แพทย์ พิจิตร : 70 ปีรัชสมัยฯ : 14 ตุลา 2516, พฤษภาคมทมิฬ 2535 VS 6 ตุลา 2519 และวิฤตการเมืองล่าสุด

AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

ตอน 1 2 3 4 5 6 7 8 9

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์การเมืองในช่วงระหว่าง พ.ศ.2475-2500 พบว่า การทำรัฐประหารจะประสบผลสำเร็จหรือล้มเหลวนั้น หาได้มีความเกี่ยวโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่

แต่หลังจาก พ.ศ.2500 เป็นต้นมา สถาบันพระมหากษัตริย์ค่อยๆ เริ่มเป็นปัจจัยชี้วัดที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จและความล้มเหลวของการทำรัฐประหารอย่างชัดเจนมากขึ้น

โดยเริ่มจากเหตุการณ์ความพยายามกระทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 ซึ่งนับเป็นข้อยืนยันและบทพิสูจน์ได้ว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาดังกล่าวถือเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จหรือล้มเหลวของการพยายามทำรัฐประหารในสมัยที่พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ด้วยสถานะและบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ที่กล่าวมา จึงทำให้เข้าใจได้ว่า เพราะเหตุใดในปี พ.ศ.2549 สถาบันจึงถูกนำมาอ้างอิงอีกครั้งในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามกล่าวอ้างถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากกลับไม่สามารถบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหวังจากการอ้างมาตรา 7 ดังที่เคยปฏิบัติกันมา

เนื่องด้วยผู้ทรงคุณวุฒิและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองมีความเห็นแตกต่างขัดแย้งกันในการตีความมาตรา 7 อย่างกว้างขวาง

อีกทั้งยังมีประชาชนฝ่ายที่ยืนหยัดสนับสนุนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก แม้นจะมีความพยายามกล่าวโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะที่แสดงการกระทำอันมิบังควรต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหนักก็ตาม

 

จุดนี้นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจและแตกต่างไปจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

เพราะนับตั้งแต่ พ.ศ.2516 เป็นต้นมา กล่าวคือ เมื่อมีฝ่ายหนึ่งสามารถกล่าวอ้างสถาบัน จนให้สังคมเชื่อได้ ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามก็มักจะหมดความชอบธรรมไปโดยทันที และยากที่ประชาชนทั่วไปจะกล้าออกโรงแสดงความเห็นต่างใดๆ ได้

แต่สำหรับสถานการณ์ก่อนการรัฐประหาร 2548 นั้น ประเด็นที่นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดก็คือ กระบวนการกล่าวอ้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยอิงความในมาตรา 7 เกี่ยวกับ “นายกฯ พระราชทาน” นั้น ถูกชี้ขาดโดยพระราชดำรัสในโอกาสที่พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ประธานศาลปกครองสูงสุด (นายอักขราทร จุฬารัตน์) นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล ในวันที่ 25 เมษายน 2549 ดังได้กล่าวไปแล้วนั้น ไม่ได้เป็นไปตามการตีความของฝ่ายที่เรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน”

อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน” จากมาตรา 7 ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ ณ ขณะนั้น แต่สถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนั้นจนถึงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จะพบว่า ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีได้กล่าวปาฐกถาตามสถาบันวิชาการทหารต่างๆ และคำกล่าวของท่านถูกนำไปตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณให้ทหารทำรัฐประหาร

ส่งผลให้ประชาชนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าใจและตีความถึงความเป็นไปได้ของอิทธิพลทางใดทางหนึ่ง ระหว่างอิทธิพลของสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านประธานองคมนตรีต่อการทำรัฐประหาร หรืออิทธิพลของตัวประธานองคมนตรีต่อการทำรัฐประหารภายใต้วลีที่ว่า “มือที่มองไม่เห็น” และ “อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ”

ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นในทางใด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถูกเชื่อมโยงเข้ากับสถาบันประธานองคมนตรีและ/หรือรวมทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยในระดับหนึ่ง

AFP PHOTO / AFP PHOTO / chanel five / STR

ที่สำคัญ แม้ว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้จะไม่มีการบาดเจ็บสูญเสียเลือดเนื้อจากฝีมือของคณะรัฐประหาร

แต่เมื่อมีผู้ออกมาประท้วงการรัฐประหารจนถึงกับปลิดชีวิตตัวเองดังในกรณีของ นายนวมทอง ไพรวัลย์ ก็ทำให้การประท้วงการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดและเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อันส่งผลต่อภาพลักษณ์ความชอบธรรมของการรัฐประหารครั้งนี้ไม่มากก็น้อย

เพราะเมื่อพิจารณาจากหลักการ/ข้อเตือนใจของพระยาทรงสุรเดชที่ผู้เขียนเคยกล่าวไปแล้ว และจะขอกล่าวซ้ำอีก นั่นคือ

“ในการยึดอำนาจทางการเมืองในสยาม สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การยึดกรุงเทพฯ ให้ได้ ส่วนอื่นๆ ที่เหลือในประเทศไม่สำคัญ และถ้ากองกำลังทหารที่ประจำการอยู่ในเมืองหลวงอยู่แล้วเป็นฝ่ายที่ยึดอำนาจในกรุงเทพฯ โอกาสที่จะเกิดการนองเลือดจะน้อยกว่าให้กองกำลังจากต่างจังหวัดเคลื่อนเข้ามายึดอำนาจ และปัจจัยที่สำคัญคือ ในการยึดอำนาจในสยาม จะต้องไม่ให้มีการสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนพุทธ ซึ่งมีประเด็นอ่อนไหวอยู่ที่การสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ นอกจากนี้ ในการยึดอำนาจจะต้องพึงระมัดระวังตระหนักไว้ด้วยว่า ข้าราชการนายทหารชาวสยามมีความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หากมีใครได้ยินได้ฟังมาว่าจะมีการวางแผนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะรายงานผู้บังคับบัญชาทันที ด้วยเหตุนี้ พระยาทรงสุรเดชจึงต้องย้ำตั้งแต่เริ่มต้นว่า แผนการยึดอำนาจจะต้องไม่ให้แพร่งพรายออกไป จะต้องรู้กันแค่จำนวนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งก็มีผู้คัดค้านพระยาทรงสุรเดชว่า ถ้าจำกัดเกินไป ก็อาจจะทำให้การเปลี่ยนแปลงการปกครองขาดพลังสนับสนุน ในแง่นี้ ถ้าใครอยู่ในสถานการณ์ข้างต้น ก็คงต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง

นั่นคือ ยึดอำนาจสำเร็จ แต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองมีผลกระทบค่อนข้างน้อยต่อผู้คนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกองทัพด้วยกันเอง หรือถ้าหวังจะให้เกิดแรงกระเพื่อมกระจายออกไปกว้างขวาง ก็ต้องยอมเสี่ยงกับความล้มเหลว หากแผนการแพร่งพรายไปสู่คนที่ไม่เอาด้วย”

AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

จากแนวคิดของพระยาทรงสุรเดชข้างต้น เมื่อเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดกระแสต่อต้านรุนแรงแต่อย่างใด

แต่กาลกลับกลายเป็นว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ได้เปิดศักราชใหม่ของรัฐประหารไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาความชอบธรรม ทั้งๆ ที่สามารถยึดกุมปัจจัยสำคัญๆ ที่เคยทำให้รัฐประหารครั้งก่อนๆ มีความชอบธรรมได้แล้วก็ตาม

ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์หลังรัฐประหารไม่นาน ก็เกิดกระแสการต่อต้านรัฐประหารขึ้นและขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอันเป็นที่รู้จักกันในฐานะของ “คนเสื้อแดง”

ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ต่อมาในวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 “คนเสื้อแดง” ได้มีการเคลื่อนไหวมวลชนภายใต้แกนนำ นปก. เพื่อแสดงออกซึ่งปฏิกิริยาความโกรธแค้นไม่พอใจจากการที่พรรคไทยรักไทยต้องถูกตัดสินยุบพรรค

โดยการเคลื่อนมวลชนไปสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีและที่ทำการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการซึ่งเป็นฐานสำคัญของแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รวมทั้งการเคลื่อนมวลชนไปที่บ้านสี่เสาฯ เรียกร้องให้ พลเอกเปรม ตินณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

โดยโจมตีว่า พลเอกเปรม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

การเคลื่อนไหวมวลชนดังกล่าวได้นำไปสู่ความชุลมุนวุ่นวาย มีการพยายามสลายการชุมนุมถึง 3 ครั้งจึงยุติลงได้

ก่อนจะลงเอยด้วยการที่อัยการสูงสุดมีความเห็นชี้ขาดสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมดในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

และข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง