ปฏิปักษ์ต่อราษฎร | ทราย เจริญปุระ

"น้องก็เล่นบทของน้อง พี่ก็เล่นบทของพี่"

ประโยคนี้ถูกกล่าวออกมาจากเจ้าหน้าที่ ในการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กที่เกิดขึ้นระหว่างการเข้าจับกุมตัวหนึ่งในแกนนำนักศึกษา รุ้ง ปนัสยา

ไม่มีอะไรมาก เพราะทุกครั้งที่มีการปะทะ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก วาทกรรมอะไรประเภทนี้ก็จะมีออกมาให้ได้ยินตลอด

พี่จำเป็น

นายสั่งมา

ถ้าไม่ทำก็ซวย

ฯลฯ

ฉันเคยพูดไปบ้างแล้วว่าทำไมเจ้าหน้าที่จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำมันมีอำนาจในตัวเอง แค่ใส่ชุด อำนาจบางอย่างก็ห่มคลุมปกตัว ไม่มีคนที่สอบเข้าตำรวจหรือทหารคนไหนหรอกที่จะบอกว่า-โอ้โห ไม่รู้มาก่อนเลยว่าต้องใส่ชุดและสั่งคนตามอำนาจชั้นยศได้-

ชุดจราจรยังทำให้รถหยุดได้เลย ทั้งที่ถ้าคนเดียวกันนั้น ถอดชุดออกเป็นผู้ชายคนหนึ่ง รถที่ไหนจะหยุดรอหรือเคลื่อนต่อตามคำสั่ง

ในประเด็นเรื่องว่าเป็นชั้นผู้น้อย ไม่มีสิทธิ์เลือกนั้น ในวงวิชาการเคยมีการถกเถียงอย่างกว้างขวางมาแล้ว ในบริบทสังคมยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ปี ค.ศ.1964 ที่เกิดการพิจารณาคดีของกลุ่มนาซี

“คำตอบที่ว่า “ไม่ใช่ข้าพเจ้า แต่เป็นระบบต่างหาก ข้าพเจ้าเป็นแค่ฟันเฟือง” ย่อมทำให้ศาลต้องตั้งคำถามต่อมาทันทีว่า “แล้วทำไมหรือคุณถึงมาเป็นฟันเฟือง หรือยังเป็นฟันเฟืองภายใต้สถานการณ์เช่นนั้น” ถ้าผู้ถูกกล่าวหาต้องการโอนความรับผิดชอบเขาจะตอบอีกครั้งถึงคนอื่นที่เป็นคนทำ โดยเขาจะบอกชื่อบุคคลนั้น และคนนี้ก็จะถูกจดจำในฐานะผู้สมรู้ร่วมคิดเป็นจำเลยร่วมกัน พวกเขาจะไม่ได้ถูกจดจำว่าเป็นองคาพยพตัวแทนของระบบราชการหรือข้ออ้างจำเป็นอื่นๆ”*

จากนี้ฉันจะขออ้างอิงถึงข้อความจากมิตรสหายท่านหนึ่งที่เขียนในปี 2020 ย้ำประกอบไปกับสิ่งที่อาเรนท์เขียนไว้ในปี 1964

เวลาเราเห็นตำรวจ-ทหารออกมาดราม่า ว่าไม่อยากทำเลย หรือทำไปเพื่อครอบครัว รักษาหน้าที่การงานเอาไว้ เพื่อครอบครัว เพื่อคนข้างหลัง อันนี้เราเข้าใจที่สุด เราก็มีเพื่อน พี่-น้อง ที่ทำอาชีพในเครื่องแบบ ทำให้รู้ว่าเนื้อแท้แล้วเราก็ดิ้นรนในเส้นทางชีวิตที่ไม่ต่างกัน

แต่จะมาพูดเรื่องเสียสละ เรื่องเกียรติยศแล้ว

ประชาชนเขาไม่ซื้อไอเดียนี้

เพราะแท้จริงแล้วคนมือเปล่าที่มาจากหลากหลายอาชีพ เขาก็พบกับความเสี่ยงเหมือนกันทั้งนั้น

ทั้งโดนไล่ออกจากบ้าน ไล่ออกจากงาน โดนสังคมที่ทำงานรังเกียจ

และความเสี่ยงที่สุดคือการบาดเจ็บล้มตายจากอาวุธในมือของท่าน

พวกเขามาด้วยความอยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น

พวกเขาตื่นจากยากล่อมประสาทที่แทรกซึมอยู่ในสังคมนั้นมาหลายทศวรรษ (คือหลายสิบปีครับ ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมมีมาไม่ถึง 100 ปีอย่างที่เขาหลอกลวง) และมันจะไม่หวนคืนกลับไปสู่วันคืนเหล่านั้นอีกแล้ว

