เจาะใจ “อนุดิษฐ์” แลนดิ้ง F16 ไต่ระดับ สู่ “พ่อบ้านเพื่อไทย” เล่นการเมืองไม่กลัวเสี่ยงติดคุก

เขาคือบุตรชายของ “น.ต.ฐิติ นาครทรรพ” อดีตเลขาธิการพรรคสามัคคีธรรม คนที่เมื่อ 28 ปีก่อนเคยได้ชื่อว่าเป็นล็อบบี้ยีสต์การเมืองไทย

รวบรวมพรรค-พวก คนการเมือง ชูมือ “พล.อ.สุจินดา คราประยูร” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ก่อนจบลงด้วยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535

ปู่ของเขาชื่อ “นพ.อ้วน นาครทรรพ” เป็นอดีตเสรีไทยยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตดีกรีเป็นนักการเมืองภาคกลาง ส.ส.อุทัยธานี 3 สมัย

FB น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

เขามีน้องสาวชื่อ “ชมพูนุท นาครทรรพ” เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.หนองคาย พรรคประชาธิปัตย์

ส่วนตัวเขาคือ “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” ที่วันนี้ลงเล่นการเมืองไม่ต่างจากเครือญาติ “นาครทรรพ” คนอื่นๆ หลายคน ที่ไม่เคยเว้นหน้าทางประวัติศาสตร์

และ “น.อ.อนุดิษฐ์” ได้เป็น “เลขาธิการพรรค” เหมือนผู้เป็นบิดา หากแต่จุดยืนการเมืองเขายืนคนละฝั่งอำนาจ เพราะในอดีตพรรคสามัคคีธรรม คือพรรคที่เป็นสปอนเซอร์ของการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)

แต่เขาอยู่ในจุดยืนที่ต่างออกไปโดยสังกัดพรรคเพื่อไทยที่ต่อต้านการรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจ

“น.อ.อนุดิษฐ์” อธิบายเส้นทางการเมืองของเขาและพ่อที่ดูเหมือนเป็นเส้นขนานกันว่า

“ในสถานการณ์ที่ต่างกันทำให้มีภาพของการเป็นนักการเมืองที่อยู่คนละเส้นทาง แต่ในช่วงนั้นแม้คุณพ่อทำหน้าที่เป็นเลขาธิการพรรคซึ่งถูกเรียกว่าเป็นตัวแทนของทหาร แต่เชื่อมั่นว่าคุณพ่อตัดสินใจอยู่บนอุดมการณ์ที่เสียสละให้กับประชาชน แต่บริบทการเมืองตอนนั้นต้องเข้าไปรับผิดชอบงานในช่วงนั้น”

แต่สำหรับตัวเขาแล้ว ลาออกจากราชการทหารมาเป็นนักการเมืองก็เพราะ “เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย เมื่อมาเป็นนักการเมือง ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยให้ดีที่สุด”

“ในช่วงหนึ่งที่ประเทศไทยมีรัฐบาลซึ่งท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จากปี 2544-2548 ประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ประชาชนสามารถลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก”

“อีกทั้งประเทศไทยเริ่มได้รับการยอมรับในสังคมโลก เริ่มก้าวทันนานาอารยประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และทำให้เราเห็นว่า การที่ประเทศชาติเป็นประชาธิปไตย และประชาธิปไตยเป็นของประชาชนจริงๆ มันเป็นประชาธิปไตยกินได้”

“ถ้าเรามีโอกาสทำหน้าที่ตรงนี้สามารถรับใช้ดูแลประชาชนได้จริงๆ จึงตัดสินใจเข้ามาเล่นการเมือง”

คนที่ชักนำเขาให้เข้าสู่เส้นทางการเมืองคือ “น.ต.ศิธา ทิวารี” ที่ “น.อ.อนุดิษฐ์” ยกให้เป็น “น้องรัก” ตั้งแต่ยังเป็นนายทหารนักบินขับไล่ F16

และการที่ “น.ต.ศิธา” ในฐานะเพื่อนรุ่นน้องชักชวนเข้าการเมือง ทำให้เขาได้รู้จัก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อ “น.อ.อนุดิษฐ์” เข้าสู่วงจรการเมือง “หญิงหน่อย” เป็นประธานภาค กทม. และตั้งแต่วันนั้นเขาก็กลายเป็น “เงาตามตัว” เป็น “มือขวา” ของเจ้าแม่ กทม.

“คุณหญิงเป็นคนทำงานหนัก มีความรู้ความสามารถ มีวิสัยทัศน์ เป็นคนที่มีความตั้งใจทำงาน และเป็นนักต่อสู้ประชาธิปไตยคนหนึ่ง” น.อ.อนุดิษฐ์ยกข้อดีของคุณหญิงสุดารัตน์

บ่อยครั้งที่ “น.อ.อนุดิษฐ์” ถูกครหาว่าเป็นร่างทรงของคุณหญิงสุดารัตน์ และเมื่อเขาได้รับโปรโมตให้เป็น “พ่อบ้าน” คนใหม่ของพรรคเพื่อไทย มีเสียงวิจารณ์ไล่หลังในพรรคว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” จะเข้ามาฮุบการบริหารพรรค

“น.อ.อนุดิษฐ์” ให้คำตอบกลางๆ ว่า “เป็นเรื่องปกติที่นักการเมืองจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถ้าพิจารณาจากข้อเท็จจริง ตอนที่ผมออกมาทำงานการเมืองร่วมกับไทยรักไทย คุณหญิงเป็นประธานภาค กทม. และผมเป็นสมาชิก กทม. ทำงานร่วมกับท่านมาโดยตลอด อาจเป็นเรื่องปกติที่มีคนวิจารณ์”

“แต่สิ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและสะท้อนความสำเร็จของการทำงานของคุณหญิงคือการทำหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งที่ผ่านมา นำเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง มีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในสภาเป็นเครื่องพิสูจน์”

ส่วนที่คุณหญิงสุดารัตน์จะคุมพรรคหรือไม่…

“ไม่ใช่…วันนี้เพื่อไทยไม่มีใครสั่งการทั้งสิ้น สิ่งที่เป็นนโยบายนำมาสู่การปฏิบัติล้วนผ่านกระบวนการร่วมไม้ร่วมมือคิดอ่านร่วมกันเพื่อกำหนดวิธีการปฏิบัติและเห็นสอดคล้องร่วมกัน การตัดสินใจที่เกิดขึ้นเป็นการตัดสินใจร่วมกันของคณะกรรมการ เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เราประชุมกันทุกครั้ง ระดมสมองกันเพื่อกำหนดว่าเรื่องนั้นจะทำอะไร เรื่องนี้จะทำอะไร”

แม้เพื่อไทยยุคใหม่มี “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ทำหน้าที่หัวหน้าพรรค และ “คุณหญิงสุดารัตน์” เป็นประธานยุทธศาสตร์ทั้ง 2 คน 2 บทบาท ในมุม “น.อ.อนุดิษฐ์” แล้วไม่มีใครเป็นเบอร์ 1 หรือเบอร์ 2 แต่เป็น “ส่วนผสมที่ลงตัว”

“ถือเป็นการทำงานร่วมกัน หัวหน้าพรรคต้องถือว่าเป็นผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงกับภารกิจของพรรค ส่วนคุณหญิงทำหน้าที่เป็นประธานยุทธศาสตร์เสมือนผู้ให้คำปรึกษาและกำหนดแนวทางในการทำงานของพรรค ดังนั้น ภาพที่เกิดขึ้นเป็นการผสมผสานความแข็งแกร่งของทั้งสองคนเข้าด้วยกัน เป็นทั้งมันสมองและเป็นทั้งกลไกขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยให้เดินหน้าไปด้วยกัน”

อดีตนักบินขับไล่ F16 ตั้งเป้าว่า จะบริหารพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์

“แม้ชนะเลือกตั้งได้ ส.ส.มากที่สุดในสภา แต่ด้วยกลไกที่บิดเบี้ยวของกติกาประเทศทำให้เราทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน แต่เราก็อยากให้เห็นการทำงานของเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์และทำหน้าที่ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนให้มากที่สุด”

