จากใจ “อารีพงศ์” 4 เด้ง เจรจา-พาที อุ้ม “นกแอร์” พลิก THAI GROUP บินทั้งฝูง

เป็นข้าราชการระดับสูง ที่ถูกคำสั่ง “เด้ง” มากที่สุด ในรอบ 3 ปี

ปลายรัฐบาลเพื่อไทยสั่งเด้ง “อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม” จากปลัดกระทรวงการคลัง ไปประจำการที่กรุคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.)

หลังรัฐประหาร 1 เดือน “อารีพงศ์” ถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งให้พ้นจาก เลขาธิการคณะกรรมการ กพร. ไปเริ่มตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน คู่บุญรัฐมนตรี ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี

1 ปีถัดมา “อารีพงศ์” ถูกมติคณะรัฐมนตรี สั่งเด้งจากกระทรวงพลังงาน ให้กลับประจำการที่ กพร.สำนักนายกรัฐมนตรี

24 ชั่วโมง ก่อนรัฐมนตรีเศรษฐกิจทีม “คุณชายอุ๋ย” ตบเท้าบนตึกไทยคู่ฟ้า แจ้งวาระปริศนาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาของการปลด “อารีพงศ์” พ้นกระทรวงพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงนามแต่งตั้งให้ “อารีพงศ์” เป็นประธานบอร์ดการบินไทย อีก 1 ตำแหน่ง

49 วันใน กพร. เก้าอี้ก็ร้อนอีกครั้ง เมื่อต้องโยกไปเป็น ปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา

2 เดือนถัดจากนั้น “อารีพงศ์” ก็ได้รับคำสั่งแต่งตั้งด้วยมติคณะรัฐมนตรี ให้กลับไปประจำการที่กระทรวงพลังงานอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน

3 ใน 4 ครั้งที่ชื่อ “อารีพงศ์” ถูกเด้ง อยู่ในยุค “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล” เป็นหัวหน้าทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

 

หลังฝ่ามรสุมม็อบโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-สารพัดม็อบที่การบินไทย “อารีพงศ์” เปิดใจไปต่อทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิ และที่กระทรวงพลังงาน

เขาอาศัยช่วงชุลมุนม็อบ สัมภาษณ์พิเศษ แผนผ่าตัดนกแอร์และฟื้นรายได้ที่การบินไทย

“อารีพงศ์” ยืนยันว่า การบินไทยยังยิ้มได้ เพราะพลิกกลับมาทำกำไร แม้ว่าจะเป็นแค่หลัก 47 ล้านบาท หลังผลประกอบการขาดทุน หลักหมื่นล้านบาท ในช่วงปีก่อนหน้า

ยุทธศาสตร์การบินไทยตั้งลำ หลังมติตั้ง “THAI GROUP” จะให้ 3 สายการบิน-บินขึ้นน่านฟ้าพร้อมกันทั้ง การบินไทย-ไทยสไมล์-นกแอร์

“การบินไทยเป็นพรีเมียมแอร์ไลน์ เป็นพันธมิตรกับ Star Alliance บินทั้งยุโรป อเมริกา อีกด้านหนึ่งเราจะนำผู้โดยสารกลับมายังประเทศไทย จะบินต่อไปต่างจังหวัด ด้วยสายการบินไทยสมายล์ (Thai Smile) ที่สุวรรณภูมิ รองรับการเชื่อมต่อของการบินไทย”

“ที่สนามบินดอนเมือง เราใช้สายการบินนกแอร์ เป็นฐานรองรับการขยายตัวของ Low cost airline เป็นพันธมิตรกับการบินไทย ถ้าทำให้ดี เราจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มอย่างรวดเร็ว”

แต่ภาวะที่อุตสาหกรรมสายการบิน เป็นธุรกิจที่เรียกว่า “กับดักแห่งความตาย” ภายใต้นโยบายเปิดน่านฟ้า-Open sky เกิดสายการบินใหม่ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทั้งต้นทุน ราคาตั๋ว

“อารีพงศ์” มั่นใจว่า “ไทยสไมล์” ยังสู้ไหว “แม้ว่าไทยสมายล์จะมีต้นทุนโครงสร้างถูกกว่า แต่ก็ยังสูงกว่าแอร์เอเชีย เพราะเรายังเป็นพรีเมียม”

 

ไม่เฉพาะ “อารีพงศ์” ในฐานะประธานบอร์ดการบินไทย แต่กรรมการบริหารการบินไทยแทบทุกคนกังวลเรื่องการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีของ “นกแอร์”

แผนสยายปีกการบินไทยไปอุ้ม “นกแอร์” จึงเข้มข้นขึ้น

“ในปีที่ผ่านมา เราส่งบอร์ดไป 4 คน และเป็นคนกลางอีก 1 คน พยายามเข้าไปดูปัญหานี้ตลอดเวลา แต่ปัญหาการแข่งขันสูง และยังมีปัญหาธงแดง (ICAO) อีก ทำให้บินตามเป้าหมายไปในระยะสั้นไม่ได้ การบินไปจีน ต้องรอการอนุญาต ทุกอย่างช้าไปหมด บวกกับปัญหาการบริหารที่เพิ่มขึ้นมา”

“จึงมีการสั่งการให้ นกแอร์เสนอแผนปฏิรูปมาว่าจะทำอย่างไร ให้สามารถแข่งขันได้ ต้นทุนของนกแอร์ยังสูงเกินไปที่จะสู้กับโลว์คอร์สคู่แข่งได้ จะต้องดูว่าจะลดต้นทุนอย่างไร เอ็กซิคิวชั่น-Execution มีปัญหาทางการแข่งขันอย่างไร ตอนนี้ฝ่ายบริหารการบินไทย และฝ่ายบริหารของนกแอร์ กำลังคุยกันอย่างเข้มข้น”

“อารีพงศ์” แบ่งรับแบ่งสู้ ว่าจะให้นกแอร์เพิ่มทุน ตามสัดส่วนที่การบินไทยถือหุ้น 39.2 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะต้องโยนให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นในกลางเดือนเมษายน เป็นคำตอบสุดท้าย

“หากจะใส่เงินเมื่อไหร่ แผนจะต้องชัดเจน ตอนนี้บอกตรงๆ บอร์ดการบินไทย กำลังตะลุมบอนกับนกแอร์อยู่”

คําถามตรงๆ เรื่องการอยู่-การไปของ “พาที สารสิน” ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ขึ้นอยู่กับอะไร ?

“อารีพงศ์” ตอบว่า “ต้องดู Total Package ของเค้า กำลังคุยกันอยู่ให้ตกผลึกก่อนทั้งต้นทุน และการหารายได้ ทำอย่างไรไม่ให้ขาดทุน ต้นทุนก็รวมถึงความยั่งยืนของธุรกิจโลว์คอร์สซึ่งแข่งขันกันที่ต้นทุน พอต้นทุนต่ำ ราคาขายก็ไปได้ นั่นคือมันเป็นการบริหารต้นทุน”

หากการบินไทยต้องเพิ่มทุนให้นกแอร์ จะเป็น “เตี้ยอุ้มค่อม” หรือจะเสียบปีกใหม่ให้ “นกแอร์”

“อารีพงศ์” กางแฟ้มตอบ “การบินไทยใหญ่มาก ยอดขายหลัก 2 แสนล้าน แต่ว่าเราต้องระมัดระวัง เรามองเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งผมคิดว่าวันนี้เราลงทุนไปแล้วในนกแอร์ ถ้านกแอร์มีอนาคตอยู่ได้โดยการปฏิรูป ปรับปรุงแผน ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ เพราะว่า ตลาดตรงนั้นถึงจะแข่งขันสูง แต่ก็เป็นตลาดที่โตอย่างมากกว่าตลาดพรีเมียมแอร์ไลน์”

เมื่อการบินไทยต้องกางปีก 3 สายการบิน ให้บินขึ้นพร้อมกันทั้งฝูง และมีเดิมพันจาก “ขาดทุน” เข้าสู่บรรทัดที่ทำ “กำไร” การสร้างรายได้ใหม่และยั่งยืน จึงเป็นคำตอบ

เมื่อทุกสายการบินกำลังจ้องไปที่ “อู่ตะเภา” และโอกาสของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC การบินไทยก็เช่นกัน

ประธานบอร์ดการบินไทย ตั้งใจใช้ที่ดิน 500 ไร่ ที่อู่ตะเภา เป็นศูนย์กลางการซ่อม (Hub) เครื่องบิน เพื่อปักธงรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นปีละ 30-40 เปอร์เซ็นต์

“ผมมองว่านี่คือ อนาคตของการบินไทยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน การเจรจาร่วมมือกับแอร์บัส และลงนามใน MOU ไปแล้ว จะซ่อมเครื่องบินทั้งลำตัวแคบและลำตัวกว้าง และจะมีธุรกิจประเภทคอมโพสิต (Composite) ทำสมาร์ทแฮงเกอร์ (Smart Hanger) โรงซ่อมที่มีอัจฉริยะ เพื่อลดเวลาการซ่อมให้สั้นลงด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ”

ทั้งหมดคือแผนผลักดันการบินไทยให้เชิดหัวขึ้นกำไรอีกครั้ง

และปลายปีนี้ “อารีพงศ์” จะเกษียณชีวิตราชการ ด้วยสถานภาพกำไรชีวิต 4 เด้ง 4 ปลัดกระทรวง