ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ | หนึ่งปีรัฐบาล : สัญญาณการเผชิญหน้าร้อนระอุ

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

หนึ่งปีแรกของการปกครองภายใต้ระบอบประยุทธ์ที่เอา คสช.มาจัดหีบห่อใหม่ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 ผ่านไปโดยไม่มีใครสนใจ

และถ้าสำรวจบรรยากาศทางการเมืองทุกอย่างตั้งแต่คุณประยุทธ์ผลักดันตัวเองเป็นนายกฯ ในวันที่ 6 มิถุนายน 2562 สถานการณ์ประเทศก็เลวร้ายลงจนน่ากังวล

ทุกอย่างที่คุณประยุทธ์พูดและทำนั้นแสดงถึงความผู้ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย แต่ที่จริงเรื่องนี้จะไม่ใช่ปัญหาเลย หากคุณประยุทธ์ไม่รัฐประหารและทำทุกทางให้ตัวเองมีอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 จนความไม่เป็นประชาธิปไตยของคุณประยุทธ์กลายเป็นปัญหาของประเทศไปโดยปริยาย

ประชาธิปไตยคือปรัชญาการเมืองซึ่งยอมรับว่าคนเท่ากัน ใครที่ไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยจึงเป็นคนที่ไม่เชื่อว่าคนเท่ากันไปด้วยเสมอ

และถ้าคนแบบนี้มีอำนาจ สิ่งที่สังคมจะได้รับก็คือผู้มีอำนาจที่พร้อมจะปฏิบัติกับประชาชนราวกับเป็นเบี้ยล่างของรัฐและคนในเครือข่ายผู้มีอำนาจตลอดเวลา

เมื่อประชาธิปไตยเชื่อว่าคนเท่ากัน ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงให้ความสำคัญกับการขยายระบอบให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศเสมอ การเมืองแบบประชาธิปไตยคือการโอบกอดคนที่แตกต่างกันให้อยู่ในระบอบเดียวกันได้เสมอภาคที่สุด ไม่ว่าจะมีความต่างด้านไหนก็ตาม

ตรงข้ามกับประชาธิปไตยที่เชื่อว่าคนเท่ากันจนต้องสร้างระบอบให้ทุกคนมีส่วนร่วม ความคิดแบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตยมองคนไม่เท่ากันจนระบอบเป็นแค่ “เครื่องมือ” ให้คนส่วนน้อย “ปกครอง” คนส่วนใหญ่โดยสร้างกลไกหรือกติกาที่ผลักคนส่วนใหญ่ไม่ให้เข้าถึงอำนาจได้ตลอดเวลา

นักวิชาการตะวันตกบางกลุ่มเปรียบเทียบว่าประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่ Inclusive หรือ “รวมคน” ขณะที่ปฏิปักษ์ประชาธิปไตยคือระบอบที่ Exclusive หรือ “คัดคน” เฉพาะคนที่เป็นพวกเดียวกันด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ชนชั้น, อาชีพ, เครือข่าย, เชื้อชาติ , ผิวสี, ศาสนา ฯลฯ สุดแท้แต่กรณี

พูดให้เห็นภาพยิ่งขึ้น ประชาธิปไตยเชื่อว่าคนเท่ากัน ระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยจึงรวมทุกคนเป็น “พลเมือง” ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้อย่างเสมอภาค

ส่วนระบอบอื่นเห็นคนไม่เท่ากันจนทุกคนที่เป็น “ไพร่” ไม่สามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้เท่าคนที่อยู่ในวรรณะเหนือไพร่ขึ้นไป

ห้าปีแรกของระบอบประยุทธ์เป็นเผด็จการจนไม่ต้องเถียงกันแล้วอีกต่อไป แต่ขณะที่การเลือกตั้งปี 2562 ถูกจัดขึ้นโดย พล.อ.ประยุทธ์อ้างว่าเป็นการ “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หนึ่งปีหลังการเลือกตั้งกลับกลายเป็นการ “ถอยหลังกลับ” ไปสู่ระบอบปฏิปักษ์ประชาธิปไตยจนน่ากังวล

แน่นอนว่าความต้องการมีอำนาจเป็นเรื่องปกติสำหรับผู้มีอำนาจทุกคน ระบอบที่ประชาธิปไตยที่ผู้มีอำนาจแข่งขันกันโดยเสมอภาคจึงเป็นกลไกคัดเลือกให้อำนาจถูกจัดสรรไปสู่ผู้มีอำนาจที่ประชาชนยอมรับที่สุด ไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่ประชาชนรังเกียจที่สุด แต่มีปืนและกองกำลังเหนือกว่าทุกคน

หัวใจของการเมืองแบบนี้คือการยึดกุมอำนาจรัฐไว้ที่พวกพ้องตัวเอง อำนาจรัฐในระบอบนี้มีสภาพไม่ต่างจากมรดกของเจ้าคุณปู่ที่คุณประยุทธ์ตั้งตัวเองเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งฮุบสมบัติไว้แทบทั้งหมด

ถัดจากนั้นก็โยนเศษๆ ไว้ให้บ่าวไพร่ที่พร้อมทำตัวเป็นบริวารโดยไม่ตั้งคำถามถึงพฤติกรรมนั้นเลย

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นกติกาที่ทำให้อำนาจรัฐเป็นของไม่กี่คน และในช่วงที่กระแสประชาธิปไตยพุ่งแรงทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง รัฐบาลประยุทธ์ก็ยอมรับข้อเสนอประชาธิปัตย์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนในหนึ่งปีด้วย

แต่หนึ่งปีที่ว่านี้ก็ผ่านไปโดยไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับรัฐธรรมนูญเลย

การเพิกเฉยต่อเรื่องรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเคยประกาศแก้เพื่อประนีประนอมกับกระแสต้าน คสช. คือสัญญาณของการลดเพดานแห่งการแบ่งปันอำนาจไปสู่ระบอบที่ทุกคนเป็นเบี้ยล่าง คสช.ที่น่ากังวล

ถ้าการเมืองช่วงเลือกตั้งปี 2562 สะท้อนว่าระบอบการปกครองมีท่าทีซึ่งยอมแบ่งปันอำนาจให้คนกลุ่มอื่นๆ การเมืองในปี 2563 ก็สะท้อนว่า “ระบอบ” ตอนนี้กำลังลดเพดานการแบ่งปันอำนาจจนถึงจุดที่เหลืออีกนิดเดียวก็จะเป็นการปกครองยุค คสช.ยึดอำนาจปี 2557 ที่มีพรรคการเมืองเพิ่มเติมเข้ามา

พลังประชารัฐเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งปันอำนาจระหว่าง “ระบอบประยุทธ์” กับ ส.ส.ที่เป็นพวกเดียวกับ คสช. และขณะที่ประชาชนวิจารณ์ว่าพลังประชารัฐมีแต่ ส.ส.ไร้อุดมการณ์ พลังประชารัฐคือหลักฐานว่า “ระบอบ” ยังฟังประชาชนจนต้องการพรรคไปสร้างภาพว่ารัฐบาลเป็นตัวแทนประชาชน

ทุกคนในประเทศนี้รู้ว่าพลังประชารัฐเป็นพรรคของ พล.อ.ประวิตรตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน พลังประชารัฐก็คือพรรคของกลุ่มสาม ป.และกองทัพในความเป็นจริงไปด้วย

แต่กระแสสูงของการต่อต้านทหารในช่วงการเลือกตั้ง 2562 ทำให้พลังประชารัฐทำพรรคโดยไม่มีนายพลคนไหนในพรรคเลย

หนึ่งปีของการตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ด้วยวุฒิสมาชิกที่แต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ผ่านไป พล.อ.ประวิตรกำลังจะยึดพรรคเป็นของตัวเองโดยนิตินัยในเดือนกรกฎาคมนี้ “ระบอบ” ซึ่งเคยเกรงใจประชาชนจนไม่กล้าตั้ง “พรรคทหาร” กลับแสดงตัวโดยเปิดเผยว่าคือ “พรรคทหาร” อย่างชัดเจน

อาจมีผู้โต้แย้งว่า พล.อ.ประวิตรยึดพลังประชารัฐเพื่อแก้ปัญหาที่หลังเลือกตั้ง 2562 เป็นแค่รองนายกฯ ที่ไม่ได้คุมกระทรวงไหนเลย แต่การยึดพรรคเป็นเพียงเบี้ยในการไล่คุณสมคิดกับพวกเพื่อแทนที่ด้วยรัฐมนตรีใหม่ และทั้งหมดนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นโดยไม่ได้ความเห็นชอบจากนายพลกลุ่มสาม ป.

ด้วยเพดานของการแบ่งอำนาจให้ ส.ส.และกลุ่มคุณสมคิดที่ลดลงแบบนี้ การเมืองในรอบหนึ่งปีหลังเลือกตั้ง 2562 หมุนกลับไปสู่จุดที่ทหารกระชับอำนาจไว้ที่เครือข่ายตัวเองมากขึ้นแน่ๆ เพราะไม่แก้รัฐธรรมนูญที่เคยพูดกับประชาชน, กำจัดทีมเศรษฐกิจเป็นทีมที่สอง และลดความสำคัญของ ส.ส.ลง

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.ประยุทธ์คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อควบคุมการรวมตัวของนักศึกษาประชาชน และวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับคนที่แสดงออกเรื่อง #Saveวันเฉลิม ทำให้ปฏิเสธเรื่องนี้ได้ยาก แต่ถึงอย่างไร พ.ร.ก.ฉุกเฉินคงใช้ได้แค่ถึงสิ้นเดือนมิถุนายน และรัฐบาลอาจต้องใช้มาตรการอื่นทดแทน

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อนักศึกษาเป็นอีกสัญญาณของการ “ลดเพดาน” ในการแบ่งปันอำนาจกับประชาชน เพราะในช่วงที่นักเรียนและนิสิตนักศึกษาแทบทุกสถาบันจัด “แฟลชม็อบ” ตลอดกุมภาพันธ์ “ระบอบประยุทธ์” ถึงขั้นเปิดเวทีให้ตัวแทนนักศึกษาได้พูดว่าต้องการอะไรจากรัฐบาล

อย่างไรก็ดี หลังจากไวรัสโควิดระบาดเปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนสามารถดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมมาแล้วสามเดือน ท่าทีรับฟังนักเรียน-นักศึกษาได้หายไปจาก พล.อ.ประยุทธ์โดยสิ้นเชิงแล้ว

ตรงข้ามกับการดำเนินคดีและการแสดงความเห็นที่แข็งกร้าวต่อนักศึกษาในปัจจุบัน

ล่าสุด ท่ามกลางความเป็นไปไม่ได้ที่จะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ได้ออกมาโจมตีนักศึกษาว่ามีความคิดรุนแรง เป็นภัยความมั่นคง ไม่เคารพกฎหมาย คุกคามสถาบัน มีคนยุยงเบื้องหลัง ฯลฯ ซึ่งแตกต่างจากท่าที พล.อ.ประยุทธ์ช่วงนักศึกษาแฟลชม็อบอย่างสิ้นเชิง

ไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์โจมตีนักเรียนและนิสิต-นักศึกษาเพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ คือท่าทีแบบนี้มีลักษณะคุกคามและเผชิญหน้ากับนักเรียนและนิสิต-นักศึกษาจนเห็นได้ชัดถึง “สัญญาณ” การลดเพดานการแบ่งปันอำนาจระหว่าง “ระบอบ” กับประชาชนกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้เห็นต่างจากรัฐบาล

จริงอยู่ว่ายากที่จะมีรัฐบาลซึ่งฟังประชาชนด้วยความเต็มใจ แต่การที่รัฐบาลประยุทธ์ฟังประชาชนในช่วงเลือกตั้ง 2562 แล้วกลับไปมีพฤติกรรมผูกขาดอำนาจนั้นถือเป็นเรื่องแปลก เพราะการฟังคือสัญญาณของการแบ่งปันอำนาจ ส่วนการปิดปากคือสัญญาณของการยกระดับการรวบอำนาจอีกที

การเมืองแบบประชาธิปไตยคือการเมืองแบบเปิดที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมทางการปกครอง แต่สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำในปี 2563 คือการรื้อฟื้นการเมืองแบบปิดให้เครือข่ายตัวเองมีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ราวจะทำให้ประเทศกลับสู่ระบอบหลังยึดอำนาจที่มีพรรคการเมืองเข้าร่วมเท่านั้นเอง

การเลือกตั้ง 2562 เป็นฝันร้ายของประชาชนที่ยอมรับกติกาซึ่งเอารัดเอาเปรียบในรัฐธรรมนูญ 2560 เพราะหวังว่าจะให้ประเทศ “เปลี่ยนผ่าน” ไปสู่ยุคหลัง คสช. แต่หนึ่งปีแรกของรัฐบาลในระบอบนี้ผ่านไปพร้อมกับการกระทำทุกที่เป็นเสมือนคำประกาศว่าจะไม่มีการเปลี่ยนผ่านอะไรในยุคปัจจุบัน

เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ด้วยภาพรวมที่เกิดขึ้นทั้งหมดตอนนี้ สิ่งที่เป็นไปได้แน่ๆ คือรัฐบาลจะมีลักษณะของการเผด็จอำนาจเหนือประชาชนมากยิ่งขึ้น รวบอำนาจมากขึ้น แบ่งปันอำนาจน้อยลง และไม่มีความเป็นรัฐบาลที่เป็นมิตรกับประชาชน

โหราพยากรณ์ชอบทำนายว่าครึ่งหลังของปี 2563 คือช่วงเวลาที่ยุ่งยากของประเทศไทย แต่ประชาชนไม่ใช่ต้นตอของความยุ่งยาก เพราะสาเหตุที่แท้จริงมาจากการถอยกลับสู่ความเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมหลังปี 2557 ในเวลาที่การทำแบบนั้นคือการสร้างความขัดแย้งกับคนทุกฝ่ายในสังคม

ไม่เคยมีห้วงเวลาไหนหลังรัฐประหาร 2557 ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศของประเทศไทยเท่าปัจจุบัน

ถ้าประเทศในปีนี้จะมีวิกฤตครั้งใหญ่ วิกฤตนั้นมาจากผู้มีอำนาจที่ไม่ยอมแบ่งปันอำนาจ ไม่ใช่มาจากประชาชน


พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์, ศิลปวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชาวบ้าน ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิ.ย. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่