บันทึกประเทศไทย ‘2กุมภาฯ57’ เลือกตั้งโมฆะในประวัติศาสตร์ สูญ2.4พันล้าน ใบเสร็จที่รอวันจ่าย?

2 เมษายน 2549
เลือกตั้งโมฆะโมเดล

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549 โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งนั้นเกิดการประท้วงไม่เข้าร่วมลงเลือกตั้งจากพรรคฝ่ายค้านเดิม 3 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน เนื่องจากมองว่าทางรัฐบาลเอาเปรียบยุบสภาแล้วรีบกำหนดวันเลือกตั้งแบบกระชั้นชิดจนเกินไป

อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ด้วยเหตุผล อาทิ (1) การกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกายุบสภาโดยไม่เหมาะสมและไม่เที่ยงธรรม มีการกำหนดวันเลือกตั้งห่างจากวันยุบสภาเพียง 35 วันเท่านั้น (2) กกต.ได้กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด

ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม ปีเดียวกัน แต่เกิดเหตุรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เสียก่อน

AFP PHOTO / AFP PHOTO / STR

กปปส. ชัตดาวน์กรุงเทพฯ

การชุมนุมขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” ของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปลายปี 2556 เข้าสู่จุดเดือดในเดือนมกราคม

กปปส. ใช้ยุทธการ “ปิดล้อม” กรุงเทพฯ ตั้งเวทีชุมนุมบริเวณทางแยกและถนนสายสำคัญของเมืองกรุง ไล่ตั้งแต่ด้านเหนือสุดลงมาที่ถนนแจ้งวัฒนะ-แยกลาดพร้าว-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกอโศก-แยกปทุมวัน-แยกราชประสงค์-สวนลุมพินี

ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ต่อเนื่องจนถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกิจกรรม “ดาวกระจาย” เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมหน่วยงานราชการหลายแห่ง

แม้ว่าเวทีม็อบจะถูกก่อกวนจากระเบิดและปืนจนมีผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บจำนวนมาก รวมทั้งรัฐบาลประกาศพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2557

ทว่า ไม่อาจหยุดยั้ง “มวลมหาประชาชน” ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำได้

PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

“2 กุมภาพันธ์ 2557”
ขัดขวางเลือกตั้ง ส.ส.

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการเลือกตั้งที่วุ่นวาย ไร้ระเบียบ และมีการปะทะกันจนถึงกับเสียชีวิตเลือดเนื้อ

เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มกราคม ผู้ชุมนุม กปปส. และแนวร่วมเข้าขัดขวางไม่ให้มีการลงคะแนนหลายเขตเลือกตั้งในกรุงเทพฯ และในภาคใต้อีก 9 จังหวัด

ที่เขตบางนา มีการปะทะกันด้วยอาวุธปืน ทำให้ นายสุทิน ธราทิน แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) เสียชีวิต

ต่อเนื่องถึงวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ หลายหน่วยเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ก็ยังมีการปะทะกันระหว่างกลุ่มไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งกับกลุ่มผู้ต้องการใช้สิทธิ

แม้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้มีการเลือกตั้งทดแทน แต่สุดท้ายถูกยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินว่า เป็นโมฆะ…

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

มติ 6 : 3
การเลือกตั้งถือว่าเป็นโมฆะ

21 มีนาคม 2557 ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน “ได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ที่เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในประเด็นหลัก อาทิ

(1) การเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร (2) ไม่มีผู้สมัคร 28 เขต ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม (3) กกต.ดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ

โดยผลการวินิฉัยเห็นว่าคำร้องมีเหตุแห่งคำร้องว่าการจัดการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้ง ตามพระราชฤษฏีกายุบสภาซึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 6-3 เห็นว่า การเลือกตั้งที่ผ่านมาขาดอีก 28 เขตเลือกตั้ง จึงถือได้ว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โดยหากจัดการเลือกตั้งทั้ง28 เขตอีกก็ไม่เป็นผลให้การเลือกตั้งเป็นการทั่วกันอีก จึงถือว่าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

สูญ 2,400 ล้านบาท
ใครรับผิดชอบ?

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในการจัดการเลือกตั้งครั้งนั้น คิดเป็นเงินงบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาท โดยที่ประเทศชาติ ไม่ได้ผลประโยชน์อันใดตอบแทนกลับมาแม้แต่น้อย

แน่นอนว่าต้องมีผู้ที่รับผิดชอบ

3 มีนาคม 2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) มีมติเอกฉันท์ยื่นฟ้องดำเนินคดีกับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ขัดขวางการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์  2557 จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยให้ดำเนินการฟ้องทางอาญาและเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง กับบุคคลและกลุ่มบุคคลที่ล้มการเลือกตั้ง ฟ้องร้องกับ 2 กลุ่ม คือ

คือ 1.กลุ่มบุคคลจำนวน 234 คน ขัดขวางการเลือกตั้ง ที่มีหลักฐานภาพถ่ายสามารถยืนยันตัวบุคคลได้ โดยเฉพาะกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์(กปปส.) อาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการกปปส. นายถาวร เสนเนียม นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย พระพุทธอิสระ แกนนำกปปส. เป็นต้น โดยมีการเรียกค่าเสียหาย 2,400 ล้านบาท

2.ให้ดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ 1 ราย คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดฐานละเมิด โดยการปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ตามพ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เนื่องจากปล่อยให้มีการจัดการเลือกตั้งทั้งที่มีการทักท้วงกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว โดยเรียกค่าเสียหาย 2,400ล้านบาท เช่นเดียวกับกลุ่มแรก

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI
AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI