สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ห้องเรียน ปาฏิหาริย์ ถามคือสอน (7)

สมหมาย ปาริจฉัตต์
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก เพาะปัญญา มหิดล

เวทีนำเสนอผลงานระดับประเทศ เพาะพันธุ์ปัญญาประจำปี 2560 สำหรับเด็กไทย 4.0 ภาคบ่ายถูกออกแบบให้เป็นความรับผิดชอบของศูนย์พี่เลี้ยง 8 มหาวิทยาลัย เปิดห้องให้ผู้เข้าร่วมเลือกตามความชอบ ความถนัด ความต้องการเติมเต็มความรู้เรื่องใด

นำโดยศูนย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ห้อง “ถามคือสอน” ศูนย์มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ห้องการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจากการทำโครงงาน

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ห้องการสร้าง PLC Network บนฐาน ICT มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ห้องจิตตปัญญาศึกษา

มหาวิทยาลัยมหิดล ห้องการออกแบบแปรงานวิจัยด้วย Active Learning มหาวิทยาลัยพะเยา ห้องการสร้างโจทย์โครงงานฐานวิจัย (RBL)

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ห้องการสอนคิดความเป็นเหตุเป็นผล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ห้องการฝึกทักษะชีวิต บนการสอนโครงงานฐานวิจัย

หน่วยจัดการกลางโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ห้องสเต็มศึกษาแบบเพาะพันธุ์ปัญญา

อ่านหัวข้อแล้ว ตัณหาเกิดอยากเข้าไปร่วมรับรู้ ซึมซับประสบการณ์หลากหลายทั้งหมด เพราะน่าสนใจทุกห้อง

ผมตัดสินใจเลือกห้องแรก เพราะอยากรู้ว่าการฝึกให้ครูคิด ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนด้วยการ “ถามคือสอน” กระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาเขาทำกันอย่างไร

ยิ่งอ่านรายละเอียด ความคิดรวบยอดของเนื้อหาที่ผู้เข้าร่วมห้องจะได้รับแล้ว ท้าทายมาก “ปาฏิหาริย์” ของการเรียนรู้สู่ปัญญาที่แท้จริงนั้นไม่ได้เกิดจากการท่องจำ ไม่ได้เกิดจากการพูดให้ฟัง ไม่ได้เกิดจากการใช้สิ่งของเครื่องมืออันวิเศษมหัศจรรย์อันใด แต่เกิดจากการ “สงสัย” ผ่านสิ่งที่เข้ามากระทบทางประสาทสัมผัสต่างๆ ของผู้เรียน ซึ่งเป็นความสงสัยที่เกิดขึ้นอย่างแยบคายและมีกลยุทธ์ มีการวางแผนที่ลึกล้ำ ผ่านศิลปะของทักษะแห่งการออกแบบการสื่อสารที่เรียบง่ายและโดน “ต่อมเอ๊ะ” หรือต่อมขี้สงสัยของผู้เรียนรู้ ซึ่งนำไปสู่การขยี้ภายในจิตใจของผู้เรียนรู้จนเกิดการ “อ๋อ” ด้วยตนเองในที่สุด

แน่นอนว่าหนึ่งในเครื่องมือที่ทรงพลังและเรียบง่ายที่สุดในการสร้างปาฏิหาริย์นี้คงหนีไม่พ้น “คำถาม” ที่มีประสิทธิภาพ

เพราะเมื่อใดที่ “คำถามบอกทิศ” เมื่อนั้น “คำตอบจะบอกทาง” แล้วแสงสว่างของการเรียนรู้จะผุดขึ้นภายในใจของผู้เรียนได้โดยพลัน…นี่คือหนึ่งในทักษะสำคัญของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้แห่งชีวิต นั่นเพราะว่า “ถามคือสอน” ที่ท่านจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะกับเพาะพันธุ์ปัญญา

สำนวนภาษาสวิงสวายท้าทาย ชวนให้คิดถึงนักเขียนรุ่นใหญ่ลายคราม “รงค์ วงค์สวรรค์ (หนุ่ม) ผู้จากไป การสื่อสารของนักการศึกษาไทยรุ่นใหม่ทำได้ไม่บันเบาเช่นกัน

และไม่ผิดหวังจริงๆ ครับ เข้าไปร่วมสังเกตการณ์อยู่แถวหลัง เห็นครูอรุณวรรณ กลั่นกลึง จับจองเก้าอี้อยู่ก่อนแล้ว สักครู่ ครูศีลาภรณ์ บัวสาย รอง ผอ.สกว. เข้ามาร่วมติดตามรับชมกิจกรรมเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ สอนโดยไม่สอนแต่ให้ครูทุกคนในห้องร่วมกิจกรรมไปด้วยกันกับวิทยากร ครูคงวุฒิ นิรันตสุข นักเทคนิคอุตสาหกรรมอาหาร ศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ออกแบบห้องนี้

จากประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงครูแกนนำเพาะพันธุ์ปัญญามากว่า 5 ปี ผมชอบเรียกชื่อเล่นเขามากกว่า หมูฉายแววความเป็นครูของครูออกมาให้เห็นอย่างน่าทึ่งและประทับใจ ทำให้ไม่รู้สึกว่าทุกคนกำลังถูกเขาสอน แต่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันไปกับสิ่งที่เขาเตรียมการมาอย่างดี และสนุก

สะท้อนให้คิดว่า ครูดีจะออกแบบ เตรียมการสอนดีเสมอ

ตั้งแต่การเล่นเกมบรี้อ ถามชื่อน้ำตกที่มีในประเทศไทย ต่อด้วยให้ช่วยกันคิดคำอธิบายคำที่ยกมาโดยไม่เอ่ยถึงคำนั้น ยกตัวอย่าง ไข่ดาว ไม่ให้พูดคำว่า ไข่ คำว่า ดาว

การคิดเชิงเหตุผล เขียนคำตอบลงในกระดาษเท่าที่คิดว่ามันถูก ให้เขียนคำว่า ถูกแล้ว ตัวอย่างคำถาม จังหวัดไหนอยู่ติดชายแดน ทำไมตากฝนแล้วเป็นหวัด

เล่นกิจกรรม ถามไป ตอบไปวนไปรอบห้อง วิทยากรหมูก็สรุปประเด็นคิด สอดแทรกเป็นระยะๆ “ครูที่ถาม ต้องมีความรู้ลึกในสิ่งที่ถาม”

ในจังหวะที่เด็กไม่มั่นใจที่จะตอบ ครูต้องอดทน รอคอยให้เขาตอบก่อน แม้ว่าจะตอบผิด ผิดเป็นครู เมื่อใดที่เด็กตอบผิด ให้เขาอธิบาย ผิดก็ผิดไม่เป็นไร ครูใช้จังหวะนั้นหยุดแล้วอธิบายทันที จะทำให้เด็กมีความรู้ เข้าใจและจำสิ่งนั้นได้

ทักษะการสอนให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์มากกว่าจดจำ เน้นสอนให้เด็กคิด

จังหวะการเรียนรู้เกิดตอนนั้น เจอผิดก่อนเจอถูก การตอบจึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน จังหวะที่เจอถูกด้วยตัวเอง ความรู้เกิดตอนนั้น จังหวะที่เด็กกำลังงงนั่นแหละ ครูใส่ข้อมูลเข้าไป

ครูไม่ใช่การตั้งคำถามฝ่ายเดียวแล้วเด็กกดดัน หากครูสร้างบรรยากาศเอ็นเตอร์เทนก่อนเด็กจะไปกับเรา เพราะเหมือนพาเด็กเข้าสู่ทุ่งหญ้าลาเวนเดอร์ ครูหลายคนเปิดเพลงให้เด็กฟังก่อน เปิดพื้นที่ปลอดภัยก่อน เด็กเริ่มรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น

ถามๆ ไปความรู้ใหม่เกิดขึ้น เด็กเคยชินกับการหาคำตอบโดยเปิดกูเกิลมีคำตอบให้หมด แต่กูเกิลถามไม่เป็น วันใดที่กูเกิลถามเป็น ครูเราจะแย่

ควรสร้างบรรยากาศให้เกิดความคุ้นเคยกับการถามก่อน เริ่มจากจิตตปัญญาศึกษา ทำให้จิตนิ่ง ค่อยๆ รู้สึกสนุก แล้วค่อยๆ กระตุ้นด้วยคำถาม เรียงตามลำดับจากเรื่องเบาๆ ง่ายๆ ไปก่อน แทนที่จะเริ่มด้วยเรื่องหนักๆ ยากๆ เลย ควรปรับพื้นที่การเรียนรู้ให้อบอุ่นก่อน ซึ่งทักษะนี้ใช้ได้กับทุกกลุ่มสาระ

เทคนิคการสอนที่ไม่ใช่การยัดเยียดความรู้ ใช้กิจกรรมทำให้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดสมาธิ เกิดความสนุก

“ถ้าไม่ทำให้เว่อร์เข้าไว้ ก็ต้องอลังการ จะทำให้เด็กเกิดความสนใจ อยากเรียนรู้ อยากมีส่วนร่วม” นักวิชาการด้านการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยที่ร่วมอยู่ในวงสนทนาอีกคน พูดถึงเทคนิค ทักษะการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้

ผมนั่งร่วมห้องอยู่จนจบ ก่อนมาฟังบทสรุปของเขาบนเวทีรวม “การถามไม่ใช่แค่เพื่อต้องการคำตอบจากผู้เรียน แต่ถามเพื่อต่อยอด ต้องคิดถึงประสบการณ์ร่วมของผู้เรียน ไม่ใช่เอาประสบการณ์ของผู้สอนเป็นหลักฝ่ายเดียว

ครูค่อยๆ แทรกเข้าไป ค่อยๆ ต้อน เราต้องทบทวนตัวเองว่า ถามเพื่อสอบ หรือเพื่อทดสอบความรู้

ครับ เนื้อหา บรรยากาศในห้องอื่นอีก 8 ห้อง บทสรุปเป็นอย่างไร เพาะพันธุ์ปัญญา 3 วิชาหลัก เพื่อพัฒนาครูและผู้เรียน จะเดินต่ออย่างไร ตอนหน้าค่อยว่ากัน