หนังสือที่มีคำว่า จูบ มากที่สุดในโลก

“อันที่จริงผู้ชายหลงรักผู้หญิงแบบนั้นหัวปักหัวปำเลยละ แต่การแต่งงานมันอีกเรื่องเลยนะ ถ้าหล่อนได้แต่งงานกับหนุ่มฟาริสจากตระกูลกัปตันโอฆลูคนนั้นโดยไม่ยอมนอนกับเขาเสียก่อน ใครๆ ก็จะลืมอย่างรวดเร็วว่าตระกูลหล่อนยากจน หรือถ้าเบลคิสมาจากตระกูลที่ร่ำรวย พวกเขาก็จะทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ที่หล่อนไม่ใช่สาวพรหมจารีตอนแต่งงาน”

ข้างบนคือตัวอักษรของนวนิยาย The Museum of Innocence ที่เขียนโดยนักเขียนรางวัลโนเบลชาวตุรกี ออร์ฮาน ปามุก นวนิยายที่ดูผิวเผินเหมือนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ชู้รักเมียแต่งเรื่องนี้แตะเรื่องของจารีตและการกำหนดความหมายของสังคมตุรกีเกี่ยวกับชนชั้นผ่านทางเรื่องโลกียวิสัยได้แบบทะลุปรุโปร่ง

อีกหนึ่งผลงานแปลอันประณีตลื่นไหลของ นพมาส แววหงส์ ที่เป็นความหวังของนักอ่านต่อการได้อ่านวรรณกรรมชิ้นเลิศสุดยอดของโลกในภาคภาษาไทย

ผู้เขียนอ่านไปก็อมยิ้มไปว่าแต่ละหน้าช่างมีคำว่า จูบ มากมายเหลือเกิน

จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่มีคำว่า จูบ มากที่สุดในโลก

“คนบางคนใช้ชีวิตทั้งชีวิตในความเจ็บปวดรวดร้าว เนื่องจากโชคร้ายที่เกิดมายากจน โง่เขลา หรือถูกเดียดฉันท์จากสังคม ความคิดนี้ผ่านเข้ามาในหัวผมขณะมองดูหีบศพเคลื่อนไปช้าๆ จนลับตา ตั้งแต่อายุยี่สิบผมรู้สึกตัวว่ามีเกราะที่มองไม่เห็นพิทักษ์ผมไว้จากความเดือดร้อนทุกข์ยากต่างๆ”

ปามุกใช้ชื่อนิยายของเขาว่า พิพิธภัณฑ์แห่งความทรงจำ ก็เป็นเพราะว่ามนุษย์ได้รับทั้งความสุขและความทุกข์ทรมานจากความทรงจำ ความทรงจำคือสิ่งที่ติดอยู่ในจิตใต้สำนึกและมีอานุภาพมหาศาล

พิพิธภัณฑ์คือที่เก็บวัตถุ วัตถุแห่งความทรงจำ

มันทำให้เราฉุกคิดถึงความหมายของคำว่าพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาอีกครั้งเมื่อได้อ่านนิยายเรื่องนี้

พิพิธภัณฑ์มากมายในโลกนี้ล้วนเก็บวัตถุสิ่งของจากอดีต สิ่งของเหล่านั้นจะเป็นอะไรถ้าไม่ใช่ตัวแทนแห่งความทรงจำของอดีต ของประวัติศาสตร์ ของอารยธรรม ของการค้นคว้าพัฒนา ของความสำเร็จในด้านต่างๆ ของมนุษย์

 

พระเอกผู้มีทั้งเมียแต่งและชู้รัก

พ่อของเขาก็มาสารภาพกับเขาว่าตนเองก็มีชู้รักเหมือนกัน เธอไปจากเขาและบอกว่าเธอจะไปแต่งงานใหม่ แต่แท้จริงหลังจากนั้นนานหลายปีเขาได้พบว่าเธอตายไปด้วยโรคมะเร็ง ความทรงจำและความรู้สึกผิดช่างทรมานเขา

สังคมตุรกีซึ่งเป็นสังคมมุสลิม มีข้อห้าม ประเพณี และวัฒนธรรมต่างๆ มากมายได้ กลายเป็นฉากหลังของเรื่อง และเป็นตัวสร้างเรื่องราวทั้งหมดเองด้วย

ถ้าไม่มีเรื่องพรหมจารี ไม่มีเรื่องมีสัมพันธ์ก่อนแต่ง ไม่มีเรื่องสังคมชั้นสูง ชั้นต่ำ ก็จะไม่เกิดเรื่องทั้งหมดนี้ที่หญิงชายต้องดำเนินชีวิตไปตามข้อห้ามและประเพณีและความคาดหมายของสังคม และต้องเก็บความทรงจำไว้กับตัวแต่ผู้เดียวเท่านั้น

ทางออกที่จะบอกกับใครถึงความทรงจำเหล่านี้ก็ด้วยวัตถุสิ่งของที่มีมากมายจนต้องสร้างพิพิธภัณฑ์เก็บไว้

ก็คงคล้ายกับทัชมาฮาลที่เป็นอนุสรณ์แห่งความรักของราชาที่มีต่อพระราชินี

ก็คงเหมือนภาพดอกกุหลาบสีแดงจากกระดาษสาที่ใส่กรอบแขวนข้างฝาในห้องนอนที่เป็นภาพแทนตัวของชายคนรักที่ลาจากกันไปสำหรับหญิงสาวคนหนึ่ง หรือตุ๊กตาจากกระดาษสาเป็นรูปผู้หญิงหอบหนังสือที่เขาให้ไว้ที่เธอยังตั้งไว้ในที่ที่เห็นได้ทุกวัน

 

ผู้เขียนบอกกับเพื่อนว่าของในบ้านรกมากต้องทิ้งๆ ไปบ้าง

เพื่อนบอกว่าของแต่ละชิ้นก็แทนความทรงจำทั้งนั้น ก็จริงของเธอ

ผู้เขียนก็คิดต่อไปว่าความทรงจำที่มีมากจนเกินไปมักจะสร้างความทรมานใจ เพราะมนุษย์นั้นมีความทุกข์มากกว่าความสุข

แต่มนุษย์ก็เกิดมาพร้อมความทรงจำ

เจ้าของสำนักพิมพ์รุ่นใหม่คนหนึ่งพูดจาคมคาย เธอบอกว่าเมื่อเรา “รู้” เราจะไม่จำ แต่เมื่อเรา “รู้สึก” เราถึงจะจำ

ถ้าเกิดเราไปเห็นปราสาทสักแห่งจากการท่องเที่ยว และเราไม่ได้รู้สึกอะไรเลยเกี่ยวกับมัน ก็ยากที่เราจะจำมันได้ นอกจากว่ามันจะสร้างความรู้สึกบางอย่างให้เรา

 

ออร์ฮาน ปามุก เขียนหนังสือทั้งชีวิตและไม่เคยทำอาชีพอื่นเลย

เช่นเดียวกับ รพินทรนาถ ฐากูร เขามาจากตระกูลผู้มีอันจะกิน คลุกคลีอยู่กับสังคมชั้นสูงและความมั่งมี แต่ความเป็นนักมนุษยนิยมทำให้เขาสังเกตเห็นภาพแห่งความเหลื่อมล้ำแตกต่าง แล้วสะท้อนออกมาได้อย่างหมดจด

ในฉากรักจะมีเสียงเด็กเล่นอยู่กลางถนน

ในฉากเดินเล่นจะมีภาพขยะซุกซ่อนและเกลื่อนกลาดพร้อมกับกลิ่นที่โชยมา

ปามุกจะแตะภาพสังคมคนรวยกับสภาพแวดล้อมรอบๆ ที่ไม่น่าดูอยู่ตลอดเวลา สอดแทรกเรื่องชนชั้นในทุกเรื่องราวรายละเอียด ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่หนีไม่พ้นความสุข ความทุกข์ และชะตากรรม

ชวนติดตามไปจนจบ