E-DUANG : แล้ว”เงินคงคลัง”ก็กลายเป็น “เงินสดคงเหลือ”

ถามว่าอะไรคือ “ผลสะเทือน” อันลึกซึ้ง กว้างขวาง เนื่องมาจากกรณี “เงินคงคลัง”

คำตอบเห็นได้จาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

“มีคนเสนอว่า ให้เปลี่ยนชื่อ “เงินคงคลัง” เป็น “เงินสดคง เหลือ” เพื่อความชัดเจน”

ถามต่อว่าความคิดในเรื่อง”เปลี่ยนชื่อ”เกิดขึ้นได้อย่างไร

คำตอบไม่ต้องไปสำรวจไกล เพียงแต่เริ่มต้นจาก “แถลง” อันมาจาก “โฆษก”ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ก็จะ “ซาโตริ”

เพราะจาก “แถลง” ของ “โฆษก” ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั่นเองได้โยงสายยาวไปยัง “คำ”อันแสลงหูอย่างยิ่ง

นั่นก็คือ รัฐบาล”ถังแตก”

ชะตากรรมของ “เงินคงคลัง” จึงถูกนำไปวางเรียงเคียงกับคำว่า “กระชับพื้นที่” และคำว่า”ขอคืนพื้นที่”ในสถานการณ์เมื่อเดือน เมษายน พฤษภาคม 2553

เพราะไม่ต้องให้เฉียดใกล้ไปกับคำว่า “ถังแตก”

 

เหตุใดเมื่อคำว่า “เงินคงคลัง” ไปวางเรียงเคียงกับคำว่า “ถังแตก”จึงก่อให้เกิด “ผลสะเทือน”

1 เท่ากับฟ้องให้เห็น “ผลงาน”

ไม่เพียงแต่เป็นผลงานในเรื่องของ “งบประมาณ” หากแต่ยังเป็นผลงานในเรื่องของ “การหาเงิน”

เท่ากับยืนยัน “ใช้เงิน” มากกว่าที่จะ “หาได้”

กล่าวสำหรับระบบบัญชีที่จะต้องมี 2 ช่องต้อง”กรอก”เสมอจึงนำไปสู่ความสะเทือนใจอย่างใหญ่หลวง

ตรงนี้เองที่นำไปสู่อีกผลสะเทือน 1 ในการเปิดโปกลางบ่อน

ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นโดย”โฆษก” ประจำสำนักนายกรัฐมน ตรี ไม่ว่าจะเป็น “ความหงุดหงิด” งุ่นง่านอันตามมาระหว่างการตอบคำถามของ “นักข่าว”

นั่นก็คือ สะท้อน “ความรู้” ในเรื่อง “เศรษฐกิจ”

บังเอิญที่แต่ละ “ถ้อยคำ” ของท่านเหล่านั้นล้วนแต่ออกมาจากปากของ “ทหาร”

จึงสร้าง “แรงสะเทือน” เป็นอย่างสูง

 

หลังจากที่ “โฆษก”ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้โยนคำ”ถังแตก”ออกมาพร้อมกับคำว่า “เงินคงคลัง”

ทำให้คำว่า “เงินคงคลัง” สร้าง “ความสับสน” แน่นอน

ขณะเดียวกัน ก็ทำให้แสงแห่งสปอตไลต์ฉายจับไปยังสถาน การณ์การเงิน การคลังของประเทศอย่างจ้ากระจ่าง

การขยับเรื่อง “ภาษี” ก็จะถูกมอง ยิ่งการขยับเรื่อง “กู้เงิน”  ยิ่งมากด้วยความละเอียดอ่อน

ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด

เพราะว่างบประมาณ พ.ศ.2560 ที่อยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัติเป็นงบประมาณขาดดุลเป็นจำนวนมากถึง 5.52 แสนล้านบาท

เมื่อเป็นงบประมาณ”ขาดดุล” ย่อมมีความจำเป็นต้อง”กู้เงิน”