“การทำงานของพรรคการเมืองต้องเป็นการตอบสนองของประชาชน ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่มี เพื่อไทยต้องทำงานเต็มที่เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยู่แล้ว เลือกตั้งจะมีเร็วหรือไม่มี เพื่อไทยทำงานเกียร์ 5 ตลอด”

“ต่อไปนี้ต้องลงไปถามประชาชนว่าต้องการอะไร เมื่อเราได้โจทย์มาชัดเจนก็เป็นหน้าที่สำคัญที่พรรคจะต้องหาคำตอบไปตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะคุณหญิงสุดารัตน์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนว่าต่อไปนี้สิ่งที่เป็นกระบวนทัศน์ของพรรคเพื่อไทย ที่เราเคยมีกระบวนทัศน์ที่กำหนดทิศทางของพรรค ตั้งแต่คิดใหม่ทำใหม่เพื่อไทยทุกคน จนกระทั่งถึงวันนี้ ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ”

FB น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

ถามว่าการขับเครื่องบิน กับการเป็นนักการเมืองเหมือนหรือต่างกันอย่างไร? เขาตอบว่า

“ภารกิจคงแตกต่าง แต่ถ้าในเชิงการทำงานให้กับประเทศ การเป็นทหารก็ทำหน้าที่รับใช้ชาติ การเป็นนักการเมืองก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่รับใช้ชาติ แม้จะมีลักษณะงานที่ต่างกัน แต่นักการเมืองกับนักบินก็มีความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย เช่น การตัดสินใจบนข้อมูลที่ถูกต้อง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การบริหารจัดการ สำหรับผมได้นำสิ่งซึ่งเป็นปัจจัยบวกของนักบินมาประยุกต์ใช้กับนักการเมืองมาตลอด”

“งานการเมืองไม่ว่าอยู่ในสถานะไหนไม่ได้แตกต่าง เพียงแต่บทบาทหน้าที่ทำให้ลักษณะงานไม่เหมือนกัน แต่ภาระรับผิดชอบก็เหมือนๆ กัน”

ในอดีต “น.อ.อนุดิษฐ์” เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไต่ระดับชีวิตราชการทหารอากาศ เป็นผู้บังคับฝูงบินเอฟ 16 ได้ไปทำหน้าที่ผู้บังคับฝูงในการฝึก Red Flag ที่สหรัฐอเมริกา เคยแก้ไขสถานการณ์เส้นยาแดงผ่าแปด หวิดที่จะเครื่องตกมาแล้วระหว่างการฝึก

แต่ครั้นเล่นการเมือง ไต่ระดับเป็นเลขาธิการพรรคเพื่อไทย มีโอกาสเสี่ยงคุกเสี่ยงตะราง ภายใต้รัฐธรรมนูญบิดเบี้ยว แม้ชนะเลือกตั้งกลายเป็นฝ่ายค้าน ถามเขาว่า กลัวไหม? น.อ.อนุดิษฐ์ตอบทันที

“ตั้งแต่ตัดสินใจทำหน้าที่นักการเมือง คิดว่าเป็นการตัดสินใจรอบคอบ ถ้ามีโอกาสทำงานแล้วมีความมั่นใจว่าเป็นการทำงานให้กับประชาชนจริงๆ สิ่งใดที่กังวลก็มองข้ามไปหมด ไม่ได้คิดว่าเป็นอุปสรรค แต่สิ่งที่คิดอยู่เสมอว่าเป็นตัวแทนของประชาชน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหารหรือฝ่ายค้าน สิ่งที่ยึดมั่นคือจริยธรรมคุณธรรม ทำหน้าที่ให้ดีที่สุดตามกรอบกฎหมาย”

ชีวิตการเมืองของ “น.อ.อนุดิษฐ์” เป็นลูกไม้ที่ตกใกล้ แต่เหมือนไกลต้น อยู่คนละฟากการเมืองกับผู้เป็นพ่อ-น้องสาว

ไต่ระดับการเมืองจาก ส.ส. สู่รัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ห้วงเวลาที่พรรคชนะเลือกตั้ง…แต่แพ้การเมือง