พุทธแท้ มีที่ไหน? ใครรู้บ้าง? โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“พุทธแท้ มีแต่ในพระไตรปิฎก” เป็นข้อความที่ผู้มีประสบการณ์รู้ธรรมพูดจาว่าขานสัพยอกยั่วเย้ากันมานานมาก น่าจะก่อนผมเกิด

ต่อมาอีกนานจะมีคำอธิบายเพิ่มเติมว่าไม่เคยพบหลักฐานว่าพุทธแท้สมัยพุทธกาล มีอย่างไร? คนยุคนั้นปฏิบัติตนต่อพุทธแท้แบบไหน? แม้สมัยพระเจ้าอโศก ก็ไม่เคยพบหลักฐานเรื่องพุทธแท้หรือไม่แท้ เพราะสิ่งที่พบล้วนเป็นวัตถุที่อ้างว่าเนื่องในพุทธศาสนา เช่น ธรรมจักร, สถูปเจดีย์ ฯลฯ

ในสยามประเทศ แรกรับพุทธศาสนายุคทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. 1000 ที่เมืองอู่ทอง (อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี) ก็ไม่เคยพบหลักฐานพุทธแท้มีลักษณะอย่างไร?

[โสณเถระและอุตตรเถระมาเผยแผ่พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิยุคอโศก มีในตำนานมหาวงศ์ พงศาวดารลังกา ไม่มีในจารึกอโศก]

เมื่ออยู่ไทย ก็เรียกศาสนาไทย

พุทธแท้ สมมุติว่ามีจริง (แต่ไม่มีใครเคยเห็นด้วยตนเอง) ก็เริ่มไม่แท้เสียแล้วตั้งแต่แรกประดิษฐานที่สุวรรณภูมิในอุษาคเนย์

เพราะถูก”ผีแท้”ของพื้นเมือง ตกแต่งดัดแปลง”พุทธแท้จากอินเดีย-ลังกา” ให้เป็นศาสนาพื้นเมืองทุกหนทุกแห่ง ในไทยเรียกศาสนาไทย

มีคำอธิบายของ อ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ นานแล้ว ผมจำได้คร่าวๆว่า

ศาสนาไทย มีศาสนาผีเป็นฐานรากอันแข็งแกร่ง แล้วรับเอาสิ่งละอันพันละน้อยของศาสนาพราหมณ์กับศาสนาพุทธ โดยเลือกเอาส่วนที่ไม่ขัดกับหลักผี เข้ามาประดับศาสนาผี เพื่อให้ดูดี ทันสมัย มีสง่าราศี น่าเลื่อมใสศรัทธาขึ้นเท่านั้น

ศาสนาผีรักษากฎเกณฑ์ทางสังคม แต่พราหมณ์, พุทธ รักษากฎเกณฑ์ทางจิตวิญญาณของบุคคล

พุทธแท้ ไม่มีอยู่จริง

ที่เล่ามานี้เพื่อสนับสนุน วิจักขณ์ พานิช มีเสวนาที่มติชนอคาเดมี (เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม 2558) ว่า

“หากจะพูดถึงความเป็นพุทธในสังคมไทยว่าพุทธแบบไหน เป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียมจึงไม่มีประโยชน์ เพราะพุทธศาสนาถูกตีความต่างกันไปตามแต่ละบริบททางประวัติศาสตร์”

“ถึงที่สุดแล้วพุทธแท้นั้นไม่มีอยู่จริง พุทธที่จะอยู่รอดต้องเคารพคุณค่าสากลและส่งเสริมเสรีภาพ ซึ่งก็คือพุทธที่อ่อนน้อมถ่อมตัว พุทธที่คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง ไม่ใช้ศีลธรรมสุดโต่ง และกล้าถกเถียงในประเด็นสาธารณะอย่างมีเหตุมีผล”

วิจักขณ์ย้ำว่าเมื่อเอาศาสนาผูกโยงกับรัฐ เท่ากับเอาพื้นที่ของศาสนา ซึ่งเป็นคุณค่าที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวมาใช้ในพื้นที่สาธารณะ ท้ายที่สุดจะเป็นการทำร้ายตัวศาสนาเอง เพราะเมื่อศาสนาถูกทำให้เป็นสถาบันสำคัญของรัฐชาติเสียแล้ว ศาสนาก็จะคับแคบในการตีความ และในที่สุดนำไปสู่สังคมที่ไม่ส่งเสริมเสรีภาพ

“ควรเอาอำนาจรัฐออกจากศาสนา อันจะนำสู่สังคมที่ส่งเสริมเพิ่มพูนเสรีภาพ และสอดคล้องกับคุณค่าสากลในระบอบประชาธิปไตย”

(มติชน ฉบับวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2558 หน้า 6)

ใครอยากเชื่ออะไรก็เชื่อไปเถอะ แต่อย่ายกความเชื่อของตัวเองไปเบียดเบียนคนอื่น แล้วอวดว่าเป็นพุทธแท้

ที่มา : คอลัมน์ สยามประเทศไทย โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ มติชน ฉบับวันที่ 30 มีนาคม 2558