“สนช.” ชำแหละ 2 กม.ลูก ตอบโจทย์ “คสช.” ไม่เสียของ

การเมืองหลังเทศกาลสงกรานต์ เริ่มเห็นทิศทางชัดเจนขึ้น เพราะนับตั้งแต่ฤกษ์ดีเมื่อวันที่ 6 เมษายน มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 อย่างเป็นทางการ

เป็นผลให้การกระบวนจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ “กฎหมายลูก” ทั้ง 10 ฉบับ ภารกิจบนบ่าในยกที่ 2 ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มี “ซือแป๋” มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. นั่งกุมบังเหียนอยู่ เริ่มนับหนึ่งในทันที ตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ที่บัญญัติให้ กรธ. มีหน้าที่จัดทำกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับ ให้เสร็จภายใน 240 วัน หรืออีก 8 เดือน

โดยกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับแรกที่คอการเมืองต้องขีดเส้นใต้ให้ความสำคัญ นั่นคือ

1. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. …

2. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. …

3. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส.

และ 4. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่ง ส.ว.

นั่นเพราะกฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับแรก เมื่อเสร็จแล้วถึงจะเดินหน้ากำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป ตามโรดแม็ปได้

 

“กรธ.” จึงวางโรดแม็ปการจัดทำกฎหมายลูก 4 ฉบับแรก ไว้ 2 ขยัก ขยักแรก กรธ. ได้จัดส่งร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างกฎหมายลูกว่าด้วย กกต. เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาตามกรอบ 60 วัน

ส่วนขยักที่สอง คือ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. กรธ. จะจัดส่งให้ สนช. พิจารณาภายหลังที่กฎหมายลูก 2 ฉบับแรกมีผลบังคับใช้

ขณะที่พลพรรคนักการเมืองต่างออกมาดักคอ จับจ้องการพิจารณาร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับแรกของ สนช. ว่าจะปรับแต่ง แปลงโฉมเนื้อหาร่างกฎหมายลูก ฉบับที่ กรธ. จัดส่งไปหรือไม่

หลัง “บิ๊ก สนช.” อย่าง “พีระศักดิ์ พอจิต” รองประธาน สนช. คนที่ 2 ออกมายืนยันว่า สนช.
จะไม่เตะถ่วงการพิจารณากฎหมายลูกเพื่อยื้อวันเลือกตั้งออกไปอย่างแน่นอน

 

ซึ่งร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง มี พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นประธานพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง แม้จะมีเสียงยืนยันจากทั้ง กรธ. และ สนช. ว่า จะไม่มีการ “รีเซ็ต” พรรคการเมืองแน่นอน

แต่เนื้อหาที่แฝงอยู่ในร่างกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ซ่อน “พิษสง” ไว้ทิ่มแทงนักการเมืองอยู่หลายจุด เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งพรรค ตามมาตรา 33 ระบุว่าภายใน 1 ปี นับจากนายทะเบียนรับจดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการดังนี้

(1) ให้มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายใน 4 ปี

(2) จัดให้มีสาขาพรรคการเมืองในแต่ละภาคและจังหวัดตามที่ กกต. กำหนดอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่สาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

มาตรา 14 ข้อบังคับพรรคต้องไม่มีลักษณะต่อไปนี้ (4) ครอบงำหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่โดยอิสระของ ส.ส. มาตรา 15 ข้อบังคับพรรค อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ (15) รายได้ของพรรคการเมือง และอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง ต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100 บาท หรืออาจเก็บแบบตลอดชีพได้ แต่ไม่เกิน 2,000 บาท

ซึ่งต่างจากกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 ที่ไม่มีการเก็บค่าสมาชิกพรรค

 

ขณะที่บทลงโทษของร่างกฎหมายพรรคการเมืองก็มีความรุนแรงมากขึ้น เช่น มาตรา 22 ซึ่งระบุว่า คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง (กก.บห.) มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับ รวมตลอดทั้งระเบียบ ประกาศ และคำสั่งของคณะกรรมการ โดยให้คณะกรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้ง หรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรืออาจเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใดซึ่งสมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคปล่อยปละละเลยให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต จะมีโทษห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมืองถึง 20 ปี

ส่วนมาตรา 47 บัญญัติให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต รับฟังความเห็นจากสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด เพื่อป้องกันการครอบงำการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. จากกลุ่มนายทุนพรรค

 

แม้นักการเมืองจะออกมารุมค้านเนื้อหาร่างกฎหมายพรรคการเมืองว่า มุ่งเน้นการลงโทษอย่างรุนแรงมากกว่าการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง อีกทั้งการมีบทลงโทษกรณีการให้นอมินีที่เป็นบุคคลภายนอกพรรคเข้ามาครอบงำหรือก้าวก่ายการบริหารพรรคที่เป็นเรื่องพิสูจน์ลำบาก หากมีการกลั่นแกล้งกันในทางการเมืองจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร

เนื้อหาของร่างกฎหมายพรรคการเมือง “ฉบับ กรธ.” แทบไม่ต่างอะไรกับการบ่อนเซาะพรรคการเมือง ให้เกิดสภาพ “ตั้งยาก ยุบง่าย”

โดยมีเสียงรุมค้านจากพรรคการเมืองทุกพรรคว่า เนื้อหาของร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง มองพรรคการเมืองด้วยสายตาเป็นลบ

มุ่งเน้นลงโทษพรรคการเมืองอย่างรุนแรงมากกว่าการส่งเสริมให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง

 

ในส่วนของร่างกฎหมายว่าด้วย กกต. ไฮไลต์อยู่ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บัญญัติให้เพิ่มจำนวน กกต. จากเดิม 5 คน เป็น 7 คน แม้ “ซือแป๋มีชัย” ยืนยันว่าจะไม่มีการรีเซ็ต กกต. แต่ก็ดักคอ กกต.ชุดปัจจุบันไว้ว่า กกต. คนใดจะอยู่หรือไปนั้นก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหา กกต. จะเป็นผู้ชี้ขาดว่า กกต. คนใดมีคุณสมบัติตรงตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้หรือไม่

รวมทั้ง “กรธ.” ยังได้ตัด “กกต.จังหวัด” แล้วกำหนดให้มี “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” มาทำหน้าที่แทน หวังขจัดข้อครหาใกล้ชิดกับนักการเมืองในพื้นที่ และแก้ปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งให้ลดน้อยลง

แต่บทสรุปกฎหมายลูก 2 ฉบับแรกในมือของ “สนช.” เนื้อหาจะออกมาตามต้นฉบับที่ กรธ. ยกร่างหรือไม่นั้น คงต้องติดตาม เพราะต้องไม่ลืมว่า ทั้ง “กรธ.” และ “สนช.” ล้วนเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สายที่ถือกำเนิดมาจาก “คสช.” เหมือนกัน

หากเนื้อหาของกฎหมายลูก 2 ฉบับ จะออกมาในแนวบู๊ ดุเดือด ติดดาบ หวังเช็กบิลนักการเมือง ย่อมไม่เกินความคาดหมาย

เพราะทุกอย่างย่อมเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของ “คสช.” ที่เข้ามาเพื่อปฏิรูปประเทศ และจะ “เสียของ” ซ้ำอีกไม่ได้