ท่านจับท่านขัง คนยิ่งตื่นรู้ว่าไม่มีเทวดาในนิยายมาปกป้องอีกแล้ว

ยิ่งนายท่านบอกมาแล้วว่าให้ระวังพญามัจจุราช

ประชาชนก็รู้แล้วครับว่าเขากำลังสู้กับอะไร และพญามัจจุราชคือใคร

ท่านครับ… ไม่มีใครอยากอยู่ภายใต้การปกครองของเทพแห่งความตาย

เราจึงลุกขึ้นสู้ สู้โดยเอาเสรีภาพและชีวิตเข้าแลก กับอนาคตเพื่อนร่วมชาติ

พ่อ-แม่ พี่-น้องเราออกไปโดยไม่รู้เลยว่าจะได้กลับบ้านหรือเปล่า

เขาก็เป็นพ่อ-แม่ เป็นพี่-น้อง เป็นลูก เป็นที่รักของใครสักคนไม่ต่างจากท่าน

เพียงท่านมีอาวุธ มีเครื่องป้องกันครบมือ มีกฎหมาย มีนายใหญ่รองรับการใช้กำลังภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่พวกท่านไม่ต้องรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น

เรารู้ครับว่า หากท่านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจะมีโทษร้ายแรงเพียงไหน

แต่มันก็ยังเทียบไม่ได้กับการเสียสละของมวลชนที่กำลังออกไปเรียกร้องอยู่ตอนนี้

ข้อเรียกร้องจากประชาชนก็ชัดเจนอยู่แล้ว

แต่รัฐไม่แม้แต่จะรับฟัง กลับยังเดินหน้าจับกุมปราบปราม

ท่านจับทั้งนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ ศิลปิน ทนาย แพทย์ และคงจะเดินหน้าคุกคาม ประทุษร้าย ใส่ความ ผู้ที่เห็นต่างอยู่มิขาด

ท่านได้ฉีกภาพวีรบุรุษผู้เป็นที่พึ่งพาของประชาชนไปด้วยตนเอง

แม้ท่านอ้างว่าทำไปตามหน้าที่ แต่การกระทำนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อราษฎร มิไยว่าเขาจะหมดศรัทธาในตัวพวกท่าน

“คนเราควรยอมตัดสินใจเป็นฟันเฟืองหรือไม่ อาเรนท์ตั้งคำถามว่า แล้วอย่างนี้คนที่ไม่รับใช้รัฐอาชญากรของนาซีจะต่างออกไปจากคนอื่นอย่างไร เธอบอกว่า คนที่ “ไม่เข้าร่วมสังฆกรรม” คือคนที่กล้าตัดสินผิดชอบชั่วดีด้วยตัวเอง คนแบบนี้ไม่ได้ต่างจากคนที่รับใช้รัฐนาซีเพราะเขายึดถือคุณธรรมชุดใหม่หรือชุดเก่า แต่เขาต่างเพราะเขาพร้อมที่จะตั้งคำถามในสิ่งที่คนอื่นไม่เคยถาม”*

ไม่ได้ขออะไรมาก หยุดทำร้าย หยุดคุกคาม ให้เรากลับไปใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยตัดสินปัญหาบ้านเมืองผ่านสภาอันทรงเกียรติ ที่ออกกฎหมายจากความต้องการที่แท้จริงของประชาชน

กฎหมายที่ยุติธรรมบนพื้นฐานของการกระจายอำนาจ และจัดสรรทรัพยากรอย่างเท่าเทียม

มันเรียบง่ายมากเลยครับท่าน หนทางที่จะไปสู่สันติ หากใครสักคนหรือสักกลุ่มละวางอำนาจ และคืนมันสู่ประชาชนพี่น้องชาวไทยให้จัดการอนาคตของเราเอง

ไม่มีใครอยากเห็นการบาดเจ็บล้มตาย

ไม่มีใครอยากไปเย้วๆ อยู่ในม็อบหรอกท่าน และถ้าท่านไม่อยากดราม่าขนาดนี้

เราเชื่อว่ามันยังมีทางเลือกครับ

“อาเรนท์ชวนเราตั้งคำถามว่า บุคคลแต่ละคนจะอ้างได้อย่างสมเหตุสมผลจริงหรือว่า เราสามารถอ้างว่ามี “ความจำเป็น” ที่ต้องทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หรือคำสั่งของอำนาจเผด็จการเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบทางศีลธรรมและกฎหมายในกรณีที่การทำตามคำสั่งนั้นเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของคนอื่น…เพราะเรายังต้องถามต่อได้ว่า คำสั่งนั้น “ชอบธรรม” หรือไม่ หรือคำสั่งนั้นมีสถานะเป็น “กฎหมาย” ได้หรือไม่ หากไม่ชอบธรรมหรือไม่มีสถานะที่เป็นกฎหมายได้ หน้าที่ของเราในฐานะปัจเจกบุคคลที่สามารถจะมี “สามัญสำนึก” ทางศีลธรรมก็คือ การปฏิเสธที่จะทำตามคำสั่งเช่นนั้นมิใช่หรือ”*

เรายังไม่หมดศรัทธาในความเป็นมนุษยธรรมของพวกท่าน


“ความรับผิดชอบส่วนบุคคลของมนุษย์ใต้เผด็จการ” (Personal Responsibility Under Dictatorship) เขียนโดย Hannah Arendt แปลโดยเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล/วศินี พบูประภาพ ฉบับพิมพ์ครั้งแรก สิงหาคม 2563 โดยสำนักพิมพ์นิสิตสามย่าน ภายใต้มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป

*ข้อความจากในหนังสือ

**ข้อความจากชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล