติให้ข้อกล่าวหาตกไป

ด้วยเหตุผลว่าข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยังรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

ทั้งนี้ ป.ป.ช. เห็นว่า หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติใช้อาวุธโดยไม่สุจริต เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ก็ถือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวเท่านั้น

ซึ่งต้องส่งเรื่องให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่เป็นรายบุคคลไปยังดีเอสไอเพื่อสอบสวนการกระทำผิดต่อไป

คสช. ยังได้ออกคำสั่งที่ 68/2558 เปลี่ยนแปลงพนักงานสอบสวนและแนวทางการสอบสวนสำหรับสำนวนคดีผู้เสียชีวิตกรณีปี 2553 ที่เหลือทั้งหมด

สรุปว่า ไม่มีใครในระดับสั่งการต้องรับผิดชอบต่อการสังหารกลางเมือง ถ้าจะเอาผิดต้องไปเอาผิดกับผู้ปฏิบัติการเป็นรายบุคคล

 

สิ่งที่ได้เห็นหลังเหตุการณ์ผ่านมา… 1-7 ปี

1.มีแรงกดดันจนต้องมีการยุบสภาโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ในเดือนพฤษภาคม 2554 และก็มีการเลือกตั้งใหม่ซึ่งได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เป็นรัฐบาล

2. มีกระบวนการล้มรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2555 และ 2556 ซึ่งใช้รูปแบบเดิมๆ คือเริ่มด้วยม็อบ กปปส. จึงมีการยุบสภา มีการบอยคอตการเลือกตั้ง ศาลปลดนายกฯ ยิ่งลักษณ์จากคดีแต่งตั้งโยกย้ายเลขาฯ สมช. สุดท้ายก็จบลงด้วยการรัฐประหารใน 22 พฤษภาคม 2557

3. มีกระบวนการสร้าง รธน.ใหม่หลังจากฉีกฉบับ 2550 ไปแล้ว เราจึงได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งจะใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งมีลักษณะพิเศษ ต่างจากฉบับ 2540 ซึ่ง ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ ส.ว. มาจากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง สรรหาโดยผู้มีอำนาจครึ่งหนึ่ง แต่ในปัจจุบันเรามีรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่ง ส.ว. ทั้ง 250 คน มาจากการสรรหาทั้งหมด ประชาชนไม่มีโอกาสเลือกเลย ส่วนการเลือกตั้ง ส.ส. จะเป็นการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม

4. ระยะ 7 ปีหลังการเคลื่อนไหว 2553 เรามีรัฐบาลที่เปรียบเทียบกันได้ 3 รัฐบาลคือรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาลปัจจุบันของนายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านผู้อ่านสามารถเปรียบเทียบเอาเองว่า ฝีมือการบริหารบ้านเมืองของใครเป็นอย่างไร

5. การเปลี่ยนทางอำนาจ ผ่านมาครบ 7 ปี สภาพของอำนาจอธิปไตย ทั้งบริหาร…นิติบัญญัติ…และตุลาการหรืออำนาจนอกรัฐธรรมนูญ บัดนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมได้กุมอำนาจอย่างสมบูรณ์

สามารถแต่งตั้งบุคลากรได้ทุกตำแหน่งตามต้องการ

มีอำนาจในการร่างหรือแก้ไขปรับปรุงกฎหมายได้ตามต้องการตั้งแต่รัฐธรรมนูญจนถึงกฎหมายธรรมดา

และยังมีมาตรา 44 ที่จะสามารถใช้เพื่อแก้ไขปัญหา หรือเพื่อการใดๆ ก็ได้อย่างรวดเร็วทันใจ เรื่องการทหารก็ไม่มีคลื่นลมที่จะมาก่อกวน คสช. ยังคุมอำนาจได้จนถึงวันนี้

 

สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ

นายกฯ อภิสิทธิ์ยังเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เหมือนเดิม

นายกฯ ยิ่งลักษณ์ถูกฟ้อง และคงไม่สามารถกลับเข้าวงการเมืองได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

นายกฯ ทักษิณก็ยังกลับบ้านไม่ได้เหมือนเดิม

นายกฯ พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกฯ เหมือนเดิม

ถ้าใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมือง จะยังคงเป็นแบบนี้อีกต่อไปในช่วงระยะเวลาประมาณ 2-5 ปี และถ้าไปตามยุทธศาสตร์ 20 ปีโดยไม่มีอุบัติเหตุ เราอาจจะต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ต่อไปถึง 20 ปี

แต่คนไทยน่าจะทนได้เพราะเพื่อนบ้านของเรา เช่น พม่า ก็ทนมาได้เกินกว่า 40 ปี